การชุมนุมทางการเมืองของกลุ่ม "คณะราษฎร 2563" ส่งเสียงเป็นข้อเรียกร้องหลัก 3 ประการ แต่ภายในการชุมนุมหลาย ๆ ครั้งเราก็จะเห็นประเด็นยิบย่อยที่สะท้อนถึงความอัดอั้นของประชาชนต่อการบริหารราชการ หรือการต่อต้านกฎเกณฑ์หลายประการที่บังคับใช้มาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

บทความนี้มุ่งเน้นสำรวจข้อถกเถียงเรื่องภาษี ถ้าถามนักเศรษฐศาสตร์ว่า ทำไมจึงต้องมีการเก็บภาษีให้เป็นภาระของประชาชน คำตอบที่ได้คงเป็นเพราะ ความล้มเหลวของตลาด เราคงรับรู้กันโดยทั่วไปว่า แทบทุกประเทศใช้ระบบตลาดหรือกลไกราคาเป็นเครื่องมือในการจัดสรรทรัพยากร[1] กล่าวคือ ราคาเป็นเครื่องสะท้อนความพอใจของผู้บริโภคและต้นทุนของผู้ผลิต ทว่ากลไกราคามีข้อจำกัดอยู่หลายประการจึงจำเป็นที่จะต้องมีกระบวนการตัดสินใจร่วม (collective decision making) ซึ่งรูปแบบโดยทั่วไปก็คือการจัดการของหน่วยงานกลางที่เรารู้จักกันในนามของ รัฐบาล โดยเงินภาษีจะถูกนำไปจัดสรรใหม่ เพื่อทำให้ระบบตลาดทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จัดสรรให้หน่วยงานของรัฐและหน่วยงานอิสระทำหน้าที่กำกับดูแลเพื่อให้การแข่งขันในตลาดเป็นธรรม สร้างระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เฉลี่ยทุกข์สุขของคนในสังคมผ่านนโยบายสวัสดิการ คุ้มกันความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจทั้งในระดับบุคคลและในระดับภาพรวมอย่างเช่นการลงทุนแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ฯลฯ นี่คือหน้าที่ในอุดมคติของรัฐบาล

เราเข้าคูหากาเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพื่อไปทำหน้าที่เป็นตัวแทนในกระบวนการตัดสินใจร่วมนี้ ทุก ๆ ปีจะต้องมีกระบวนการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณเพื่อตัดสินใจว่า เงินภาษีจะถูกนำไปใช้อย่างไร ในขณะเดียวกันกฎเกณฑ์การเก็บภาษีอาจต้องพิจารณาปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและความเหมาะสมต่อสถานการณ์ภายในประเทศหรือสถานการณ์โลก ขณะที่ประชาชนเองก็ย่อมมีสิทธิในการตรวจสอบการทำงานของผู้แทนที่เราเลือกไปตามกระบวนการประชาธิปไตย

การเก็บและการใช้จ่ายเงินภาษีไม่จำเป็นต้องมีรูปแบบตายตัวเสมอไป แต่เปลี่ยนแปลงได้เหมือนกับกฎเกณฑ์อื่น ๆ ในสังคม ยกตัวอย่างเช่น ในสมัยอยุธยา ราษฎรที่ไม่เข้ารับราชการเมื่อถึงเวรนั้นจะต้องจ่าย "ส่วยแทนแรง" เพื่อทดแทนการทำงานตามหน้าที่ที่เป็นกฎเกณฑ์ในสมัยนั้น[2] หมายความว่า ในสมัยนั้นแรงงานเป็นรูปแบบหนึ่งของภาษีซึ่งปัจจุบันก็เปลี่ยนแปลงไปแล้ว การเก็บและการใช้จ่ายเงินภาษีนั้นจึงเหมือนกับกฎเกณฑ์อื่น ทั่วไปที่ไม่มีผิดหรือถูกตายตัว ขึ้นอยู่กับว่าสังคมเรายอมรับร่วมกันว่าจะใช้หลักการแบบใดในการจัดสรร

ข้อความที่เลือกมาต่อไปนี้พบเห็นได้ทั่วไปตาม Social media ผู้เขียนคัดมาบางส่วนจากทั้ง "ฝั่งขวา" และ "ฝั่งซ้าย" เพื่อชี้ให้เห็นว่าข้อความเหล่านี้ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือไม่ และข้อความเหล่านี้สะท้อนหลักคิดในการจัดสรรภาษีอย่างไร เริ่มต้นจาก "ฝั่งขวา" ดังนี้

"นักธุรกิจอย่างเราเสียภาษี 85% ของภาษีทั้งประเทศ"

ข้อความนี้มีความคลุมเครืออยู่จึงต้องคลี่ปมออกมาก่อน ถ้า "นักธุรกิจ" หมายถึงบุคคลอย่างผู้บริหารหรือเจ้าของกิจการ เขาก็ย่อมเสียภาษีเหมือนกันบุคคลทั่วไป ถ้าเขาจับจ่ายใช้สอยย่อมต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ถ้าเขามีรถก็จะต้องเสียภาษีรถยนต์รายปี ถ้าเขากินเหล้าสูบบุหรี่ก็จะต้องเสียภาษีสรรพสามิตอีก ฯลฯ เนื่องจากเราไม่รู้ว่านักธุรกิจที่เสียภาษีกี่คน เขาใช้จ่ายรายการใดมากน้อยแค่ไหน แต่ถ้าเราสมมติว่า เขาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามากที่สุดในบรรดาภาษีอื่น ๆ ที่เขาเสีย ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานี้ไม่ถึงร้อยละ 20 ของรายได้ที่จัดเก็บโดยกรมสรรพากรด้วยซ้ำ (ยังมีรายได้ที่จัดเก็บจากส่วนงานอื่นอีก แต่รายได้ที่จัดเก็บโดยกรมสรรพากรนั้นคิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 60-70 ของรายได้ภาครัฐทั้งหมด)

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

ในทางกลับกัน ถ้าหมายถึงการเสียภาษีในนามนิติบุคคลแล้วนั้น "นักธุรกิจ" ไม่ได้รับภาระเสียภาษีเป็นรายบุคคล เพราะภาษีเงินได้นิติบุคคลเสียในนามขององค์กรโดยคิดจากกำไรสุทธิ กำไรหลังหักภาษีนี้สามารถนำมาลงทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพขององค์กร ขึ้นเงินเดือนพนักงาน หรือแจกจ่ายให้กับผู้ถือหุ้น หมายความว่า ภาระภาษีตกเป็นของพนักงานทุกคนที่ร่วมกันทำงานในองค์กรนั้น ๆ รวมถึงผู้ถือหุ้นอีกด้วย จากภาพด้านบน ภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้นคิดเป็นร้อยละ 30-40 เท่านั้น ไม่ว่าจะมองแบบใด ไม่มีทางเป็นไปได้เลยที่อาชีพ "นักธุรกิจ" จะเสียภาษีถึงร้อยละ 85 ของรายรับภาษีทั้งประเทศ ดังนั้น ข้อความนี้ผิดไปจากข้อเท็จจริง

"บริษัทจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่ใช่ประชาชน"


บริษัทมีหน้าที่ "ส่ง" ภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับกรมสรรพากรจริง แต่ภาษีมูลค่าเพิ่มนั้นเป็น ภาษีทางอ้อม (Indirect tax) หมายถึง ภาษีที่สามารถผลักภาระไปให้ผู้อื่นได้ ภาษีมูลค่าเพิ่มจึงถูกคิดรวมกับราคาสินค้าหรือบริการ หมายความว่าผู้บริโภคเป็นฝ่ายรับภาระภาษี ไม่เหมือนกับ ภาษีทางตรง (Direct tax) ซึ่งเป็นภาษีที่ผลักภาระไปให้กับผู้อื่นไม่ได้ เช่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ถ้าคำว่า "จ่าย" ในข้อความนี้หมายถึงการรับภาระภาษี ข้อความนี้ผิดไปจากข้อเท็จจริง

"ประชาชนที่มีรายได้ 2 แสนบาทต่อปีขึ้นไปเท่านั้นที่เสียภาษี"

สืบเนื่องจากข้อความก่อนหน้า ข้อความนี้ผิดไปจากข้อเท็จจริงเช่นกัน เพราะภาษีจัดเก็บจากหลากหลายฐาน อย่างภาษีมูลค่าเพิ่มที่เป็นภาษีทางอ้อมคิดจากการบริโภค ข้อความนี้จะเป็นจริงเพียงกึ่งหนึ่งหากหมายถึงภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เนื่องจากผู้มีรายได้ไม่ถึงปีละ 150,000 บาทต่อปีจะได้รับการยกเว้นภาษี (ในความเป็นจริงหากมีรายได้เกินกว่านั้นก็อาจได้รับการยกเว้นหากมีค่าลดหย่อน) ทีนี้เรามาดูข้อความจาก "ฝั่งซ้าย" กันบ้าง

"ประชาชนจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงมีสิทธิในภาษีเหมือนกัน"

ข้อความนี้เราตัดสินจริงเท็จได้เพียงครึ่งแรกเท่านั้น "ประชาชนจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม" เป็นความจริงเนื่องจากเป็นข้อความที่ค่อนข้างทั่วไป ไม่ได้ชี้เฉพาะไปที่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น สิ่งที่เราเห็นจากทั้ง "ฝั่งขวา" และ "ฝั่งซ้าย" คือการพยายามยืนยันสิทธิความเป็นเจ้าของภาษีด้วยกันทั้งสองฝั่ง ด้วยหลักการเดียวกันว่า การจ่ายภาษีทำให้เรามีสิทธิในการออกเสียงว่าควรนำไปภาษีไปจัดสรรอย่างไร ฝั่งขวาอ้างว่าเขารับภาระภาษีมากกว่าโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษีทางตรง ฝั่งซ้ายก็อ้างว่าคนทั่วไปก็จ่ายภาษีเช่นกันแม้อาจเป็นภาษีทางอ้อม

ประเด็นสำคัญของบทความนี้ต้องการชี้ให้เห็นว่า ข้อความจากทั้งสองฝั่งสะท้อนวิธีคิดในการถือสิทธิความเป็นเจ้าของภาษีด้วยหลักการใกล้เคียงกัน กล่าวคือ ต่างฝ่ายต่างอ้างว่าตนเองจ่ายภาษีจึงมีสิทธิในภาษีที่จัดเก็บไป วิธีคิดแบบนี้ขัดกับหลักการตั้งต้นที่การจัดตั้งรัฐบาลเกิดขึ้นเพราะตลาดไม่สามารถจัดสรรทรัพยากรได้ทุกอย่างหรือจัดสรรสินค้าบริการบางอย่างได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ หากผู้รับภาระภาษีมากแล้วมีสิทธิในภาษีมากกว่าผู้ที่จ่ายน้อยกว่าก็จะนำไปสู่ปัญหาอำนาจที่ไม่เสมอกัน ใครไม่จ่ายย่อมไม่มีสิทธิ ดังนั้นแล้ว รัฐบาลจะเก็บภาษีไปเพื่ออะไรถ้าสุดท้ายผลลัพธ์ก่อนและหลังการเก็บภาษีไม่ต่างกัน เหตุเนื่องมาจากสิทธิเหนือภาษีที่ไม่เท่าเทียมกันตามความสามารถในการจ่ายภาษี

นอกจากนั้น ในแต่ละสังคมย่อมมีกลุ่มคนส่วนน้อยที่ไม่ได้เสียภาษีเลย อาจมีบางคนผลิตเพื่อการยังชีพอย่างแท้จริงและไม่ได้ข้องแวะกับระบบตลาด บางคนอาจเกิดมาพร้อมความพิการที่ไม่สามารถเข้าถึงกิจกรรมเศรษฐกิจได้ ชีวิตบางคนโชคร้ายที่ต้องประสบอุบัติเหตุจนไม่สามารถทำงานได้ หากคนเหล่านี้ไม่เสียภาษีหรือไม่มีคุณค่าในเชิงเศรษฐกิจ คนเหล่านี้ยังสมควรได้รับการจัดสรรภาษีให้หรือใช้สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานร่วมกันในสังคมหรือไม่ หรือควรปล่อยให้เขาเหล่านั้นอดตายไป

ดังที่กล่าวไว้ตั้งแต่ต้นว่ากฎเกณฑ์ในการจัดเก็บและจัดสรรนั้นเปลี่ยนแปลงได้เสมอ ขึ้นอยู่กับว่าสังคมเรายอมรับหลักการใดร่วมกัน คำถามสำคัญที่เราต้องถามตัวเองคือเราอยากอยู่ในสังคมแบบใด สังคมแบบที่ภาษีถูกนำมาใช้เพื่อเฉลี่ยทุกข์สุข กระจายความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในชีวิต สร้างระบบสาธารณูปโภคที่ทำให้ชีวิตเราสะดวกสบาย หรือจะอยู่ในสังคมที่ยึดวิธีคิดใครจ่ายมากมีสิทธิมาก จ่ายน้อยมีสิทธิน้อย ไม่จ่ายไม่มีสิทธิ การถกเถียงควรต้องเริ่มจากคำถามนี้ก่อนสิ่งอื่นใด

[1] อ่านเพิ่มเติมเรื่องระบบการจัดสรรทรัพยากรได้ที่ https://setthasarn.econ.tu.ac.th/blog/detail/14/

[2] การเก็บภาษีในสมัยอยุธยา ดูได้จาก https://www.rd.go.th/publish/3459.0.html

[3] สำหรับผู้ที่สนใจติดตามการจัดเก็บภาษี ดูได้จาก http://www.fpo.go.th/main/Statistic-Database.aspx ข้อมูลในเว็บไซต์ดังกล่าวได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัยอยู่เสมอ

วีระวัฒน์ ภัทรศักดิ์กำจร
อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์