เศรษฐกิจการเมืองจีนของรัฐบาลสี จิ้นผิง โดยสังเขป (ปัจฉิมบท)

4 พฤษภาคม 2564
4142 views

ในปฐมบท ผู้เขียนได้กล่าวถึงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจจีนที่ทำให้พรรคกลายเป็นจุดสูงสุดของห่วงโซ่และสามารถควบคุมได้ทั้งแหล่งเงินทุนและนายทุนได้อย่างเบ็ดเสร็จ ในปัจฉิมบทนี้จะมีการขยายความต่อไปในแง่ของการจัดการและบริหารรัฐการจีน ซึ่งเป็นระบบบริหารที่มีเอกลักษณ์อย่างมาก เป็นหมุดหมายสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจระดับท้องถิ่นจนกลายเป็นฟันเฟืองใหญ่ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนในปัจจุบัน

โครงสร้างที่เข้มแข็งต้องมาจากรากฐานที่ดี

ระบบการปกครองท้องถิ่นของจีนไม่ได้มีลักษณะของการรวมศูนย์อำนาจเฉกเดียวกันกับการเมืองจีนที่รวมอำนาจการตัดสินใจเข้าสู่พรรค แต่เป็นการกระจายอำนาจการปกครองตนเองให้แก่ท้องถิ่นด้วยการมอบอำนาจแก่องค์กรบริหารส่วนจังหวัด ตามกฎหมาย ที่ดินในเมืองเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐ ที่ดินในชนบทและในเขตชานเมืองเป็นกรรมสิทธิ์ขององค์กรส่วนรวม (Collectives) โดยที่ประชาชนสามารถมีกรรมสิทธิ์แบบเก็บกิน (Usufruct) บนที่ดินเหล่านั้นได้ กล่าวคือ ประชาชนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ของสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินนั้นได้ แต่ไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนั้น นั่นจึงนำมาสู่คำถามต่อไปว่าองค์กรส่วนรวมที่ว่านั้นคืออะไร เป็นประโยชน์และสร้างกำไรให้แก่ประชาชนจีนในท้องถิ่นอย่างไร?

ก่อนหน้านี้ในทศวรรษ 1980 เริ่มมีการปฏิรูปเศรษฐกิจจีน มีการกระจายอำนาจการคลังจากส่วนกลางไปยังความรับผิดชอบของท้องถิ่นด้วยการจัดตั้ง TVEs (Township and Village Enterprises) โดย TVE แต่ละแห่งมีหน้าที่บริหารจัดการเศรษฐกิจส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ที่รับผิดชอบ เป็นวิสาหกิจที่บริหารโดยบุคลากรจากท้องถิ่นเอง ทั้งข้ารัฐการท้องถิ่นและประชาชน นั่นจึงทำให้การรวมตัวกันทางเศรษฐกิจในรูปแบบนี้มีลักษณะที่เรียกว่าเป็น 'องค์กรส่วนรวม' ตามคำนิยามของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

TVEs มีอำนาจหน้าที่ในการตัดสินใจทางนโยบายแยกจากส่วนกลาง มีความเป็นอิสระจากส่วนกลางในการดำเนินงาน การกำหนดนโยบาย การบริหารงาน การจัดหาบริการสาธารณะ และการบริหารงบประมาณ เพื่อความคล่องตัวสำหรับเจ้าหน้าที่ส่วนท้องถิ่นในด้านการบริหารจัดการ ลดลำดับขั้นของการบริหารรัฐการแบบบนลงล่าง ทำให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้นในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในท้องที่ ผลกำไรที่ได้มานั้นก็ตกอยู่แก่ผู้มีส่วนร่วมในวิสาหกิจเหล่านั้นเอง ผลกำไรจึงกลายเป็นเครื่องมือเพิ่มแรงจูงใจให้แก่เจ้าหน้าที่บริหารและประชาชนในท้องถิ่นในการบริหารเศรษฐกิจ แต่ในปัจจุบัน อำนาจการบริหารส่วนท้องถิ่นโดยการใช้อำนาจผ่าน TVEs ก็ถูกทำให้อ่อนแอและลดน้อยลง เพราะถูกรัฐบาลควบรวมวิสาหกิจท้องถิ่นที่มีลักษณะกึ่งเอกชนเหล่านี้กับองค์กรรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นองค์กรรัฐรูปแบบหนึ่งขึ้นตรงกับองค์กรบริหารส่วนจังหวัดนั้น ๆ

ภายการนำของรัฐบาลสี จิ้นผิง อำนาจในการบริหารเศรษฐกิจส่วนท้องถิ่นมีรัฐเป็นผู้ควบคุมดูแลเสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมีองค์กรขนาดเล็กต่าง ๆ ลดหลั่นกันไปตามท้องที่รับผิดชอบย่อย ๆ ในจังหวัด คอยรับหน้าที่ในการนำนโยบายไปปฏิบัติต่อไป โดยปกติแล้ว องค์กรบริหารส่วนจังหวัดประกอบไปด้วยผู้มีอำนาจเต็มในการบริหารอยู่ 2 ตำแหน่งสำคัญ นั่นก็คือคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์ระดับจังหวัด (Provincial Party Standing Committee) ซึ่งถูกเลือกให้ดำรงตำแหน่งโดยคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน (หรืออีกนัยหนึ่งพวกเขาก็สามารถถูกโยกย้ายได้เช่นเดียวกัน) และอีกตำแหน่งหนึ่งนั่นก็คือผู้ว่ารัฐการจังหวัด (Governor) ซึ่งถูกเลือกโดยตรงจากประชาชนในท้องที่ แต่ทางพรรคกลางก็กรองคนต่างหากอีกขั้นด้วยกระบวนการ Primary Elections ก่อนที่จะให้ประชาชนเลือกตั้งจริง นั่นจึงทำให้ประชาชนท้องถิ่นจีนก็ต้องเลือกผู้ว่าฯ จังหวัดจากแคนดิเดตที่ทางพรรคกลางกลั่นกรองมาแล้วมาอีกทีหนึ่ง

องค์กรบริหารส่วนจังหวัดของจีนจึงเป็นองคาพยพที่สำคัญที่สุด มีอำนาจสูงสุดในส่วนการบริหารจัดการส่วนท้องถิ่น มีอำนาจเต็มในการจัดสรรงบประมาณที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุดด้วยตนเอง แต่ก็ไม่สามารถใช้งบประมาณอย่างสิ้นเปลืองได้เพราะไม่มีทุนสนับสนุนเพิ่มเติม อันเป็นนโยบาย Hard Budget Constraint จากรัฐบาล และอีกจุดหนึ่งที่มีเอกลักษณ์ และเป็นสิ่งสำคัญต่อการสร้างสภาวะการแข่งขันระหว่างแต่ละท้องถิ่นให้ไม่แผ่วลง นอกจากนั้น องค์กรใดทำผลงานทางเศรษฐกิจได้มีประสิทธิภาพกว่า ก็แปลว่าท้องถิ่นนั้นมีโอกาสมากกว่าที่จะได้เจ้าหน้าที่พรรคระดับสูงหรือระดับสำคัญ ๆ ที่จะมาประจำตำแหน่ง ซึ่งยศตำแหน่งที่ยิ่งสูงขึ้นของเจ้าหน้าที่พรรคที่มาประจำ จะยิ่งทำให้พวกเขาได้รับพิจารณางบประมาณที่มากขึ้นในปีถัดไป

ก่อนที่สี จิ้นผิง จะไต่เต้ามาได้ถึงระดับเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์และผู้นำจีนในปัจจุบันนั้น เขาเคยมีโอกาสได้ประจำการในฐานะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำมลฑลเหอเป่ย ฝูเจี้ยน เจ้อเจียง และเซี่ยงไฮ้ ซึ่งทั้งสี่ท้องที่นี้ล้วนแล้วแต่เป็นเขตเศรษฐกิจที่สำคัญยิ่งของจีน และเขตเศรษฐกิจสำคัญ ๆ เหล่านี้ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเซี่ยงไฮ้) ถือเป็นพรมแดงที่ปูไว้เป็นฐานอำนาจทางการเมืองที่เข้มแข็งสำหรับผู้ที่จะก้าวไปเป็นหนึ่งในชนชั้นนำทางการเมืองจีนในอนาคต แต่ในทางกลับกัน ถ้าหากท้องถิ่นใดทำผลงานได้ไม่ดีพอเท่าที่พรรคกลางกำหนดกรอบนโยบายมาให้ปฏิบัติ ข้ารัฐการที่เคยถูกส่งไปประจำการในท้องถิ่นนั้นก็อาจถูกลดตำแหน่ง หรือถูกย้ายไปท้องถิ่นอื่นที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจน้อยกว่านี้ก็เป็นได้ ทำให้การปรับแต่งตัวเลข GDP ท้องถิ่น (เทียบได้กับ Gross Provincial Product หรือ GPP ในประเทศไทย) ในการตบตาพรรคเพื่อไม่ให้ตำแหน่งแห่งที่ของตนถูกลดความสำคัญลงไปนั้น เป็นเรื่องที่ทำกันอย่างกว้างขวางในแวดวงข้ารัฐการท้องถิ่นจีน

ความฝันจีน: สังคมนิยมลักษณะจีน?

แม้จะเห็นได้จากบทบาทหน้าที่ขององค์กรการบริหารส่วนจังหวัดจีนซึ่งค่อนข้างกว้างขวาง แต่อย่างไรก็ตาม องค์กรการบริหารส่วนท้องถิ่นมิใช่ผู้กุมอำนาจสูงสุดทางการเมืองหรืออำนาจตัดสินใจใด ๆ ในทางการเมือง เพราะในทางพฤตินัยแล้ว กรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ระดับจังหวัดมีอำนาจมากกว่าผู้ว่ารัฐการจังหวัด นอกจากจะมีหน้าที่บริหารภารกิจวันต่อวันแล้ว พวกเขายังมีหน้าที่ในการสอดส่องดูแลการทำงานของบุคลากรในองค์กรและตัวผู้ว่ารัฐการจังหวัดเอง นั่นแปลว่าแม้ท้องถิ่นจีนแม้จะมีอำนาจมากเพียงใดในการบริหารการปกครองและเศรษฐกิจ แต่เนื่องจากการถูกพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่มาในรูปแบบคณะกรรมการพรรคภายในองค์กรบริหารส่วนจังหวัดแทรกแซงอย่างหยั่งรากลึกในองค์กร ทำให้ท้องถิ่นไม่มีอำนาจหรือแม้กระทั่งส่วนร่วมตัดสินใจใด ๆ นักในการเมืองระดับประเทศซึ่งเป็นการบังคับหางเสือของรัฐนาวาจีน และการส่งข้ารัฐการไปประจำในแต่ละท้องที่ก็ต้องมาจากการตัดสินใจจากพรรคกลาง ดังเช่นในสมัยของสี จิ้นผิง นี้ ข้ารัฐการน้อยใหญ่ที่ได้รับมอบหมายให้ไปประจำการในท้องถิ่นต่าง ๆ ก็จะถูกโยกย้ายไปเรื่อย ๆ โดยจะดำรงตำแหน่งคราวละกี่ปีนั้นก็แล้วแต่การตัดสินใจจากพรรค เพื่อป้องกันการสะสมขุมอำนาจและทุนในพื้นที่ที่ข้ารัฐการท้องถิ่นผู้นั้นรับผิดชอบ

ลักษณะเด่นอีกประการหนึ่งของเศรษฐกิจการเมืองจีนคือการที่พรรคเป็นผู้ควบคุมทุน และการที่ทุนถูกควบคุมเบ็ดเสร็จโดยพรรคนั้น จึงทำให้รัฐวิสาหกิจน้อยใหญ่จำต้องพึ่งพิงบารมีจากพรรคไปโดยปริยายเพื่อความอยู่รอด และพรรคซึ่งนำโดย สี จิ้นผิง ก็ตระหนักถึงจุดนี้ดี จึงได้พยายามควบรวม และ/หรือซื้อวิสาหกิจของเอกชนมาอยู่ในมือองค์กรภาครัฐและรัฐวิสาหกิจให้ได้มากที่สุด ทั้งหมดนั้นเป็นไปเพื่อทำให้องค์กรรัฐวิสาหกิจอันเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนสามารถขยายอาณาจักรที่ใหญ่โตขึ้นจนมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจองค์รวมอย่างขาดไปเสียไม่ได้ และเพิ่มอำนาจในการแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดแซงหน้ากิจการที่มาจากการลงทุนโดยต่างชาติหรือกิจการภาคเอกชนให้มากขึ้น นั่นจะยิ่งช่วยเสริมความเข้มแข็งของโครงสร้างทั้งองค์กรรัฐวิสาหกิจและสถาบันทางการเงินของรัฐจีน รวบอำนาจการควบคุมนโยบายการบริหารงบประมาณและการจัดสรรบุคลากร และเป็นการป้องกันมิให้บุคคลภายนอกพรรคเข้ามาครอบงำองค์กรใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ กลไกเศรษฐกิจการเมืองจีนในรูปแบบนี้ จึงเป็นการรวมศูนย์อำนาจการตัดสินใจทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจให้ตกอยู่ในกำมือพรรคคอมมิวนิสต์อย่างมั่นคงสมบูรณ์ ทั้งโดยนิตินัย และโดยพฤตินัย

บทส่งท้าย: ดวงตะวันกำลังขึ้นในทิศของเรา?

แม้ว่า แจ็ค หม่า จะไม่ได้เป็นหุ้นส่วนใหญ่ของอาลีบาบาอีกแล้วตั้งแต่ปี 2020 กระนั้นก็ตาม การเคลื่อนไหวของ แจ็ค หม่า ก็ยังมีความสำคัญมากในสายตาของผู้เก็งกำไรโดยทั่วไป เช่นการที่หุ้นของอาลีบาบาร่วงลงไปกว่าร้อยละ 30 ในช่วงเวลาที่เขาหายตัวไป ในปัจจุบัน ทั้งอาลีบาบาและ Ant Group ของแจ็ค หม่า นั้นมีแนวโน้มว่าจะถูกตรวจสอบโดยธนาคารประชาชนจีนและคณะกรรมการบริหารเพื่อควบคุมตลาดแห่งรัฐ (State Administration for Market Regulation: SAMR) ในเรื่องของการผูกขาดตลาด เพราะการผูกขาดตลาดเทคโนโลยีหมายถึงการกดทับไม่ให้ผู้เล่นรายอื่นที่มีการพัฒนาการทางเทคโนโลยีและต้นทุนต่ำกว่าสามารถเข้ามาแข่งขันในตลาดเดียวกันได้ นั่นจึงอาจทำให้ในระยะยาวรัฐบาลจีนจะต้องพึ่งพาความรู้และเทคโนโลยีจากเอกชนอย่างกลุ่มบริษัทเอกชนเหล่านี้ พรรคคอมมิวนิสต์จีนจึงต้องรีบปิดช่องทางที่เอกชนมีอำนาจต่อรองเหนือพรรคคอมมิวนิสต์ได้ด้วยอาวุธใหม่ที่เอกชนมีนั่นก็คือเทคโนโลยี ซึ่งพรรคเองก็ยังประสบความยากลำบากในการปรับตัวตามให้ทัน

ทว่าเราก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนไวต่อกระแสแห่งพลวัตที่เปลี่ยนแปลงไปของโลก จีนสามารถปรับ-เปิด-เปลี่ยนแปลงตนเองได้รวดเร็วเนื่องจากประสบการณ์อันโชกโชนของตน จีนเรียนรู้จากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตว่าระบอบสังคมนิยมเองมีหลายจุดที่ผิดพลาดในเชิงกลไก สิ่งที่พวกเขาทำคือการรักษาระบอบและกฎเกณฑ์เดิมที่ถูกพิสูจน์ผ่านกระแสแห่งกาลเวลามาแล้วว่ายังสามารถขับเคลื่อนรัฐต่อไปได้ แต่ในขณะเดียวกัน กาลเวลาก็ได้ให้บทเรียนแก่จีนว่ายังมีบางจุดในกลไกของเศรษฐกิจและการปกครองที่ล้าสมัย ไม่เหมาะสมต่อพลวัตของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป พวกเขาจึงมีการปรับเปลี่ยนสิ่งเดิมที่มีอยู่ให้เข้ากับสภาวการณ์ที่ผันแปรไปตามกาลสมัย เพื่อรักษาไว้ซึ่งความเป็นรัฐ ความเป็นชาติจีน และสิ่งที่สำคัญที่สุด รักษาไว้ซึ่งความเป็นผู้ครองอำนาจสูงสุดแห่งรัฐของพรรคคอมมิวนิสต์ให้อยู่ยืนยงโดยไม่ขาดความชอบธรรม

นี่คือสิ่งที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนเน้นย้ำเสมอมา พวกเขายังคงเป็นสังคมนิยม เพียงแต่เป็น สังคมนิยมในลักษณะจีน ความเจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็วของจีนเสริมให้ระเบียบวาระใหม่ที่จีนนำเสนอในเวทีการเมืองระหว่างชาตินั้นประกาศให้โลกทั้งใบรับรู้ว่าดวงอาทิตย์ซึ่งส่องเรืองรองในทิศตะวันตกมานานกว่าสองทศวรรษกำลังดับแสงลง และสี จิ้นผิง แห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะเป็นผู้นำในการทำให้รุ่งอรุณฉายแสงอีกครั้งในทิศตะวันออก

เอกสารอ้างอิง

หนังสือ บทความวิชาการ และสิ่งพิมพ์อื่น

Cao, L. (2000). Chinese Privatization: Between Plan and Market. Law And Contemporary Problems, 63(4), 13. doi: 10.2307/1192391

The government of the People's Republic of China. Constitution of the People's Republic of China (1982). People's Republic of China.

Jiang, G., Yue, H., & Zhao, L. (2006). A Re-examination of China's Share Issue Privatization: Does it Not Improve SOE Profitability?. SSRN Electronic Journal. doi: 10.2139/ssrn.884308

Rithmire, M. (2013). China's "New Regionalism": Subnational Analysis in Chinese Political Economy. World Politics, 66(1), 165-194. doi: 10.1017/s004388711300035x

Schüller, M., & Schüler-Zhou, Y. (2009). China's Economic Policy in the Time of the Global Financial Crisis: Which Way Out?. Journal Of Current Chinese Affairs, 38(3), 165-181. doi: 10.1177/186810260903800308

Unger, J. (2002). The Transformation of Rural China (1st ed., p. 218). Armonk, New York: M.E. Sharpe.

Zhang, W. (2011). The Emergence of China's Mixed Ownership Enterprises and Their Corporate Governance (Ph.D.). School of Social Sciences, Department of Economics and Finance, Brunel University.

เอลิซาเบธ อีโคโนมี และ ถัง หลง. (2018). การปฏิวัติครั้งที่สาม สู่แผ่นดินจีนยุคใหม่ ภายใต้ผู้นำตลอดกาล สี จิ้นผิง (พิมพ์ครั้งที่ 1). กรุงเทพฯ: เกรทไอเดีย.

ระบบออนไลน์

Bajpai, P. (2020). China's GDP Examined: A Service-Sector Surge. Retrieved 16 February 2021, from https://www.investopedia.com/articles/investing/103114/chinas-gdp-examined-servicesector-surge.asp

Electoral Law of the National People's Congress and Local People's Congresses of the People's Republic of China. (2020). Retrieved 2 March 2021, from http://www.npc.gov.cn/englishnpc/c23934/202012/81779080873d4b268c0dbe53e0b04873.shtml

Gan, J. (2008). Privatization in China: Experiences and Lessons. Retrieved 12 February 2021, from http://english.ckgsb.edu.cn/sites/default/files/privatization_in_china.pdf?fbclid=IwAR1gOfMHCgXXxVhbj_KxmqbSUCqNq0tJXOGU8OEu4EqDUVaJQ2cCGZA55cY

Li, W. (2014). 涨知识|山西省委常委新班子是如何排序的?. Retrieved 2 March 2021, from http://www.thepaper.cn/newsDetail_forward_1270485

Russo, F. (2019). Politics in the Boardroom: The Role of Chinese Communist Party Committees. Retrieved 24 February 2021, from https://thediplomat.com/2019/12/politics-in-the-boardroom-the-role-of-chinese-communist-party-committees/?fbclid=IwAR2bKI27gj30CsN44mypHB8Pxpx-6NQLbeoseyyF3mCAS709OqRZhR6t5cY

Sutter, K., & Sutherland, M. (2021). China's 14th Five-Year Plan: A First Look. Retrieved 1 March 2021, from https://crsreports.congress.gov/product/pdf/IF/IF11684

Xu, C., Gan, J., & Guo, Y. (2008). What makes privatization work? The case of China. Retrieved 22 February 2021, from https://core.ac.uk/display/37898604

สำนักข่าวจีนไม่ใส่ชื่อ "แจ็ก หม่า" ในลิสต์ผู้นำธุรกิจ ชี้สัมพันธ์ร้าวลึก : อินโฟเควสท์. (2021). สืบค้นเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2021, จาก https://www.infoquest.co.th/2021/63421?fbclid=IwAR37lfM5_neezlcOHUsWUXUHgSXG5pi-x1GFdZ3hxJJ1tl083ihskLZKOB8

วิดิทัศน์ สื่อการเรียนการสอน และการสัมภาษณ์

Park, A. (2018). China's Economic Transformation Part 1: Economic Reform and Growth in China. Lecture, The Hong Kong University of Science and Technology.

ภาคภูมิ ภูวพัฒนชาติ. (2021). โครงสร้างเศรษฐกิจและการเมืองจีนภายใต้รัฐบาลสี จิ้นผิง [สัมภาษณ์]. กรุงเทพฯ.

อาร์ม ตั้งนิรันดร. (2018). The 101 World EP. 02 [พอดคาสต์]. สืบค้นเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2021, จาก https://www.youtube.com/watch?v=csdZuIg8fgo&ab_channel=The101world

อัณณา จันดี
นักศึกษาโครงการรัสเซียศึกษา ชั้นปีที่ 1 เวลาว่างชอบศึกษาเกี่ยวกับประเทศรัสเซียและสหภาพโซเวียต ในมิติต่างๆ ทั้งด้านการเมือง ประวัติศาสตร์ และเศรษฐกิจ จึงอยากแบ่งปันเรื่องราวให้คนอื่นๆ ได้อ่านกัน ;)