จากบทความเรื่อง ตลาดแรงงานในโรงงาน โดย รศ.ดร.ภาวดี ทองอุทัย ซึ่งนำเสนอในงานสัมมนาคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2534 อาจารย์ภาวดีได้เขียนถึงเส้นทางการพัฒนาอุตสาหกรรมของไทยกับชีวิตของหนุ่มสาวจากท้องไร่ท้องนา โดยอธิบายว่า ในช่วงต้นทศวรรษ 2500 ได้เกิดการย้ายถิ่นแบบชั่วคราวจากชนบทสู่เมือง ที่สามารถอธิบายได้ด้วยปัจจัยดึงดูดและปัจจัยผลักดัน ในด้านปัจจัยดึงดูด คือ ความต้องการแรงงานในภาคอุตสาหกรรมที่ขยายตัวขึ้นจากการส่งเสริมของรัฐ ส่วนด้านปัจจัยผลักดัน คือ ระบบเศรษฐกิจแบบยังชีพได้สลายตัวลง เศรษฐกิจแบบตลาดที่เข้ามาแทนที่กดดันให้ครอบครัวต้องมีเงินตราไว้ใช้จ่ายทั้งในยามปกติและโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามฉุกเฉิน และนอกจากปัจจัยดึงดูดและผลักดันดังกล่าวแล้ว นายหน้าหรือคนกลางยังเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การย้ายถิ่นเกิดขึ้นได้อย่างสะดวกมากขึ้น

อาจารย์ภาวดีกล่าวว่า การย้ายถิ่นเช่นนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดหลายปี อย่างไรก็ตาม การย้ายถิ่นนี้ยังมีลักษณะเป็นแบบชั่วคราว หนุ่มสาวชาวชนบทเพียงหวังเข้ามาหาเงินหาทองจากงานในเมืองสักระยะหนึ่ง แล้วกลับไปพร้อมกับเงินจำนวนหนึ่งเอาไว้เป็นค่าซ่อมแซมบ้าน เป็นเงินก้อนเพื่อตอบแทนบุญคุณให้พ่อแม่ และเป็นเงินออมก้อนเล็กๆ สำหรับครอบครัว พร้อมกับเสื้อผ้าของใช้จากในเมือง รวมถึงประสบการณ์ที่เอาไว้เล่าอวดคนที่หมู่บ้านได้ มีหลายคนสามารถที่จะทำเช่นนี้ได้ จนพวกหนุ่มสาวรุ่นหลังเห็นเป็นตัวอย่างและใฝ่ฝันที่จะเดินตามรอยรุ่นพี่ๆ แต่ก็มีอีกหลายคนที่ต้องประสบกับโชคร้ายด้วยการเจ็บป่วยจากฝุ่นฝ้ายและสารเคมีจากการทำงานในโรงงาน หรือไม่ก็ประสบอุบัติเหตุจนพิการหรือเสียชีวิต

จนกระทั่งถึงทศวรรษ 2530 ที่ประเทศไทยก้าวเข้าใกล้ความเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ อาจารย์ภาวดีเน้นให้เห็นว่า มีปัจจัยสำคัญมาจาก "ความได้เปรียบด้านแรงงาน" และผู้ที่ได้ประโยชน์จากความได้เปรียบนี้อย่างชัดแจ้งคือ เจ้าของโรงงาน พ่อค้าส่งออก และรัฐบาล ในขณะที่อาจารย์ตั้งคำถามว่าแรงงานผู้ที่ควรจะเป็นเจ้าของความได้เปรียบนั้น ได้รับอะไรไปเพียงแค่ไหน พวกเขาได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี มีการงานที่มั่นคงบ้างหรือไม่ หลังจากเข้ามาทำงานในภาคอุตสาหกรรม

คำตอบต่อคำถามนี้ดูจะเป็นสิ่งที่น่าหดหู่ เพราะอาจารย์ภาวดีได้ยกตัวอย่างคำให้สัมภาษณ์ของนายกสมาคมอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่มที่กล่าวว่า ประเทศไทยเริ่มจะไม่เหมาะสมกับอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูปแล้ว เพราะอุตสาหกรรมนี้แข่งขันกันที่ค่าแรง ดังนั้นในเวลาไม่นาน อุตสาหกรรมนี้ก็จะเคลื่อนตัวออกจากประเทศไทยไปยังแหล่งใหม่ที่มีค่าแรงราคาถูกกว่า อาจารย์ให้ความเห็นว่า ทัศนคติเช่นนี้ของผู้ประกอบการเป็นการผลักภาระให้กับแรงงานที่จะต้องทนรับค่าแรงราคาถูกต่อไปตราบเท่าที่ยังต้องการมีงานทำ เพราะหากเมื่อใดที่ค่าแรงเพิ่มสูงขึ้น ผู้ประกอบการก็จะไม่ลังเลแม้แต่น้อยที่จะปิดกิจการหรือย้ายฐานการผลิต

คำถามสำคัญที่น่าเศร้าอีกข้อจึงถูกถามขึ้นจากอาจารย์ภาวดีว่า "แรงงานระดับต่ำจากชนบทนั้น จะมีใครเป็นผู้แบ่งเบารับภาระไปจากเขา ช่วยให้เขามีส่วนร่วมก้าวไปสู่การเป็นนิก1 ด้วยบ้างหรือไม่ หรือเราได้ใช้เขาเป็นบันไดไต่เต้ามาจนถึงวันนี้ หมดความต้องการจะพึ่งพาหาประโยชน์อีกต่อไปแล้ว ก็ปล่อยพวกเขาทิ้งไว้ที่เดิมตามยถากรรมก็แล้วกัน"

มาจนถึงวันนี้เหตุการณ์บางอย่างแปรเปลี่ยนไป แต่บางอย่างก็ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง อุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูปยังอยู่กับประเทศไทยมาอีกกว่าสองทศวรรษ แม้จะปรากฎแนวโน้มของการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีค่าแรงถูกกว่าอย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปแล้วอย่างสิ้นเชิงจากในบทความของอาจารย์ภาวดีคือ แรงงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอหาใช่แรงงานย้ายถิ่นชั่วคราวอีกต่อไป คนงานหญิงในโรงงานเสื้อผ้าสำเร็จรูปและโรงงานอื่นๆ ได้กลายเป็นคนงานอย่างเต็มตัวในภาคอุตสาหกรรม ที่ไม่อาจหวนกลับไปทำไร่ไถนาในชนบทได้อีกต่อไป

จากการศึกษาของมูลนิธิฟรีดิชเอแบร์ท ในปี พ.ศ.2559 เรื่อง "แรงงานวัยกลางคนกับการเปลี่ยนอาชีพ กรณีศึกษา แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม" ที่ผู้วิจัยได้ลงไปทำการสัมภาษณ์คนงานหญิงในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูป และอดีตคนงานหญิงในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ตกงานเพราะโรงงานปิดกิจการและย้ายฐานการผลิต พบว่า ในกรณีที่ต้องตกงานอย่างกระทันหัน คนงานเหล่านี้จะนึกถึงสำนักงานประกันสังคมเป็นอันดับแรก หาใช่พ่อแม่หรือญาติพี่น้องในชนบท ซึ่งคนงานหลายคนก็ไม่มีเครือญาติอยู่ในชนบทแล้วอยู่แล้ว และจากการสัมภาษณ์คนงานหญิงที่เคยตกงานและต้องหางานใหม่ คนงานหญิงเกือบทั้งหมดจะตอบว่าเคยไปใช้สิทธิประกันการว่างงานและบริการช่วยหางานของสำนักงานประกันสังคมระหว่างหางานใหม่ ข้อมูลนี้จึงแสดงให้เห็นว่า ชนบทมิได้เป็นหลังพิงที่ปลอดภัยให้กับคนงานเหล่านี้ได้อีกต่อไป

ข้อมูลจากการศึกษาของมูลนิธิฟรีดิชเอแบร์ทยังแสดงให้เห็นว่า คนงานประจำในช่วงอายุ 40 – 50 ปี ที่ทำงานในโรงงานในจังหวัดอยุธยาและจังหวัดสมุทรปราการ จะมีรายได้ต่อเดือนมากกว่า 10,000 บาทเล็กน้อย ซึ่งรายได้นี้ได้รวมค่าทำงานล่วงเวลาไว้แล้ว ในขณะที่อดีตคนงานที่ออกไปประกอบอาชีพอิสระเพราะโรงงานปิดกิจการในจังหวัดเชียงใหม่และในย่านรังสิตจะมีรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเดือน และกลุ่มตัวอย่างถึงร้อยละ 40 ไม่มีเงินออม

งานศึกษานี้กล่าวถึงหน่วยงานภาครัฐและฝ่ายนายจ้างว่า แม้รัฐจะตื่นตัวและได้ให้ความสำคัญกับสถานการณ์การส่งออกของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม แต่ทว่าหน่วยงานเหล่านั้นก็มักจะเป็นหน่วยงานซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับการส่งเสริมเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ดังนั้นจึงมุ่งเน้นไปที่การพยายามที่จะสร้างศักยภาพและความสามารถในการแข่งขัน ในขณะที่หน่วยงานในด้านการส่งเสริมการทำงานและคุ้มครองสิทธิของคนงานยังไม่ค่อยได้ให้ความสำคัญกับการที่จะวางแผนรองรับคนงานวัยกลางคนที่จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ ส่วนฝ่ายนายจ้างก็มักจะไม่แจ้งสถานการณ์ของโรงงานให้คนงานรู้ล่วงหน้าเนื่องจากเกรงว่าคนงานจะไม่กระตือรือร้นในการทำงาน ดังนั้นคนงานส่วนใหญ่ที่ตกงานจะมารู้ตัวก็ต่อเมื่อมาเจอประตูโรงงานปิดและมีป้ายแขวนว่า "ปิดกิจการ"

จากข้อมูลดังกล่าวนี้ คงสะท้อนให้พวกเราได้รับรู้ว่าชีวิตของคนงานในวันนี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อวันที่อาจารย์ภาวดีเขียนบทความมากนัก และคำถามที่อาจารย์ได้ถามเอาไว้ก็ยังคงไม่ได้รับคำตอบ นั่นคือ "แรงงานระดับต่ำจากชนบทนั้น จะมีใครเป็นผู้แบ่งเบารับภาระไปจากเขาช่วยให้เขามีส่วนร่วมก้าวไปสู่การเป็นนิกด้วยบ้างหรือไม่ หรือเราได้ใช้เขาเป็นบันไดไต่เต้ามาจนถึงวันนี้ หมดความต้องการจะพึ่งพาหาประโยชน์อีกต่อไปแล้ว ก็ปล่อยพวกเขาทิ้งไว้ที่เดิมตามยถากรรมก็แล้วกัน"

1Newly Industrialized Country หรือประเทศอุตสาหกรรมใหม่

ตะวัน วรรณรัตน์
อาจารย์ประจำ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร