วิกฤต COVID-19 กับวิกฤติความเหลื่อมล้ำ (ปฐมบท)
การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดนั้นส่งผลกระทบไปยังทุกคน หลายคนตกงาน หลายธุรกิจต้องปิดกิจการ อย่างไรก็ตามคนแต่ละกลุ่มได้รับผลกระทบไม่เท่ากัน ใช่แล้วครับในบทความชิ้นนี้เราจะชวนสนทนาปัญหาความเหลื่อมล้ำท่ามกลางวิกฤตโควิดกัน ในปัจจุบันหากเราจะพูดถึงความเหลื่อมล้ำก็ควรดูกลุ่มคนที่รวยที่สุดประกอบไปพร้อมกับภาพใหญ่ การที่เราต้องพูดถึงกลุ่ม Top 1% ก็เป็นเพราะในระยะหลังตัวเลข Gini ไม่สามารถแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงและองค์ประกอบรายได้ระหว่างกลุ่มคนในประเทศได้
เราน่าจะมาทำความเข้าใจกับคนกลุ่มนี้และปัญหาความเหลื่อมล้ำของประเทศเราใน ปฐมบท นี้ ก่อนที่จะวิเคราะห์กันว่าคนกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบอย่างไรและชีวิตของพวกเขาหลังโควิดจะเป็นอย่างไรต่อไปใน ปัจฉิมบท
พลวัตความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของไทยและโลก
ตัวชี้วัดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายคือดัชนีจีนี (Gini Coefficient) โดยคำนวณจากฐานข้อมูลการสำรวจสภาพเศรษฐกิจและสังคม (Socio-Economic Survey: SES) ซึ่งจะได้ค่าจีนีดังรูปที่ 1 ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในไทยได้ขึ้นสู่จุดสูงสุดในปี 2535 และค่อย ๆ ลดระดับลงในระยะยาว โดยในปี 2558 มีค่าเท่ากับ 0.445 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดในรอบกว่า 30 ปี สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (2560) ได้สรุปว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยได้ผ่านจุดสูงสุดและเริ่มเบาบางลงแล้ว
รูปที่ 1 ระดับความเหลื่อมล้ำของการกระจายได้ครัวเรือนไทย (ค่าสัมประสิทธิ์ GINI) โดยอิงกับ SES
ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (2561)
ปรากฏการณ์นี้ทำให้ดูเหมือนว่าสมมติฐานของ Kuznets (Kuznets Hypothesis) ที่กล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงระดับความเหลื่อมล้ำมีลักษณะเป็นตัวยูคว่ำได้เกิดขึ้นในกรณีของประเทศไทย สมมติฐานเส้นโค้งของ Kuznets นับว่าเป็นหนึ่งในประเด็นที่ถกเถียงกันมากในการศึกษาสาขาเศรษฐศาสตร์การพัฒนา Kuznets (1955) เสนอแนวคิดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงความเหลื่อมล้ำซึ่งเกี่ยวเนื่องกับกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจ Kuznets เชื่อว่าความเหลื่อมล้ำจะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นรูปแบบตัวยูคว่ำโดยจะเพิ่มขึ้นในช่วงแรกของการพัฒนาอุตสาหกรรมและจะค่อย ๆ ลดลงเมื่อคนงานได้เข้าร่วมกับภาคเศรษฐกิจที่ให้ผลผลิตสูงมากขึ้นเรื่อย ๆ Kuznets อธิบายกระบวนการผ่านมิติของชนบท-เมือง เขามองว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจากการเคลื่อนย้ายแรงงานจากภาคเกษตรกรรมในชนบทที่มีรายได้ต่ำไปสู่ภาคอุตสาหกรรมในเมืองที่มีรายได้สูง ในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมาข้อเสนอของ Kuznets ได้รับการตรวจสอบอย่างแพร่หลายงานศึกษาต่าง ๆ ประสบการณ์จากในประเทศตะวันตก บางประเทศในละตินอเมริกาและเอเชียตะวันออกยืนยันแนวคิดนี้ได้อย่างชัดเจน
