ทำขยะสกปรกให้เป็นพลังงานสะอาด

4143 views

"ประเทศไทยมีโรงงานที่ผลิตพลังงานจากขยะอยู่หลายแห่ง ทั้งที่ผลิตไฟฟ้าและที่ผลิตเฉพาะ RDF ... มีทั้งที่ประสบผลสำเร็จและที่มีปัญหา แต่ส่วนใหญ่มีการดำเนินงานที่ไม่ค่อยจะราบรื่นนัก ประสบการณ์ในประเทศไทยชี้ให้เห็นว่า การผลิตพลังงานจากขยะไม่ใช่เป็นเรื่องหมูๆ เลย..."

ขยะมูลฝอยเป็นปัญหากองใหญ่ของบ้านเรามาโดยตลอด ในปี 2561 พวกเราสร้างขยะรวมกันหนักถึงเกือบ 28 ล้านตัน คือโดยเฉลี่ยคนไทยแต่ละคนก่อให้เกิดขยะวันละประมาณ 1.2 กิโลกรัม ทั้งที่บ้าน ที่ทำงาน ที่ตลาด ที่ร้านรวงศูนย์การค้า และที่แหล่งท่องเที่ยวต่างๆ

สถิติของภาครัฐชี้ให้เห็นว่า ในจำนวนขยะ 28 ล้านตันนี้ ส่วนใหญ่มีการกำจัดอย่างถูกต้องหรือถูกนำไปใช้ประโยชน์ใหม่ แต่ยังเหลืออีกประมาณหนึ่งในสี่หรือประมาณ 7 ล้านตันที่ยังไม่มีการกำจัดอย่างถูกต้อง ถูกปล่อยให้ตกค้างสะสมส่งกลิ่นเน่าเหม็นอยู่ในกองขยะที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ

วิธีหนึ่งที่จะบรรเทาปัญหาขยะส่วนเกินที่ตกค้างอยู่นี้ได้ คือนำมันไปเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตพลังงาน ทั้งที่เป็นเชื้อเพลิงสำหรับโรงงานและที่อยู่ในรูปของไฟฟ้า วิธีนี้นอกจากจะช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังช่วยเพิ่มปริมาณการผลิตพลังงานเพื่อทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลอีกด้วย พลังงานจากขยะจึงถือเป็นพลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานสะอาดชนิดหนึ่งที่ช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อน

นอกจากผลิตไฟฟ้าแล้ว เรายังสามารถนำเอาขยะมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงเพื่อใช้เผาในโรงไฟฟ้า และโรงงานอุตสากรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ เชื้อเพลิงชนิดนี้มีชื่อเรียกว่า "เชื้อเพลิงขยะ" หรือ "refuse derived fuel" หรือ RDF

หลายประเทศลงทุนในโครงการผลิตพลังงานจากขยะ โดยมีขนาดและเทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งก็มีทั้งที่ประสบผลสำเร็จและที่ล้มเหลว

ประเทศไทยมีโรงงานที่ผลิตพลังงานจากขยะอยู่หลายแห่ง ทั้งที่ผลิตไฟฟ้าและที่ผลิตเฉพาะ RDF มีทั้งที่อยู่ใกล้ๆ กรุงเทพฯ และในต่างจังหวัด มีทั้งที่ประสบผลสำเร็จและที่มีปัญหา แต่ส่วนใหญ่มีการดำเนินงานที่ไม่ค่อยจะราบรื่นนัก ประสบการณ์ในประเทศไทยชี้ให้เห็นว่า การผลิตพลังงานจากขยะไม่ใช่เป็นเรื่องหมูๆ เลย แต่มีปัญหาหลากหลายมากมาย

ในเบื้องต้นเลย การจัดการเกี่ยวข้องกับขยะมีผู้มีส่วนได้เสียหลายฝ่าย คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีหน้าที่เก็บและกำจัดขยะ ผู้ที่ได้ประโยชน์จากการแยกขยะ (นำเอากระดาษ กระป๋อง พลาสติก โลหะ ฯลฯ ไปขายเพื่อ recycle) ผู้รับจ้างเก็บและขนขยะไปทิ้ง ผู้บริหารจัดการกอง/หลุมขยะ รวมทั้ง หน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่กำกับดูแลด้านปัญหาสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากขยะ ดังนั้น ผู้ที่จะลงทุนผลิตพลังงานจากขยะก็จะต้องดำเนินการเพื่อไม่ให้มีปัญหากับผู้มีส่วนได้เสียเหล่านี้

หลายโครงการประสบปัญหาทางเทคนิคเพราะเลือกใช้เทคโนโลยีที่ไม่เหมาะสม บางแห่งใช้เทคโนโลยีที่อาจทำงานได้ดีในต่างประเทศ แต่ใช้ไม่ได้ผลกับขยะในเมืองไทยที่มีสัดส่วนของขยะเปียกค่อนข้างสูง (กรุงเทพฯ มีส่วนผสมของขยะเปียก เช่น เศษอาหาร มากกว่าครึ่งหนึ่งของขยะโดยรวม ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าในประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลาย)

หลายแห่งไม่มีการแยกขยะอย่างถูกวิธีก่อนส่งเข้าโรงงาน ทำให้เครื่องจักรอุปกรณ์ชำรุดเสียหายบ่อยและเร็วเกินไป อะไหล่มีราคาแพงและหลายชิ้นต้องนำเข้า พนักงานในโครงการก็มีประสบการณ์และความรู้ไม่เพียงพอ การเดินเครื่องเพื่อผลิตไฟฟ้าและ RDF จึงทำได้ไม่เต็มที่และต่อเนื่อง

อุปสรรคสำคัญอีกข้อหนึ่งคือปัญหาการเงิน การลงทุนเพื่อผลิตพลังงานจากขยะมักต้องใช้เงินค่อนข้างสูงเพราะเครื่องจักรอุปกรณ์ต่างๆ ส่วนใหญ่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ และต้องมีความทนทานเป็นพิเศษเพื่อรองรับกับขยะของเมืองไทยที่มีลักษณะค่อนข้างเปียกชื้นและมีชิ้นส่วนแปลกปลอมปะปนอยู่มาก

ค่าใช้จ่ายดำเนินการก็มีไม่น้อย มีทั้งค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าจ้าง เงินเดือนและวัสดุต่างๆ รวมไปจนถึงค่าบำรุงรักษาเครื่องจักรอุปกรณ์ที่ชำรุดสึกหรอได้ค่อนข้างมาก

ในฝั่งของรายได้ ไฟฟ้าที่ผลิตจากขยะส่วนใหญ่จะส่งขายเข้าระบบโครงข่ายไฟฟ้าของประเทศ ในราคารับซื้อที่หน่วยละ 5.78 บาท ซึ่งเป็นอัตรา feed-in-tariff ที่สูงเป็นพิเศษตามนโยบายส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน

ส่วน RDF จะส่งขายเป็นเชื้อเพลิงให้กับโรงงานปูนซีเมนต์และโรงไฟฟ้าบางประเภท ในราคาเริ่มต้นตันละ 500 ถึง 1200 บาท ขึ้นอยู่กับคุณภาพและค่าความร้อนของเชื้อเพลิงนั้น หากโรงผลิต RDF อยู่ไกลจากผู้ใช้ ก็ยิ่งต้องรับภาระค่าขนส่งมากขึ้น ทำให้รายได้สุทธิของโครงการ RDF ลดลงไปอีก

โดยทั่วไป อาจกล่าวได้ว่าลำพังรายได้จากไฟฟ้าและ RDF ไม่สามารถทำให้การลงทุนผลิตพลังงานจากขยะมีความคุ้มค่าทางการเงินได้ หลายโครงการดำเนินการได้โดยไม่ขาดทุนเพราะมีรายได้เพิ่มเติมจากแหล่งอื่นๆ เช่น ได้รับส่วนแบ่งจากค่ากำจัดขยะ (หรือ tipping fee) และเงินอุดหนุนจากภาครัฐ

ถึงแม้ว่าโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงจากขยะจะช่วยลดปริมาณขยะสะสมตกค้างและทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นก็ตาม แต่โรงไฟฟ้าขยะเองก็ถูกต่อต้านจากชุมชนที่อยู่รอบโรงไฟฟ้า เพราะกลัวกันว่าการขนส่งและเผาขยะเพื่อผลิตไฟฟ้าก่อให้เกิดมลภาวะทางอากาศ ทั้งที่เป็นฝุ่นละอองและกลิ่นเหม็น โครงการผลิตพลังงานจากขยะจะสำเร็จได้จึงต้องมีมาตรฐานสิ่งแวดล้อมสูงและได้รับการยอมรับจากชุมชนด้วย

ประสบการณ์จากโครงการผลิตพลังงานจากขยะในประเทศต่างๆ ทั่วโลกชี้ให้เห็นถึงบทเรียนอย่างน้อยสามประการ คือ

ประการแรก เราหวังไม่ได้ว่าการผลิตพลังงานจากขยะจะเป็นการแก้ไขปัญหาขยะตกค้างที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดในระยะยาว หัวใจสำคัญของการป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะที่สมบูรณ์แบบคือ การลดปริมาณขยะ (reduce) และการแยกขยะอย่างถูกวิธีที่จะทำให้มีการนำขยะไปใช้ใหม่ (reuse) และหมุนเวียนมาใช้ซ้ำ (recycle) ให้ได้มากที่สุด พลังงานจากขยะเป็นเพียง "ตัวช่วย" ในการแก้ไขปัญหาขยะเท่านั้น

ประการที่สอง ปริมาณพลังงานที่ผลิตได้จากขยะมักมีสัดส่วนน้อยมาก เมื่อเทียบกับปริมาณพลังงานที่ต้องผลิตและใช้ทั้งหมดในประเทศ ศักยภาพการผลิตไฟฟ้าจากขยะทั่วประเทศไทยเป็นประมาณ 500 เมกะวัตต์ (MW) ซึ่งคิดเป็นแค่ 2% ของกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมของประเทศในปัจจุบัน ดังนั้น การให้เงินอุดหนุนกับโครงการผลิตพลังงานจากขยะจึงไม่น่าจะเป็นภาระมากนักต่อผู้ใช้พลังงานโดยรวม

ประการที่สาม การลงทุนเพื่อผลิตพลังงานจากขยะควรได้รับการพิจารณาควบคู่กับ และเป็นส่วนหนึ่งของโครงการบริหารจัดการขยะในภาพรวม การประเมินความคุ้มค่าของโครงการพลังงานจากขยะจึงต้องคำนึงถึงต้นทุนและประโยชน์อันเกิดจากทั้งการลดปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเพิ่มกำลังการผลิตพลังงาน

ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์
กรรมการประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์