ลงทุนอย่างไรให้กลายเป็นความยั่งยืน

2296 views

ในปัจจุบันแนวคิดการลงทุนแบบยั่งยืนได้รับความนิยมอย่างมากในภาคธุรกิจทั่วโลก ทั้งในส่วนของตัวผู้ประกอบการเองหรือแม้แต่นักลงทุน ซึ่งการลงทุนในลักษณะนี้จะมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับ 3 มิติที่สำคัญ อันได้แก่ มิติด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม (Environment) มิติด้านการจัดการสังคม (Social) และการมีบรรษัทภิบาล (Governance)

สำหรับมิติแรก มิติด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม ซึ่งหมายถึง การที่บริษัทมีนโยบายและกระบวนการบริหารจัดการประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อมภายในองค์กรอย่างชัดเจน รวมไปถึงการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและการออกมาตรการเพื่อฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจของบริษัทด้วย

อีกมิติหนึ่งที่มีความสำคัญเช่นกันคือ มิติด้านการจัดการทางด้านสังคม ซึ่งเกี่ยวกับนโยบายการบริหารงานทรัพยากรบุคคลที่มุ่งเน้นในการสร้างความเป็นธรรมและความเท่าเทียมผ่านมาตรการส่งเสริมและพัฒนาพนักงานอย่างต่อเนื่องและมีคุณภาพ นอกจากนี้ ยังหมายรวมถึงการเปิดโอกาสให้แก่ชุมชนที่บริษัทมีความเกี่ยวข้องให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน

และมิติสุดท้าย การมีบรรษัทภิบาล โดยมุ่งเน้นให้บริษัทมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี ดำเนินงานอย่างโปร่งใส และมีแนวทางการบริหารความเสี่ยงที่ชัดเจน นอกจากนี้ ยังคาดหวังให้บริษัทมีนโยบายต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชัน ตลอดจนมีการดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากการดำเนินงานของบริษัทด้วย ซึ่งหมายรวมถึงการจ่ายภาษีให้แก่ภาครัฐอย่างโปร่งใสด้วย

เมื่อแนวโน้มการลงทุนของนักลงทุนในปัจจุบันเปลี่ยนไป ตลาดการเงินเริ่มมีบทบาทในการลงทุนมากขึ้น ทางสมาคมเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ได้เล็งเห็นถึงโอกาสที่สำคัญต่อการเติบโตของภาคธุรกิจไทยในอนาคต จึงได้จัดงานสัมมนาประจำปีขึ้นในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา ภายใต้หัวข้อ "ธุรกิจไทย…รับมืออย่างไรกับเมกะเทรนด์ที่ถาโถม" หนึ่งในงานเสวนาที่ได้รับความสนใจอย่างมาก คือ "จับกระแสการลงทุนในธุรกิจแบบยั่งยืน..ธุรกิจไทยต้องเดินอย่างไร" (Business Investments in Environment, Social, and Governance (ESG) Trends) โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรมากประสบการณ์ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ผู้มีความเชี่ยวชาญทางด้านการลงทุนในตลาดเงินทั้งสิ้น 4 ท่าน ดังต่อไปนี้

  • คุณชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในงานเสวนานี้ ท่านจะมาพูดคุยถึงเคล็ดลับการบริหารอย่างยั่งยืนที่สำคัญขององค์กรพลังงานครบวงจรระดับโลกอย่าง ปตท.
  • คุณขัตติยา อินทรวิชัย หญิงแกร่งแห่งธนาคารกสิกรไทย ผู้มีประสบการณ์ตรงด้านการบริหารจัดการผ่านการทำงานในหลากหลายหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยสินเชื่อให้แก่ลูกค้ารายใหญ่ กิจการวานิชธนกิจ สินเชื่อบุคคล บัตรเครดิต การวางยุทธศาสตร์ขององค์กรและการวางแผนทางการเงิน ซึ่งในปัจจุบันกำลังดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
  • คุณวิน พรหมแพทย์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัท หลักทรัพย์จัดการ กองทุน พรินซิเพิล จำกัด ที่ดูแลด้านการบริหารจัดการการลงทุน รวมไปถึงเรื่องนอกจากนี้ยังดำรงตำแหน่งผู้จัดการกองทุน กรรมการอิสระ และกรรมการตรวจสอบของสมาคมตราสารหนี้ไทยอีกด้วย
  • Mr. Lars Svensson ผู้อำนวยการด้านการสื่อสารและความยั่งยืนของ IKEA บริษัทเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านยักษ์ใหญ่จากสวีเดนที่มีสาขาอยู่ทั่วทุกมุมโลก นอกจากนี้ ท่านยังดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายความยั่งยืนระหว่างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เม็กซิโก และเครือ IKANO กรุ๊ป อีกด้วย ถึงแม้ว่าท่านจะเป็นชาวต่างชาติ แต่ท่านเข้ามาทำงานในประเทศไทยเป็นเวลายาวนานกว่าทศวรรษแล้ว ทำให้ท่านมีความเชี่ยวชาญด้านการลงทุนในไทย รวมไปถึงการบริหารองค์กรอย่างยั่งยืนในฐานะที่ท่านเป็นผู้อำนวยการและผู้จัดการของบริษัทแนวหน้าของโลกผ่านประสบการณ์หลากหลายรูปแบบตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.วศิน ศิวสฤษดิ์ อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การเงินประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาเป็นพิธีกรดำเนินรายการอีกด้วย จึงอาจกล่าวได้ว่าการเสวนาในครั้งนี้ เป็นการรวมตัวกันของผู้มากไปด้วยความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดการเงิน ซึ่งเป็นโอกาสด้านการลงทุนแบบใหม่สำหรับธุรกิจไทยในอนาคตนั่นเอง