อย่างไรก็ตามงานวิจัยใหม่ ๆ ได้โต้แย้งว่าการชี้วัดตามวิธีการและชุดข้อมูลดังกล่าวอาจไม่สะท้อนปัญหาความเหลื่อมล้ำในปัจจุบันได้ การสำรวจครัวเรือนมีจุดอ่อนคือไม่ครอบคลุมถึงกลุ่มตัวอย่างประชากรที่ร่ำรวย เนื่องจากการสำรวจข้อมูลเศรษฐกิจครัวเรือนในเกือบทุกประเทศเป็นการให้ข้อมูลโดยสมัครใจดังนั้นผู้ตอบแบบสอบถามอาจกรอกตัวเลขรายได้หรือทรัพย์สินที่ไม่ตรงกับความจริง การสำรวจข้อมูลในประเทศอังกฤษในปี 2011 พบว่าอัตราการปฏิเสธการสำรวจเพิ่มถึงร้อยละ 41 และครอบครัวที่มีความมั่งคั่งสูงมีแนวโน้มที่จะปฏิเสธการให้ข้อมูลเนื่องจากความยุ่งยากจากรายได้หลายแหล่งหรือเกรงว่าอาจถูกตรวจสอบแหล่งที่มาของเงินได้ ดังนั้นเมื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์จึงต้องคำนึงเสมอว่าตัวเลขจะไม่ครอบคลุมแหล่งรายได้จากทรัพย์สิน หรือธุรกิจ ค่าจีนีที่คำนวณได้จึงไม่สะท้อนปัญหาความเหลื่อมล้ำในปัจจุบันได้อย่างที่ควรจะเป็น การชี้วัดการเปลี่ยนแปลงความเหลื่อมล้ำโดยดัชนีจีนีจากข้อมูลการสำรวจจึงตั้งอยู่บนข้อสมมติที่ว่ากลุ่มคนที่มีรายได้สูงมีส่วนแบ่งรายได้ที่เปลี่ยนแปลงไปในทางเดียวกับประชากรทั้งหมด แต่ในยุคปัจจุบันโดยเฉพาะตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมาคนรวยมีส่วนแบ่งรายได้ที่สูงขึ้นในขณะที่ชนชั้นกลางกับคนยากจนมีรายได้ที่ขยับเข้าใกล้กันมากขึ้น สถานการณ์เช่นนี้การชี้วัดจากข้อมูลการสำรวจจะบ่งชี้ว่าค่าจีนีลดลงและให้ภาพความเหลื่อมล้ำที่ผิดไป
รูปที่ 2 และ รูปที่ 3 แสดงการเปลี่ยนแปลงของปัญหาความเหลื่อมล้ำและระดับความรุนแรงหลายประเทศทั่วโลก สถานการณ์ในปัจจุบันโดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้วปรากฏว่าความไม่เท่าเทียมที่น่าจะผ่านจุดสูงสุดและลดระดับลงในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 กลับพลิกผันกลับอย่างรวดเร็ว นั่นคือตั้งแต่ทศวรรษ 1970 เป็นต้นมาเส้นโค้งของ Kuznets ได้ย้อนกลับมายังจุดเริ่มต้นอีกครั้ง งานวิจัยของ Atkinson และคณะ (2011) ได้รวบรวมงานวิจัยในหลายประเทศและชี้ว่าในศตวรรษที่ 20 กลุ่มคนที่มีรายได้สูงที่สุดร้อยละ 1 ได้มีส่วนแบ่งรายได้ที่เปลี่ยนแปลงเป็นลักษณะตัวยู นั่นคือส่วนแบ่งรายได้ลดลงช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ในปลายทวรรษที่ 1970 กลับเพิ่มสูงขึ้นอีก ปัญหาในบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ รัสเซีย จีน และอินเดีย จะรุนแรงมาก ในสหรัฐอเมริกาความไม่เท่าเทียมกันของรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมากระหว่างปี 1979 และ 2002 โดยร้อยละ 91 ของการเจริญเติบโตของรายได้ประชาชาติตกอยู่กับคนกลุ่มบนสุดจำนวนร้อยละ 10 เท่านั้น ดังนั้นในช่วงเวลาดังกล่าวรายได้คนชั้นกลางถึงล่างจำนวนร้อยละ 90 จึงเติบโตได้อย่างเชื่องช้า (Piketty and Saez, 2003) อย่างไรก็ตามความเหลื่อมล้ำไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นในทุกประเทศ บางประเทศส่วนแบ่งรายได้ของคนรวยไม่ได้สูงขึ้นมากนัก เช่น ประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ฝรั่งเศส เยอรมนี สำหรับบางประเทศเช่น ญี่ปุ่น การเปลี่ยนแปลงของตัวยูที่แบน นั่นคือส่วนแบ่งรายได้ของคนที่ร่ำรวยเพิ่มขึ้นน้อยมาก โดยสรุปจะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนแปลงแบบตัวยูนั้นมีระดับความรุนแรงที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศบ่งชี้ว่ามีทั้งประเทศที่สำเร็จและประเทศที่ล้มเหลวในการจัดการกับปัญหาความเหลื่อมล้ำ
รูปที่ 2 ส่วนแบ่งรายได้ประชาชาติของ Top 1% ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว
ที่มา: wid.world
รูปที่ 3 ส่วนแบ่งรายได้ประชาชาติของ Top 1% ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา
ที่มา: wid.world
ในความเป็นจริงแล้ว Kuznets ได้พูดถึงประเด็นนี้ไว้อย่างชัดเจนว่า (1) ข้อสรุปของเขาอิงข้อมูลจากเพียงไม่กี่ประเทศ (2) ประเทศที่เขามีข้อมูลส่วนใหญ่เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว และการคาดเดาความสัมพันธ์ระหว่างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและพลวัตความเหลี่อมล้ำสำหรับประเทศด้อยพัฒนาเป็นคำถามที่ยาก "แต่เราต้องเผชิญหน้า ถ้านักวิจัยตั้งใจที่จะใส่ใจกับประวัติศาสตร์ หรือไม่พยายามเอาข้อสังเกตการณ์ง่ายๆ จากการพัฒนาในอดีตมาใช้ (Kuznets, 1955; p.24)" นอกจากนี้ Kuznets ได้ตั้งคำถามเพิ่มเติมไว้อย่างชัดเจนถึงความสามารถของสถาบันและกลไกทางการเมืองของประเทศด้อยพัฒนาในการที่จะต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำที่น่าจะเพิ่มขึ้นระหว่างการเติบโตของเศรษฐกิจอุตสาหกรรม และได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ถึงแม้ว่ารายได้โดยเฉลี่ยของคนกลุ่มหนึ่งเพิ่มมากขึ้น แต่สัดส่วนที่ได้รับกับลดลง อาจจะนำไปสู่แรงกดดันและความขัดแย้งทางการเมือที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของระบบการเมืองและสังคมขนานใหญ่ เช่น ระบบพรรคการเมือง รัฐประหาร จนไปถึงสงครามกลางเมือง
ดังนั้นเราจึงกล่าวได้ว่า Kuznets ได้พูดไว้ถูกต้อง แต่ทฤษฎี Kuznets curve ตามความเข้าใจทั่วไปนั้นไม่เป็นจริงอีกแล้วสำหรับทั้งประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศที่กำลังพัฒนา โครงสร้างทางเศรษฐกิจการเมืองตลอด 30 ปีที่ผ่านมาที่ได้เปลี่ยนแปลงภายใต้แรงกดดันของการค้าระดับโลก (globalization) และกระแสลัทธิเสรีนิยมใหม่ที่ลดบทบาททางการคลังของรัฐบาลกลาง ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำที่มากขึ้นแทบจะทุกประเทศในโลกเสรี
สาเหตุของความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มมากขึ้นคือการกระจุกตัวของการถือครองทรัพย์สิน Saez และ Zucman (2019) ให้เหตุผลว่าครัวเรือนเหล่านั้นควบคุมส่วนแบ่งความมั่งคั่งของประเทศอย่างไม่สมส่วน โดยในสหรัฐอเมริกาปรากฏว่าครอบครัวเพียง 400 อันดับแรกมีความมั่งคั่งมากกว่ากลุ่มครัวเรือนระดับล่างจำนวนรวมร้อยละ 60 ในขณะที่ครอบครัวระดับบนสุดจำนวนร้อยละ 0.1 ก็ร่ำรวยมากกว่ากลุ่มระดับกลาง-ล่างจำนวนร้อยละ 80 เมื่อพิจารณาการเพิ่มขึ้นของความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นทั่วโลกพบว่าสอดคล้องกับการกระจุกตัวของทรัพย์สินที่ตกอยู่ในมือของคนร่ำรวยมากขึ้น ดังนั้นการมองปัญหาความเหลื่อมล้ำในปัจจุบันจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับข้อมูลจากกลุ่มมหาเศรษฐี (ultrarich) เป็นอย่างยิ่ง เราจะเจาะเหตุแห่งความเหลื่อมล้ำนี้ และวิเคราะห์ผลกระทบต่อกลุ่ม Top 1% หลังวิกฤต COVID-19 ใน ปัจฉิมบท ต่อไป
อ่านเพิ่มเติม
กอบศักดิ์ ภูตระกูล. (2556). คุณภาพของการเจริญเติบโตจากมิติของการกระจายรายได้. เอกสารการสัมมนาประจำปี 2556 ของธนาคารแห่งประเทศไทย.
