มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ

2133 views

หนังสือเรื่อง "มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ" เป็นหนังสือที่ได้บันทึกจัดทำขึ้นในขณะที่คุณพรทิพย์ มั่นคง ผู้แต่งหนังสือเล่มนี้ต้องโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือน ท้องเรื่องหลักของหลังสือเล่มนี้เป็นงานเขียนที่เกี่ยวกับคุก ผ่านการเล่าถึงความสัมพันธ์ทางสังคมของผู้เขียนเองกับผู้ต้องขังรายอื่นที่ผู้เขียนพิจารณาว่าเป็นสหายของตน เช่น นิ พลอย และเอี้ยง โดยตัวละครแต่ละตัวในหลังสือเล่มนี้มีภาระผูกพันและลักษณะนิสัยแตกต่างกันไป รวมถึงอารมณ์ ความรู้สึก และความคิดเห็นต่อสิ่งที่ต้องประสบในระยะเวลา 2 ปี 6 เดือนของผู้เขียน

ในส่วนรูปเล่มหนังสือ หนังสือเล่มนี้มีรูปเล่มคล้ายกับคัมภีร์ไบเบิล เนื่องจากคัมภีร์ไบเบิลมีบทบาทในชีวิตของผู้แต่งในเรือนจำอย่างมาก นอกจากนี้ หน้าปกหนังสือยังเป็นรูปกระดาษของพระคัมภีร์ในบทวิวรณ์ที่ผู้แต่งแอบฉีกเอามาบันทึกเรื่องราวของเธอ เนื่องจากเธอไม่ต้องการลืมเรื่องที่เกิดขึ้นในคุกแห่งนี้และอยากถ่ายทอดออกมา

ในส่วนเนื้อหาของหนังสือนั้น หนังสือเล่มนี้นำเสนอเรื่องความอยุติธรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยช่วงรัฐประหารปี พ.ศ. 2557 ผู้แต่งได้ใช้การเปรียบเทียบผนวกกับอารมณ์ของผู้แต่งในการเล่าเรื่องได้อย่างคมคาย ตัวอย่างเช่น "การยกตัวของผู้นำอาจนำความหายนะมาสู่ทุกคน หากเขาคิดเอาเองว่าตนเองเป็นผู้เข้าใจทุกอย่าง ถูกต้องที่สุด รู้แจ้งแต่เพียงผู้เดียว และพยายามควบคุมทุกอย่าง"ประโยคนี้มาจากฉากที่ตัวละครหลักกำลังอ่านหนังสือที่ยืมมาจากห้องสมุด

นอกเหนือจากประเด็นการเป็นผู้นำที่ดี หนังสือเล่มนี้ยังได้กล่าวถึง "เจ้าปีศาจ"ที่ติดตัวของผู้เขียนเข้าไปในคุกและยังมีบทบาทเป็นตัวละครอีกตัวหนึ่ง มีส่วนช่วยในการตัดสินใจ มักแย้งหรือเสนออีกมุมมองหนึ่งให้ผู้เขียนได้เปรียบเทียบอยู่ตลอดเวลา ประเด็นนี้ตีความได้หลายแง่มุม ในมุมแรก "เจ้าปีศาจ" ที่ติดตัวผู้เขียนไปในทุกที่นั่นคือ ความรู้สึกเห็นแก่ตัวของผู้เขียนที่ผู้เขียนไม่อาจละทิ้งได้ ยิ่งในเวลาที่ยากลำบากในคุก ผู้คนทุกคนล้วนอยากมีชีวิตที่ดีขึ้น มีชีวิตสบายแม้จะต้องเบียดเบียนผู้อื่นในสังคมก็ตาม แต่อีกความคิดหนึ่งของผู้เขียนที่คิดว่า "เราไม่ควรดึงใครให้ต่ำลง ควรประคองกันให้ยืนหยัดโดยเฉพาะคนที่เรารักและคนที่เขารักเรา" ทำให้เกิดความขัดแย้งภายในใจของผู้เขียนขึ้นเอง การต้องเลือกระหว่างความสบายส่วนตัวกับผลประโยชน์ในส่วนรวมนั้น เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่เกิดความขัดแย้งนี้มาอย่างยาวนาน ดังนั้นเพื่อป้องกันปัญหาเหล่านี้มนุษย์จึงได้กำหนดระเบียบข้อบังคับต่างๆ ขึ้นมาผ่านกฎหมายหรือมาตรฐาน เช่น จรรยาบรรณในการประกอบวิชาชีพ จารีต ขนบธรรมเนียมประเพณี ฯลฯ เนื่องจากว่าเราต้องการให้ทุกๆ คนลดความเห็นแก่ตัวของแต่ละคนลง และต้องการเพิ่มความสบายของส่วนรวม โดยเรามีความเชื่อมั่นว่าหากสังคมที่ทุกคนเห็นแก่ส่วนรวมมากขึ้น จะส่งผลให้สังคมเกิดความสงบสุขมากขึ้น

ผู้เขียนมีความเห็นว่าหนังสือเล่มนี้พยายามสะท้อนให้เห็นถึงสภาพสังคมไทยในช่วงระยะเวลาที่รัฐบาลเลือกที่จะปฏิเสธการรับฟังเสียงเรียกร้องของประชาชน เช่นกรณีการชุมนุมของสมัชชาคนจนในช่วงระยะเวลาเดือนตุลาคมที่ผ่านมา แต่กลับใช้งบประมาณจำนวนมากในการสรรหายุทโธปกรณ์ทางการทหารต่าง ๆ ในขณะที่ลดงบประมาณการศึกษา ยุบโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล นโยบายส่งเสริมเอาใจนายทุน และส่งเสริมให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยมากขึ้น ฯลฯ ตลอดจนการบริหารจัดการเศรษฐกิจ เช่น ด้านการกระจายรายได้ไปยังกลุ่มคนรากหญ้า นโยบายของรัฐบาลยังไม่สามารถทำได้ดีพอกับการตอบสนองต่อการชะลอของเศรษฐกิจโลก ฯลฯ ทั้งหมดนี้ล้วนมาจากการละเลยการฟังเสียงเรียกร้องของประชาชน โดยการยึดฟังเสียงเพียงเฉพาะพวกพ้องของตนเองหรือกลุ่มบุคคลเพียงกลุ่มเดียว สังเกตได้จากนโยบายของรัฐบาลที่ปรากฎออกมา เช่น นโยบายชิม ช้อป ใช้ ถึงแม้จะมีข้อดีในด้านกระตุ้นการใช้จ่ายจากผู้มีรายได้ระดับกลางถึงระดับสูงเข้ามาในระบบ ประชาชนกลุ่มนี้ยังมีเงินพอจับจ่ายใช้สอยได้มากขึ้น มีการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น รวมถึงยังทำให้ประชาชนได้รู้จักการใช้งานระบบ E-wallet แต่อย่างไรก็ตาม ร้านค้ารายย่อยส่วนมากตามแหล่งชุมชนต่างๆ ยังไม่สามารถเข้าร่วมโครงการนี้กับรัฐบาลได้ การใช้จ่ายจึงหมุนเวียนกับสู่นายทุนหรือธุรกิจระดับกลางถึงระดับบน มิได้ช่วยกระจายรายได้หรือการใช้จ่ายให้ระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงจริง ๆ ตามที่รัฐบาลหวังไว้

การเห็นแก่ประโยชน์ของตนเองมากเกินไปอาจสะท้อนถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำ หรือรายได้กระจุกตัวอยู่ที่คนกลุ่มหยิบมือเดียว ในขณะที่การเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมหมายถึงการกระจายรายได้ให้ประชาชนชนภายในประเทศไม่เหลื่อมล้ำกันมากจนเกินไป สาเหตุหลักของความเหลื่อมล้ำนั้นมาจากการที่คนจนไม่สามารถแข่งขันหารายได้และกำไรกับคนรวยได้ กล่าวคือ มีความไม่เท่าเทียมกันของการถือสินทรัพย์และมรดก ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำอยู่มาก โดยเฉลี่ยแล้วร้อยละ 58 ของทรัพย์สินตกเป็นของประชากรเพียงร้อยละ 1 และประชากรผู้ร่ำรวยที่สุดร้อยละ 10 ลำดับแรกควบคุมทรัพย์สินร้อยละ 80

การแก้ปัญหาเหล่านี้ทำได้ผ่านการบริหารจัดการทางเศรษฐกิจ ใช้มาตรการแก้ไขปัญหาการกระจายรายได้ต่างๆ (equalizing factors) เช่น นโยบายเศรษฐกิจเสรีที่เปิดโอกาสการแข่งขันให้ทุกคน ระบบภาษีของประเทศที่เก็บภาษีคนรวยมากกว่าคนจน รวมทั้งภาษีที่เก็บจากทรัพย์สิน เช่น บ้าน ที่ดิน การเปิดโอกาสให้คนรายได้น้อยเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจเพื่อยกฐานะของตน การบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้มีการแข่งขันทางเศรษฐกิจที่เป็นธรรม อย่างไรก็ตาม ในกรณีของประเทศไทยนั้น เป็นกรณีที่ชัดเจนว่า มาตรการแก้ไขปัญหาการกระจายรายได้ไม่ทำงาน ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยมีมากขึ้นพร้อมกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ นโยบายของรัฐบาลไทยยังไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีโอกาสทางเศรษฐกิจในแง่ของการศึกษา การมีงานทำ และการเข้าถึงสินเชื่อต่างๆ เพื่อประกอบอาชีพ ไปจนถึงการสนับสนุนให้เกิดความโปร่งใสในการทำหน้าที่ของรัฐและลดปัญหาผลประโยชน์ขัดแย้ง สิ่งเหล่านี้คือการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างยั่งยืน มิใช่การแจกเงิน แต่ต้องแก้ไขที่ความสามารถหารายได้ของประชาชนเป็นสำคัญ

"การตั้งคำถามกับทุกอย่างคือสิ่งที่ติดตัวเด็กทุกคนมา แต่ทำไมพอเราโตขึ้น เราจึงกลับตั้งคำถามน้อยลงและยอมจำนนมากขึ้น?" การตั้งคำถามนั้นเป็นสิ่งแรกที่ก่อให้เกิดความพยายามในการหาคำตอบ อันจะก่อให้เกิดการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงสังคมให้ไปในทางที่ดีขึ้น การตั้งคำถามประเด็นต่างๆ ย่อมก่อให้เกิดการสืบค้น ปรึกษาหารือกันเพื่อหาทางออกของปัญหาเหล่านั้น แต่สิ่งที่เห็นได้ในสังคมไทยในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาคือ การจับกุมตัวบุคคลที่มีความเห็นที่แตกต่างจากคนส่วนใหญ่ในสังคม บุคคลที่ตั้งคำถามให้กับเรื่องที่สังคมไม่อยากให้ตั้งคำถาม สิ่งเหล่านี้ไม่ก่อให้เกิดการหาคำตอบและการพัฒนาสังคมไปในทางที่ดีขึ้น สิ่งที่สังคมไทยควรทำคือการให้โอกาสในการแลกเปลี่ยนความเห็นอย่างสันติ อีกทั้งรัฐบาลควรรับฟังเสียงเรียกร้องจากประชาชนและถกเถียงหาแนวทางแก้ไขปัญหาเหล่านั้น เพื่อให้ประเทศโดยรวมเกิดการพัฒนาไปข้างหน้า

ในสังคมปัจจุบันที่มีแนวคิดเรื่องสังคมนั้น นักกฎหมายในศตวรรณที่ 19 พยายามให้ความหมายว่า คุกมิได้มีไว้เพื่อแก้แค้นแทนสังคม แต่มีไว้เพื่อแยกคนชั่วออกจากคนดี ไม่ให้ไปทำร้ายใครอีก แต่มีผู้เสนออีกว่า คุกคือสถานที่สำหรับแก้ไขปรับปรุงบุคลิกภาพของนักโทษให้สามารถกลับมาเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมได้ เห็นได้จากคุกหลายแห่งในสหรัฐอเมริกาเปลี่ยนชื่อเป็นศูนย์แก้ไขความบกพร่องบ้าง แต่การปฏิบัติกับนักโทษในคุกในปัจจุบันมิได้สนับสนุนแนวคิดเหล่านี้ ไม่ว่าการจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการควบคุมคนภายในคุก ผ่านเครื่องมือที่เรียกว่าความรุนแรง ก่อให้เกิดความจำนนอย่างเด็ดขาดควบคู่กับเครื่องมือชิ้นอื่นๆ เช่น การแสดงความกรุณาตักเตือน การพยายามกำหนดขอบเขตความสัมพันธ์ระหว่างนักโทษ ฯลฯ การใช้อำนาจระหว่างผู้คุมกับนักโทษส่งผลให้ลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไปจนถึงการสร้างสิทธิและอภิสิทธิชนภายในคุกให้บุคคลที่มีกำลังทรัพย์มาก ทำให้มีการปฏิบัติกับนักโทษที่แตกต่างกัน ลักษณะดังกล่าวทำให้กลับมาสู่คำถามถึงการมีอยู่ของคุกว่า การมีคุกสามารถช่วยให้สังคมโดยรวมดีขึ้นได้จริงหรือ? บุคคลสามารถปรับเปลี่ยนบุคลิกภาพเมื่อออกมาจากคุกได้จริงหรือไม่ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าภายในคุกยังมีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นอยู่บ้าง เช่น ทำให้ผู้เขียนได้รับมิตรภาพระหว่างเพื่อนร่วมคุกด้วยกัน การให้อิสระในการนับถือศาสนา ฯลฯ คุกจึงเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งในการหล่อหลอมให้ผู้ที่เคยกระทำผิดมาในอดีตสามารถปรับปรุงบุคลิกภาพกลับมาใช้ชีวิตเป็นคนดีในสังคมมากกว่า แต่จากองค์ประกอบภายในคุกที่ยังคงอยู่นั้น ก็ยังคงเกิดคำถามถึงการมีอยู่ของคุกต่อไป

กรณิศ จิรัตนานนท์
นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์