วรรณกรรมล้วนมีบ่อเกิดและได้รับอิทธิพลจากสังคม คงจะไม่แปลกหากวรรณกรรมเรื่องใดเรื่องหนึ่งจะสามารถสะท้อนสภาพความเป็นอยู่ วิถีชีวิต และสภาพปัญหาของสังคมไทยออกมาได้อย่างชัดเจน เช่นเดียวกับเรื่อง "แก้วหยดเดียว"ของวรรณา สวัสดิ์ศรี ในนามปากกา "ศรีดาวเรือง" ประกอบด้วยเรื่องสั้น 21 เรื่อง นับว่าเป็นวรรณกรรมที่ทรงคุณค่ามากเล่มหนึ่ง แต่ละเรื่องสะท้อนสภาพความเป็นอยู่ไปจนถึงสภาพปัญหาของสังคมไทยในอดีตที่หยั่งรากลึกยากที่จะแก้ไขเยียวยา บางส่วนยังคงเหลือร่องรอยให้พบเห็นได้ในสังคมปัจจุบัน แม้จะผ่านมากว่าสามทศวรรษที่วรรณกรรม "แก้วหยดเดียว" ได้เผยแพร่สู่สังคม
สภาพสังคมที่วรรณกรรมเรื่อง แก้วหยดเดียว สะท้อนให้เห็นชัดเจนมากที่สุดประการแรก คงไม่พ้น การใช้ชีวิตท่ามกลางความยากจนและความเหลื่อมล้ำของชนชั้นล่างโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ใช้แรงงาน อย่างเช่น ในตอนเปิดเรื่องที่อนงค์กับถวิลคุยกันเรื่องค่าแรง "เงินเดือน 140 บาท ค่าเช่าห้องเอาไปคนละเท่าไหร่ล่ะ 20 บาท ส่งไปบ้านอีกร้อยนึง เหลือใช้แค่ 20 บาท" สะท้อนให้เห็นว่าผู้ใช้แรงงานได้รับค่าแรงที่ไม่พอกับความต้องการ ทั้งยังมีภาระที่ต้องแบกรับส่งเงินไปให้ที่บ้าน ตัวเองก็แทบไม่พอเหลือกินเหลือใช้เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง งานหลักที่ทำอยู่ก็หนักมากพออยู่แล้ว แถมยังต้องไปทำโอทีเพื่อให้มีเงินพอใช้อีก ผู้ใช้แรงงานไม่ได้รับผลตอบแทนและสวัสดิการเท่าที่ควร
ต่อมาในเรื่อง "ว่าวบนฟ้า"เด็กชายโชคต้องไปช่วยงานเกี่ยวข้าวเพราะอยากได้เงินมาซื้อว่าว แต่ทุกๆ ครั้งที่หาเงินมาได้ แม่ก็เอาเงินไปหมด จึงทำให้ต้องทำในสิ่งที่เสี่ยงอันตรายด้วยการเอาปี๊บมารองน้ำมันที่รั่วลงมาใต้รางรถไฟเพื่อนำไปขาย แต่สุดท้ายเขาพลาดพลั้งจนถึงแก่ชีวิต เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงความปากกัดตีนถีบต่อสู้กับความยากจนเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ ทั้งๆ ที่โชคยังเป็นแค่เด็กกลับต้องมาวิ่งเร่หางานทำ หาเงินเกินกว่ากำลังที่มีในวัยเด็ก เด็กชายโชคเป็นตัวอย่างของคนที่ไล่ตามความฝัน ไม่ว่าจะต้องเสี่ยงอันตรายอย่างไร เขาก็ต้องจำใจทำ ความยากจนและความลำบากเป็นสิ่งที่ไม่มีใครปราถนาแต่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ยังมีเด็กอีกหลายคนในประเทศที่ต้องดิ้นรนเอาตัวรอด ยังมีเด็กอีกหลายคนที่ต้องกัดฟันสู้เพื่อให้ได้ในสิ่งที่ตนเองต้องการ แม้ว่าในปัจจุบันสถานการณ์อะไรหลายๆ อย่างจะดีขึ้น แต่สุดท้ายเราก็ยังเห็นเด็กตัวเล็กๆ ออกมาดิ้นรนทำงานหาเลี้ยงชีพหาเลี้ยงครอบครัว รอคอยการหยิบยื่นโอกาสและการช่วยเหลือ
เช่นเดียวกับเรื่อง "แรงงานกับคน"อนงค์มองว่านอกจากการที่คนงานต้องเรียกร้องค่าแรงและสวัสดิการเพิ่มแล้ว อีกตัวอย่างคือ ค่าแรงของผู้หญิงกับผู้ชายที่ทำงานหน้าที่เดียวกัน ค่าแรงน่าจะได้เท่ากัน แต่ในทางกลับกัน แทนที่เพื่อนผู้ใช้แรงงานเหมือนกันกับเธอจะเข้าใจและเห็นใจเธอ กลับกลายเป็นว่าถูกเยาะเย้ยเหยีดหยาม และมองว่าสิ่งที่เธอพยายามเรียกร้องนั้นเป็นเรื่องไร้สาระ สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นสภาพความเหลื่อมล้ำทางเพศในสมัยก่อน ชายหญิงทำงานหน้าที่เดียวกัน จำนวนชั่วโมงเท่ากับ แต่กลับไม่ได้รับค่าแรงที่เท่าเทียมกัน เพียงเพราะว่าเป็นเพศหญิง มีแรงน้อยกว่าผู้ชายที่ทำงานจำนวนชั่วโมงเท่าๆ กัน และการเย้ยหยันนั้นสะท้อนให้เห็นว่าสังคมในสมัยก่อนผู้ชายจะกดขี่ผู้หญิงและมักจะมองว่าตนเองอยู่เหนือกว่า ทำงานได้มากกว่า และมีความสำคัญมากกว่า และไม่มองถึงความเท่าเทียมทางเพศ
ประการที่ 2 อาชญากรรมในสังคม เห็นได้ชัดจากเรื่อง "ซึ่งรอวันแตกทำลาย"ลุงแจ้วจำเป็นที่จะต้องรับจ้างเอาวัวของเศรษฐีมาเลี้ยงแบ่งลูกกัน ทั้งๆ ที่เป็นงานที่เสี่ยงหากมีคนขโมยวัวไป ลุงแจ้วเห็นทีจะอยู่ไม่ได้ เพราะวัวตัวหนึ่งก็มีราคาไม่น้อย จนกระทั่งคืนวันหนึ่งมีโจรมาขโมยวัว โจรหาได้มีความกลัวไม่ เข้ามาตัดเชือกจูงวัวอย่างอุกอาจท่ามกลางชาวบ้านที่เห็นแต่ไร้ทางสู้ ทุกคนต่างก็นั่งดูการปล้นโดยที่ไม่สามารถทำอะไรได้เลย คนดีต้องมานั่งกลัวโจร! สุดท้ายแล้ว ลุงแจ้วต้องหลบหนีเอาตัวรอดจากเจ้าของวัว เพราะต่อให้ไปแจ้งตำรวจ ก็ไม่ช่วยให้อะไรๆ ดีขึ้น สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงการก่ออาชญากรรมสมัยก่อนที่กระทำความผิดซึ่งๆ หน้าอย่างง่ายดายโดยไม่รู้ร้อนรู้หนาว ทั้งการใช้ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านโดยทั่วๆ ไป ก็ลำบากยากจนมากพอแล้ว ยังต้องมาเผชิญกับการก่ออาชญากรรม การลักขโมยต่อหน้าต่อตา เหมือนกับบ้านเมืองไม่มีขื่อมีแป ไร้ซึ่งกฎหมายคุ้มครองประชาชน และยังสะท้อนไปถึงกระบวนการยุติธรรมที่ล่าช้าและพึ่งพาไม่ได้ ถึงแม้สถานการณ์ในทุกวันนี้จะดีขึ้น แต่ก็ยังมีคดีไม่เดินหน้าหรือไม่ได้รับความสนใจจากผู้ใช้กฎหมาย จนทำให้ประชาชนมีความรู้สึก "ไร้ที่พึ่ง"
ประการที่ 3 การก่อมลภาวะและการจัดการสิ่งแวดล้อมในสังคมจากเรื่อง "แม่พระคงคา เถ้าแก่บัก และหมา" ภายหลังจากงานลอยกระทง กระทงที่ทุกคนตั้งใจทำหรือซื้อกระทงสวยๆ มาลอย กระทงที่ชาวไทยให้เป็นตัวแทนในการขอขมาพระแม่คงคาหมดคุณค่าไป กระทงได้กลายสภาพเป็นกองขยะมหึมาที่ทุกคนไม่เห็นคุณค่า พอมีกองใหม่ก็เอาไปทับกองเก่าที่มีอยู่แต่เดิม สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่า ผู้คนไม่ได้ตระหนึกถึงการดูแลสิ่งแวดล้อม หรือรู้สึกผิดกับการทำให้แม่น้ำลำคลองสกปรกอย่างจริงจัง เหมือนกับว่าทำไปตามความเชื่อ ทำเพียงเพราะเป็นเทศกาล และไม่เคยคำนึงถึงผลกระทบที่ตามมา สุดท้ายแล้ว กระทงที่เคยมีคุณค่าก็กลายเป็นแค่ขยะที่แม้แต่หมายังไม่เห็นคุณค่า ผิดกับวันก่อนหน้าที่เป็นวันเทศกาลลอยกระทง
ประการที่ 4" ความเชื่อของสังคมไทย" สังคมไทยและความเชื่ออยู่คู่กันมานาน ทั้งความเชื่อในทางศาสนาหรือความเชื่อเกี่ยวกับประเพณีที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น ความเชื่อที่สะท้อนสภาพสังคม เช่น จากเรื่อง "ชายผ้าเหลือง"ลูกชายเห็นซองที่พระรับบริจาคเขียนจำนวนเงินไว้ให้เรียบร้อยกึ่งบังคับว่าให้บริจาค 1,000 บาท พอลูกชายบอกแม่ก็ตกใจ คิดว่าลูกชายของตนคงจะตาฝาด คิดแต่ว่าพระต้องไม่มีกิเลสแล้ว หรือไม่ก็มีความจำเป็นต้องขอบริจาคมากหน่อย แม่ยังบอกลูกชาย "ลูกรู้ไหมว่าการช่วยพระช่วยศาสนาน่ะ ไม่ไปไหนเสียหรอก ถึงอย่างไรมันก็ตกเป็นของเราวันยังค่ำ ไม่ได้ชาตินี้ก็ต้องได้ชาติหน้า ต่อไปถ้าลูกอายุครบชวช แม่จะได้ฝากฝังไว้กับท่านไง"เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อความเป็นพุทธศาสนิกชนของคนไทย สะท้อนที่คนไทยทำบุญ ทำดีหวังผลตอบแทนว่า ถ้าหากตนทำบุญแล้วในชาตินี้ ก็คงจะได้ตอบแทนในชาติหน้า เห็นได้ชัดว่าชาวไทยพุทธเชื่อเรื่องของชาติภพ
เช่นเดียวกับเรื่อง "สะพานบุญ" ชาวบ้านสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งกำลังเสริมสะพานหลังจากน้ำท่วมเพื่อความสะดวกเบื้องต้นเวลาใครผ่านไปมาจะได้ไม่ต้องลงไปลุยน้ำสกปรก กับอีกกลุ่มหนึ่งที่กำลังทอดกฐินสามัคคี สองกลุ่มเดินสวนกันและมีปากเสียงกัน เพราะฝ่ายทำสะพานขอให้ฝ่ายที่กำลังทอดกฐินช่วยบริจาคไม้ต่อสะพานหลังจากทอดกฐินเสร็จ แต่ฝ่ายหลังกลับไม่พอใจ พร้อมบอกว่าถ้าเต็มใจจะบริจาคก็จะไปทำเอง ทั้งๆ ที่พวกตนก็ได้ใช้ประโยชน์จากสะพานที่กำลังซ่อมแซม แต่กลับไม่มีใครให้ความช่วยเหลือ แถมยังพูดจากถากถางว่าอย่ามาปลุกระดม แค่ทำสะพานแค่นี้คิดว่าจะหวงห้ามให้ใครข้ามก็ได้หรอ สุดท้ายแล้วหนึ่งในกลุ่มสร้างสะพานจึงได้กล่าวว่า
"ไม่เป็นไรครับ พวกเราดีใจที่พวกคุณจะเดินไปวัดโดยไม่ต้องถอดรองเท้าเพื่อผลบุญในชาติหน้า ส่วนพวกผมได้ผลบุญในชาตินี้แล้ว เชิญครับ เชิญเดินต่อไปบนสะพานบุญของพวกเราได้เลย"
เรื่องเหล่านี้สะท้อนให้เป็นถึงสภาพสังคมชาวพุทธที่การทำบุญกับวัดต้องสำคัญที่สุด ต้องมาก่อน มีเท่าไหร่ก็จะทุ่มบริจาคสุดตัว แต่กับเรื่องใกล้ตัวที่ทุกคนเองก็ได้ผลประโยชน์กลับเพิกเฉย ไม่สนใจ ไม่ให้ความช่วยเหลือ มิหนำซ้ำยังพูดจากถากถางผู้ที่ทำประโยชน์ให้กับส่วนรวม ไปหวังผลบุญจากชาติหน้าที่ไม่แน่นอน ไม่เห็นคุณค่าของการทำบุญที่ได้บุญจริงในชาตินี้ ใจบุญสุนทานแต่คำพูดกับการกระทำสวนทางกันคล้ายกับสำนวนไทยที่ว่า "มือถือสาก ปากถือศีล"
ประการสุดท้าย การทุจริตในสังคม ในเรื่อง "มันมากับการเลือกตั้ง"มีหลายอย่างที่สะท้อนให้เห็นถึงการทุจริตอย่างชัดเจน เช่นการที่หัวคะแนนเลี้ยงข้าวคนในพื้นที่ เอาลิเกมาแสดง เอาเหล้ามาเลี้ยง มีการโฆษณาชวนเชื่อ และพูดจาโน้มน้าวจากหลายคนหลายฝ่าย เช่น "เลือกเบอร์ 16 นะ คนกันเอง จะมาโกหกอะไร เดี๋ยวเลือกเสร็จ เย็นนี้เจอกันที่ร้านเจ๊คิ้ม มีเลี้ยงไม่อั้นเลย"หรือ"เลือกเบอร์ 20 นะ เบอร์นี้รับรองใช้คล่อง"ทั้งยังมีการหาเสียงจากพวกหัวคะแนนในวันเลือกตั้ง มีการแจกเงินรายหัว สะท้อนให้เห็นถึงการทุจริตคอร์รัปชันในสังคมไทยที่หยั่งรากลึก ความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนของพวกหัวคะแนน รวมถึงการซื้อสิทธิ์ขายเสียงของผู้มีอิทธิพลประจำท้องถิ่น และชาวบ้านบางส่วนเองก็หลงไปกับการกอบโกยประโยชน์จากพวกหาเสียงและพวกที่เป็นหัวคะแนน ปัจจุบันปัญหานี้ก็ยังคงอยู่ ชาวบ้านเองก็ไม่เห็นความสำคัญของสิทธิตนเอง แล้วประชาธิปไตยในไทยจะเบ่งบานได้อย่างไร เลือกคนแบบนี้มาบริหารแล้วจะหวังอะไรได้เช่นเดียวกับเรื่อง "ซึ่งรอวันแตกทำลาย" ลุงแจ้วบ่น "ชาวบ้านอย่างเรามีปากก็เหมือนมีตูด บอกว่าเอาเงินมาทำถนน สุดท้ายก็เป็นการทำทางที่มีอยู่เก่านั้นแหละ" "ไอ้คนที่มีพอจะได้มีประโยชน์ก็มีอยู่บ้าง แต่ก็ได้กันไม่กี่ตางค์หรอก ที่ได้มากแน่ๆ คือ ผู้รับเหมา พวกนี้รับจ้างจากหลวงราคาหนึ่ง แต่มาบอกเราอีกราคาหนึ่ง"
สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการทุจริตในสังคมไทย หากินกันกับการสร้างถนน ถนนทำไม่กี่ปีก็ทำใหม่ ถมทับไปหลายรอบ ถนนยังโกงกินได้ แล้วเรื่องเบื้องลึกเบื้องหลังใต้โต๊ะที่ประชาชนไม่มีอำนาจที่จะตรวจสอบก็คงไม่เหลือเป็นแน่
ผลงานของศรีดาวเรืองเล่มนี้ได้สะท้อนสภาพสังคมไทยออกมาได้อย่างแยบยล นับเป็นสิ่งที่เตือนใจผู้คนในสังคมให้เข้าใจและเห็นใจผู้อื่นอย่างที่ควรจะเป็น ความเจ็บปวด ความทุกข์ทรมานของคนชนชั้นล่าง และชนชั้นกลางที่ควรจะได้รับรู้ แม้ว่าตอนนี้สถานการณ์หลายๆ อย่างในประเทศไทยจะดีขึ้นมามาก แต่ก็ยังมีปัญหาหลายอย่างที่ยังค้างคารอการแก้ไขไม่ต่างจากแต่ก่อน ถ้าหากประชาชนอย่างเราๆ ไม่เห็นใจกัน ไม่สามัคคีและช่วยเหลือรวมพลังกัน ไม่เห็นคุณค่าประชาธิปไตย แล้วเราจะก้าวข้ามปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไรกัน?