เศรษฐศาสตร์คืออะไร เศรษฐศาสตร์ตายแล้วหรือไม่ หลายๆ ท่านคงมีคำตอบแตกต่างกันไป ซึ่งผมก็อดคิดไม่ได้ว่ามันขึ้นอยู่กับตำแหน่งหน้าที่ของตนในสังคมไทยปัจจุบัน ถ้าหากท่านเป็นเจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่ในกรุงเทพที่ต้องการหาแรงงานที่มีคุณภาพและคิดวิเคราะห์เป็น หรือเป็นพ่อแม่ผู้มีธุรกิจส่วนตัว หรือเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยมีชื่อเสียงโด่งดัง หรือหากท่านเป็นเหมือนกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยที่สุดในประเทศ ท่านก็อาจจะมีทัศนคติต่อ "เศรษฐศาสตร์" ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว

นักเศรษฐศาสตร์ไทยที่ได้มีโอกาสไปศึกษาต่อในต่างประเทศก็มักจะได้ยินคำถามนี้บ่อย "เศรษฐศาสตร์ตายหรือยัง" หรือถ้าหากแปลให้ถูกต้องกว่านี้ ก็คงต้องแปลว่า "ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ตายหรือยัง" คำถามนี้ได้เข้าสู่การพูดคุยในกระแสหลักตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินทั่วโลกปี 2550-2551 นักเศรษฐศาสตร์ไม่ว่านักวิชาการหรือเทคโนแครตได้ตกเป็นเป้าสายตาของคนทั่วโลกสำหรับความล้มเหลวในการคาดการณ์และแก้ไขวิกฤตที่เกิดขึ้น องค์ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ถูกตั้งคำถามครั้งใหญ่ บวกไปกับความคิดกระแสหลัก ทศวรรษ 1970-1980 ที่ได้นำพาโลกทุนนิยมมาอยู่ในยุคปัจจุบันที่อุดมการณ์แตกขั้วและความเหลื่อมล้ำในประเทศทั่วโลกสูงจนน่าเป็นห่วง

เช่นเดียวกับในประเทศไทย ที่มีข่าวว่าคณะเศรษฐศาสตร์หลายแห่งค่อยๆ หายไป ดูท่าทางแล้วคำถามเดียวกันนี้น่าจะเป็นประเด็นที่ต่างกันและละเอียดอ่อนกว่านี้มากแน่นอน (มีประเด็นเรื่องสังคมผู้สูงวัย ที่นักศึกษามีจำนวนลดลงโดยรวม) แต่ว่าเมื่อการสังเกตสิ่งเล็กน้อย (เช่น จำนวนนักศึกษาเศรษฐศาสตร์ลดลง) เกิดคำถามที่ใหญ่ขึ้น (เศรษฐศาสตร์ตายหรือยัง) ก็ต้องมีการให้คำตอบที่ครบถ้วน

ความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐศาสตร์

Buchanan (1966, p. 120) เขียนไว้ว่า "ในฐานะนัก \'สังคม\' ศาสตร์ หน้าที่หลักของนักเศรษฐศาสตร์คือ การอธิบายการทำงานของโครงสร้างเชิงสถาบัน และคาดเดาผลจากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างนั้น ดังนั้นมันคงไม่แปลกถ้างานของนักเศรษฐศาสตร์จะละเอียดอ่อนตามความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนยุ่งยาก แต่อุดมคติดั้งเดิมของนักเศรษฐศาสตร์ควรที่จะไม่เปลี่ยนแปลงไป และด้วยอุดมคตินี้ เขาจึงสามารถที่จะเปิดเผยความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างระหว่างมนุษย์ได้"

วลีนี้สะท้อนความคิดและการศึกษาเศรษฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นในยุคเริ่มต้นผ่านงานเขียนของ อดัม สมิธ เดวิด ริคาร์โด หรือ คาร์ล มาร์กซ์ (ซึ่งจริงๆ มีงานเก่ากว่านี้) ซึ่งกว้างกว่าเศรษฐศาสตร์กระแสหลักในยุคสมัยใหม่ เศรษฐศาสตร์การเมืองเคยเป็นร่มใหญ่โดยมีเศรษฐศาสตร์กระแสหลักของปัจจุบันเป็นเพียงส่วนเล็กส่วนหนึ่งที่อธิบายการทำงานของตลาดต่างๆ (catallactics)

