กฎหมายยุติการตั้งครรภ์ในประเทศไทย
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 305 ได้อนุญาตให้ผู้หญิงสามารถยุติการตั้งครรภ์อย่างถูกกฎหมายโดยแพทย์ ในกรณีที่หญิงตั้งครรภ์จำเป็นต้องทำเพื่อสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต ตั้งครรภ์จากการกระทำที่มีความผิดทางอาญา เช่น จากการถูกกระทำชำเรา หรือทารกในครรภ์พิการอย่างรุนแรง
กระนั้นเอง มาตรา 301 ซึ่งเป็นกฎหมายที่เอาผิดหญิงที่ทำแท้งยังคงบัญญัติไว้อยู่ แม้จะเกิดการเรียกร้องให้พิจารณายกเลิกมาตราดังกล่าวหลายต่อหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการยื่นคำร้องของเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมกับเครือข่ายแพทย์พยาบาลอาสาในปี 2561 กระแสดังกล่าวหวนกลับมาอีกครั้งผ่านข้อเรียกร้องของคณะผู้หญิงปลดแอก ณ วันที่ 16 สิงหาคม 2563 "เพื่อไม่ให้ผู้หญิงคนไหนต้องถูกบังคับให้เป็นแม่ โดยที่ยังไม่พร้อมจะเป็น" และ "เพื่อไม่ให้ผู้หญิงต้องถูกตีตราว่าเป็นคนไม่ดี ทั้งที่ได้ป้องกันอย่างดีที่สุดแล้ว" รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ออกมาช่วยส่งเสียงสนับสนุนการยุติการตั้งครรภ์อย่างถูกกฎหมาย ในวันที่ 25 สิงหาคม 2563
เหตุใดจึงตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์
แบบสำรวจ "ปัญหาสังคม" ในสายตาคนไทย ณ วันนี้ โดยสวนดุสิตโพล ในปี 2560 ประชาชนเห็นว่าสถาบันครอบครัวจะช่วยแก้ไขปัญหาสังคมที่ต้องเร่งแก้ไขได้ เป็นอันดับที่ 3 นับเป็นร้อยละ 57.81 ของผู้ทำแบบสำรวจ จึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าสถาบันครอบครัวมีอิทธิพลอย่างมากต่อสังคมและเศรษฐกิจ เพราะสถาบันครอบครัวมีหน้าที่เลี้ยงดูบ่มเพาะพัฒนาศักยภาพของบุตรหลาน การตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์กับหญิงที่ไม่พร้อมเลี้ยงดูบุตร อาจนำมาซึ่งปัญหาต่อแม่และบุตรด้วยกันทั้งคู่
จากผลสำรวจข้อมูลการแท้งโรงพยาบาลทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 24 จังหวัดในประเทศไทย ปี 2558 พบว่า หญิงตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์เนื่องจากเหตุผลด้านเศรษฐกิจ สังคม ครอบครัว นับเป็นร้อยละ 62.6 ของผู้ทำแบบสำรวจ ซึ่งในจำนวนนี้พบว่าร้อยละ 58.3 ของกลุ่มหญิงข้างต้นตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์เนื่องจากมีปัญหาด้านการเงิน
หากปัญหาความยากจนอาจมีความสัมพันธ์กับความต้องการยุติการตั้งครรภ์แต่ไม่อาจดำเนินการได้ ส่งผลให้ไม่สามารถเลี้ยงดูบุตรได้อย่างเหมาะสม อาจทำให้เกิดการทอดทิ้งบุตร บุตรที่เติบโตขึ้นมาจะกลายเป็นกำลังของชาติในอนาคตที่ขาดการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ การยุติการตั้งครรภ์อย่างผิดกฎหมายเองยังส่งผลต่อสุขภาพของหญิงตั้งครรภ์ เพราะอาจดำเนินการโดยแพทย์ที่ไม่ชำนาญและใช้อุปกรณ์ที่ไม่เหมาะสม ยิ่งในปัจจุบันจาก 220 ประเทศทั่วโลก มีเพียง 5 ประเทศเท่านั้นที่กฎหมายระบุว่าการยุติการตั้งครรภ์เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายโดยไม่มีข้อโต้แย้ งจากปัญหาข้างต้นบทความนี้จึงตั้งคำถามว่า กฎหมายยุติการตั้งครรภ์ในประเทศไทยนั้นควรต้องมีการปรับปรุงหรือไม่
กรณีศึกษาจากประเทศสหรัฐอเมริกา
ประเทศสหรัฐอเมริกาให้การยุติการตั้งครรภ์ถูกกฎหมายตั้งแต่ปี 19731 เมื่อศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกาตัดสินคดี Roe V. Wade แม้บางรัฐจะยังต่อต้านการยุติการตั้งครรภ์ จากงานวิจัยส่วนมากพบว่าหากประชาชนสามารถเข้าถึงการยุติการตั้งครรภ์ได้อย่างถูกกฎหมาย จะส่งผลต่อจำนวนบุตรเฉลี่ย (Fertility rate) และผลลัพธ์ทางสุขภาพในทางที่ดีตามมา
ภาพที่ 1 อัตราการเจริญพันธุ์ของประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ. 1960-2018
ประการแรก จากภาพที่ 1 เราจะเห็นว่าในปี 1960 จำนวนบุตรเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 3.65 ซึ่งนับเป็นประมาณ 2 เท่าของอัตราการเจริญพันธุ์ในปี 2018 นั่นคือ ร้อยละ 1.73 แม้การยุติการตั้งครรภ์จะถูกกฎหมายในช่วงปี 1973 จำนวนบุตรเฉลี่ยทั้งประเทศดูเหมือนจะไม่ได้ลดลงไปมากหลังจากนั้น แต่จากงานศึกษาของ Ananat, Gruber, Levine and Staiger (2009) อ้างถึงใน Bernstein and Jones (2019) พบว่าการยุติการตั้งครรภ์ที่ถูกกฎหมายส่งผลให้จำนวนบุตรเฉลี่ยลดลงประมาณร้อยละ 4 ในช่วงหลังปี ค.ศ. 1973 และประมาณการว่าจำนวนบุตรเฉลี่ยอาจลดลงถึงร้อยละ 11 ในรัฐที่การยุติการตั้งครรภ์ถูกกฎหมาย ส่งผลในเชิงเศรษฐกิจระดับครัวเรือนเป็นลำดับถัดมา กล่าวคือการมีบุตรมากเป็นอุปสรรคในการทำงานของหญิง อาจทำให้รายได้ของครอบครัวต่ำกว่าเส้นความยากจน และการมีบุตรมากก็มีความจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรในครอบครัวมากขึ้น
ประการถัดมา การปฏิรูปกฎหมายการยุติการตั้งครรภ์ส่งผลถึงมิติด้านการศึกษาและการทำงานด้วย งานศึกษาของ Angris and Evans (2000) อ้างถึงใน Bernstein and Jones (2019) พบว่า จำนวนบุตรเฉลี่ยของวัยรุ่นที่ลดลงจากการยุติการตั้งครรภ์ นำไปสู่การเข้าถึงการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น และยังนำไปสู่การมีส่วนร่วมของแรงงานหญิง (Workforce participation) จากภาพที่ 2 จะเห็นว่า อัตราการมีส่วนร่วมของแรงงานหญิงในปี ค.ศ. 2017 เพิ่มขึ้นจากปี ค.ศ. 1973 ในหญิงทุกกลุ่มหลังจากการยุติการตั้งครรภ์ที่ถูกกฎหมาย
ภาพที่ 2 อัตราการมีส่วนร่วมของแรงงานหญิงที่อายุมากกว่า 20 ปีในประเทศสหรัฐอเมริกา
ที่มา: https://iwpr.org/publications/economic-effects-abortion-access-report/
แรงงานที่เพิ่มมากขึ้นในตลาดแรงงานย่อมส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่หลายประเทศเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ส่งผลให้แรงงานมีจำนวนไม่เพียงพอในบางอุตสาหกรรม นอกจากนี้แรงงานแต่ละเพศอาจมีความชำนาญในอาชีพที่แตกต่างกัน ดังนั้นแรงงานหญิงที่เพิ่มขึ้นจึงทำให้ผลิตภาพแรงงานโดยรวมสูงขึ้นเช่นเดียวกัน (Bernstein & Jones, 2019) ทั้งนี้อาจต้องระมัดระวังในการตีความผล เนื่องจากการมีบุตรที่ลดลงจึงอาจทำให้จำนวนแรงงานในอนาคตลดลงเช่นเดียวกัน แต่หากบุตรที่เกิดมาจากการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงกระสงค์ก็อาจไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพซึ่งเป็นการแลกได้แลกเสียที่ยากจะวัด
ภาพที่ 3 จำนวนผู้เสียชีวิตจากการยุติการตั้งครรภ์ในประเทศสหรัฐอเมริกา
ที่มา: https://www.nber.org/papers/w8004.pdf
ประการสุดท้าย จำนวนผู้เสียชีวิตจากการยุติการตั้งครรภ์ลดน้อยลงมากเมื่อการยุติการตั้งครรภ์ถูกกฎหมาย (ภาพที่ 3) ซึ่งอาจเป็นผลจากเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่พัฒนาขึ้นก็เป็นได้ แต่ในปีที่การยุติการตั้งครรภ์ถูกกฎหมายก็นำไปสู่กระบวนการที่ได้มาตรฐานและปลอดภัยมากขึ้น จำนวนผู้เสียชีวิตจากการยุติการตั้งครรภ์จึงลดลง นอกจากนี้ งานศึกษาของ Donohue and Levitt (2001) พบว่าการยุติการตั้งครรภ์ที่ถูกกฎหมายทำให้ลดอัตราอาชญากรรมได้ในระยะเวลา 20 ต่อมา นั่นเป็นเพราะว่าเด็กที่เกิดมาโดยไม่พร้อมส่วนมากตกอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่สมบูรณ์ ยากจน และมีแนวโน้มก่ออาชญากรรมทั้งที่เกี่ยวกับทรัพย์สินและอาชญากรรมรุนแรง2
ประเทศไทย เอายังไงต่อ ?
บริบทในประเทศสหรัฐอเมริกาในอดีตอาจไม่สามารถเทียบกับบริบทปัจจุบันของประเทศไทยได้โดยตรง แต่ที่ชัดแจ้งที่สุดคงหนีไม่พ้นประเด็นเรื่องความปลอดภัยและภาพลักษณ์ต่อการยุติการตั้งครรภ์ ประเทศไทยจึงควรปรับปรุงกฎหมายการยุติการตั้งครรภ์ในมาตร 301 เช่นเดียวกัน หรือในมาตรา 305 ควรเพิ่มกรณีที่หญิงสามารถยุติการตั้งครรภ์ได้อย่างถูกกฎหมาย เช่น กรณีที่หญิงมีปัญหา ไม่สามารถเลี้ยงดูบุตรได้อย่างเหมาะสม มีปัญหาทางด้านการเงิน และมีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ ดังนั้นในการพิจารณาการยุติการตั้งครรภ์ แพทย์ควรลงความเห็นว่า หญิงสามารถยุติการตั้งครรภ์ได้หรือไม่ โดยควรมีมาตรฐานในการพิจารณาที่ชัดเจน ในทางกลับกัน อาจระบุรายละเอียดเพิ่มเติมในมาตรา 302 และ 303 ว่าบุคคลจะมีความผิดหากยุติการตั้งครรภ์ให้กับหญิงที่ไม่ผ่านการรับรองจากแพทย์ เพื่อผลักดันให้เข้าสู่กระบวนการที่ปลอดภัยมากกว่า
ความเชื่อว่าการยุติการตั้งครรภ์ขัดต่อหลักศาสนาเป็นข้อคัดง้างสำคัญ ไม่เพียงแต่ศาสนาพุทธ แต่รวมไปถึงศาสนาอิสลามและศาสนาคริสต์ด้วย จึงอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างผู้ที่ยึดมั่นตามหลักบาปบุญคุณโทษกับผู้ที่สนับสนุนการยุติการตั้งครรภ์ที่ถูกกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ประเทศตุรกีเป็นตัวอย่างของประเทศที่ประชาชนนับถือศาสนาอิสลาม แต่หลักศาสนาไม่มีบทบาทในการเข้ามากำหนดกฎหมาย จึงเปิดให้การยุติการตั้งครรภ์เป็นไปอย่างเสรี รวมถึงประเทศกัมพูชาที่มีศาสนาพุทธนิกายเถรวาทเป็นศาสนาประจำชาติ แต่หญิงสามารถยุติการตั้งครรภ์ได้อย่างถูกกฎหมาย ดังนั้นกระบวนการสำคัญที่ต้องขบคิดกันต่อก็คือการสร้างความเข้าใจต่อข้อดีของการยุติการตั้งครรภ์ที่ถูกกฎหมาย ซึ่งน่าจะช่วยทุเลาแรงต้านและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้บางอย่างในอนาคตได้
1เนื่องจากประเทศสหรัฐอเมริกามีรูปแบบการปกครองแบบมลรัฐ ทำให้กฎหมายในแต่ละรัฐมีความแตกต่างกันออกไป ซึ่งการยุติการตั้งครรภ์โดยเสรีอนุญาตในบางรัฐเท่านั้น
2ทั้งนี้ในการศึกษา ได้มีการควบคุมตัวแปรต่าง ๆ ได้แก่ จำนวนนักโทษต่อหัว จำนวนตำรวจต่อหัว การบริโภคเบียร์ต่อหัว การไม่ได้รับสวัสดิการจากภาครัฐ การมีกฎหมายการพกปืนอย่างปกปิด กลุ่มตัวแปรต่าง ๆ ที่บ่งบอกถึงสถานการณ์เศรษฐกิจของรัฐนั้น ๆ
เอกสารอ้างอิง
กิตติธัช ชัยประสิทธิ์. (ม.ป.ป.). Jane Roe เหยื่อผู้ถูกหลอกใช้ เพื่ออนุมัติการทำแท้งเสรีในอเมริกา. สืบค้นจาก https://genonline.co/2018/08/20/jane-roe/
กัมพูชา. สืบค้นจาก https://globthailand.com/market/กัมพูชา
จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ!! ทำแท้งถูกกฎหมาย =ทางออกสังคมไทย!!?. สืบค้นจาก https://mgronline.com/live/detail/ 9630000017431
ชลิดาภรณ์เสนอรัฐเปิดช่องทำแท้งปลอดภัย สร้างทางเลือกให้ผู้หญิงบนความจำเป็นของแต่ละคน. สืบค้นจาก https://thestandard.co/chonladaporn-proposed-safe-abortion-to-government-for-women-choices/
ณิชชา บูรณสิงห์. (2558). เด็กถูกทอดทิ้ง : ปัญหาที่สังคมต้องเยียวยา. สืบค้นจาก https://library2.parliament.go.th/ ebook/content-issue/2558/hi2558-031.pdf
ทำแท้ง อันตรายอย่างไร ไม่จำเป็นอย่าเสี่ยง. สืบค้นจาก https://www.pobpad.com/ทำแท้ง-อันตรายอย่างไร-ไม
ประเทศใดบ้างอนุญาตทำแท้งถูกกฎหมาย?. สืบค้นจาก https://www.voicetv.co.th/read/75494
'ผู้หญิงปลดแอก' ปราศรัยรณรงค์ทำแท้งถูกกฎหมาย คุ้มครองสิทธิผู้หญิง. สืบค้นจาก https://prachatai.com/journal/2020/08/89084#:~:text=ตัวแทนคณะผู้หญิงปลดแอก%20(Women,16%20ส.ค.
ศาลชี้ กม.เอาผิดหญิงทำแท้งขัด รธน. แพทยสภาเตรียมตั้งคณะทำงานปรับหลักเกณฑ์. สืบค้นจาก
https://www.hfocus.org/content/2020/02/18548
สรุปร่างรัฐธรรมนูญ: กรธ. ไม่เขียน "พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ" แต่สั่งรัฐสนับสนุนเฉพาะพุทธเถรวาท. สืบค้นจาก https://www.ilaw.or.th/node/4080
ส่องกฎหมายทำแท้งทั่วโลกรวมถึง "ไทย". สืบค้นจาก https://www.pptvhd36.com/news/ประเด็นร้อน/119893
สำนักอนามัยการเจริญพันธ์. (2560). รายงานเฝ้าระวังการแท้งประเทศไทย พ.ศ. 2558. สืบค้นจาก http://rh.anamai.moph.go.th/ ewt_dl_link.php?nid=146
อวิการัตน์ นิยมไทย. (2554). กฎหมายเกี่ยวกับการทำแท้ง: Abortion Act. จุลนิติ. 8(1). 167-176.
"ปัญหาสังคม" ในสายตาคนไทย ณ วันนี้. สืบค้นจาก https://suandusitpoll.dusit.ac.th/UPLOAD_FILES/POLL/ 2560/PS-2560-1493514283.pdf
Bernstein, A. & Jones, K. (2019). The Economic Effects of Abortion Access: A Review of the Evidence (IWPR #B379). Retrieved from https://iwpr.org/publications/economic-effects-abortion-access-report/
Donohue, J. J., III & Levitt, S. D. (2000). The Impact of Legalized Abortion on Crime (NBER Working Paper No. 8004). Retrieved from https://www.nber.org/papers/w8004.pdf
The World Bank. (n.d.). Fertility rate, total (births per woman) - United States [Data file]. Retrieved from https://data.worldbank.org/indicator/SP.DYN.TFRT.IN?contextual=default&end=2016&locations=US&start=1973