วิกฤต COVID-19 กับวิกฤติความเหลื่อมล้ำ (ปัจฉิมบท)

2799 views

วิกฤต COVID-19 กับวิกฤติความเหลื่อมล้ำ (ปัจฉิมบท)

ในส่วน ปฐมบท เราได้เล่าถึงพลวัตของความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ทั้งของไทย และกลุ่มประเทศต่าง ๆ ในโลก พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าทฤษฎีของ Kuznets (ในความเข้าใจของคนทั่วไป) อาจประยุกต์ใช้กับหลายประเทศไม่ได้อีกต่อไป เนื่องจากแรงขับเคลื่อนของความเหลื่อมล้ำในการถือครองทรัพย์สินซึ่งส่งผลต่อมายังความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ที่เพิ่มขึ้นในหลายประเทศ หลังจากช่วงปลายทศวรรษ 1970

สำหรับการกระจุกตัวของความมั่งคั่งในประเทศไทยก็เผชิญสถานการณ์ที่คล้ายกัน ตัวเลขจาก Forbes Asia แสดงให้เห็นถึงสถานะความมั่งคั่งของกลุ่ม Top 1% ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา ในปี 2018 คนที่รวยที่สุด Top 1% ของไทยครอบครองทรัพย์สินเป็นสัดส่วน 66.9% ของประเทศโดยเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจาก 38.5% ในปี 2011 หากพิจารณาในวงที่แคบลงคือมหาเศรษฐี 50 ตระกูลที่ร่ำรวยที่สุดจาก Forbes Asia ปี 2018 เปิดเผยว่ามีทรัพย์สินรวม 162.5 พันล้านดอลลาร์ สรอ. หรือครอบครองทรัพย์สิน 31% ของทั้งประเทศ เพิ่มจากหนึ่งในสี่ในปี 2006

รูปที่ 6 มูลค่าทรัพย์สินของมหาเศรษฐี Forbes 50

ที่มา: คำนวณจาก Forbes Asia

กลุ่ม Top 1% ในประเทศไทยคือกลุ่มคนที่ร่ำรวยที่สุดจำนวน 5.2 แสนคนในประเทศ จากประชากรวัยทำงานประมาณ 52 ล้านคน Phongpaichit (2016) ได้จำแนกบุคคลกลุ่ม Top 1% นี้ออกเป็นสองกลุ่มย่อย ชั้นที่ 1 คือกลุ่มผู้ประกอบการ (Entrepreneur) มีจำนวนหลายพันถึงหมื่นคน (thousands) ครอบครองทุนและที่ดินจำนวนมหาศาล รายได้หลักมาจากการเป็นเจ้าของทุนและกิจการ ตระกูลมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดจำนวน 50 รายที่ Forbes จัดอันดับทุกปีอยู่ในกลุ่มนี้ Laovakul (2016) ระบุว่าคนกลุ่มบนครอบครองครองโฉนดที่ดินอยู่ในระดับสูงโดยบุคคลและนิติบุคคลเพียง 1.6 ล้านราย (10% ของผู้ถือโฉนด) ครอบครองพื้นที่ถึง 62% ของทั้งประเทศ นอกจากนี้คนกลุ่มนี้ยังมีการศึกษาสูงและคุณภาพดีมาก และสุดท้ายคนกลุ่มนี้ได้รับการเอื้อประโยชน์จากรัฐในรูปแบบของสิทธิพิเศษต่าง ๆ นับว่าเป็นความล้มเหลวของรัฐและเป็นปัจจัยหลักที่สร้างความไม่เสมอภาคให้เกิดขึ้นในสังคม สำหรับชั้นที่ 2 คือกลุ่มที่ไม่ใช่ผู้ประกอบการ (Non-Entrepreneur) มีจำนวนหลายแสนคน คือกลุ่มผู้บริหารระดับกลางถึงสูงทั้งในภาครัฐและเอกชน รวมถึงอาชีพที่อาศัยทักษะเฉพาะทางเช่น แพทย์ นักกฎหมาย นักการเงิน คนกลุ่มนี้มีรายได้น้อยกว่ากลุ่มแรกแต่มีจำนวนมากกว่า มีรายรับจากทรัพย์สินมากพอสมควรแต่รายได้ส่วนใหญ่ยังคงมาจากค่าตอบแทนจากแรงงาน

ประเด็นนี้เห็นได้ชัดเจนสำหรับกรณีของไทย รายได้เกือบทั้งหมดของคนจนที่สุด 50% มาจากการว่าจ้าง ในขณะที่รายได้จากทรัพย์สิน เช่นจากค่าเช่า ดอกเบี้ย เงินปันผล และค่าตอบแทนจากทุนอื่น ๆ เป็นรายได้หลักของคนที่รวยที่สุด 10% ในประเทศ โดยถือเป็นกว่าครึ่ง สำหรับ top 1% top 0.1% และ top 0.01% ในไทย รายได้จากการว่าจ้างถือเป็นเพียง 35% 27% และ 10% ของรายได้ทั้งหมดเท่านั้น ซึ่งคนกลุ่มหลังนี้น่าจะมีสัดส่วนกลุ่มผู้ประกอบการขนาดใหญ่มากกว่ากลุ่มผู้บริหารระดับสูง

รูปที่ 4 ส่วนแบ่งรายได้ประชาชาติตามกลุ่มรายได้

รูปที่ 5 ส่วนประกอบรายได้ที่มาจากแรงงาน

วิกฤตโควิดส่งผลกระทบอย่างไรต่อกลุ่ม Top 1%

แน่นอนว่า COVID-19 นั้นส่งผลกระทบต่อคนทุกกลุ่มในสังคม อย่างไรก็ตาม ผลที่เกิดกับกลุ่ม Top 1% นั้นน่าจะน้อยกว่ากลุ่มอื่น ๆ มาก โดยมีการคาดการณ์ว่า GDP ในปี 2020 น่าจะหดตัวที่ 5.3 – 6.7% และจะส่งผลต่อกลุ่มแรงงานนอกระบบรวมถึงผู้ประกอบการรายย่อยมากที่สุด ดังนั้นมีสัญญาณว่า COVID-19โดยตัวของมันเองจะทำให้สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำย่ำแย่ลงไปอีก

หลายคนคิดว่าหากเศรษฐกิจตกต่ำจะส่งผลกับคนรวยมากกว่าคนจนและจะทำให้ความเหลื่อมล้ำดีขึ้น นั่นอาจเป็นมุมมองที่เกิดจากการมองไปยังวิกฤตทางการเงินในปี 2540 แต่ต้องเข้าใจว่าวิกฤตครั้งนั้นเกิดขึ้นกับคนกลุ่มบนโดยตรงโดยเฉพาะผู้ที่มีหนี้สินในรูปสกุลเงินต่างประเทศ ในครั้งนั้นกลุ่ม Top1% น่าจะได้รับผลกระทบมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ แต่สำหรับ COVID-19 กลุ่ม Top 1% น่าจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด พวกเขาน่าจะได้รับผลกระทบไม่มากนักเมื่อเทียบกับกลุ่มล่าง สาเหตุหลักคือรายได้ที่ไม่ลดลงมากนัก รายได้จากทรัพย์สิน เช่น ค่าเช่า ดอกเบี้ย เงินปันผล ยังจ่ายผลตอบแทนได้ตามปกติแม้อาจจะลดลงไปบ้าง แหล่งรายได้หลักคือตลาดทุนไม่ได้ย่ำแย่มากโดยดัชนีตลาดหลักทรัพย์ SET ลดลงเพียงประมาน 10% (unrealized capital loss) จากช่วงต้นปี

ช่วงสิบปีที่ผ่านมา กลุ่ม Top 1% ได้สะสมทรัพย์สินไว้จำนวนมากทั้งในรูปแบบตราสารทางการเงินและอสังหาริมทรัพย์ นอกจากนี้พวกเขายังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องแปลงสินทรัพย์เหล่านั้นเพื่อนำมาใช้จ่ายในเร็ววัน (เงินเย็น) ผลคือพวกเขาน่าจะสามารถผ่านพ้นวิกฤตได้อย่างไม่บอบช้ำมาก

หลังวิกฤต COVID-19 จะเป็นอย่างไร

ท่ามกลางวิกฤติด้านสุขภาพในครั้งนี้นโยบายรัฐจะมีผลอย่างมากทั้งในด้านการควบคุมการระบาดของโรคและมาตรการเกี่ยวกับการกระตุ้นและเยียวยาด้านเศรษฐกิจ ผลลัพธ์คือรัฐบาลจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินจำนวนมหาศาลในการรับมือกับ COVID-19 โดยเป็นการใช้จ่ายแบบมาตรการทางการคลังจำนวน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 6% ของ GDP1 นั้นหมายความว่า COVID-19 จะจากไปพร้อมกับหนี้จำนวนมหาศาล

คำถามสำคัญก็คือรัฐบาลจะหารายได้จากช่องทางใดเพื่อนำมาจ่ายหนี้สาธารณะก้อนนี้? ในขณะนี้ยังไม่มีการพูดถึงประเด็นหนี้สินที่จะเกิดขึ้นกันมากนัก แต่ก็มีสัญญาณที่บ่งชี้ว่ารัฐต้องดิ้นรนเพื่อประหยัดงบประมาณโดยเฉพาะส่วนที่ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนหรือเป็นโครงการที่ใช้งบประมาณอย่างไม่มีประสิทธิภาพ เช่น การชะลอซื้ออาวุธ การปล่อยให้การบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ

สิ่งหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคตคือรัฐบาลอาจถูกกดดันให้เก็บภาษีกับกลุ่มนี้มากขึ้น นี่คือผลทางอ้อมของ COVID-19 ที่อาจจะเกิดกับกลุ่ม Top 1% โดยเฉพาะกลุ่มเจ้าของที่ดินเพราะเป็นทรัพย์สินที่เคลื่อนย้ายพรมแดนไม่ได้ บทเรียนจากประเทศต่าง ๆ ในอดีตได้ให้บทเรียนเกี่ยวกับวิธีจัดการหนี้สาธารณะขนาดใหญ่อย่างมีประสิทธิภาพ หลังสงครามโลกครั้งที่สองเยอรมันได้เก็บภาษีทรัพย์สินในอัตราก้าวหน้ามากและจำกัดเวลา(และนับว่าเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่เศรษฐกิจเติบโตอย่างมากหลังสงคราม

ลองมาพิจารณาหลักการและรูปแบบภาษีทรัพย์สินกับกลุ่ม Top 1% ที่อาจนำมาประยุกต์เข้ากับประเทศไทย

  • หลักการ
  1. คนรวยได้รับผลกระทบน้อยมากเพราะสามารถทำงานอยู่ที่บ้านได้และมีเงินออม (ทรัพย์สิน) ที่สามารถนำมาใช้ได้
  2. ในประเทศไทยมีการกระจุกตัวของทรัพย์สินสูงมาก กลุ่ม Top 1% ครอบครองทรัพย์สินมากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศ ดัง
    นั้นการเก็บภาษีจะสร้างรายได้ได้มากและไม่กระทบคนอีก 99%
  3. การเก็บภาษีทรัพย์สินจะไม่กระทบกับฐานะของคนรวยมากนัก ในช่วงวิกฤตโควิดคนรวยน่าจะออมมากขึ้นเพราะอยู่การบ้านทำให้พวกเขาไม่ได้ใช้จ่าย เช่น ท่องเที่ยว และนำเงินไปซื้อพันธบัตรที่รัฐบาลกู้เพื่อเยียวยาโควิด (ซึ่งก็จะสร้างรายได้ให้เขาต่อไป) นอกจากนี้ยังไม่ได้เก็บในอัตราที่สูงมากนัก คือเริ่มต้นที่ 0.5 – 2%
  • รูปแบบ
  1. อัตราภาษีก้าวหน้า (ไม่ได้สูงมากจนเป็นไปไม่ได้ เพราะเคยเกิดมาแล้วและมีอยู่ในประเทศแถบยุโรปในปัจจุบัน
  2. จำกัดเวลา เช่น 10 ปี เนื่องจากมีวัตถุประสงค์เพื่อการชดเชยหนี้ที่เกิดจากวิกฤตโควิด-19 เท่านั้น (COVID property tax)
  3. เป็นทางออกที่ดีกว่าการที่รัฐบาลต้องขึ้นภาษีทางอื่นหรือลดค่าใช้จ่าย เพราะส่งผลต่อ growth น้อย (เพราะเป็นมาตรการที่จำกัดเวลา( และเป็นการเก็บภาษีจากการสะสมทรัพย์สินในอดีตแต่จะไม่ส่งผลต่อผลตอบแทนการลงทุนในอนาคต
  4. แรงผลักดันทางการเมือง - ควรเริ่มทำตั้งแต่ตอนนี้เพราะมันมีความรู้สึกของการร่วมแรงร่วมใจของคนในชาติ ถ้าเหตุการณ์ผ่านไปแล้วความรู้สึกนี้จะหายไป

ตารางที่ 1 ประมาณการรายได้ภาษีทรัพย์สินกับกลุ่ม Top 1%

จากการคำนวณอย่างคร่าว ๆ พบว่าการเก็บภาษีทรัพย์สินกับกลุ่ม Top 1% (ไม่กระทบกับคนส่วนใหญ่ 99%) รัฐบาลจะได้รายรับภาษีขั้นต้นคิดเป็น 0.62% ของ GDP ดังนั้นจะต้องเก็บภาษีนี้นาน 10 ปี

แต่สุดท้ายแล้ว ความเป็นไปได้การเพิ่มความยุติธรรมด้านการคลังผ่านการเก็บภาษีอัตราก้าวหน้ามากขึ้น จากภาษีทรัพย์สิน ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล รวมถึงการลดสิทธิประโยชน์พิเศษที่รัฐบาลให้กับกลุ่มคน top 1% ไม่ว่าผ่านการประกอบการหรือระดับบุคคล เป็นประเด็นที่สำคัญ เนื่องจากไม่ว่านโยบายจะถูกออกแบบมาดีเยี่ยมเพียงไรในการที่จะตอบโจทย์ความเหลื่อมล้ำในแรงกระทบของวิกฤต COVID-19 โครงสร้างอำนาจทางเศรษฐกิจการเมืองนั้นจะเป็นตัวกำหนดว่านโยบายที่ว่านั้นจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่

วิกฤตต่าง ๆ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบของวิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตการเมือง วิกฤตโรคระบาด สามารถทำให้เห็นประเด็นโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองที่ว่าชัดขึ้น โดยเฉพาะผ่าน "ทุน" ผู้กินรวบและกระจุกตัว ที่พยายามเอาตัวรอดในวิกฤตทุกประเภท อำนาจรัฐและอำนาจทางการเมืองของทุนมีความเกี่ยวข้องหนุนเนื่องกันอย่างไรก็เห็นได้จากนโยบายในช่วงระหว่างและหลังการเกิดขึ้นของวิกฤตต่าง ๆ ในเศรษฐกิจที่สองอำนาจนี้ใกล้ชิดกันก็จะเห็นท่าที่แบบหนึ่ง ในขณะที่อำนาจรัฐที่มีความใกล้ชิดกับเจตนารมของประชาชนโดยเฉพาะกับคนชั้นล่างก็จะมีความพร้อมรับมือในอีกแบบหนึ่ง

ในกรณีของไทยนั้น Kevin Hewison (2019) สรุปไว้ว่า ตั้งแต่ปี 2523 ถึงปัจจุบัน กลุ่มทุนไทยไม่ได้เผชิญหน้าการท้าทายทางอำนาจเลย เนื่องจากกลุ่มทุนไทยมีความสัมพันธ์อันแนบแน่นกับกลุ่มนายทุนกันเอง สถาบันทหาร และสถาบันกษัตริย์ไทย ทำให้กลุ่มทุนไทยสามารถต่อต้านการเปิดเสรีทางสังคมและการเมืองได้ ในปัจจุบัน ความแนบแน่นนี้ไม่มีท่าทีว่าจะลดลงเสียเท่าไหร่ ดังนั้นความอยู่รอดของชนชั้น top 1% หลังวิกฤตครั้งนี้อาจจะไม่ต้องตั้งคำถามมากนัก

1พ.ร.ก. เงินกู้ วงเงิน 1 ล้านล้านบาท หรือชื่อเต็ม คือ พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 (ไม่รวม พ.ร.ก. Soft Loan ช่วยเหลือ SMEs วงเงิน 5 แสนล้านบาท และ พ.ร.ก. BSF ดูแลตลาดตราสารหนี้ วงเงิน 4 แสนล้านบาท)

อ่านเพิ่มเติม

กอบศักดิ์ ภูตระกูล. (2556). คุณภาพของการเจริญเติบโตจากมิติของการกระจายรายได้. เอกสารการสัมมนาประจำปี 2556 ของธนาคารแห่งประเทศไทย.

ดวงมณี เลาวกุล. (2556). การกระจุกตัวของความมั่งคั่งในสังคมไทย. กรุงเทพฯ: ศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

วีระชาติ กิเลนทอง. (2557). บทบาทของการเงินต่อความเหลื่อมลํ้าในประเทศไทย. เอกสารการสัมมนาประจำปี 2557 ของธนาคารแห่งประเทศไทย.

สมชัย จิตสุชน. (2558). การลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย: แนวโน้ม นโยบาย และแนวทางขับเคลื่อนนโยบาย. รายงานการสังเคราะห์ทางวิชาการปีที่ 2 ภายใต้โครงการ 'โมเดลใหม่ในการพัฒนาเศรษฐกิจไทย (นโยบายเศรษฐกิจมหภาคและการเงินการคลัง)' โดยการสนับสนุนจากธนาคารแห่งประเทศไทย.

สมชัย จิตสุชน, ชานนทร์ เตชะสุนทรวัฒน์, และ จิราภรณ์ แผลงประพันธ์. (2558). เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างทั่วถึงเพียงใด: บทวิเคราะห์และนโยบาย. เอกสารการสัมมนาประจำปี 2558 ของธนาคารแห่งประเทศไทย.

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2560). รายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ปี 2559.

Atkinson, A. B. (2005). Top Incomes in the UK over the 20th Century. Journal of the Royal Statistical Society: Series A (Statistics in Society), 168(2), 325-343.

Atkinson, A. B., Piketty, T., & Saez, E. (2011). Top incomes in the long run of history. Journal of economic literature, 49(1), 3-71.

Hewison, K. (2019). Crazy Rich Thais: Thailand's Capitalist Class, 1980–2019, Journal of Contemporary Asia, DOI: 10.1080/00472336.2019.1647942

Ikemoto, Y., & Uehara, M. (2000). Income inequality and Kuznets' hypothesis in Thailand. Asian Economic Journal, 14(4), 421-443.

Jenmana, T. (2018). Democratisation and the Emergence of Class Conflicts: Income Inequality in Thailand, 2001-2016. WID.world working paper series, No. 2018/15. World Inequality Lab.

Krugman, P. (2019). Globalization: what did we miss? In Catão, L., & Obstfeld, M. Meeting Globalization's Challenges: Policies to Make Trade Work for All. Princeton University Press.

Kuznets, S. (1955). Economic growth and income inequality. The American economic review, 45(1), 1-28.

Kuznets, S., & Jenks, E. (1953). Shares of Upper Income Groups in Savings Shares of Upper Income Groups in Income and Savings (pp. 171-218): NBER.

Phongpaichit, P. (2016). Inequality, wealth, and Thailand's politics. Journal of Contemporary Asia, 46(3), 405-424.

Piketty, T. (2003). Income inequality in France, 1901–1998. Journal of political economy, 111(5), 1004-1042.

Piketty, T. (2006). The Kuznets curve: Yesterday and tomorrow. Understanding poverty, 63-72.

Piketty, T. (2014). Capital in the 21st Century. Trans. Arthur Goldhammer. Belknap Press.

Piketty, T., & Saez, E. (2003). Income inequality in the United States, 1913–1998. The Quarterly journal of economics, 118(1), 1-41.

Saez, E., & Zucman, G. (2019). The Triumph of Injustice: How the Rich Dodge Taxes and How to Make Them Pay. W. W. Norton.

Vanitcharearnthum, V. (2017). Top income shares and inequality: Evidence from Thailand. Kasetsart Journal of Social Sciences.

ธนสักก์ เจนมานะ
อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์