เศรษฐกิจการเมืองจีนของรัฐบาลสี จิ้นผิง โดยสังเขป (ปฐมบท)

4 พฤษภาคม 2564
13589 views

หลังจากการหายตัวไประยะหนึ่งและปรากฏตัวอีกครั้งในคลิปวิดีโอยาวไม่ถึงนาที แจ็ค หม่า เจ้าของธุรกิจอาลีบาบา กลายเป็นผู้ที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางถึงปริศนาการหายตัวไปของเขา นี่จึงเป็นเรื่องที่น่าตกใจอย่างมากสำหรับชาวต่างชาติ หลายคนสงสัยว่าชนวนเหตุสำคัญที่ทำให้เขาถูกเรียกไป 'ตักเตือน' และยกเลิกการ IPO ของบริษัท Ant Group ของเขาทั้งหมดนั้น อาจเป็นเพราะการที่เขากล้าวิพากษ์วิจารณ์การบรรยายของหวัง ฉีชาน รองประธานาธิบดีจีน ซึ่งได้กล่าวถึงความสำคัญของการรักษาความปลอดภัยทางการเงินเป็นมาตรการอันดับแรกที่ต้องให้ความสำคัญ แต่แจ็ค หม่า ไม่เห็นด้วยเพราะนั่นคือการพยายามชี้ให้เห็นความสำคัญของระบบ 'รัฐคุมทุน' ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และเขาก็ได้ให้ข้อคิดไว้ว่า 'เราไม่อาจใช้นโยบายตั้งแต่อดีตมาควบคุมปัจจุบันไปได้ตลอด' สิ่งที่น่าศึกษาเบื้องหลังเหตุการณ์ดังกล่าวก็คือ เหตุใดรัฐบาลจีนจึงมีอำนาจเด็ดขาดในการสั่งสอนนักธุรกิจใหญ่ของประเทศได้ง่ายดายโดยที่ไม่มีผลกระทบร้ายแรงใดตามมา?

ผู้หลอกพรรคย่อมถูกพรรคลวง

ประเทศจีน หรือสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน คนทั่วไปอาจเข้าใจว่าเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ แต่ในความเป็นจริงแล้ว จีนเป็นรัฐที่มีระบบการเมืองการปกครองที่มีเอกลักษณ์ซึ่งทฤษฎีรัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์เพียงทฤษฎีใดทฤษฎีหนึ่งไม่สามารถอธิบายได้ครอบคลุม รัฐจีนเป็นรัฐเผด็จการพรรคการเมืองเดียวปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีน มีระบบเศรษฐกิจในรูปแบบสังคมนิยมผสมตลาด (Market Socialism Economy) ซึ่งลักษณะพิเศษคือการใช้องค์กรรัฐวิสาหกิจเป็นตัวแสดงหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และมีการวางแผนจากส่วนกลางอย่างหลวม ๆ โดยการกระจายอำนาจการบริหารเศรษฐกิจสู่ท้องถิ่น ข้ารัฐการส่วนท้องถิ่นมีอำนาจอย่างอิสระในการบริหารจัดการเศรษฐกิจท้องถิ่น แต่จะดำเนินนโยบายตามกรอบใหญ่ที่ถูกกำหนดเป้าหมายโดยพรรคคอมมิวนิสต์ บทความปฐมบทนี้จะนำเสนอ "ระบอบการเมือง" ส่วน "ระบบการปกครองของจีน" จะนำไปกล่าวถึงในปัจฉิมบท

พรรคคอมมิวนิสต์จีนมีเอกลักษณ์ในการจัดการการบริหารการเมืองการปกครองของตนเองให้ปรับตัวทันกับพลวัตโลก แม้จีนจะมีหลักการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยออกเป็นนิติบัญญัติ-บริหาร-ตุลาการ แต่นั่นก็ไม่ใช่หลักการแบ่งแยกอำนาจเพื่อคานอำนาจและตรวจสอบ เพราะในจีนนั้นอำนาจการตัดสินใจทางการเมือง การบริหาร นโยบายความมั่นคงทั้งในและต่างประเทศ และอำนาจในการตรากฎหมายล้วนแล้วแต่ขึ้นอยู่กับพรรคคอมมิวนิสต์จีน และแม้จีนจะมีพรรคการเมืองอื่นอีก 8 พรรคในสภา แต่ก็มีฐานะเพียงพรรคเสียงส่วนน้อยมากจนแทบไม่มีสิทธิ์มีเสียงเท่าใดนัก และพรรคเหล่านั้นก็ต้องมาจากการรับรองจากพรรคคอมมิวนิสต์เสียก่อน อีกทั้งระบบการสืบทอดอำนาจของรัฐบาลจีนไม่ได้เป็นไปโดยโปร่งใสโดยที่สาธารณชนมีส่วนร่วมในการเลือกผู้นำ หากแต่เป็นการตัดสินใจเลือกกันเองในหมู่คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์และโปลิตบูโร หมายความว่าการคุมกฎ กลไกการทำงานของรัฐ และชีวิตประชาชนล้วนแล้วแต่อยู่ในกำมือของพรรคคอมมิวนิสต์จีนทั้งสิ้นในทางปฏิบัติ

การควบคุมให้องคาพยพทางเศรษฐกิจทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นที่กระจัดกระจายหลายร้อยแห่งทั่วประเทศจีนให้มีระเบียบแบบแผนอันมีมาตรฐานเดียวกันได้ทั้งหมดไม่ใช่เรื่องง่าย แต่พรรคคอมมิวนิสต์จีนทำให้องค์กรทางเศรษฐกิจและการเมืองทั้งหมดตกอยู่ในกำมือตนอย่างเบ็ดเสร็จได้อย่างไร?

แมวสีใดก็จับหนูได้ เว้นแต่แมวที่ยังไม่ถูกสวมปลอกคอ

นอกจากการรวมอำนาจการตัดสินใจทางการเมืองเข้าสู่ศูนย์กลางแล้วนั้น พรรคคอมมิวนิสต์จีนยังหยั่งรากลึกลงในทุกสถาบันทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองด้วยการนำตัวแสดงแทนของตนเข้าไปแทรกแซงในทุกองค์กร ไม่ว่าจะเป็นองค์กรรัฐ องค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับต่าง ๆ รวมถึงบริษัทเอกชน โดยองค์กรทุกแห่งเหล่านั้นจะต้องมีสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์อย่างน้อย 3 คนในฐานะตัวแทนพรรค ที่มีหน้าที่นำเอานโยบายรัฐบาลมาร่วมปรึกษากับกรรมบริหารขององค์กรเพื่อสร้างความเข้าใจในเป้าหมายที่ตรงกัน ดังจะเห็นได้จากบริษัทเอกชนจำนวน 1.86 ล้านแห่ง มีสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ประจำอยู่แล้วถึงร้อยละ 70 และโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทใหญ่ที่สุดอันดับต้น ๆ ของจีนกว่าร้อยละ 90 มีตัวแสดงแทนของพรรคประจำอยู่ในบริษัทนั้น (Thangnirandorn, 2018) กลายเป็นเครือข่ายร้อยรัดประชาชนให้ต้องพึ่งพาพรรคหากต้องการความก้าวหน้าในอาชีพการงาน พวกเขาสามารถตัดขาดตนจากพรรคได้ถ้าอยากทำ แม้ไม่ตายแต่ก็ไม่โต จีนจึงมีลักษณะการบริหารจุดหนึ่งที่คล้ายสหภาพโซเวียตในฐานะรัฐข้ารัฐการซึ่งรัฐกลายเป็นบริษัทโดยมีพรรคคอมมิวนิสต์เป็นกรรมการบริหาร และประชาชนเป็นพนักงานของรัฐ กลายเป็น 'พรรคของมวลชน' ตามอย่างอุดมการณ์ของคอมมิวนิสต์ แม้จะผิดจากเจตนารมณ์เดิมของมาร์กซ์ไปอักโข

