"…แบงค์ชาตินอกจากจะถือเงินสำรองระหว่างประเทศไว้มากเกินไปแล้ว ยังนำไปลงทุนได้ดอกผลค่อนข้างน้อยอีกด้วย หลายประเทศแก้ไขจุดอ่อนนี้โดยแบ่งเงินสำรองบางส่วนไปจัดตั้งเป็นกองทุนต่างหากเพื่อลงทุนระยะยาวที่มีผลตอบแทนสูงกว่า และยอมรับความเสี่ยงที่สูงกว่าด้วยหรือที่เรียกว่า กองทุนมั่งคั่งแห่งชาติ…"

ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เงินบาทแข็งขึ้นมาก จากที่เคยมีค่ากว่า 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ มาเป็นแค่ 30 บาทในปัจจุบัน เรียกว่าแข็งโป๊กเป็นประวัติการณ์ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาก็ว่าได้ โดยปกติแล้ว เราควรจะดีใจว่าคนต้องการซื้อเงินบาทมากๆ ทำให้เงินบาทมีค่าสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเงินอื่นๆ เพราะเขาเหล่านั้นคงมีความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจไทย

แต่ทุกวันนี้เงินบาทแข็งขึ้นกลับมีผลเสียต่อเศรษฐกิจไทย เพราะมีส่วนทำให้การส่งออกของไทยหดตัวอย่างน่าตกใจ นักท่องเที่ยวต่างชาติก็ไม่อยากมาเที่ยวเมืองไทยมากเหมือนที่เคยเป็น เพราะเขาต้องจ่ายค่าเที่ยวสูงขึ้นในรูปของเงินของเขา เงินบาทแข็งจึงกลายเป็นอีกปัจจัยหนึ่งซึ่งทำให้เศรษฐกิจไทยซบเซาอยู่ในปัจจุบัน

ค่าเงินที่เปลี่ยนไปอธิบายได้ด้วยหลักเศรษฐศาสตร์ที่เรียกว่า ดีมานด์ (demand) กับซัพพลาย (supply) เงินบาทแข็งเพราะมีดีมานด์มาก คือคนต้องการซื้อและถือเงินบาทเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับซัพพลายของเงินบาท โดยเอาเงินต่างประเทศมาแลกกับหรือซื้อเงินบาทนั่นเอง อาจเกิดจากความต้องการซื้อเงินบาทเพื่อนำไปซื้อสินค้าไทย (ไทยส่งออก) หรือซื้อบริการของไทย (ต่างชาติมาเที่ยวเมืองไทย) หรือเพื่อลงทุนในสินทรัพย์ของไทย (เช่น หุ้นไทยและพันธบัตรไทย) ถ้าไม่มีการแทรกแซงในตลาด ราคาเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินต่างประเทศก็จะสูงขึ้นตามกลไกตลาด

ในระบบการเงินปัจจุบัน เงินต่างประเทศที่มีคนนำเข้ามาซื้อเงินบาทและเหลือสะสมอยู่ในประเทศไทย ส่วนใหญ่สุดท้ายแล้วจะตกไปอยู่ในถุงเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย เงินไหลเข้าเหล่านี้ส่วนใหญ่อยู่ในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เพราะเป็นเงินตราที่ทั่วโลกยอมรับและยินดีแลกเปลี่ยนด้วย แบงค์ชาติเรียกเงินในถุงเงินนี้ว่า \'เงินสำรองระหว่างประเทศ\' (foreign exchange reserves) ซึ่งมีทั้งทองคำ เงินตรา และสินทรัพย์ในสกุลเงินต่างประเทศ (ซึ่งสวนใหญ่เป็นเงินดอลลาร์)

ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจว่า ในขณะที่ค่าเงินบาทแข็งขึ้น แบงค์ชาติก็ยิ่งสะสมเงินสำรองระหว่างประเทศสูงขึ้นพร้อมกันไปด้วย ในช่วงปี 2542 ถึง 2552 ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งขึ้นจาก 40 กว่าบาทต่อดอลลาร์ มาเป็น 30 กว่าบาทต่อดอลลาร์ เงินสำรองระหว่างประเทศของไทยก็เพิ่มขึ้นมาโดยตลอด จากไม่ถึง 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขึ้นมาเป็นกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ในช่วง 10 ปีหลังนี้ เงินบาทอ่อนตัวเล็กน้อยอยู่ช่วงหนึ่ง (ปี 2556-2558) และเงินสำรองก็ลดลงบ้างในช่วงเดียวกัน แต่ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา เงินบาทกลับแข็งตัวขึ้นมาก และเงินสำรองก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนมีค่าสูงถึงกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แล้ว (เกือบ 6.7 ล้านล้านบาท)

แล้วแบงค์ชาติเก็บเงินสำรองระหว่างประเทศไว้เพื่อประโยชน์อันใด คำตอบง่ายๆ ก็คือ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าประเทศมีเงินตราต่างประเทศมากพอสำหรับผู้ที่ต้องการเอาเงินบาทมาแลกกับเงินต่างประเทศแล้วนำออกไปนอกประเทศ ทำให้เงินไหลออก ที่สำคัญคือ กรณีที่มีการแลกเงินเพื่อนำไปชำระหนี้และคืนทุนให้กับคนต่างชาติ เช่น การนำเข้าสินค้าและบริการ การชำระหนี้ที่คนไทยไปกู้ยืมมาจากต่างประเทศ และการถอนเงินลงทุนของชาวต่างชาติออกจากไทย

เราคงจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2539 และ 2540 ได้ว่า เงินทุนไหลออกจากประเทศเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเจ้าหนี้ต่างชาติขาดความมั่นใจในเศรษฐกิจไทยและต้องการให้ลูกหนี้คนไทยชำระเงินคืนหนี้เป็นจำนวนมาก จนทำให้แบงค์ชาติต้องสูญเสียเงินสำรองระหว่างประเทศไปเกือบหมดหน้าตัก ในช่วงนั้นต้องยอมรับว่าไทยมีเงินสำรองไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับหนี้ต่างประเทศที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และเป็นสาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจที่เรียกว่า \'วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง\' สร้างความเสียหายอย่างมหาศาลให้กับเศรษฐกิจของไทยและอีกหลายประเทศในภูมิภาค

คำถามที่มีนัยยะสำคัญกับเหตุการณ์ในปัจจุบันก็คือ "แบงค์ชาติควรเก็บเงินสำรองระหว่างประเทศไว้มากแค่ไหนถึงจะเรียกว่า \'เพียงพอ\'?" กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ได้กำหนดเกณฑ์ไว้สำหรับประเทศกำลังพัฒนาว่า ควรถือเงินสำรองระหว่างประเทศไว้ไม่ต่ำกว่าจำนวนที่ต้องใช้ในการซื้อสินค้านำเข้าได้ 3 เดือน หรือที่ต้องใช้ในการชำระหนี้ต่างประเทศระยะสั้นได้ 100%

เอาเงินสำรองจำนวนกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์ที่แบงค์ชาติถืออยู่ในปัจจุบันมาคำนวณเพื่อเทียบกับเกณฑ์ของ IMF ดังกล่าว ปรากฎว่า ไทยมีเงินสำรองระหว่างประเทศสูงกว่าเกณฑ์ค่อนข้างมาก คือเป็นจำนวนที่ซื้อสินค้านำเข้าได้ประมาณ 11 เดือน (ปี 2561 ไทยนำเข้าในมูลค่าเดือนละประมาณ 19,000 ล้านดอลลาร์) และเป็นจำนวนที่ใช้ในการชำระหนี้ต่างประเทศระยะสั้นได้ถึงกว่า 3 เท่า (ปลายปี 2561 ไทยมีหนี้ต่างประเทศที่มีกำหนดชำระคืนภายในเวลาหนึ่งปีเป็นเงิน 63,303 ล้านดอลลาร์) แสดงให้เป็นว่าแบงค์ชาติถือเงินสำรองระหว่างประเทศไว้มากเกินไป และเกินมาเป็นเวลาอย่างน้อย 20 ปีติดต่อกันแล้ว

เป็นที่น่าสังเกตว่า เนื่องจากเงินสำรองนี้มีไว้เพื่อสถานกาณ์ฉุกเฉินในระยะสั้น แบงค์ชาติจึงจำเป็นต้องถือเงินสำรองส่วนใหญ่ในลักษณะที่มีสภาพคล่องสูง เพื่อให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นแบงค์ชาติจึงมักนำเอาเงินสำรองส่วนใหญ่ไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งมีความเสี่ยงต่ำมาก แต่ก็มีผลตอบแทนที่ต่ำมากเช่นเดียวกัน

สรุปแล้ว แบงค์ชาตินอกจากจะถือเงินสำรองไว้มากเกินไปแล้ว ยังนำไปลงทุนได้ดอกผลค่อนข้างน้อยอีกด้วย หลายประเทศแก้ไขจุดอ่อนนี้โดยแบ่งเงินสำรองบางส่วนไปจัดตั้งกองทุนต่างหากเพื่อลงทุนระยะยาวที่มีผลตอบแทนสูงกว่า และยอมรับความเสี่ยงที่สูงกว่าด้วย กองทุนประเทศนี้มีชื่อว่า sovereign wealth fund หรือ \'กองทุนมั่งคั่งแห่งชาติ\'

ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์
กรรมการประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์