การพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นเพื่อรองรับโอกาสและผลกระทบจากการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ (ตอนที่ 2)

2278 views

การพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นเพื่อรองรับโอกาสและผลกระทบจากการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ (ตอนที่ 2)

ในบทความตอนที่แล้ว ผู้เขียนเล่าถึงที่มาและความสำคัญของการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตามระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ รวมถึงประเด็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นสู่ความยั่งยืน กรณีกาญจนบุรี ในบทความนี้ ผู้เขียนจะขอนำเสนอประเด็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย กรณีตราด ดังนี้

ประเด็นแรก เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์โอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นของจังหวัดที่อยู่บนพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ กรณีตราด จากข้อเท็จจริงเกี่ยวกับตราด ประกอบกับศักยภาพของเขตเศรษฐกิจพิเศษเกาะกง กัมพูชา ชี้ให้เห็นถึงโอกาสทางเศรษฐกิจของพื้นที่ตราดและประชาชนในพื้นที่ โดยจังหวัดสามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งในด้านการผลิต โดยเฉพาะการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร การทำการเกษตร การค้าขาย และภาคบริการคือการให้บริการการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดประการสำคัญที่เป็นปัจจัยขัดขวางการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของจังหวัด ประกอบด้วย ปัญหาการใช้พื้นที่ของจังหวัดอย่างมีประสิทธิภาพ การไม่สามารถต่อห่วงโซ่อุปทานของสินค้าเกษตรและสินค้าเกษตรแปรรูปได้อย่างครบวงจร (ขาดตลาดกลางและการประชาสัมพันธ์) การไม่สามารถบริหารความเสี่ยงด้านราคาและปริมาณของผลผลิตทางการเกษตร ความล่าช้าของก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางการขนส่งทางถนน ระบบภาคบริการการท่องเที่ยวยังมีมูลค่าเพิ่มที่น้อยเมื่อเทียบกับศักยภาพของพื้นที่ ดังนั้นตราดจำเป็นต้องมีการปรับตัวในหลายประการ ได้แก่

ยุทธศาสตร์การขยายการลงทุนโดยผู้ประกอบการในจังหวัด

  • การมีแรงจูงใจทางการเงิน เช่น การลดหย่อนภาษีสำหรับอุตสาหกรรม SMEs ในตราด ทั้งในและนอกเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZs) เช่น การขยายสิทธิประโยชน์ของ SEZ จากการลงทุนในพื้นที่ SEZ เท่านั้น เป็นการลงทุนในจังหวัดตราดทั้งหมด และปลดเงื่อนไขให้อุตสาหกรรมกลุ่ม SMEs สามารถได้รับสิทธิประโยชน์ได้ง่ายขึ้น โดยอาจมีแรงจูงใจเชิงคุณภาพเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น หากเป็นการลงทุนในการเกษตรที่ผ่านมาตรฐาน GAP ผู้ประกอบการการท่องเที่ยวหรือโรงแรมที่ได้มาตรฐานและได้รับการรีวิวที่น่าพึงพอใจจากนักท่องเที่ยว ซึ่งต้องพัฒนาควบคู่กับการส่งเสริมและรักษาคุณภาพมาตรฐาน สำหรับสินค้าเกษตรหรือผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นที่ผลิตในตราด เช่น การทำระบบตรวจสอบย้อนกลับ การส่งเสริมการตลาดสินค้า OTOP และสินค้าเกษตร GI การส่งเสริมการได้รับมาตรฐานฟาร์ม เช่น GAP, Organic Thailand ฯลฯ
  • การสร้างความแตกต่างของสินค้า เช่น แบรนด์ตราด ให้เป็นที่จดจำ การเชื่อมโยงกับช่องทางการค้าออนไลน์ การพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับ การเพิ่มมูลค่าเพิ่มและสร้างแบรนด์หรือตลาดเฉพาะสำหรับผลิตภัณฑ์น้ำมันกฤษณา ฯลฯ
  • การส่งเสริมพื้นที่การค้าการลงทุนสำหรับผู้ประกอบการในจังหวัด เช่น ศูนย์กระจายสินค้า ท่าเรือพาณิชย์ ตลาดกลางสินค้าเกษตร จุดจำหน่ายของที่ระลึกและผลิตภัณฑ์ชุมชนในตราด ผู้ประกอบการร้านอาหารและโฮมสเตย์ ให้มีโอกาสทางเศรษฐกิจมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว
  • สินค้าที่ตราดมีศักยภาพในการผลิตเองเพื่อบริโภคภายในจังหวัดและสามารถลดการรั่วไหลของรายได้ได้ เช่น สินค้ากลุ่มเนื้อสัตว์ และผัก ซึ่งหากมีการสร้างตลาดกลาง และจับคู่กับอุปสงค์ภายในจังหวัด จะทำให้เกิดการส่งเสริมการผลิตมากขึ้น โดยเฉพาะกับอุปสงค์ที่เป็นภาคธุรกิจหรือหน่วยงาน เช่น โรงเรียน โรงแรม หรือโรงพยาบาล และจะทำให้ห่วงโซ่อุปทานสั้นลง และเกิดรายได้ที่หมุนเวียนในจังหวัดมากขึ้น

ยุทธศาสตร์การเติบโตจากปัจจัยในประเทศ

  • การส่งเสริม อำนวยความสะดวก และรักษาคุณภาพมาตรฐานด้านการท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวในประเทศ เช่น การพัฒนาสาธารณูปโภคด้านการท่องเที่ยว เช่น ถนนและท่าเรือ การทำการตลาดการท่องเที่ยว การส่งเสริมเส้นทางท่องเที่ยวร่วมที่สามารถเดินทางต่อไปยังกัมพูชาและเวียดนามได้ สำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทย โดยมีบริการด้านการขนส่งและนำเที่ยวจากตราด ฯลฯ
  • การส่งเสริม อำนวยความสะดวก และรักษาคุณภาพมาตรฐานด้านการท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ
  • การส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ หรือละครที่ใช้ภูมิทัศน์จังหวัดตราดเป็นสถานที่ถ่ายทำเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว
  • ใช้โอกาสด้านการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) จังหวัดตราดให้เอื้อต่อการเกิดผลเชิงการกระจายรายได้ (spillover effects) ต่อประชาชนในตราดให้มากที่สุด เช่น เข้ามาเติมเต็มห่วงโซ่คุณค่า (value chains) ที่ยังขาดไปสำหรับตราดในอุตสาหกรรมการเกษตรหรือการท่องเที่ยว และทำให้ผู้ผลิตหรือผู้ให้บริการต้นน้ำในตราด ได้รับประโยชน์ร่วมด้วย

ยุทธศาสตร์การกระจายอำนาจ

  • การแสวงหาแนวทางร่วมกับกระทรวงการคลังหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อออกข้อเสนอบางประการซึ่งเป็นแรงจูงใจทางภาษีที่เหมาะสม เช่น การลดหย่อนเพื่อเอื้อให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจในจังหวัดมากขึ้น เช่น สำหรับกลุ่มเกษตรกรที่มีการผลิตที่ได้มาตรฐาน ผู้ประกอบการโรงแรม ที่ได้รับการประเมินความพึงพอใจและมีมาตรฐานที่ดีจากมุมมองของนักท่องเที่ยว เป็นต้น
  • การเพิ่มสัดส่วนของภาษีที่ท้องถิ่นสามารถจัดเก็บได้ อาจทำให้มีทรัพยากรและเงินลงทุนหมุนเวียนในจังหวัดตราดมากขึ้น
  • การเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนในจังหวัดเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดยุทธศาสตร์และแผนการพัฒนาและการลงทุนด้านเศรษฐกิจของจังหวัด และสร้างความต่อเนื่องในการทำงานในแบบภาคี เพื่อป้องกันปัญหาการเปลี่ยนย้ายตำแหน่งงานของข้าราชการในจังหวัดจนกระทบความต่อเนื่องของการพัฒนาได้

ประเด็นที่สอง เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อมโยงของตราด กับเขตเศรษฐกิจพิเศษเกาะกง กัมพูชา ได้แก่

  • การส่งเสริม และอำนวยความสะดวก ต่อการเข้ามาซื้อสินค้าและท่องเที่ยวโดยนักท่องเที่ยวชาวกัมพูชา เช่น การออกใบอนุญาตผ่านแดน การยกระดับด่านท่าเส้นเป็นด่านถาวร และขยายระยะเวลาเปิดด่าน การเพิ่มศักยภาพด้านศุลกากรเพื่อลดความแออัดของด่าน การพัฒนาสาธารณูปโภคของด่านและตลาดชายแดนให้มีความทันสมัยและเป็นจุดท่องเที่ยวได้
  • การสร้างความร่วมมือและประชาสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยวในฐานะเส้นทางร่วมด้านการท่องเที่ยว เช่น การส่งเสริมเส้นทางท่องเที่ยวร่วมที่สามารถเดินทางต่อไปยังกัมพูชาและเวียดนามได้ สำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทย โดยมีบริการด้านการขนส่งและนำเที่ยวจากตราด ฯลฯ
  • การส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบสุขภาพสำหรับผู้มารักษาพยาบาลชาวกัมพูชาและต้องการพักอาศัยชั่วคราวในตราด ฯลฯ
  • การส่งเสริมการนำสินค้าที่ผลิตในตราดไปขายยังกัมพูชา โดยเฉพาะสินค้าเกษตรประเภทผลไม้ต่าง ๆ เนื้อสัตว์ และสินค้าประมง ซึ่งยังมีความต้องการซื้อจากกัมพูชาค่อนข้างมาก โดยเฉพาะหากมีการเปิดด่านท่าใหม่ในอนาคต โดยเฉพาะสินค้าที่ตอบสนองความต้องการซื้อของชนชั้นกลางในกัมพูชาได้ เช่น สินค้าคุณภาพต่าง ๆ และ
  • มีการส่งเสริมการจับคู่ทางธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการในตราดและพระตะบอง โพธิสัตว์ หรือแม้กระทั่งในพนมเปญ อาจมีการเชื่อมประโยชน์จากกลุ่มทุนต่างชาติ เช่น กลุ่มทุนจีน ที่เข้ามาลงทุนโดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวและโรงแรม ในพื้นที่เกาะกง สีหนุวิลล์ และฟูก๊วกได้ ในแง่ของความร่วมมือ จะช่วยให้เกิดการกระจายประโยชน์จากการเข้ามาลงทุน หรือการส่งต่อนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น

เส้นทางเชื่อมโยงประเทศไทย-กัมพูชา-เวียดนาม ผ่านช่องทางจุดผ่านแดนบ้านหาดเล็ก ตราด

ที่มา : ปรับปรุงโดยคณะผู้วิจัย

หมายเหตุ: บทความนี้นำเนื้อหาบางส่วนมาจากการวิจัยในโครงการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นเพื่อรองรับโอกาสและผลกระทบจากการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ สนับสนุนโดย สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) และ คลัสเตอร์วิจัย กลุ่มเศรษฐศาสตร์ทรัพยากรมนุษย์ นวัตกรรม และการพัฒนา คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

แก้วขวัญ ตั้งติพงศ์กูล
อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์