ดวงมณี เลาวกุล. (2556). การกระจุกตัวของความมั่งคั่งในสังคมไทย. กรุงเทพฯ: ศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
วีระชาติ กิเลนทอง. (2557). บทบาทของการเงินต่อความเหลื่อมลํ้าในประเทศไทย. เอกสารการสัมมนาประจำปี 2557 ของธนาคารแห่งประเทศไทย.
สมชัย จิตสุชน. (2558). การลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย: แนวโน้ม นโยบาย และแนวทางขับเคลื่อนนโยบาย. รายงานการสังเคราะห์ทางวิชาการปีที่ 2 ภายใต้โครงการ 'โมเดลใหม่ในการพัฒนาเศรษฐกิจไทย (นโยบายเศรษฐกิจมหภาคและการเงินการคลัง)' โดยการสนับสนุนจากธนาคารแห่งประเทศไทย.
สมชัย จิตสุชน, ชานนทร์ เตชะสุนทรวัฒน์, และ จิราภรณ์ แผลงประพันธ์. (2558). เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างทั่วถึงเพียงใด: บทวิเคราะห์และนโยบาย. เอกสารการสัมมนาประจำปี 2558 ของธนาคารแห่งประเทศไทย.
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2560). รายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ปี 2559.
Atkinson, A. B. (2005). Top Incomes in the UK over the 20th Century. Journal of the Royal Statistical Society: Series A (Statistics in Society), 168(2), 325-343.
Atkinson, A. B., Piketty, T., & Saez, E. (2011). Top incomes in the long run of history. Journal of economic literature, 49(1), 3-71.
Hewison, K. (2019). Crazy Rich Thais: Thailand's Capitalist Class, 1980–2019, Journal of Contemporary Asia, DOI: 10.1080/00472336.2019.1647942
Ikemoto, Y., & Uehara, M. (2000). Income inequality and Kuznets' hypothesis in Thailand. Asian Economic Journal, 14(4), 421-443.
Jenmana, T. (2018). Democratisation and the Emergence of Class Conflicts: Income Inequality in Thailand, 2001-2016. WID.world working paper series, No. 2018/15. World Inequality Lab.
Krugman, P. (2019). Globalization: what did we miss? In Catão, L., & Obstfeld, M. Meeting Globalization's Challenges: Policies to Make Trade Work for All. Princeton University Press.
Kuznets, S. (1955). Economic growth and income inequality. The American economic review, 45(1), 1-28.
Kuznets, S., & Jenks, E. (1953). Shares of Upper Income Groups in Savings Shares of Upper Income Groups in Income and Savings (pp. 171-218): NBER.
Phongpaichit, P. (2016). Inequality, wealth, and Thailand's politics. Journal of Contemporary Asia, 46(3), 405-424.
Piketty, T. (2003). Income inequality in France, 1901–1998. Journal of political economy, 111(5), 1004-1042.
Piketty, T. (2006). The Kuznets curve: Yesterday and tomorrow. Understanding poverty, 63-72.
Piketty, T. (2014). Capital in the 21st Century. Trans. Arthur Goldhammer. Belknap Press.
Piketty, T., & Saez, E. (2003). Income inequality in the United States, 1913–1998. The Quarterly journal of economics, 118(1), 1-41.
Saez, E., & Zucman, G. (2019). The Triumph of Injustice: How the Rich Dodge Taxes and How to Make Them Pay. W. W. Norton.
Vanitcharearnthum, V. (2017). Top income shares and inequality: Evidence from Thailand. Kasetsart Journal of Social Sciences.