ศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานเสวนาออนไลน์ ชุด "พลังแห่งยุคสมัย" มีทั้งสิ้น 2 ตอน พิจารณาพลังจาก 2 ยุค ได้แก่ ยุคสมัยปัจจุบันในตอนที่หนึ่ง และ พลังแห่งการเปลี่ยนแปลงในยุคสมัย 2475 ในตอนที่สอง

ตอนที่หนึ่งซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นการเสวนาว่าด้วยความเหลื่อมล้ำและความแตกต่างระหว่างรุ่น โดยมี ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ผศ.ดร.ธร ปิติดล และ อ.วีระวัฒน์ ภัทรศักดิ์กำจร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ร่วมเสวนา

ว่าด้วยความเหลื่อมล้ำแนวตั้งและแนวราบ

ผศ.ดร.ธร ปิติดล เริ่มต้นเสวนาด้วยการให้ภาพความขัดแย้งเสื้อเหลือง - เสื้อแดง ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งมักถูกอธิบายว่าเป็นผลมาจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ระหว่างชนชั้นกลางระดับบน (เสื้อเหลือง) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับโอกาสทางเศรษฐกิจในช่วงที่ระดับความเหลื่อมล้ำในประเทศเพิ่มสูงขึ้น ระหว่างปี 2524 - 2535 กับกลุ่มชนชั้นกลางระดับล่างที่มีฐานะทางเศรษฐกิจด้อยกว่า ในทางกลับกัน คนกลุ่มนี้มีโอกาสเติบโตในช่วงที่ระดับความเหลื่อมล้ำลดลง หลังปี 2535 สิ่งนี้คือ ความเหลื่อมล้ำแนวตั้ง ส่งผลให้คนทั้งสองกลุ่มมีมุมมองทางการเมืองที่แตกต่างกัน

ชนชั้นกลางระดับบนได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในช่วงที่ความเหลื่อมล้ำเพิ่มสูงขึ้น (ซ้าย) กลับกันในยุคที่ความเหลื่อมล้ำลดลง (ขวา) กลุ่มดังกล่าวได้รับส่วนแบ่งทางเศรษฐกิจน้อยกว่าชนชั้นกลางระดับล่าง

อย่างไรก็ดี ความแตกต่างทั้งทางเศรษฐกิจและมุมมองทางการเมืองยังไม่ใช่สาเหตุที่เพียงพอของความขัดแย้ง ผศ.ดร.ธร อธิบายต่อว่าเมื่อพิจารณาจากงานวิจัยเชิงเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม (ธานี ชัยวัฒน์ 2562) พบว่าความเหลื่อมล้ำแนวตั้งไม่ใช่ต้นเหตุหลักของความขัดแย้ง เท่ากับ ความเหลื่อมล้ำแนวราบ หรือปัญหาสองมาตรฐานที่การบังคับใช้กติกาไม่เป็นมาตรฐานเดียวกันในแต่ละกลุ่ม

เมื่อกลุ่มเสื้อเหลืองยึดโยงอยู่กับการเมืองศีลธรรม ไม่ไว้ใจประชาธิปไตยแบบรัฐสภาและการเลือกตั้ง สนับสนุนให้สถาบันต่างๆ เข้ามาตรวจสอบถ่วงดุลนักการเมือง ในขณะที่กลุ่มเสื้อแดงต้องการความเสมอภาคของการมีส่วนร่วมทางการเมือง ต่อต้านระบบสองมาตรฐาน ปัญหาความเหลื่อมล้ำแนวราบในลักษณะนี้ทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นในที่สุด

ผศ.ดร.ธร เชื่อมโยงให้เห็นถึงบริบทปัจจุบันที่ความเหลื่อมล้ำแนวราบมีน้ำหนักเพิ่มมากขึ้น การเอาชนะกันทางการเมืองทำให้ระบบการเมืองปิดยิ่งขึ้น เป็นฐานให้เกิดกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ออกมาขับเคลื่อนการเมืองผ่านการชุมนุม ชูประเด็นปัญหา 2 มาตรฐานเป็นอุดมการณ์ที่ชัดเจน นอกจากนี้ยังมีข้อมูลว่าในปัจจุบันนอกจากกลุ่มผู้มั่งคั่ง 1% บน (Top 1%) แล้ว แทบไม่มีใครได้รับส่วนแบ่งจากการเติบโตทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นกลางระดับบนหรือระดับล่าง

จากเหลือง VS แดง สู่ รุ่นเก่า VS ใหม่

ผศ.ดร.กนกรัตน์ ชี้ให้เห็นภาพความขัดแย้งในปัจจุบัน คู่ขัดแย้งเปลี่ยนจากกลุ่มเสื้อเหลือ - เสื้อแดง เป็นระหว่างคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่าที่ควบคุมอำนาจทางการเมืองอยู่ในทุกพื้นที่ของสังคม มุมมองจากคนรุ่นเก่าซึ่งเติบโตในช่วงทศวรรษ 1960 - 1990 ที่มีทุนต่างชาติเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมีอุตสาหกรรมหนักเป็นพลังขับเคลื่อน ทำให้คนที่เติบโตในยุคสงครามเย็นจนถึงวิกฤตฟองสบู่อยู่บนฐานคิดว่าคนต้องขยัน อดทนจึงจะประสบความสำเร็จ

ในขณะที่ปัจจุบันกลุ่มธุรกิจที่ก้าวขึ้นมามีบทบาทในระดับโลก มักเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งคุณค่าเรื่องความขยันและอดทนที่คนรุ่นเก่าเคยยึดถือไม่เพียงพออีกต่อไป คนรุ่นใหม่ไม่สามารถแข่งขันในตลาดแรงงานได้ หากโครงสร้างของรัฐไม่ทำให้เขาเป็นแรงงานในลักษณะที่ต่างออกไป ในอดีตเสื้อเหลืองและเสื้อแดงผลัดกันเติบโตทางเศรษฐกิจคนละช่วงเวลา ทว่าในปัจจุบันคนรุ่นใหม่ไม่มีอนาคตในทางเศรษฐกิจ พวกเขาเติบโตในช่วงที่ไม่มีกลุ่มใดได้รับส่วนแบ่งทางเศรษฐกิจ นอกจากกลุ่ม Top 1% นอกจากนี้ยังประสบกับปัญหาการผูกขาดของทุนใหญ่เข้มข้นอย่างที่คนรุ่นก่อนหน้าไม่เคยเจอ

"...เด็กในมหาวิทยาลัยจะพูดถึงปัญหาความอึดอัดเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ การยุบพรรคอนาคตใหม่ เป็น Drive (แรงขับ) ที่สำคัญมากที่ทำให้เขาต้องเข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง ปัญหาของการที่เขาไม่สามารถกำหนดชะตาชีวิตตัวเองได้ ปัญหาที่พวกเขาไม่มีพื้นที่เลยในอำนาจการบริหาร นิติบัญญัติ กลไกระบบราชการ ซึ่งโครงสร้างทางการเมืองไทยมันไม่ได้ปรับตัวจริงๆ ต่อความคาดหวังของคนรุ่นนี้ ซึ่งดิฉันบอกได้เลยว่าเป็นความคาดหวังทางการเมืองที่มากกว่าคนเสื้อแดงหลายเท่า ในขณะที่ Infrastructure (โครงสร้าง) ของการเมืองไทยไม่มีพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่เลย…" ผศ.ดร.กนกรัตน์ กล่าวถึงสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำแนวราบที่คนรุ่นใหม่ประสบ

ผศ.ดร.กนกรัตน์ เห็นว่านี่คือครั้งแรกที่ความเหลื่อมล้ำทั้งแนวตั้งและแนวนอนปะทะกันอย่างรุนแรง ความเหลื่อมล้ำเป็นจริงในทุกมิติ หากจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการเมือง รัฐต้องเลิกมองคนรุ่นนี้ในฐานะภัยคุกคามทางการเมือง และนอกจากการปะทะกันของความเหลื่อมล้ำทั้งสองแนวแล้ว การผลัดใบครั้งใหญ่ในหลายหน่วยงานซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร จะเป็นโอกาสที่โครงสร้างระบบราชการและเศรษฐกิจไทยเปลี่ยนแปลง

ขยันจึงประสบความสำเร็จ?

อ.วีระวัฒน์ ชวนพิจารณาประเด็นการส่งต่อความเหลื่อมล้ำไปยังคนรุ่นถัดไป นอกจากความร่ำรวยที่สามารถกรองออกได้ด้วยเครื่องมืออย่างภาษีมรดกแล้ว ความแตกต่างเชิงสายสัมพันธ์รวมถึงวิธีคิดเป็นสิ่งที่สามารถส่งต่อไปยังคนรุ่นถัดไปได้เช่นกัน และเป็นสิ่งที่ยากกว่าในการกรองออกเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ

เพื่อสนับสนุนประเด็นของ ผศ.ดร.กนกรัตน์ อ.วีระวัฒนได้ยกตัวอย่างจากการสำรวจค่านิยมในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครองและวัฒนธรรมทางสังคม (Word Value Survey) พบว่าในกรณีของไทย กลุ่มคนอายุน้อยให้ความสำคัญกับคุณสมบัติความเป็นตัวของตัวเองมากกว่า และความขยันน้อยกว่ากลุ่มคนที่อายุมาก ในขณะที่คุณสมบัติอื่นๆ ไม่ต่างกันนัก อย่างไรก็ดี คุณค่าเรื่องความขยันยังคงมีสัดส่วนผู้ให้ความสำคัญสูงถึงประมาณร้อยละ 70

การที่ความขยันยังคงเป็นคุณค่าหลักของคนในสังคม มุมหนึ่งอาจเป็นสิ่งที่ช่วยให้ประสบความสำเร็จจริง ทว่าการให้คุณค่าลักษณะนี้อาจสร้างผลร้ายได้เช่นกัน เนื่องจากวิธีคิดเป็นตัวกดทับผลลัพธ์ในท้ายที่สุด หากเราให้น้ำหนักกับเรื่องความขยันขันแข็งมากไปจะเป็นการบดบังความจริงด้านอื่นที่เกิดขึ้นในสังคม เช่น ปัญหาการใช้เส้นสาย คอรัปชัน ความยุติธรรมของระบบค่าตอบแทน ด้วยเหตุนี้หากเรายังส่งต่อวิธีคิดหรือสายสัมพันธ์บางอย่างในปัจจุบัน ถึงที่สุดแล้วความเหลื่อมล้ำในลักษณะเดิมก็อาจจะยังปรากฏอยู่ในสังคมของคนรุ่นถัดไป

ผศ.ดร.ธร ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองเรื่องวิธีคิดและให้คุณค่าว่าบางครั้งคุณค่าที่มีอยู่อาจไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในสังคม ซึ่งคุณค่าความขยันหรือมารยาท อาจเหมาะกับเศรษฐกิจที่กระจายรายได้ให้คนมีส่วนแบ่งกับการเติบโต แต่ในปัจจุบันที่แทบไม่มีใครได้รับส่วนแบ่งนี้เลย อาจไม่เหมาะกับการยึดถือคุณค่าดังกล่าว

ศุภวิชญ์ สันทัดการ
นักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ ผู้ไม่ดื่มกาแฟ ไม่ฟังเพลง และไม่เป็นทาสแมว