ประเด็นร้อนและส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจช่วงปีที่ผ่านมา คงจะเป็นเรื่องอื่นไปมิได้นอกจากเรื่องผลกระทบสงครามการค้าในด้านต่างๆ ไม่ว่าด้านการนำเข้า-ส่งออก ด้านการโยกย้ายฐานอุตสาหกรรม นวัตกรรมและเทคโนโลยี รวมถึงด้านความมั่นคงของประเทศ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 14 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา สมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ ได้จัดงานสัมมนาเศรษฐกิจประจำปี (TEA Annual Forum 2019) ในหัวข้อ ธุรกิจไทย…รับมืออย่างไรกับเมกะเทรนด์ที่ถาโถม (Thai Businesses amidst Mega Trends: Risks and Opportunities)
ในการสัมมนาเศรษฐกิจประจำปีดังกล่าว มีการเสวนาหัวข้อ "ธุรกิจไทย…อยู่อย่างไรในสงครามการค้าและสงครามเทคโนโลยี" (Surviving the Trade War and Tech War) โดยได้รับเกียรติจากคุณพิศาล มาณวพัฒน์ สมาชิกวุฒิสภาและอดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน Mr.Stanley Kang Chairman Joint Foreign Chambers of Commerce in Thailand คุณจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมเป็นวิทยากร โดยมี ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ
เนื้อหาของการเสวนานี้แบ่งเป็น 3 ประเด็นหลักๆ ที่สำคัญ ที่ช่วยให้ผู้ฟังมีความเกี่ยวกับเรื่องสงครามการค้า ที่ถาโถมเข้ามาและจะส่งผลต่อเนื่องกับระบบเศรษฐกิจโลกในระยะยาว โดยในช่วงแรก จะเป็นการให้ภาพรวมของสิ่งที่ได้เกิดขึ้น แนวโน้มที่อาจจะเกิดในภายภาคหน้า ประเด็นถัดมาเป็นการแนะนำโอกาสของผู้ประกอบการและธุรกิจภายใต้การปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางการค้าและเทคโนโลยีในปัจจุบัน และประเด็นสุดท้ายคือ การมองไปถึงอนาคต สิ่งที่คาดว่าน่าจะเกิดและวิธีรับมือ รวมถึงคว้าโอกาสอย่างไร การเสวนานี้ให้มุมมองหลากหลายด้านไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง การทูต กฏหมาย โลจิสติกส์ นิคมอุสาหกรรม ธุรกิจการค้า และภาคเอกชน
สงครามการค้า (Trade war) "ไม่ใช่เรื่องใหม่" อย่างที่ทุกคนเข้าใจ
วิทยากรทั้ง 4 ท่านต่างเห็นพ้องตรงกันว่า การเกิดสงครามการค้านั้นเป็นสิ่งที่เรียกว่า "New Normal" หรือเป็นแนวโน้มปกติที่น่าจะเกิดในอนาคตอยู่แล้ว และเป็นเรื่องระยะยาวที่จะต้องติดตามกันต่อไป เพียงแต่การดำเนินนโยบายแบบตรงไปตรงมาและสุดโต่งของประธานาธิบดีทรัมป์นั้น เป็นเพียงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดสงครามการค้า การปรับเปลี่ยนโครงสร้างการค้า การโยกย้ายฐานการผลิต และการลงทุนไปพื้นที่อื่นๆ เร็วขึ้นเท่านั้น และน่าจะยังคงดำเนินต่อไปเรื่อยๆ แต่วิธีการอาจจะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบไปตามผู้ดำเนินนโยบายของทั้ง 2 ฝ่าย (สหรัฐอเมริกาและจีน) และการตั้งรับของประเทศต่างๆ จากผลพวงของสงครามการค้าครั้งนี้ ดังนั้นประเทศไทยควรจะเตรียมพร้อมกับการตั้งรับคลื่นการย้ายฐานการลงทุนและอุตสาหกรรมการผลิต โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมรถยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงมองหาโอกาสพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม สาธารณูปโภค และการศึกษา การวิจัย ให้ดียิ่งขึ้นไปอีก
คุณพิศาล มาณวพัฒน์ เห็นว่า ในขณะนี้ สงครามการค้าจะไม่ยุติโดยง่าย แต่ความร้อนแรงน่าจะลดลง เพราะทรัมป์ต้องใส่ใจฐานเสียงด้วยส่วนหนึ่ง เพื่อชนะการเลือกตั้งปีหน้า แต่อย่าคิดว่าทรัมป์ไม่ชนะเลือกตั้งแล้วจะไม่ต้องวิตกกังวล เพราะโดยพื้นฐานแล้ว สหรัฐอเมริกาเห็นที่ว่าจีนเป็นภัยคุกคามทางการค้าอย่างที่สุด ดังนั้นมันเป็นเรื่องปกติ ที่จะมีการแข่งขันทางการค้ามากมาย เพียงแต่ที่ผ่านๆ มา จะดำเนินการอย่างอ่อนน้อมและค่อยเป็นค่อยไป
ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกายังสามารถทนได้อยู่และผู้บริโภคยังไม่ได้รับผลกระทบมากมาย เพราะสหรัฐอเมริกายังอยู่ในช่วงเศรษฐกิจขาขึ้น หากเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาถึงจุดถดถอยแล้ว ทรัมป์ยังดำเนินนโยบายแบบนี้อยู่ สหรัฐอเมริกาก็จะเจ็บตัวแทน เพราะผลกระทบที่สหรัฐจะได้รับ หากขึ้นภาษีนำเข้าต่อไปอีก จะเป็นเรื่องสินค้าอุปโภคบริโภคที่จะส่งผลต่อสหรัฐอเมริกาอย่างมาก ทั้งนี้ ในแง่ของจีน ได้ตั้งเป้าเป็นประเทศที่แข็งแกร่งปี 2050 และมีเสถียรภาพท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจ
Mr.Stanley Kang มองว่า ทั้งสหรัฐอเมริกาและจีนต่างเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ แต่จีนมีการเติบโตอย่างรวดเร็วในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา ที่พร้อมจะแข่งขันกับสหรัฐอเมริกา และเป็นผู้นำทางด้านเศรษฐกิจ ไม่ว่าสหรัฐอเมริกาจะมีการพัฒนาด้านใด จีนมักจะพัฒนาสิ่งนั้นแข่งขันอยู่เสมอ เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีควอนตัม อีกทั้งยังมองอีกว่า สงครามการค้านี้มีโอกาสช่วยพัฒนาเศรษฐกิจไทยได้อย่างมาก เพียงแต่ภาคธุรกิจไทยควรหา position ตัวเองให้เจอว่า อยู่ตรงไหนในสงครามการค้านี้ติดตามอย่างใกล้ชิด และตามโลกให้ทัน
คุณจรีพร จารุกรสกุล มองว่า สงครามการค้า ส่งผลต่อภาคอุตสาหกรรมมากกว่าภาคโลจิสติกส์ (logistics) ภาคโลจิสติกส์เติบโตนั้น เป็นเพราะพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-commerce) และรูปแบบการใช้ชีวิต (lifestyle) เปลี่ยนไป ประเทศไทยได้รับความเชื่อมั่นอีกครั้งหลังเปิดโครงการ EEC และเมื่อรวมถึงผลกระทบจากสงครามการค้าแล้ว จึงเป็นโอกาสของไทยที่จะสามารถดึงดูดการลงทุนและการขยายโรงงานนิคมอุตสาหกรรม ที่มีมูลค่าการลงทุนสูง ส่วนในระยะยาว เรื่องการเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) นั้น จะมีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในอุตสาหกรรมไทยอีกมาก โดยเฉพาะการลงทุนจากจีน ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 40 จากปีที่แล้ว ยิ่งตอกย้ำโอกาสการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศของไทย และผลกระทบต่อเนื่องที่จะตามมา ไม่ว่าเรื่องการก่อสร้าง การจ้างงาน ฯลฯ ที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี การมาลงทุนของจีนนั้นจะมาทั้งห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ซึ่งเป็นเรื่องยากและซับซ้อนในการรับมือมากกว่าประเทศอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา
โอกาสทางธุรกิจ ที่มาพร้อมกับการตั้ง Mindset แบบใหม่
Mr.Stanley Kang : Electronics และ Automobile มาแน่! แต่ต้องปรับระบบการอำนวยความสะดวกของการลงทุน
"If you're not ready for the investment, they'll not come for a long-term investment"
โดยปกติแล้ว การลงทุนของไต้หวันนั้นอยู่ที่จีนเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็จะมีการย้ายฐานการลงทุนมาผลิตในไทยเพื่อส่งออกบ้าง จุดแข็งและจุดได้เปรียบในเมืองไทยคือ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และรถยนต์ ซึ่งเวียดนามยังเป็นรองอยู่ ซึ่งน่ามีการย้ายฐานการลงทุนมาแบบกะทันหัน รวดเร็ว ตามที่คุณจรีพร ได้กล่าวไว้ก่อนหน้า เพราะการย้ายฐานครั้งนี้ นักลงทุนมีการเช่าโรงงานผลิตล่วงหน้า ในช่วงเวลาที่สร้างโรงงานของตัวเองไปด้วย ในขณะนี้ ทางสหรัฐอเมริกามีแนวโน้มที่หันกลับมาผลิตในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN) อีกครั้ง แต่อย่าหลงดีใจกับการเข้ามาลงทุนในไทยมากนัก เพราะทางไทยมีปัญหาเรื่องระบบการอำนวยความสะดวกการลงทุนและระบบโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ประเด็นนี้อาจจะทำให้นักลงทุนเลือกไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านไทยแทน อย่างเช่นประเทศเวียดนาม เวียดนามมีนโยบายที่อำนวยความสะดวกในการลงทุนมากกว่าไทย แต่เวียดนามเองก็จะมีแนวโน้มที่จะถึงจุดอิ่มตัวเร็วๆ นี้ เป็นโอกาสของไทยอีกครั้งที่ต้องพร้อมรับมือ เพราะจริงๆ แล้วทั้งปริมาณและคุณภาพ (quality and quantity) การผลิตของไทยดีกว่าประเทศอื่นๆ อีกทั้งมีนโยบาย Thailand 4.0 และระบบรองรับ 5G ซึ่งเป็นที่น่าจับตามองของนักลงทุนต่างชาติ
คุณจรีพร จารุกรสกุล: เปิดหลักสูตรความคิดการรับมือกับเวทีโลกที่เปลี่ยนไป
"เวทีการค้าโลกได้เปลี่ยนไปหมดแล้ว เราต้องตั้งรับใหม่ และเรียนรู้กับมันให้มากขึ้น"
เราไม่ควรปรับตัวเพื่อจะรองรับการลงทุนจากจีนหรือสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่เราควรจะเปลี่ยนแปลงตามเทคโนโลยี ตามโลกาภิวัตน์ที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงการเปลี่ยนแปลง (Disruption) ต่าง ๆ การมัวแต่รอคนอื่นเป็นฝ่ายเข้าหาการลงทุนเหมือนเมื่อก่อนจะไม่มีอีกต่อไป เวทีโลกได้เปลี่ยนไปหมดแล้ว ดังนั้นสิ่งที่เราควรจะทำคือ การเรียนรู้สิ่งที่เกิดขึ้นให้มากกว่านี้ รวมถึงการทำวิจัย (research) ต่างๆ ให้มากขึ้น
คุณจรีพร ยังได้หยิบ 6 ประเด็นหลักๆ ที่เราควรจะเตรียมพร้อมไว้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำความเข้าใจภาพของสงครามการค้าใหม่ นวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปนั้น ทุกคนควรจะรู้ว่าธุรกิจตัวเองคืออะไร และจะพัฒนาเทคโนโลยีได้อย่างไร โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งบริษัทที่ปรึกษา (consult) การลดความเสี่ยงและการหาโอกาสใหม่ๆ ที่ไม่ใช่อยู่กับปัญหาแบบเดิมๆ ไม่มีการพัฒนาองค์ความคิดใหม่ การสนับสนุนของภาครัฐที่มีต่อ SMEs ไทย เพื่อให้สามารถต่อยอดธุรกิจได้ต่อในระบบเศรษฐกิจที่ผันผวน ระบบการศึกษาไทยที่ควรจะมีการการพัฒนามากกว่านี้ สามารถทำให้นักเรียนได้เข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นบนโลกปัจจุบัน ไม่ใช่หลักสูตรแบบเดิมๆ รวมถึงเรื่องการวิจัยและพัฒนา (Research and Development : R&D) ที่ประเทศไทยยังมีการลงทุนกับเรื่องนี้น้อยมาก
ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร : จับตาคนจีนรุ่นใหม่หัวใจการค้า
"เวลาคนจีนมาทำการค้ากับเรา ทำไมมันดูง่าย แต่พอเราไปเปิดตลาดที่จีน ทำไมเรากลับทำไม่ได้?"
ถ้าพูดถึงประเทศจีนแล้ว จะเป็นภาพขนาด (scale) ใหญ่มาก เนื่องด้วยพื้นที่ ประชากร แรงงานต่างๆ ในปัจจุบันนั้น คนจีนรุ่นใหม่ หรือ SMEs จีนรุ่นใหม่ ที่มาค้าขายในประเทศไทยมีจำนวนมาก สังเกตได้จากนักศึกษาจีน แม้กระทั่งมหาวิทยาลัยจีนที่นำเข้าทั้งครูจีนและนักเรียนจีน แล้วมาทำการเรียนการสอนในไทย จึงเป็นที่น่าจับตามองว่าคนเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อไทยอย่างไร คนเหล่านี้มีความเป็นนักธุรกิจสูงและมองว่าในไทยนั้นมีโอกาสทางการค้าเยอะและง่ายกว่าทำการค้าในจีน ต่างจากที่นักธุรกิจไทยนั้นจะส่งออกสินค้าไปจีนที่ต้องมีสายสัมพันธ์ (connection) ต้องศึกษากฎระเบียบต่างๆ
อย่างไรก็ตาม ในจีนยังมีเขตเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมอีกมาก ที่มีการเติบโตสูง และเป็นโอกาสไม่แพ้เมืองใหญ่ๆ อย่างปักกิ่งหรือเซี่ยงไฮ้ นักลงทุนไทยต้องศึกษากฏหมาย กฎระเบียบ และกฏเกณฑ์ให้ดี อาจารย์อาร์มได้ยกตัวอย่างช่วงที่ได้ทำการเปิดการค้าเสรี ASEAN-China ใหม่ คนจีนให้ความสนใจมากและศึกษาอย่างละเอียด ในปัจจุบัน คนจีนมีแนวโน้มไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น และมีนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลจีนสนับสนุน เช่น นโยบาย Belt and road ซึ่งมิได้ส่งผลต่อการค้าเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเทคโนโลยี นวัตกรรม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมอีกด้วย
คุณพิศาล มาณวพัฒน์: สร้างพันธมิตรใหม่ผ่าตัดโครงสร้างรัฐ เพื่อผลประโยชน์ของธุรกิจไทย
"การสร้างพันธมิตรกับประเทศอื่น โดยเฉพาะประเทศคู่เจรจาทางการค้า
จะทำให้เราชนะสงครามการค้านี้ ไม่ว่าผลที่ออกมาจะเป็นอย่างไร"
การดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของทรัมป์นั้น สร้างความสั่นคลอนและตื่นกลัวแก่ประเทศจีนเป็นอย่างมาก เป็นคนแรกที่สามารถรับมือกับจีนได้ดีที่สุด แต่ถึงกระนั้น ปี 2020 หลังเลือกตั้งสหรัฐอเมริกานั้น จีนต้องคิดและมองรูปแบบให้ออก ถ้าทรัมป์ไม่ได้เป็นประธานาธิบดีแล้ว อาจจะมีประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สิทธิมนุษยชน ทรัพย์สินทางปัญญา เพิ่มเติมขึ้นมาอีก ล้วนเป็นการตอกย้ำถึงสงครามการค้าที่เกิดจากโลกที่เปลี่ยนไป ไม่ใช่เป็นเพราะทรัมป์
คุณพิศาลตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมเวียดนามถึงรับมือได้ดี การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ไปทางเวียดนามหมด เศรษฐกิจเวียดนามโตเร็วมากในรอบ 10 ปี เป็นเพราะเวียดนามให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง สนับสนุนการลงทุนอย่างเต็มที่ จึงอยากให้ไทยนั้นมีการพูดคุยถึงเรื่องนี้อย่างจริงจัง ภาคเอกชนควรจะมีการรวมตัวกลุ่มธุรกิจในต่างประเทศ เรียกร้องสิทธิ์และประโยชน์ในนามของไทย ด้านรัฐบาลก็ควรสนับสนุน SMEs ให้มีกำลังความสามารถไปต่างประเทศได้ รวมถึงการปรับเปลี่ยนนโยบายและงบประมาณให้เป็นรูปธรรม และส่วนสุดท้าย ภาคนักวิชาการนั้น ควรที่จะกระโดดเข้ามาศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง ดูนโยบายภาครัฐ และงานวิจัยที่สามารถนำมาต่อยอดใช้ได้จริงๆ ไม่ว่าจะเป็นนักวิจัย หน่วยงาน อาจารย์ รวมถึง project นักศึกษาระดับต่าง ๆ
การเตรียมความพร้อมสำหรับนักธุรกิจไทย ที่กำลังเผชิญ Mega Trendในอนาคต เราจะอยู่รอดท่ามกลาง trade war and tech war ได้อย่างไร?
ในหัวข้อนี้ วิทยากรทุกท่านต่างให้ความเห็นแทบจะเหมือนกันว่า เราควรจะปรับความคิด (mindset) ใหม่เกี่ยวกับเรื่องนี้ รวมถึงการเรียนรู้และเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วของเทคโนโลยี นวัตกรรม โดยค้นหาจุดแข็งและจุดด้อยของตัวเอง เพื่อที่จะทำให้ขีดความสามารถของธุรกิจเราสามารถอยู่รอดในสงครามการค้า และทันต่อโลกาภิวัตน์ ประเด็นที่วิทยากรทุกคนต่างเป็นห่วงก็คือ ผู้ประกอบการรากหญ้า และ SMEs ซึ่งส่วนใหญ่มักจะประสบกับปัญหาเดิมๆ และมีแนวโน้มที่จะปรับเปลี่ยนคิด รวมถึงการศึกษาและติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปัจจุบันน้อย ซึ่งต้องอาศัยภาคเอกชนกลุ่มธุรกิจใหญ่ ๆ และภาครัฐคอยช่วยเหลือ เพื่อให้ผู้ประกอบการรายเล็กสามารถอยู่ได้ และมีโอกาสที่จะเติบโตมากขึ้น รวมถึงบริษัทที่เริ่มกิจการ (startup) ก็ไม่จำเป็นที่จะรอรัฐคอยอุดหนุนเท่านั้น เอกชนก็ควรจะร่วมด้วย เป็นการเพิ่มขีดความสามารถให้ดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี นอกจากเรื่องอุดหนุนและช่วยเหลือแล้ว รัฐควรที่จะปรับเปลี่ยนระบบภายใน กฎหมาย และกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อเอื้อให้มีการลงทุนที่ง่ายขึ้นและรัดกุมมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
หากจะหาคำจำกัดความ 3 คำ ที่บ่งบอกถึงโอกาสธุรกิจไทย และสิ่งที่ควรจะทำในตอนนี้ก็คือ "มองหาโอกาส ลงมือทำ และสร้างภูมิคุ้มกัน"