การแทรกซึมอยู่ในทุกองคาพยพขององค์กรรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ที่มีบทบาทเป็นกลไกสำคัญในการสร้างฐานเศรษฐกิจ ส่งผลให้เกิดความง่ายดายและความรวดเร็วมากขึ้นในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการแปรรูปให้เป็นของเอกชน (Privatization) การขายหุ้นให้แก่เอกชน การแยกองค์กรรัฐวิสาหกิจออกจากกันเพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาดและกระตุ้นการแข่งขันระหว่างอุตสาหกรรมเดียวกัน ซึ่งเคยทำให้สัมฤทธิ์ผลมาแล้วในยุคของเติ้ง เสี่ยวผิง หรือแม้กระทั่งการซื้อคืนวิสาหกิจของเอกชนกลับมาเป็นของรัฐ (Nationalization) และควบรวมองค์กรรัฐวิสาหกิจเหล่านั้นเข้าด้วยกันอีกครั้ง เพื่อรวบอำนาจการบริหารกิจการให้อยู่ใต้เงาพรรคในยุคของสี จิ้นผิง

ในระยะแรกของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจมีความเสี่ยงจากความผันผวนทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก เพราะปัญหาข้ารัฐการทำงานแบบเช้าชามเย็นชาม และปัญหาการบริหารแบบรัฐการที่ยังปรับตัวไม่เข้าที่เข้าทางกับนโยบายใหม่ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจึงสามารถทำให้สัมฤทธิ์ผลได้อย่างรวดเร็วและเป็นระบบ ด้วยนโยบายใหม่ในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ นั่นก็คือไม่ได้แปรรูปทุกรัฐวิสาหกิจที่รัฐครอบครอง แต่รักษาไว้ซึ่งความเป็นองค์กรรัฐวิสาหกิจของบริษัทใหญ่ไว้ให้อยู่ในมือพรรค และปล่อยให้วิสาหกิจเล็ก ๆ ขึ้นอยู่กับการบริหารของภาคเอกชน หรือที่เรียกว่านโยบาย Grasping the large, letting go of the small องค์กรรัฐวิสาหกิจขนาดเล็กและขนาดกลางที่ไม่นับเป็นอุตสาหกรรมอ่อนไหวจะปล่อยให้ถูกแปรรูปด้วย 2 วิธีด้วยกัน นั่นก็คือ การขายหุ้นบริษัทให้แก่เหล่าผู้จัดการโรงงานและพนักงานในบริษัทนั้น และปล่อยให้พวกเขาบริหารกิจการเหล่านั้นกันเอง ส่วนทางที่สองคือการแปรรูปรัฐวิสาหกิจด้วยการขายกิจการให้ต่างชาติ ซึ่งปัจจุบันก็ได้มีการซื้อมันกลับคืนมาเป็นของรัฐอย่างกว้างขวาง หรือยังมีอีกทางเลือกหนึ่งนั่นก็คือปล่อยให้ล้มละลายไป

ส่วนองค์กรวิสาหกิจใหญ่ ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิสาหกิจในอุตสาหกรรมอ่อนไหวต่าง ๆ อย่างพลังงาน น้ำมัน อุตสาหกรรมเพื่อการทหาร เหมืองแร่ เครื่องจักร โลหะ และอุตสาหกรรมเคมีนั้น ในทางปฏิบัติแล้ววิสาหกิจเหล่านี้ยังถูกควบคุมโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีน แม้ในสมัยต่อมาจะมีการขายหุ้นออกให้เอกชนถือ เปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาร่วมทุน เพราะองค์กรรัฐวิสาหกิจเหล่านี้ก็ต้องการแนวคิดที่เน้นผลกำไรแบบเอกชนมาร่วมตัดสินใจในกรรมการบริหาร เช่น บริษัท Chinalco ที่มีองค์กรรัฐการและรัฐวิสาหกิจจีนถือหุ้นใหญ่ได้ซื้อกิจการเหมืองแร่ชายฝั่งของต่างชาติมาเป็นของตน และในยุครัฐบาลของสี จิ้นผิง ยังมีการควบรวมองค์กรกว่า 275 แห่ง เช่น China Cosco Group อันเกิดจากการควบรวม China Shipping Group และ Ocean Shipping Group เข้าด้วยกัน (Economy & Long, 2018) และควบรวมกิจการเอกชนเข้ากับรัฐวิสาหกิจ และ/หรือควบรวมรัฐวิสาหกิจเข้ากับรัฐวิสาหกิจในอุตสาหกรรมอ่อนไหว เช่น อุตสาหกรรมซีเมนต์ และอุตสาหกรรมพลังงาน รัฐบาลจีนสามารถสั่งการให้ทำเช่นนั้นได้อย่างง่ายดาย ผ่าน 'คำแนะนำ' ขององค์กรพรรคในฐานะที่ปรึกษาประจำวิสาหกิจต่าง ๆ

กลุ่มทุนไม่ได้ขับเคี่ยวอำนาจกับรัฐบาลดังกรณีศึกษาจากประเทศอื่น ๆ แต่ทุนจีนอยู่ภายใต้การควบคุมของพรรคคอมมิวนิสต์ เห็นได้จากระบบการถือหุ้นของธนาคารจีนอันดับต้น ๆ สี่แห่ง (The Big Fours) เช่น กระทรวงการคลังจีน และบริษัท Central Huijin Investment ถือหุ้นธนาคาร ICBC หนึ่งในสถาบันทางการเงินที่ใหญ่ที่สุดอันดับหนึ่งของจีนอยู่ร้อยละ 34.6 และ 34.7 ตามลำดับ Central Huijin Investment ยังถือหุ้นธนาคารเพื่อการเกษตรแห่งประเทศจีนถึงร้อยละ 40 ซึ่งจริง ๆ แล้วบริษัท Central Huijin Investment นั้นก็เป็นบริษัทลูกของกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติจีน (China Investment Corporation) ที่รายงานตรงต่อรัฐบาลจีนอีกต่อหนึ่ง จึงสามารถกล่าวได้ว่าหุ้นธนาคารใหญ่ของจีนควบคุมโดยเบ็ดเสร็จโดยรัฐบาลกลาง อีกทั้งรัฐบาลจีนยังจัดตั้งคณะกรรมการบริหารทรัพย์สินของชาติ หรือ SASAC ขึ้นมาเพื่อบริหารจัดการและควบคุมองค์กรรัฐวิสาหกิจโดยตรง มีอำนาจเต็มในการคัดเลือกว่าองค์กรใดจะเหมาะสมที่สุดต่อการลงทุนในโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาล โดยจัดลำดับความสำคัญของนักลงทุนจากภาคเอกชนไว้เป็นอันดับรองจากภาครัฐ อีกทั้งยังมีอำนาจตรงในการตรวจสอบค่าใช้จ่ายของพนักงานรัฐวิสาหกิจ (Economy & Long, 2018)

การควบคุมเศรษฐกิจได้อย่างอยู่หมัดทุกภาคส่วนเช่นนี้ ต้องพึ่งพาระบบการบริหารรัฐการที่สามารถเอื้อให้นโยบายของรัฐจีนซึ่งใหญ่โตและซับซ้อนถึงเพียงนี้สามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่น ดังจะกล่าวถึงในตอนต่อไปถึงส่วนของการบริหารรัฐการจีน ซึ่งมีความน่าสนใจในความเฉียบขาดแต่ยืดหยุ่นของกระบวนการของมัน

เอกสารอ้างอิง

หนังสือ บทความวิชาการ และสิ่งพิมพ์อื่น

Cao, L. (2000). Chinese Privatization: Between Plan and Market. Law And Contemporary Problems, 63(4), 13. doi: 10.2307/1192391

The government of the People's Republic of China. Constitution of the People's Republic of China (1982). People's Republic of China.

Jiang, G., Yue, H., & Zhao, L. (2006). A Re-examination of China's Share Issue Privatization: Does it Not Improve SOE Profitability?. SSRN Electronic Journal. doi: 10.2139/ssrn.884308

Rithmire, M. (2013). China's "New Regionalism": Subnational Analysis in Chinese Political Economy. World Politics, 66(1), 165-194. doi: 10.1017/s004388711300035x

Schüller, M., & Schüler-Zhou, Y. (2009). China's Economic Policy in the Time of the Global Financial Crisis: Which Way Out?. Journal Of Current Chinese Affairs, 38(3), 165-181. doi: 10.1177/186810260903800308

Unger, J. (2002). The Transformation of Rural China (1st ed., p. 218). Armonk, New York: M.E. Sharpe.

Zhang, W. (2011). The Emergence of China's Mixed Ownership Enterprises and Their Corporate Governance (Ph.D.). School of Social Sciences, Department of Economics and Finance, Brunel University.

เอลิซาเบธ อีโคโนมี และ ถัง หลง. (2018). การปฏิวัติครั้งที่สาม สู่แผ่นดินจีนยุคใหม่ ภายใต้ผู้นำตลอดกาล สี จิ้นผิง (พิมพ์ครั้งที่ 1). กรุงเทพฯ: เกรทไอเดีย.

ระบบออนไลน์

Bajpai, P. (2020). China's GDP Examined: A Service-Sector Surge. Retrieved 16 February 2021, from https://www.investopedia.com/articles/investing/103114/chinas-gdp-examined-servicesector-surge.asp

Electoral Law of the National People's Congress and Local People's Congresses of the People's Republic of China. (2020). Retrieved 2 March 2021, from http://www.npc.gov.cn/englishnpc/c23934/202012/81779080873d4b268c0dbe53e0b04873.shtml

Gan, J. (2008). Privatization in China: Experiences and Lessons. Retrieved 12 February 2021, from http://english.ckgsb.edu.cn/sites/default/files/privatization_in_china.pdf?fbclid=IwAR1gOfMHCgXXxVhbj_KxmqbSUCqNq0tJXOGU8OEu4EqDUVaJQ2cCGZA55cY

Li, W. (2014). 涨知识|山西省委常委新班子是如何排序的?. Retrieved 2 March 2021, from http://www.thepaper.cn/newsDetail_forward_1270485

Russo, F. (2019). Politics in the Boardroom: The Role of Chinese Communist Party Committees. Retrieved 24 February 2021, from https://thediplomat.com/2019/12/politics-in-the-boardroom-the-role-of-chinese-communist-party-committees/?fbclid=IwAR2bKI27gj30CsN44mypHB8Pxpx-6NQLbeoseyyF3mCAS709OqRZhR6t5cY

Sutter, K., & Sutherland, M. (2021). China's 14th Five-Year Plan: A First Look. Retrieved 1 March 2021, from https://crsreports.congress.gov/product/pdf/IF/IF11684

Xu, C., Gan, J., & Guo, Y. (2008). What makes privatization work? The case of China. Retrieved 22 February 2021, from https://core.ac.uk/display/37898604

สำนักข่าวจีนไม่ใส่ชื่อ "แจ็ก หม่า" ในลิสต์ผู้นำธุรกิจ ชี้สัมพันธ์ร้าวลึก : อินโฟเควสท์. (2021). สืบค้นเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2021, จาก https://www.infoquest.co.th/2021/63421?fbclid=IwAR37lfM5_neezlcOHUsWUXUHgSXG5pi-x1GFdZ3hxJJ1tl083ihskLZKOB8

วิดิทัศน์ สื่อการเรียนการสอน และการสัมภาษณ์

Park, A. (2018). China's Economic Transformation Part 1: Economic Reform and Growth in China. Lecture, The Hong Kong University of Science and Technology.

ภาคภูมิ ภูวพัฒนชาติ. (2021). โครงสร้างเศรษฐกิจและการเมืองจีนภายใต้รัฐบาลสี จิ้นผิง [สัมภาษณ์]. กรุงเทพฯ.

อาร์ม ตั้งนิรันดร. (2018). The 101 World EP. 02 [พอดคาสต์]. สืบค้นเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2021, จาก https://www.youtube.com/watch?v=csdZuIg8fgo&ab_channel=The101world

อัณณา จันดี
นักศึกษาโครงการรัสเซียศึกษา ชั้นปีที่ 1 เวลาว่างชอบศึกษาเกี่ยวกับประเทศรัสเซียและสหภาพโซเวียต ในมิติต่างๆ ทั้งด้านการเมือง ประวัติศาสตร์ และเศรษฐกิจ จึงอยากแบ่งปันเรื่องราวให้คนอื่นๆ ได้อ่านกัน ;)