การลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินของคนก่อนวัยเกษียณ

3585 views

การลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินของคนก่อนวัยเกษียณ

ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ความท้าทายสำหรับกลุ่มคนที่กำลังเข้าสู่วัยสูงอายุคงหนีไม่พ้นเรื่องรายได้และค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ โดยทั่วไปนั้น รายได้ของผู้สูงอายุมักจะมาจากเงินที่เก็บออมในช่วงวัยทำงาน หรือเงินที่ได้จากสวัสดิการของภาครัฐ แต่จากการสำรวจผู้สูงอายุ ปี 2560 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติกลับพบว่า ร้อยละ 35 ของผู้สูงอายุต้องพึ่งพิงบุตรหลานในการใช้จ่ายดำรงชีพ ร้อยละ 31 เป็นผู้สูงอายุที่ยังต้องทำงาน และอีกร้อยละ 20 เป็นผู้สูงอายุที่มีรายได้หลักจากเบี้ยยังชีพ ขณะที่มีผู้สูงอายุเพียงแค่ร้อยละ 2 เท่านั้นที่สามารถอาศัยรายได้จากเงินออม ดังนั้นจะเห็นได้ว่ามีผู้สูงอายุจำนวนน้อยมากที่สามารถพึ่งพาตัวเองในการดำรงชีพได้

นอกจากการขาดเงินออมแล้วยังมีปัจจัยภายนอกอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อคนกลุ่มนี้ เช่น การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรในประเทศไทย โดยจำนวนประชากรวัยเด็ก (0-14 ปี) มีแนวโน้มลดลงสวนทางกับจำนวนประชากรวัยสูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) ที่เพิ่มขึ้น สำนักงานสถิติแห่งชาติคาดการณ์ว่า ในปี 2583 อัตราการพึ่งพิงวัยแรงงานต่อผู้สูงอายุหนึ่งคนจะอยู่ที่ 2.2 คน ซึ่งหมายความว่า ผู้สูงอายุหนึ่งคนจะพึ่งพิงวัยแรงงานได้เพียง 2.2 คน ซึ่งตัวเลขดังกล่าวมีค่าลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับอัตราการพึ่งพิงในปี 2563 ซึ่งเท่ากับประมาณ 3.81 คน ความเปลี่ยนแปลงนี้จะส่งผลกระทบต่อกลุ่มผู้สูงอายุที่พึ่งพิงรายได้จากบุตรหลานเป็นหลัก และเป็นกลุ่มผู้สูงอายุส่วนใหญ่ในประเทศไทย

ในขณะเดียวกัน จากสภาวะเศรษฐกิจถดถอยทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารพาณิชย์ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง กลุ่มผู้สูงอายุที่พึ่งพิงรายได้จากเงินออมเกิดต้นทุนค่าเสียโอกาสในการนำเงินไปลงทุนผ่านช่องทางอื่น เพราะผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล ทองคำ และหุ้นกู้ (BBB- ขึ้นไป) มีอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ร้อยละ 14.83 12.82 และ 5.53 ตามลำดับ (สมาคมตลาดตราสารหนี้, 2562) ซึ่งเป็นอัตราผลตอบแทนที่สูงเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์

จากเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น การลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินจึงเป็นอีกช่องทางการลงทุนที่มีความน่าสนใจ โดยเฉพาะ กลุ่มคนอายุ 41-55 ปี ซึ่งส่วนใหญ่มีรากฐานมั่นคง ฐานเงินเดือนสูง มีความสามารถในการจัดสรรรายได้และค่าใช้จ่ายได้ดี และกำลังจะเข้าสู่วัยสูงอายุในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า จึงนำมาสู่งานศึกษาหัวข้อ "ปัจจัยที่ส่งผลต่อการลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินของกลุ่มคนช่วงอายุ 41-55 ปี" ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมการลงทุน และนำผลการศึกษามาออกแบบผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เหมาะสมกับกลุ่มคนในช่วงวัยนี้

งานศึกษาชิ้นนี้รวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างช่วงอายุ 41-55 ปี จำนวน 214 ตัวอย่าง ผ่านการเก็บแบบสอบถามข้อมูลด้านประชากรศาสตร์และด้านพฤติกรรมการลงทุน ข้อมูลด้านประชากรศาสตร์จากแบบสอบถามพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง มีระดับรายได้ต่อเดือนอยู่ที่ 50,001 ถึง 80,000 บาทซึ่งเป็นระดับรายได้ที่ค่อนข้างสูง เนื่องจากกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีระดับการศึกษาสูงสุดที่ระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ทำให้มีหน้าที่การงานมั่นคง และส่วนใหญ่ครองตนเป็นโสดทำให้ไม่มีภาระค่าใช้จ่ายด้านเลี้ยงดูบุตรหลานหรือครอบครัว ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่มีระดับรายได้ต่อเดือนอยู่ที่ 30,001 ถึง 50,000 บาท ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพธุรกิจส่วนตัว ทำให้มีระดับรายได้ไม่แน่นอน ผันผวนไปตามสภาพเศรษฐกิจ

ด้านพฤติกรรมการลงทุนนั้น ช่องทางการลงทุนที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ ประกันชีวิต สลากออมสิน และหุ้นสามัญ ตามลำดับ ผลิตภัณฑ์ทางการเงินเหล่านี้จัดอยู่ในผลิตภัณฑ์ทางการเงินระดับความเสี่ยงต่ำถึงปานกลาง โดยกลุ่มตัวอย่างมีการลงทุนร้อยละ 10 ของรายได้รวมต่อเดือน มีแหล่งเงินทุนมาจากเงินออมและใช้การวิเคราะห์การลงทุนด้วยตัวเอง ในด้านแนวโน้มการลงทุน พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่สนใจจะลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินประเภท ทองคำ และอสังหาริมทรัพย์ (ซึ่งมีอัตราผลตอบแทนสวนทางกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก) รวมถึงพันธบัตรรัฐบาลที่มีระดับความเสี่ยงต่ำ โดยตั้งเป้าผลตอบแทนอยู่ที่ร้อยละ 20 ต่อปี ในระยะกลาง (1-5 ปี) ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่ไม่ลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากมีเงินออมไม่เพียงพอสำหรับการลงทุนและขาดความรู้ความเข้าใจในการลงทุน

ผลการศึกษาด้วยวิธี Multinomial Logistic Regression เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรอิสระและตัวแปรตาม โดยใช้แบบจำลองพฤติกรรมการลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินกับข้อมูลด้านประชากรศาสตร์พบว่า ระดับการศึกษาและระดับรายได้ที่สูงขึ้นเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากกลุ่มตัวอย่างมีความรู้ความเข้าใจในการลงทุน มีรายได้แน่นอน อาชีพที่มั่นคง จึงทำให้มีเงินออมเหลือเพียงพอสำหรับนำมาลงทุนและสามารถรอผลตอบแทนที่เกิดขึ้นในอนาคตได้

ขณะที่ผลการศึกษาโดยใช้แบบจำลองพฤติกรรมการตัดสินใจเลือกลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีระดับความเสี่ยงสูงกับข้อมูลด้านประชากรศาสตร์พบว่า เพศชายและระดับการศึกษาที่สูงขึ้นส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีระดับความเสี่ยงสูงขึ้น เนื่องจากเพศชายมีลักษณะนิสัยที่กล้าแบกรับความเสี่ยงมากกว่า และระดับการศึกษาที่สูงขึ้นจะทำให้สามารถคำนวณผลตอบแทน และประเมินความเสี่ยงได้ดียิ่งขึ้น

จากผลการศึกษาข้างต้น ผู้ทำการศึกษาเสนอว่า สำหรับกลุ่มที่ไม่ลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินเนื่องจากมีเงินทุนไม่เพียงพอและขาดความรู้ในการลงทุนนั้น สถาบันการเงินควรเสนอประกันแบบออมทรัพย์ให้กับคนกลุ่มนี้ เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินระดับความเสี่ยงต่ำ และได้ผลตอบแทนในรูปเงินออมและความคุ้มครอง อีกทั้งสามารถส่งต่อกรมธรรม์จากบิดามารดาสู่บุตรหลานได้ สำหรับกลุ่มที่ลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีระดับรายได้ที่ค่อนข้างสูง สถาบันการเงินควรเสนอกองทุน RMF และกองทุน SSF ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินระดับความเสี่ยงปานกลาง และสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ ทั้งนี้ สถาบันการเงินเองต้องเข้ามามีบทบาทในการประเมินความเสี่ยงและติดตามผลอย่างใกล้ชิดด้วย

ในส่วนของภาครัฐบาลนั้น ผู้ทำการศึกษาเสนอว่า ภาครัฐควรส่งเสริมให้มีการลงทุนในประกันแบบออมทรัพย์และพันธบัตรรัฐบาล เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินระดับความเสี่ยงต่ำ และเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ทำให้ประชาชนมีโอกาสเรียนรู้การลงทุนทางการเงินโดยใช้ต้นทุนค่อนข้างต่ำ นอกจากนี้ ภาครัฐควรส่งเสริมนโยบายด้านการศึกษาและนโยบายที่ให้ประชากรมีช่องทางการทำงานเพิ่มขึ้น เพื่อให้พวกเขามีเงินเพียงพอสำหรับการลงทุน รวมถึงต้องมีการอบรมให้ความรู้ และประชาสัมพันธ์เรื่องการลงทุนผ่านช่องทางออนไลน์เพื่อให้สามารถเข้าถึงประชาชนได้มากขึ้น

การลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสร้างรายได้ และเป็นโอกาสในการสร้างค่าให้กับเงินทุน อย่างไรก็ตาม ก่อนลงทุนควรศึกษาหาข้อมูลอย่างละเอียดและวางแผนอย่างรอบคอบ หากจัดสรรการลงทุนอย่างเหมาะสม การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุก็ไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัวอีกต่อไป

เอกสารอ้างอิง

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา. (2560). วางแผนหลังเกษียณ ต้องเก็บเงินเท่าไหรถึงจะพอ. สืบค้นเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2563, จาก https://www.krungsri.com/bank/th/plearn-plearn/saving-plan-for-your-retirement.html

ธนาคารแห่งประเทศไทย. (2563). อัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ (สถิติ). สืบค้นเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2563, จากhttps://www.bot.or.th/thai/statistics/_layouts/application/interest_rate/IN_Historical.aspx

ธนาคารออมสิน. (2563). อัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารออมสิน. สืบค้นเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2563, จาก https://www.gsb.or.th/services/DepositInterest.aspx

ภาควิชาการธนาคารและการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (2559). เงินใช้หลังเกษียณ : ทำอย่างไรถึงจะออมเงินให้เพียงพอ. สืบค้นเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563, จาก https://www.set.or.th/set/financialplanning/lifeevent.do?name=lifeevent_detail_postretire-2&innerMenuId=47

มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ. โครงการ ABAC Consumer Index. (2560). เอแบคโพลล์: สถิติการออมและการลงทุนของคนกรุงเทพมหานคร. สืบค้นเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563, จากhttps://www.bltbangkok.com/poll/4176/

โรงพยาบาลอ่างทอง. (2558). อัตราส่วนพึ่งพิงทางอายุ. สืบค้นเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2563, จาก https://ath.in.th/hdc/2015/07/the-age-dependency-ratio/

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (2562). พันธบัตรรัฐบาล Low risk but high return. สืบค้นเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2563, จาก http://www.thaibma.or.th/EN/Investors/Individual/Blog/2019/27122019.aspx

สำนักข่าวอิศรา. (2562). หากต้องใช้ชีวิตไปถึง 100 ปี ควรมีเงินออมเท่าไหร?. สืบค้นเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2563, จาก https://www.isranews.org/thaireform/thaireform-documentary/76504-thaii-76504.html

สำนักงานสถิติแห่งชาติ. (2562). สถิติประชากรและบ้าน จำนวนประชากรแยกรายอายุ. สืบค้นเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2563, จาก http://stat.dopa.go.th/stat/statnew/upstat_age.php

อธิวัฒน์ โตสันติกุล. (2556). แนวโน้มและพฤติกรรมของนักลงทุนชาวไทย ในกรุงเทพมหานคร.(ฉบับที่ 2 วารสารบริหารธุรกิจศรีนครินทรวิโรฒ ปีที่ 4). กรุงเทพฯ: ศูนย์การจัดการหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาคณะบริหารธุรกิจเพื่อสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

ภูพิงค์ ตั้งสิตาพร
นักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์