แต่การที่จะปรับชุดความคิดในระดับสถาบันนั้นไม่ง่ายเลย โครงสร้างทางสังคมเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน เศรษฐศาสตร์จึงได้เกิดแบ่งออกเป็นสายวิจัยตามบริบทที่ศึกษา หนึ่งในวิวัฒนาการทางความคิดที่สำคัญคือ การเกิดขึ้นของ marginal revolution ซึ่งนำทฤษฎีแคลคูลัสมาใช้เป็นโมเดลหรือแบบจำลองอธิบายพฤติกรรมของมนุษย์จากงานทฤษฎีของวิลเลียม สแตนลีย์ เจวอนส์ (William Stanley Jevons) คาร์ล เมนเกอร์ (Carl Menger) และลีออง วาลราส (Leon Walras) ที่ผลักดันให้เศรษฐศาสตร์กลายร่างเป็นเศรษฐศาสตร์กระแสหลักเช่น neo-classical economics ในที่สุด

ปัจจุบัน "เศรษฐศาสตร์การเมือง" กลับกลายเป็นสายงานที่ต้องแข่งขันกับ "เศรษฐศาสตร์กระแสหลัก" และถูกเบียดออกไปเป็นเศรษฐศาสตร์นอกกระแสหลัก (heterodox economics) การศึกษา neo-classical economics หรือเศรษฐศาสตร์นีโอคลาสสิกเป็นการหัด "คิดแบบนักเศรษฐศาสตร์" (Mankiw 2017; Ch 2) และได้ผนวกเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนเศรษฐศาสตร์อย่างน้อยในระดับปริญญาตรีของทั้งไทยและเทศ

แต่กระนั้น เหตุการณ์วิกฤตทางเศรษฐกิจ ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม และปัญหาทางการเมืองทั่วโลกในยุคทุนนิยมสุดขั้วในปัจจุบัน ทำให้เกิดการปรับตัวของเศรษฐศาสตร์ในระดับนานาชาติ ได้เกิดการตระหนักขึ้นว่าเศรษฐศาสตร์นั้นมีองค์ความรู้สำคัญในการอธิบายปัญหาทางเศรษฐกิจการเมืองที่สำคัญในยุคปัจจุบัน สังคมศาสตร์ที่มักลืมว่าตนเป็นสังคมศาสตร์จึงถูกกดดันให้ตั้งคำถามกับปัญญาที่ตนเองสร้างขึ้นในหลายทศวรรษที่ผ่านมา เมื่อไม่กี่ปีมานี้ สังคมวิชาการ เช่น เศรษฐศาสตร์การเมือง เศรษฐศาสตร์สถาบัน หรือเศรษฐศาสตร์ประวัติศาสตร์ จึงกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง และมีผู้ศึกษาหรือสนใจติดตามความรู้ที่ถูกผลิตออกมา ถึงแม้ว่าสายงานนี้ก็ยังคงความเป็นเศรษฐศาสตร์นอกกระแสหลักอยู่

ที่ผ่านมา นี่คือคำโต้แย้งที่มักจะถูกเอามาใช้เมื่อเกิดคำถามว่า เศรษฐศาสตร์ตายหรือยัง ซึ่งก็ต้องเรียกว่าถูกต้อง ในบริบทขององค์ความรู้ เศรษฐศาสตร์เหมือนกับสัตว์ที่กำลังฟื้นคืนชีพหลังจากที่นอนซมมาตั้งแต่ทศวรรษ 1980 จนถึงต้นศตวรรษที่ 21

หากแต่ว่าประเด็นที่สำคัญกว่าคือ หลักสูตรการเรียนการสอนเศรษฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัยยังไม่เปลี่ยนแปลงนัก เศรษฐศาสตร์กระแสหลักยังยึดฐานแน่นอยู่ในหลักสูตรปริญญาตรีของไทยมานานพื้นที่ของประวัติศาสตร์ความคิดเศรษฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์สถาบัน เศรษฐศาสตร์การเมืองหรือประวัติศาสตร์ ล้วนเป็นเพียงวิชาเลือกของนักศึกษาที่น้อยคนสนใจเท่านั้น การปะติดปะต่อความคิดทำความเข้าใจในเศรษฐศาสตร์ที่แท้จริง ซึ่งก็คือเศรษฐศาสตร์การเมือง ยังไม่เกิดขึ้น

หากเปรียบเทียบกับปรับการเรียนการสอนให้เป็นเศรษฐศาสตร์การเมือง เศรษฐศาสตร์กระแสหลักที่สอนกันโดยทั่วไปมีช่องว่างกับภาคเอกชนน้อยกว่าโดยธรรมชาติ และผู้เขียนคิดว่าประเด็นนี้เป็นประเด็นที่สำคัญในประเทศไทย มากกว่าประเด็นการแข่งขันด้านทฤษฎีหรือองค์ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ในกระแสต่างๆ ที่ว่ามาข้างต้น เนื่องจากการเรียนการสอนเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก reinforce ทัศนคติของผู้คนทั่วไปและนักศึกษาเศรษฐศาสตร์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน

ทัศนคติที่มีต่อเศรษฐศาสตร์และความกลืนไม่เข้าคลายไม่ออกของการผลิตเศรษฐศาสตร์ไทย

การเรียนเศรษฐศาสตร์ในระดับปริญญาตรีของผู้เขียนเองไม่ได้ผ่านไปนานมากนัก ปัจจุบันก็เพิ่งที่จะเริ่มเรียนรู้ความหมายของการเป็นนักวิชาการนักศึกษาปริญญาเอก นักเศรษฐศาสตร์หรือผู้ส่งทอดความรู้ต่อในฐานะอาจารย์ใหม่ ดังนั้นผู้เขียนเองยังรู้สึกได้ถึงความรู้สึกที่นักเรียนนักศึกษารุ่นเดียวกันและคนรอบตัวมีต่อเศรษฐศาสตร์

ถ้าหากถามว่าเรียนเศรษฐศาสตร์ทำไม คนส่วนใหญ่มักจะตอบว่าการหัดคิดแบบนักเศรษฐศาสตร์ทำให้ทำธุรกิจเก่ง ลงทุนเป็น เมื่อมีโอกาสได้สัมภาษณ์ถามนักเรียนมัธยมปลายที่อยากจะเข้ามาสมัครเรียนเศรษฐศาสตร์ เกือบทุกคนมักจะตอบว่ามาเรียนเศรษฐศาสตร์เพราะอยากไปทำธุรกิจ ดังนั้นเราอาจโทษส่วนหนึ่งได้ว่า การเรียนการสอนวิชาเศรษฐศาสตร์ในระดับมัธยมปลายของรัฐสร้างความเข้าใจที่ไม่ครบถ้วน

แต่ทัศนคติเช่นนี้ไม่ได้มีเพียงแต่ในหมู่นักเรียนนักศึกษาเท่านั้น ในการที่จะตอบประเด็นตัวเลขนักศึกษาเศรษฐศาสตร์ที่ลดน้อยลง ผู้บริหารมหาวิทยาลัยบางท่านถึงกับออกมาพูดว่าคณะเศรษฐศาสตร์จำเป็นเพราะ"เศรษฐศาสตร์เป็นศาสตร์ของการตัดสินใจซึ่งจำเป็นสำหรับคนทำธุรกิจ" ทั้งหมดนี้ ทำให้ความคาดหวังของนักศึกษาเศรษฐศาสตร์เป็นไปในทิศทางที่ว่า "เรียนเศรษฐศาสตร์เพื่อทำธุรกิจ ทำงานภาคเอกชน" ดังนั้นเราก็อาจโทษการสื่อสารความหมายของการศึกษาเศรษฐศาสตร์จากสถาบันอุดมศึกษาได้อีกส่วนหนึ่ง แต่ปัญหามันอาจจะยิ่งใหญ่กว่านั้น เมื่อผู้ศึกษาเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่มีความต้องการหลังการจบการศึกษาในทิศทางเดียวกัน โครงสร้างการเรียนการสอนก็ถูกกำหนดต่อไปโดยธรรมชาติ เมื่อในตลาดแรงงานมีน้อยคนที่สนใจเลือกศึกษาเศรษฐศาสตร์แล้ว วิชาเศรษฐศาสตร์สาธารณะ เศรษฐศาสตร์การเมือง หรือเศรษฐศาสตร์ประวัติศาสตร์ ก็อาจจะต้องปิดตัวไปด้วยความจำกัดทางด้านทรัพยากรทั้งแง่สถานที่ เวลา และที่สำคัญที่สุด บุคลากร ท้ายที่สุดแล้ว การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการเรียนการสอนเศรษฐศาสตร์จึงอาจจะเป็นสิ่งที่ยากจนแทบเป็นไปไม่ได้

ดังนั้น ด้วย "ดุลยภาพ" แบบปัจจุบัน สิ่งที่นักศึกษาต้องการจากใบปริญญาของคณะเศรษฐศาสตร์ไทย และสิ่งแวดล้อมและโครงสร้างสถาบันในมหาวิทยาลัยที่เอื้อต่อการสร้างสังคมวิชาการที่มีชีวิตชีวาหรือไม่ ไม่ได้กำหนดเพียงทิศทางของการเรียนการสอน แต่รวมไปถึงความหลากหลายของนักเศรษฐศาสตร์ ตลอดจนการผลิตองค์ความรู้ในแต่ละสายงานว่าจะมากหรือน้อยเพียงใด สำหรับสายใดที่นักศึกษาให้ความสนใจน้อยในอนาคต องค์ความรู้ก็จะน้อยตามบรรยากาศทางวิชาการที่ขาดแคลนทั้งบุคคลากรและการแลกเปลี่ยนถ่ายทอดความรู้ นอกจากนี้ ปฏิสัมพันธ์กับนักวิชาการในสังคมศาสตร์สายอื่น ๆ ก็จะน้อยลงไปอีกด้วย

และเมื่อเศรษฐกิจไม่ดี มูลค่าของใบปริญญาจากคณะเศรษฐศาสตร์จึงลดลง เมื่อนักศึกษาที่เข้าเรียนเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ต้องการเข้าทำงานในโลกธุรกิจ คณะเศรษฐศาสตร์ที่ว่าจบไปได้งานภาคเอกชนดีๆ จึงมีนักศึกษาน้อยลงตามไปด้วย สุดท้ายแล้ว คณะเศรษฐศาสตร์ทุกที่จึงต้องเดินบนเส้นด้ายบางๆ ระหว่างการหารายได้ในสังคมทุนนิยมกับการการันตีคุณภาพของการศึกษาและงานวิชาการ ทั้งสองบทบาทนี้ดูขัดแย้งกันอย่างไม่น้อย

แล้วเศรษฐศาสตร์ไทยตายหรือยัง

เมื่อมีข่าวว่าจำนวนนักศึกษาเศรษฐศาสตร์ในไทยน้อยลงและส่งผลให้มหาวิทยาลัยเอกชนหลายแห่งปิดคณะเศรษฐศาสตร์ จนทำให้เกิดคำถามว่า "เศรษฐศาสตร์ตายแล้วหรือไม่" สำหรับผู้เขียน คำถามนี้ไม่ได้กล่าวถึงองค์ความรู้ของเศรษฐศาสตร์ไทยเสียเท่าไหร่ แต่กล่าวถึงความกระอักกระอ่วนใจของคณะเศรษฐศาสตร์ไทยในการแสวงหารายได้พร้อมๆ ไปกับการผลิตบุคลากรและงานวิชาการที่มีคุณภาพ

ประเด็นหนึ่งคือ ไม่รู้ว่าจะตอบในมุมมองใด ถ้าคิดว่าเศรษฐศาสตร์มีไว้ศึกษาปัญหาของภาคเอกชนและผลิตแรงงานเพื่อป้อนภาคธุรกิจไทย ก็คงพูดได้ว่าเศรษฐศาสตร์แนวคิดนี้มีชีวิตอยู่มากกว่าเศรษฐศาสตร์ที่มีไว้เพื่อศึกษาประเด็นสังคมการเมืองไทย

เช่นนั้น จำนวนนักศึกษาที่เข้าเรียนเศรษฐศาสตร์ที่น้อยลง อาจจะไม่ได้สะท้อนความใช้การไม่ได้ของเศรษฐศาสตร์ไทย เพราะด้วยปัจจัยเชิงโครงสร้างของสังคมที่แปลกประหลาด จำนวนนักศึกษาเศรษฐศาสตร์อาจจะเป็นตัวชี้วัดที่สะท้อนสุขภาพของเศรษฐกิจไทยเสียมากกว่า

หากพูดถึงเศรษฐศาสตร์ประเภทหลังและพูดถึงองค์ความรู้ของนักเศรษฐศาสตร์ไทย ก็คงตกลงกันได้ว่ามีหลายสายที่ได้รับความสนใจได้ไม่เพียงพอนัก และชุดความรู้ในการสอนเศรษฐศาสตร์ก็ต้องมีการปรับให้ทันกับการโต้แย้งในปัจจุบัน กล่าวคือ ยังฝันได้อีกไกล แต่โจทย์ของเศรษฐกิจการเมืองไทยในที่ผ่านมาในปัจจุบันผลักดันให้เศรษฐศาสตร์ไทยมีการเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างแต่ละแขนงของสังคมศาสตร์ในประเด็นต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ

ด้วยสภาพเศรษฐกิจการเมืองไทยที่เอื้ออำนวยเช่นนี้ หากจะเริ่มด้วยการเลิกถามนักศึกษาเศรษฐศาสตร์ว่า "ควรจะลงทุนอย่างไร?" แล้วถามว่าปัญหาหลักของเศรษฐกิจการเมืองไทยคืออะไร คงเป็นจุดเริ่มต้นใหม่ที่ดีสำหรับเศรษฐศาสตร์ไทย การศึกษาการทำงานของตลาดต่างๆ โดยทิ้งฉากหลังทางประวัติศาสตร์ การเมือง หรือโครงสร้างสถาบัน ตอบเพียงแต่โจทย์ของภาคเอกชนเท่านั้น และไม่ได้สร้างความเข้าใจทางเศรษฐศาสตร์อย่างลึกซึ้ง เนื่องจากปัญหาทางเศรษฐกิจไม่ได้เกี่ยวข้องกับปัจจัยทางเศรษฐกิจเท่านั้น


Reference:

Buchanan, J. M. (1966). Economics and Its Scientific Neighbors. In What Should Economists Do? (pp. 115–142). Indianapolis: Liberty Fund.

Mankiw, N. G.(2017). Principles of Macroeconomics, 7th ed. Boston: Cengage Learning.

ธนสักก์ เจนมานะ
อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์