ภายหลังจากการแนะนำวิทยากรและพิธีกรรับเชิญครบทุกท่านแล้ว คุณชาญศิลป์ ตรีนุชกร วิทยากรท่านแรกจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จึงได้เริ่มต้นการเสวนาขึ้นจากการบอกเล่าประวัติความเป็นมาขององค์กรของท่าน ตั้งแต่ยุคบุกเบิกที่ประเทศไทยกำลังเผชิญวิกฤตขาดแคลนเชื้อเพลิงอย่างหนัก และจำเป็นจะต้องนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านอยู่ จนถึงยุคแห่งการลงทุนค้นหาแหล่งน้ำมันกลางทะเล ซึ่งได้รับความสนใจจากภาครัฐและนักลงทุนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก แต่ทุกอย่างกลับต้องหยุดชะงักลง เนื่องจากประเทศไทยเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งสำคัญอย่างต้มยำกุ้ง ซึ่งทำให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จำเป็นที่จะต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด โดยการเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งนับว่าเป็นการเปิดโอกาสให้ภาครัฐเข้ามามีบทบาทในการบริหารภายในองค์กรมากขึ้น และกลายเป็นรัฐวิสาหกิจที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของภาครัฐ (กระทรวงอุตสาหกรรม) ในที่สุด

เมื่อเศรษฐกิจประเทศฟื้นตัวขึ้น ปตท. ได้มุ่งสร้างความมั่นคงในประเด็นเกี่ยวกับก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยจนประเทศไทยสามารถพลิกบทบาทจากผู้นำเข้ากลายมาเป็นผู้ส่งออก เพราะก๊าซธรรมชาติเหล่านั้นเป็นสารตั้งต้นที่เมื่อผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์แล้วจะได้ออกมาเป็นปิโตรเคมี ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ คุณชาญศิลป์ยังได้กล่าวถึงหลักการบริหารองค์กรของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ว่า ต้องคำนึงถึง 3 ภาคส่วน อันได้แก่ People, Planet และ Prosperity ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับ ESG ตามที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น แต่สิ่งที่แตกต่างคือ ในแต่ละภาคส่วนจะมีหลักการที่เรียกได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญอยู่ควบคู่เสมอ โดย People จะจับคู่กับหลักการ People First ซึ่งหมายถึง การทำธุรกิจควบคู่กับการดูแลชุมชนและสังคม ส่วน Planet ก็จะมาพร้อมกับ Greener Future Together ที่ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจ และสุดท้าย Prosperity ที่มุ่งนำเสนอการเป็นฐานความมั่นคงให้แก่ภาคเศรษฐกิจและสังคมให้เติบโตอย่างแข็งแรงและยั่งยืน หรือที่เรียกว่า For Thailand Sustainable Growth สิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่กลยุทธ์ทางการบริหารในรูปแบบต่างๆ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยคุณชาญศิลป์ได้อธิบายให้เห็นภาพมากขึ้นจากการยกตัวอย่างธุรกิจในเครือบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มาเป็นกรณีศึกษา นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึงแผนการลงทุนในอนาคตเพื่อให้ผู้เข้าร่วมเสวนาเห็นแนวโน้มของเศรษฐกิจไทยในอนาคตอันใกล้มากขึ้นอีกด้วย


(ผศ.ดร.วศิน ศิวสฤษดิ์ คุณชาญศิลป์ ตรีนุชกร คุณขัตติยา อินทรวิชัย คุณวิน พรหมแพทย์ Mr. Lars Svensson)

ไม่ใช่เพียงแค่ภาคอุตสาหกรรมเท่านั้นที่คำนึงถึงความยั่งยืน ภาคการเงินและการลงทุนก็ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าวนี้เช่นกัน ดังที่คุณขัตติยา วิทยา หญิงมากประสบการณ์จากธนาคารกสิกรไทย ได้อธิบายบทบาทของธนาคารพาณิชย์โดยเปรียบเทียบกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่เป็นองค์กรเหมือนกัน เพื่อให้ผู้เข้าร่วมการเสวนาเห็นภาพมากขึ้น ว่ามีลักษณะคล้ายคลึงกันด้านการบริหารจัดการภายในองค์กร คำนึงถึง ESG เป็นหลักเช่นเดียวกัน แต่สิ่งหนึ่งที่คุณขัตติยาเน้นให้เห็นถึงความแตกต่างของธนาคารพาณิชย์กับองค์กรทั่วไป คือ การเป็นนักลงทุน ซึ่งสามารถแยกย่อยได้อีก 2 กรณี โดยกรณีแรก ธนาคารอยู่ในสถานะของผู้ลงทุน การลงทุนในลักษณะนี้จะเป็นการลงทุนผ่านตราสารหนี้ที่ออกโดยบริษัทต่างๆ ในภาคธุรกิจ นอกจากนี้ ธนาคารยังสามารถอยู่ในสถานะของผู้ลุงทุนสำหรับนักลงทุนได้ด้วยผ่านการซื้อขายกองทุน ซึ่งจะเป็นกรณีที่ 2 สำหรับบทบาทการเป็นนักลงทุนของธนาคาร ที่สามารถพบเห็นได้โดยทั่วไปในยุคปัจจุบัน

สำหรับคุณขัตติยาแล้ว ความยั่งยืนเป็นปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ แต่การจะประสบความสำเร็จตามที่หวังไว้ได้นั้น จะต้องพิจารณาจากทุกๆ ปัจจัยตั้งแต่ระดับเล็กที่สุดไปจนถึงระดับโลก โดยท่านได้อธิบายผ่านมุมมองการทำงานของธนาคารกสิกรไทยว่า หากสังคมชุมชนรอด ประเทศชาติก็จะรอดตามไปด้วย แล้วเมื่อทุกคนรอด องค์กรของเราก็จะสามารถดำเนินต่อไปได้ตามที่เราหวังไว้ สิ่งนี้คือการสร้างความยั่งยืนอย่างแท้จริง ซึ่งแนวคิดดังกล่าวสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับทุกองค์กรไม่ว่าองค์กรนั้นจะเป็นองค์กรขนาดเล็กหรือใหญ่ก็ตาม

นอกจากนี้ คุณขัตติยายังได้นำนโยบายและผลการดำเนินงานที่สำคัญอันเป็นกลยุทธ์ทางการบริหารของธนาคารกสิกรไทยมาเล่าสู่กันฟังอีกด้วย ทั้งประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อมที่มีจุดมุ่งหมายในการลดปริมาณคาร์บอนที่เกิดขึ้นจากการประกอบธุรกรรมทางการเงินผ่านตู้ ATM โดยการเพิ่มฟังก์ชันการทำงานของแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถืออย่าง K PLUS ให้หลากหลายมากขึ้น ส่วนทางด้านสังคม ธนาคารกสิกรไทยได้ดำเนินนโยบายโดยมุ่งเน้นในการคืนกำไรสู่สังคมผ่านโครงการต่างๆ เช่น โครงการ AFTER KLASS ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการเงิน การธนาคารแก่ประชาชนทั่วไป ซึ่งสามารถตอบโจทย์ความต้องการในยุคปัจจุบันได้เป็นอย่างดี เพราะธุรกิจต่างๆ เริ่มให้ความสำคัญกับการลงทุนอย่างยั่งยืนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนผ่านตลาดการเงิน หรือที่เรียกกันว่า การให้เงินทำงาน ซึ่ง คุณวิน พรหมแพทย์ วิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านหลักทรัพย์และการลงทุนได้กล่าวเสริมถึงข้อมูลด้านการลงทุนผ่านการยกตัวอย่างกรณีศึกษาจากบริษัทต่างๆ หรือบุคคลสำคัญทางเศรษฐกิจทั่วทุกมุมโลก ที่เกี่ยวข้องกับ ESG เพื่อให้ผู้เข้าร่วมการเสวนาเห็นภาพมากขึ้น

ก่อนจบการเสวนา วิทยากรแต่ละได้ท่านฝากคำแนะนำถึงภาคธุรกิจไทยเกี่ยวกับการปรับปรุงการบริหารจัดการภายในเพื่อเป็นองค์กรที่ยั่งยืน โดยนำค่าสถิติต่างๆ ของนโยบายที่ประสบความสำเร็จในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้จากหลากหลายองค์กรมาเป็นกรณีศึกษา โดยมุ่งหวังให้ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดย่อมสามารถนำไปปรับใช้กับกิจการของตนได้อย่างเหมาะสม

ความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยนโยบายที่คำนึงถึง 3 มิติสำคัญที่ถูกเรียกว่า ESG ของผู้บริหาร นอกจากนี้ยังจะต้องได้รับความร่วมมือจากทั้งภายในและภายนอกองค์กรเพื่อสานต่อให้สิ่งที่วางแผนนั้นเกิดขึ้นมาได้ ซึ่งจะต้องลงมือทำอย่างสม่ำเสมอ ถึงแม้ว่าจะกินเวลายาวนาน แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับคุ้มค่าและเปี่ยมไปด้วยความยั่งยืน

ลักษิกา สถาปัตยานนท์
นักศึกษาเศรษฐศาสตร์ที่อยากเห็นคนทั่วไปเข้าเศรษฐศาสตร์มากกว่าวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับเศรษฐกิจ