หากกล่าวถึงปี 2563 คนไทยจำนวนมากคงจะนึกถึงภาวะเคราะห์ซ้ำ กรรมซัด จากการระบาดของโรคติดต่ออุบัติใหม่ที่คร่าชีวิตผู้คนจำนวนมากทั่วทุกมุมโลกอย่าง COVID – 19 ซึ่งทำให้รัฐบาลหลาย ๆ ประเทศ รวมถึงประเทศไทยจำเป็นต้องประกาศระงับกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อภายในประเทศไว้เป็นการชั่วคราว แต่การดำเนินนโยบายเช่นนี้ย่อมต้องแลกมาด้วยการหยุดชะงักของภาคส่วนต่าง ๆ ที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และสร้างความวิตกกังวลในหมู่ประชาชนทั่วไปอย่างมาก ด้วยเหตุนี้ สำนักคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) จึงให้การสนับสนุนกลุ่มความสามารถในการแข่งขัน คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำหรับการวิจัยภายใต้โครงการ "การเปลี่ยนแปลงภาคอุตสาหกรรมหลังวิกฤต COVID – 19"

การนำเสนอผลงานวิจัยดังกล่าวจัดขึ้นเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2563 ณ ห้องประชุมใหญ่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) โดยคณะผู้วิจัยนำโดย รศ.ดร.อาชนัน เกาะไพบูลย์ รศ.ดร.จุฑาทิพย์ จงวนิชย์ อ.เพ็ชรธรินทร์ วงศ์เจริญ และ อ.ภานุพงศ์ ศรีอุดมขจร นำเสนอผลการศึกษา 5 จาก 9 อุตสาหกรรมที่ทำการศึกษาได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม และอุตสาหกรรมโรงแรม ตามลำดับ

คณะผู้วิจัยเริ่มต้นการสัมมนาด้วยการอธิบายสถานการณ์เศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศภายใต้การระบาดของ COVID – 19 ในช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งจากข้อมูลพบว่า ในช่วงที่ประเทศไทยดำเนินนโยบายปิดประเทศและระงับกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ นั้น ดัชนีการผลิตลดลงอย่างหนัก แต่ก็สามารถฟื้นตัวได้ภายหลังจากการผ่อนคลายมาตรการดังกล่าวในช่วงเดือนมิถุนายน แม้ว่าจะไม่ได้รวดเร็วมากนักเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านก็ตาม เนื่องจากมาตรการที่ใช้ในช่วง Lockdown ของประเทศไทยนั้นน้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด ทั้งมาตรการทางด้านภาษี การปล่อยสินเชื่อ และการจ้างงาน

ภาคอุตสาหกรรมแรกที่ได้รับผลกระทบคือ อุตสาหกรรมอาหาร อันจะเห็นได้จากดัชนีการผลิตที่ลดลง แม้ว่าจะน้อยกว่าอุตสาหกรรมอื่น ๆ ก็ตาม แต่ภายหลังจากที่รัฐบาลประกาศลดระดับความตึงเครียดของมาตรการ Lockdown แล้ว ผลปรากฏว่า ในขณะที่ดัชนีการผลิตของอุตสาหกรรมต่าง ๆ มีแนวโน้มจะปรับตัวเข้าสู่สภาวะปกติ อุตสาหกรรมอาหารกลับฟื้นตัวได้ค่อนข้างช้า อันเนื่องมาจากผลกระทบต่อสินค้ารายผลิตภัณฑ์ที่ไม่เท่ากัน ซึ่งในสินค้าบางประเภทเป็นผลมาจากการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศและข้อจำกัดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างที่ประเทศต่าง ๆ กำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์ COVID – 19 ประกอบกับภาวะภัยแล้งที่ทำให้อุปทานภายในประเทศลดลง จึงสามารถผลิตสินค้าเพื่อส่งออกได้น้อยลง

สินค้าในอุตสาหกรรมอาหารที่ดูเหมือนจะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ สินค้าที่มุ่งเจาะตลาดโรงแรม ร้านอาหาร และสายการบิน ซึ่งส่วนมากแล้วเป็นสินค้าของกลุ่มผู้ประกอบการรายกลางและรายเล็กที่ดำเนินกิจการโดยคนไทย ดังนั้นจึงมีความเสี่ยงต่อการเลิกจ้างแรงงานสูง เนื่องจากหากพิจารณาที่งบกำไรขาดทุนแล้ว ผู้ประกอบการกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางสูง ทำให้สามารถอนุมานได้ว่าน่าจะมีผู้ประกอบการมากกว่า 1,000 รายที่ได้รับผลกระทบและตัดสินใจปิดกิจการลง ซึ่งสอดคล้องกับผลการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจอาหารที่ต่างลงความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ตนได้รับสินเชื่อไม่เพียงพอเนื่องจากไม่สามารถเข้าถึง soft loan ของภาครัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะว่าสินเชื่อส่วนใหญ่ถูกปล่อยให้แก่ภาคการค้าปลีกและค้าส่งเป็นหลัก ขณะที่อุตสาหกรรมอาหารที่ได้รับสินเชื่อเพียงร้อยละ 7 ของสินเชื่อทั้งหมด นอกจากนี้ยังประสบกับปัญหาเนื่องจากไม่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลเท่าที่ควร ทั้งมาตรการช่วยลดต้นทุนการผลิต มาตรการเยียวยาทางด้านภาษี และการช่วยหาตลาดใหม่ รวมไปถึงการสนับสนุนในรูปแบบต่าง ๆ อย่างจริงจังเพื่อนำเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาการผลิต

ขณะที่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้านั้นแตกต่างกันออกไปอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากภายหลังจากที่ประเทศไทยเผชิญกับวิกฤตการณ์ COVID – 19 อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว แม้ว่าในช่วง Lockdown จะได้รับผลกระทบอย่างหนักเนื่องจากแรงงานตามโรงงานต่าง ๆ ต้องหยุดงานเพื่อระงับการแพร่ระบาดของเชื้อโรค ทั้งนี้ รศ.ดร.อาชนัน ให้เหตุผลว่า ในความเป็นจริงแล้ว การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับการผลิตไม่ได้หยุดลงตามแรงงาน ทำให้อุตสาหกรรมนี้สามารถฟื้นตัวได้เร็วกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ ซึ่งแสดงว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID – 19 ก่อให้เกิดโอกาสกับอุตสาหกรรมนี้อย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะจากการ Work From Home ที่ช่วยเพิ่มอุปสงค์ของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ อุปกรณ์เหล่านี้ยังถูกผลิตขึ้นด้วยวัตถุดิบภายในประเทศมากขึ้น เนื่องจากการคมนาคมขนส่งหยุดชะงักจากมาตรการ Lockdown ที่เกิดขึ้นในประเทศต่าง ๆ

อุตสาหกรรมต่อมา คือ อุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งมีความสำคัญในฐานะอุตสาหกรรมหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศมาเป็นเวลานาน โดยสินค้าประเภทรถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์มีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 10 ของภาคการส่งออกทั้งหมด แต่ภายหลังจากที่ COVID – 19 เข้ามาในประเทศ สถานการณ์ต่าง ๆ ก็เปลี่ยนแปลงไปในทางลบ โดยดัชนีการผลิตรถยนต์ในช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคม 2563 หดตัวอย่างหนักถึงร้อยละ 68 และ 73 ตามลำดับ ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สถานการณ์เช่นเดียวกันเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าเครื่องนุ่มห่ม เพราะในปี 2563 ที่ผ่านมา การผลิตเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มหดตัวลงอย่างมหาศาล จากประมาณ 2.5 พันล้านบาทต่อเดือนในไตรมาสแรกของปี เหลือเพียง 1.5 พันล้านบาทในเดือนเมษายน หรือลดลงไปกว่าร้อยละ 43 ซึ่งทำให้ระดับการจ้างงานภายในประเทศลดลงไปกว่าร้อยละ 12.4 หรือราว 100,000 คน โดยเป็นสัดส่วนของแรงงานต่างชาติมากกว่าแรงงานไทยประมาณร้อยละ 10 ตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ภายหลังจากวิกฤตการณ์ COVID – 19 ผู้ประกอบการจำนวนมากจะลดจำนวนแรงงานต่อโรงงานลงเพื่อให้กิจการสามารถดำเนินต่อไปได้ ท่ามกลางรายได้ที่ลดลงอย่างชัดเจนจากการลดลงของอุปสงค์เป็นสำคัญ ทั้งนี้ จากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการจำนวน 20 รายพบว่า ผู้ประกอบการร้อยละ 60 ไม่สามารถส่งออกสินค้าได้ เนื่องจากถูกระงับคำสั่งจากคู่ค้าทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เพราะสินค้าประเภทเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มมีความจำเป็นน้อยกว่าสินค้าประเภทอื่นๆ

อ.ภาณุพงศ์ เสนอว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID – 19 ที่เกิดขึ้นเป็นเพียงตัวเร่งปฏิกิริยาเท่านั้น เพราะจากการศึกษา พบว่า ผลกระทบต่อตัวห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมจริงมีค่อนข้างจำกัด เนื่องจากการยึดโยงระหว่างต้นน้ำจนถึงปลายน้ำไม่ได้มีความเหนียวแน่นมากในแต่ละอุตสาหกรรม ทำให้ในส่วนของห่วงโซ่อุปทานจึงไม่มีปัญหามากนัก ประกอบกับบรรดาผู้ประกอบการได้วางแผนด้านการลงทุนไว้ล่วงหน้าอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตการณ์ ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า "Downsizing" โดยจะพบในทุกภาคส่วนของห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมนี้ อันจะเห็นได้จากการเปลี่ยนแปลงขนาดของโรงงาน โดยการลดจำนวนแรงงานต่อโรงงานลง ปรากฏการณ์นี้ดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติ เพราะอุตสาหกรรมเสื้อผ้าเครื่องนุ่มห่มเผชิญกับการเติบโตในอัตราที่ลดลงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาการว่างงานในประเทศจำนวนมาก ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลสามารถทำได้เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวนี้ คือ การจับคู่แรงงานกับอุตสาหกรรมที่กำลังเป็นโอกาสและต้องการแรงงานเพิ่มอยู่ เพื่อช่วยลดปัญหาแรงงานข้ามชาติ

อุตสาหกรรมสุดท้ายคือ อุตสาหกรรมโรงแรม ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและได้รับผลกระทบหนักมาก จากการภาระต้นทุนเกี่ยวกับสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ดังนั้น ภาครัฐจึงจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือเป็นพิเศษเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถประคองกิจการของตนให้ผ่านช่วงเวลาวิกฤตนี้ไปให้ได้ ไม่เช่นนั้นแล้วจะส่งผลกระทบในระยะยาวต่อเศรษฐกิจประเทศ เพราะไม่มีภาคส่วนใดเป็นกำลังหลักที่จะช่วยผลักดันให้เกิดการฟื้นตัวภายหลังสถานการณ์กลับเข้าสู่สภาวะปกติ

ทั้งนี้ โครงการที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบันอย่าง "เราเที่ยวด้วยกัน" หรือการจัดสัมมนาต่าง ๆ นั้นยังไม่เพียงพอสำหรับการชดเชยรายได้ที่เหล่าผู้ประกอบการเคยได้ ทำให้โรงแรมจำนวนมากจำเป็นต้องปิดตัวลงในช่วงปีที่ผ่านมา เนื่องจากไม่มีกระแสเงินสดมากพอ อีกทั้งมาตรการสินเชื่อต่าง ๆ ที่ออกมานั้น ผู้ประกอบการจำเป็นต้องมีสินทรัพย์ค้ำประกันเพิ่มเติม ซึ่งเงื่อนไขนี้กลายมาเป็นอุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางการขยายโอกาส ยิ่งไปกว่านั้น เกณฑ์ที่ใช้เป็นเกณฑ์ของ Sticky SMEs ทำให้มีผู้ประกอบการที่หลุดออกจากเกณฑ์เสมอ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว โรงแรมขนาดกลางและขนาดใหญ่มีบทบาทในการสร้างงานค่อนข้างมาก เมื่อเปรียบเทียบกับขนาดเล็ก ดังนั้น ถ้าหากมาตรการถูกออกเเบบมาเพื่อให้การเยียวยาโรงแรมขนาดกลางและขนาดเล็กมากจนเกินไป ก็อาจทำให้เกิด Massive Unemployment ขึ้นในอุตสาหกรรมได้

นอกจากนี้ ปัญหาอีกประการหนึ่งที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้น คือ "ปลาใหญ่กินปลาเล็ก" อันเป็นพฤติกรรมเอารัดเอาเปรียบของกลุ่มนายทุนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติในการกว้านซื้อโรงแรมขนาดเล็ก ดังนั้น รศ.ดร.อาชนัน จึงเสนอให้รัฐบาลควรเพิ่มบทบาทในการทำงานเชิงรุกด้วย โดยเริ่มต้นจากการให้ผู้ประกอบการทราบข้อมูลเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนในต่างประเทศเพื่อทำการพิจารณาเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวต่อไป

ในช่วงท้ายของการสัมมนานั้น คณะผู้วิจัยสรุปว่า แม้ว่าภายหลังจากการผ่อนปรนมาตรการ Lockdown ประเทศ เศรษฐกิจประเทศไทยจะมีแนวโน้มจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านแล้ว การฟื้นตัวของประเทศไทยยังคงช้ากว่ามาก ดังนั้น เพื่อให้ประเทศไทยสามารถก้าวต่อไปได้ รศ.ดร.จุฑาทิพย์ จึงเสนอว่าจำเป็นจะต้องมีการประคองเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ผ่านการนำมาตรการในระยะปานกลางและระยะยาวเข้ามาใช้มากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม มาตรการระยะสั้นอย่างการผลักดันการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทยยังคงต้องทำอยู่ เนื่องจากเป็นความต้องการสำคัญของกลุ่มผู้ประกอบการเปราะบางทั้งรายกลางและรายเล็กที่ยังคงมีศักยภาพในการเสียภาษี นอกจากนี้ยังเสนอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยพิจารณาเรื่องการเพิ่มวงเงินค้ำประกันและความยืดหยุ่นของหลักประกัน ซึ่งเป็นประเด็นที่ได้รับการร้องเรียนจากผู้ประกอบการจำนวนมาก รศ.ดร.จุฑาทิพย์ เห็นว่าควรดำเนินมาตรการเหล่านี้ ไปพร้อม ๆ กับการเร่งการฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่านนโยบายเกี่ยวกับการช่วยการจ้างงาน เพราะจะเป็นการช่วยสร้างศักยภาพให้แก่ผู้ประกอบการ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการขอสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ของผู้ประกอบการด้วย

นอกจากนี้ การปล่อยสินเชื่อมิใช่มาตรการเดียวที่บรรดาผู้ประกอบการต้องการ มาตรการอีกประเภทหนึ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน คือ การลดภาระต้นทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านภาษี และการดูแลค่าเงินไม่ให้ผันผวน เนื่องจากค่าเงินเป็นตัวแปรสำคัญในหลาย ๆ อุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารที่มีการใช้วัตถุดิบภายในประเทศจำนวนมาก ค่าเงินจึงมีผลในแง่ของการแข่งขันทางด้านการส่งออกอย่างมาก

ลักษิกา สถาปัตยานนท์
นักศึกษาเศรษฐศาสตร์ที่อยากเห็นคนทั่วไปเข้าเศรษฐศาสตร์มากกว่าวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับเศรษฐกิจ