ชีวิตหลังเกษียณ แค่รวยอย่างเดียวไม่พอ

4505 views

จากการเก็บข้อมูลในรอบปีที่ผ่านมาพบว่า ประชากรในช่วงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป มีจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่อัตราเด็กเกิดใหม่และกลุ่มคนวัยทำงานที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของชาติต่อไปในอนาคตกลับลดลงเรื่อยๆ อย่างน่าใจหาย สิ่งเหล่านี้จึงเป็นสัญญาณบ่งชี้อย่างชัดเจนว่าประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเป็นทางการแล้ว

สิ่งแรกที่จำเป็นจะต้องปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงคือ การจัดสรรกำลังแรงงานในภาคส่วนต่างๆ เนื่องจากกำลังแรงงานจะลดลงแบบทวีคูณเพราะการเกษียณอายุการทำงานของวัยแรงงานเพิ่มจำนวนขึ้น นอกจากนี้ประเทศไทยยังต้องเสียแรงงานบางส่วนเพื่อดูแลผู้สูงอายุอีกด้วย ซึ่งจะส่งผลร้ายในระยะยาวต่อเศรษฐกิจของประเทศ เพราะผลผลิตและรายได้โดยรวมจะลดลงจากการที่แรงงานออกจากตลาดมากขึ้นนั่นเอง

เมื่อสภาพสังคมและเศรษฐกิจเปลี่ยนไป รูปแบบการดำเนินชีวิตย่อมเปลี่ยนตาม ผู้สูงอายุจำเป็นจะต้องดูแลตัวเองมากขึ้น ถึงแม้ว่าจะมีกลุ่มคนวัยทำงานบางส่วนที่ตัดสินใจออกจากตลาดแรงงานไปดูแลอยู่แล้วก็ตาม แต่กลับพบว่าสัดส่วนการเพิ่มขึ้นของผู้ดูแลไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้สูงอายุ ทั้งยังมีแนวโน้มจะลดลงเรื่อยๆ อีกด้วย ซึ่งเป็นเหตุให้กระจายสวัสดิการผู้สูงอายุต่างๆ ไม่อย่างทั่วถึง ดังนั้นการเตรียมตัวเพื่อเป็นผู้สูงอายุที่มีความสุขจึงกลายเป็นเป้าหมายสำคัญในหมู่คนวัยทำงานยุคปัจจุบันมากขึ้น เพื่อความสะดวกสบายในบั้นปลายชีวิต

อีกสิ่งหนึ่งที่จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเมื่อประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเป็นทางการ คือ การบริการทางการแพทย์ อย่างครอบคลุม ครบวงจร และเตรียมพร้อมอยู่เสมอ แต่ข้อจำกัดหนึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้คือ การขยายตัวของบุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ประเทศไทยจำเป็นจะต้องปรับปรุงโครงสร้างการบริการดังกล่าวเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในทุกๆ ปีตามจำนวนผู้สูงอายุ

ทางสมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการปรับตัวเพื่อสร้างโอกาสของธุรกิจไทยภายใต้การเปลี่ยนแปลงสู่สังคมผู้สูงอายุ จึงได้จัดงานสัมมนาเศรษฐกิจประจำปีขึ้นในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา ภายใต้หัวข้อ "ธุรกิจไทย…รับมืออย่างไรกับเมกะเทรนด์ที่ถาโถม" ซึ่งประเด็นที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้อยู่ในงานเสวนาเรื่อง "สังคมสูงวัย : โอกาสของธุรกิจไทย" (Aging Society : Opportunities for business)

การเสวนาหัวข้อนี้ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้มากไปด้วยความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์การทำงาน 3 ท่านด้วยกัน ท่านแรก ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ อดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ผู้เป็นนักเศรษฐศาสตร์โดยอาชีพ ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาสถาบันวิจัยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ท่านต่อมา ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย ผู้เสนอแนวคิดด้านนโยบายสาธารณะผ่านการเป็น Public Policy Commentator ในรายการคิดยกกำลังสองที่ออกอากาศผ่านทางสถานีโทรทัศน์ ThaiPBS และท่านสุดท่าน นพ.ธนาธิป ศุภประดิษฐ์ ศัลยแพทย์มากความสามารถ ผู้คลุกคลีอยู่กับวงการบริหารและวางแผนกลยุทธ์ต่างๆ จนก้าวเข้าสู่ตำแหน่งรองประธานกรรมการและรักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทแนวหน้าของวงการธุรกิจเพื่อสุขภาพอย่าง ธนบุรีเฮลท์แคร์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) โดยท่านจะมาแบ่งปันมุมมองเกี่ยวกับสังคมสูงวัยในอนาคต อีกหนึ่งท่านที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการสัมมนาในครั้งนี้ คือ ผศ.ดร.ธีรวุฒิ ศรีพินิจ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้มีประสบการณ์ด้านการดูแลผู้สูงอายุโดยตรง ซึ่งท่านจะรับหน้าที่เป็นพิธีกรดำเนินรายการตลอดประเด็นการพูดคุยในหัวข้อดังกล่าว

การสัมมนาเริ่มต้นจากการสำรวจความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมผ่านการทำแบบสอบถามออนไลน์เกี่ยวกับผู้สูงอายุในครอบครัวและการวางแผนชีวิตหลังเกษียณของกลุ่มคนวัยทำงานในมิติต่างๆ ซึ่งคำตอบที่ได้ก็มีลักษณะที่แตกต่างกันไปตามความเข้าใจและประสบการณ์ของแต่ละบุคคล

ดร.สมเกียรติ หนึ่งในวิทยากรรับเชิญ จึงได้อธิบายเพิ่มเติมเพื่อสร้างเสริมความเข้าใจในลักษณะเดียวกันเกี่ยวกับสังคมผู้สูงอายุในประเทศไทยว่า แท้จริงแล้วสังคมไทยกำลังเผชิญอยู่กับคำ 3 คำที่คล้ายคลึงกันแต่กลับให้ความหมายแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง คือ สังคมสูงวัย สังคมผู้สูงวัย และสังคมอายุยืน สำหรับคำว่า "สังคมผู้สูงวัย" ดร.สมเกียรติ ท่านได้ให้คำนิยามไว้ว่าเป็นการรวมตัวกันของผู้สูงอายุจำนวนมาก ส่วนคำว่า "สังคมสูงวัย" ท่านได้กล่าวถึงหม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล เพื่อประกอบการอธิบายในประเด็นอายุเฉลี่ยของประชากรไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นความหมายที่แท้จริงของสังคมสูงวัย และสุดท้าย คำว่า "สังคมอายุยืน" ท่านได้ให้ความสำคัญกับคำนี้มาก โดยได้อธิบายว่า เมื่ออายุเฉลี่ยของประชากรสูงขึ้น หมายความว่าช่วงชีวิตวัยหนุ่มสาวที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานก็ต้องยืดออกไปด้วย และยังได้กล่าวถึงสถิติของประชากรที่มีอายุมากกว่า 100 ปีว่าสูงถึง 9,000 คน ซึ่งมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อีกด้วย ท่านได้อธิบายต่อไปว่า บุคคลเหล่านี้มีความต้องการแตกต่างกับบุคคลทั่วไป คล้ายกับการเป็นสิ่งมีชีวิตอีกสปีชีส์หนึ่งที่แตกต่างจากเรา ทำให้อาจกล่าวได้ว่าสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้เป็นปรากฏการณ์แปลกใหม่ที่แฝงไปด้วยโอกาสอันหลากหลายที่สังคมไทยจำเป็นจะต้องให้ความสนใจมากขึ้น

เมื่อคนเราอายุขัยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น สิ่งที่ตามมาอย่างแน่นอน คือ โรคภัยไข้เจ็บ ซึ่งเป็นของธรรมดาที่มาคู่กับความแก่ชรา อันจะเห็นได้จากการอ้างอิงตัวเลขทางสถิติ พบว่า ประมาณ 80% ของค่าใช้จ่ายสำหรับการรักษาพยาบาลนั้น จะถูกใช้ในช่วงวาระสุดท้ายของชีวิต นพ.ธนาธิป วิทยากรผู้คลุกคลีกับวงการแพทย์มาอย่างยาวนาน ได้อธิบายเพิ่มเติมไปอีกว่า จริงๆแล้วอายุขัยของคนเราเพิ่มขึ้นในลักษณะเส้นตรง โดยเพิ่มขึ้น 5 ถึง 7 ปี จากอายุขัยของผู้ให้กำเนิด กล่าวคือ หากบิดาเสียชีวิตตามธรรมชาติที่อายุ 60 ปี บุตรจะมีอายุขัยขั้นต่ำ 65 ปี หมายความว่า อายุขัยเฉลี่ยของแรงงานจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่อายุที่แรงงานจะเกษียณตนเองออกจากการทำงานยังคงอยู่ที่ 60 ปีเท่าเดิม ทำให้ชีวิตหลังเกษียณมีช่วงเวลาที่ยาวนานขึ้น นพ.ธนาธิปจึงแนะนำให้เตรียมการและวางแผนให้ดีตั้งแต่ยังอยู่ในวัยทำงาน เพราะนอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงแล้ว ความเครียดที่เกิดขึ้นจากการวิตกกังวลในความเสี่ยง อันเป็นสาเหตุของโรคร้ายนานัปการ ก็จะลดลง ซึ่งค่าใช่จ่ายสำหรับการรักษาพยาบาลก็จะลดลงไปด้วย

นอกจากนี้ นพ.ธนาธิป ยังได้อธิบายถึงสาเหตุที่อายุเฉลี่ยของคนเราเพิ่มขึ้นต่อไปอีกว่า ส่วนหนึ่งก็มาจากเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ได้รับการคิดค้นและพัฒนาอย่างต่อเนื่องซึ่งช่วยยืดอายุขัยของคนเราได้อีกเป็นสิบปี ดังนั้นการดูแนวโน้มที่แท้จริงจึงควรดูปีต่อปี เพราะสังคมและเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ อันจะเห็นได้จากวิถีชีวิตของผู้สูงอายุในปัจจุบันที่สามารถพึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น สุขภาพดีขึ้น ซึ่งแตกต่างจากภาพจำในอดีตที่จะต้องมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิดอยู่ตลอดเวลา


(ผศ.ดร.ธีรวุฒิ ศรีพินิจ ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ คุณชนินท์ ว่องกุศลกิจ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ นพ.ธนาธิป ศุภประดิษฐ์)

ในมุมมองทางการแพทย์ สิ่งที่คนเราต้องเผชิญจากการมีอายุขัยเฉลี่ยเพิ่มมากขึ้น คือโรคภัยไข้เจ็บที่มาพร้อมกับค่ารักษาพยาบาลต่างๆ ซึ่งในมุมมองทางเศรษฐศาสตร์ สิ่งเหล่านี้ถูกรวมเรียกว่า ความเสี่ยง ดร.ศุภวุฒิ วิทยากรผู้เชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐศาสตร์ ได้เสนอวิธีการที่จะช่วยลดความเสี่ยงดังกล่าวผ่านงานวิจัยของ IMF เรื่องสูงวัยในประเทศ G20 ซึ่งสำหรับนักเศรษฐศาสตร์แล้ว ผู้สูงอายุ คือกลุ่มคนที่มีสุขภาพไม่แข็งแรง ความสามารถในการทำงานลดลง ส่งผลให้ GDP ต่อหัวลดลงตามไปด้วย แต่สิ่งที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คือ Public Finance ซึ่งประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายจากอายุที่มากขึ้นกับค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพและสาธารณสุข หนทางเดียวที่จะลดค่าใช้จ่ายต่างๆ เหล่านี้ลงไปได้คือการมีสุขภาพดีนั่นเอง ดังที่ ดร.ศุภวุฒิ เคยกล่าวไว้ในช่วงต้นของการสัมมนาว่า อายุมากไม่สำคัญเท่าสุขภาพดีหรือไม่

สังคมอายุยืนไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบต่อตัวบุคคลเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจในประเทศอีกด้วย โดยในภาคการผลิต แบบแผนการทำงานจะเปลี่ยนไป งานที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมากจะลดลง สังเกตได้จากการออกจากตลาดแรงงานของข้าราชการไทยก่อนเกษียณอายุราชการ ดังนั้นความท้าทายสำหรับภาคการผลิตคือทำอย่างไรจึงจะสามารถดึงดูดให้แรงงานไม่ออกจากตลาดแรงงานก่อนเวลาอันสมควรด้วยความสมัครใจ สิ่งที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้คือ การนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้มากขึ้น อีกโจทย์หนึ่งที่ภาคการผลิตจำเป็นจะต้องคำนึงถึงคือ พฤติกรรมการบริโภคของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปอันเนื่องมาจากอายุที่มากขึ้น สังเกตได้ชัดจากความต้องการสินค้าที่เป็นปัจจัยพื้นฐานโดยเฉพาะอาหาร ปัจจุบันมีการเติมสารอาหารที่มีประโยชน์สำหรับร่างกายลงไปเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ที่ใส่ใจสุขภาพมากขึ้น

นอกจากอำนาจการกำหนดความต้องการของตลาดในภาคอุตสาหกรรมแล้ว การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้สูงอายุยังทำให้อำนาจทางการเมืองของกลุ่มคนดังกล่าวเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่ง ดร.สมเกียรติ ได้อธิบายปรากฏการณ์นี้ไว้ว่า หากมีกลุ่มคนอยู่ 2 กลุ่มได้แก่ กลุ่มคนวัยทำงานที่มีรายได้จากค่าจ้างแรงงานกับกลุ่มผู้สูงอายุที่มีรายได้จากเงินออมและทรัพย์สิน สำหรับคนกลุ่มแรก เงินเฟ้อเล็กน้อยไม่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตมากนัก แต่สำหรับกลุ่มที่ 2 เงินเฟ้อเพียงเล็กน้อยกลับส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของพวกเขาอย่างมาก เนื่องจากมูลค่าของทรัพย์สินที่มีอยู่ในมือจะลดลง เมื่อคนกลุ่มนี้มีจำนวนมากขึ้นก็จะสร้างแรงกดดันไปยังรัฐบาลและธนาคารกลางเพื่อพยายามควบคุมไม่ให้เงินเฟ้อสูงขึ้น สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดเชิงอนุรักษ์นิยมที่กำลังเพิ่มสูงขึ้นในสังคมผู้สูงอายุ

ในช่วงท้ายของการสัมมนา นพ.ธนาธิป ได้บอกเล่าเรื่องราวการรักษาพยาบาลผู้สูงอายุผ่านประสบการณ์การเป็นศัลยแพทย์ก่อนก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหาร ทั้งในมุมมองของสถานพยาบาล ผู้ให้บริการทางการแพทย์ หรือแม้กระทั่งมุมมองของผู้ป่วยที่มาเข้ารับการรักษา นอกจากนี้ คุณหมอในฐานะผู้บริหารกลุ่มบริษัทธุรกิจเพื่อสุขภาพชั้นนำของประเทศได้วิเคราะห์แนวโน้มในอนาคตของธุรกิจเพื่อสุขภาพจากสถานการณ์ความต้องการของสถานพยาบาลในปัจจุบันอีกด้วย และก่อนจบการสัมมนาในหัวข้อนี้ นพ.ธนาธิป ได้ฝากถึงคนไทยให้รักษาสุขภาพเพื่อป้องกันโรคภัยไข้เจ็บที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต โดยเฉพาะโรคเกี่ยวกับอาการทางสมอง อย่างโรคอัลไซเมอร์ที่ปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้

"เราอุตส่าห์วางแผนค่าใช้จ่ายทางการเงินสารพัด แต่เรากลับลืมไปว่าการวางแผนทางการเงินที่ดีที่สุดกลับกลายเป็นการดูแลสุขภาพเรา"

ลักษิกา สถาปัตยานนท์
นักศึกษาเศรษฐศาสตร์ที่อยากเห็นคนทั่วไปเข้าเศรษฐศาสตร์มากกว่าวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับเศรษฐกิจ