"เศรษฐกิจไทย ปี 2563 มองไปข้างหน้า (Thai Economy 2020 : Looking Ahead)"

26 พฤศจิกายน 2562
3784 views

เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา สมาคมเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ได้จัดงานสัมมนาเศรษฐกิจประจำปี สมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ ปี 2562 ในหัวข้อ "ธุรกิจไทยรับมืออย่างไรกับเมกะเทรนด์ที่ถาโถม (Thai Businesses Amidst Mega Trends : Risks and Opportunities)"

งานสัมมนาในช่วงแรก หัวข้อ "เศรษฐกิจไทย ปี 2563 มองไปข้างหน้า (Thai Economy 2020 : Looking Ahead)" ได้รับเกียรติจาก 3 นักเศรษฐศาสตร์ดาวรุ่ง ของคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประกอบไปด้วย ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด(มหาชน) ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร CIMB THAIและ ดร.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการเปิดสารวิดิทัศน์จาก ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ในประเด็นเรื่องเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกอีกด้วย

บนเวทีเสวนา นักเศรษฐศาสตร์ดาวรุ่งมองว่า สงครามการค้าและสงครามเทคโนโลยีจะเป็นปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อเศรษฐกิจโลก ในปีนี้และปีหน้าเศรษฐกิจโลกน่าจะอยู่ช่วงชะลอตัวจากสงครามทางการค้าที่น่าจะยังไม่จบง่ายๆ ส่งผลให้ภาคการส่งออกและภาคอุตสาหกรรมหดตัว อีกทั้งยังมีความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้นจากทั้งสงครามเทคโนโลยี (Tech war) Brexit และการเลือกตั้งสหรัฐฯ ไปจนการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง เช่น โครงสร้างประชากรที่หลายประเทศกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society)

นักเศรษฐศาสตร์ดาวรุ่งทั้ง 3 ท่าน ชี้ว่า อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยน่าจะอยู่ในช่วงร้อยละ 2.5 ถึงร้อยละ 3 หรือกล่าวได้ว่า อยู่ในช่วงโตช้าและโตต่ำกว่าศักยภาพมาช่วงระยะหนึ่งแล้ว เศรษฐกิจยังไม่ถึงกับหดตัวหรือเกิดวิกฤติ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการส่งออกในปีนี้อาจจะหดตัวประมาณร้อยละ 2 ซึ่งเป็นผลกระทบจากสงครามการค้าโลก แต่ในปีหน้าไม่น่าจะหดตัวมากกว่าปีนี้หรืออาจหดตัวใกล้เคียงกับช่วงปีนี้

นักเศรษฐศาสตร์ดาวรุ่งทั้งสามท่านได้ให้คำแนะนำสำหรับการรับมือกับสงครามการค้าและสงครามเทคโนโลยีว่าทุกประเทศควรต้องปรับตัว เช่น การย้ายฐานการผลิตเพื่อหลีกเลี่ยงการกีดกันทางการค้า ไทยควรใช้โอกาสนี้ดึงดูดการย้ายฐานการผลิตโดยเฉพาะอุตสาหกรรมไฮเทค เช่น การเตรียมความพร้อมเรื่องโครงสร้าง การปรับทักษะแรงงาน นอกจากนี้ ธุรกิจควรมีการปรับ model ในการทำธุรกิจ และไทยต้องปรับตัวสำหรับการลงทุนใน Digital economy ให้มากขึ้น โดยไทยควรใช้โอกาสในช่วงค่าเงินบาทแข็งค่านำเข้าสินค้าเพื่อการลงทุนเรื่องดังกล่าวไปจนถึงการนำเข้าเพื่อลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

ประเด็นเพิ่มเติมที่น่าสนใจจากแต่ละท่านมีดังนี้

ดร.วิรไท สันติประภพ "สงครามการค้าโลก ไทยได้รับผลกระทบ แต่ยังรับมือได้"

เศรษฐกิจโลกในปี 2563 จะเติบโตอยู่ในช่วงร้อยละ 3 – 3.5 ซึ่งถือเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำสุดนับตั้งแต่วิกฤติการเงินโลกในปี ค.ศ. 2008 และการเติบโตของการค้าโลกอยู่เพียงร้อยละ 0.9 เท่านั้น สำหรับเศรษฐกิจไทย ธปท. คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 3 โดยภาคการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกของไทยจะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ทำให้ภาคการส่งออกของไทยหดตัวไปด้วยและส่งผลต่อการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบจากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่หดตัว ส่งผลให้การบริโภคในประเทศชะลอตัวลงแต่ผลกระทบของไทยยังน้อยเมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศ

ดร.วีระไท ให้ความเห็นว่า มาตรการของภาครัฐเองมีส่วนช่วยพยุงให้การบริโภคในประเทศไม่ได้หดตัวลงมากนัก แต่ที่ผ่านมายังมีปัญหาในความล่าช้าของการเบิกจ่ายงบ อย่างไรก็ตาม ในปีหน้า ภาครัฐน่าจะอัดฉีดงบประมาณเข้าสู่ระบบมากขึ้น ไปจนถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐบาลจะดำเนินการในปีหน้าได้มากขึ้น หลังจากล่าช้ามานานจากช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล ทั้งนี้ ดร.วีระไท มองว่า ไทยก็อาจได้รับประโยชน์ทางอ้อมจากสงครามทางการค้า เช่น การย้ายฐานการลงทุนมายังไทยมากขึ้น จากการกระจายฐานการผลิต เห็นได้จากตัวเลขการขอรับการส่งเสริมการลงทุนการเช่าที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมที่ตัวเลขปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น

นอกจากนี้ ดร.วิรไท ตั้งข้อสังเกตว่า ไทยยังมีกันชนที่รองรับกับการชะลอของเศรษฐกิจโลกที่ดี ทั้งหนี้ต่างประเทศระดับต่ำ ทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับที่สูง ทำให้ไทยถูกมองว่าเป็น "save heaven" ทำให้ ธปท.จำเป็นต้องเข้ามากำกับดูแลและออกมาตรการเพื่อป้องกันให้นักลงทุนเข้ามาเพื่อเก็งกำไรค่าเงินบาท หรือการลงทุนในระยะสั้น ไปจนถึงการออกมาตรการส่งเสริมให้สามารถบริหารจัดการเงินตราต่างประเทศได้ในต่างประเทศรวมถึงการลงทุนในต่างประเทศโดยไม่ต้องผ่านตัวกลางทางการเงิน เป็นต้น

(จากซ้ายไปขวา : ดร.กิริฎา เภาพิจิตร ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ดร.อมรเทพ จาวะลา)

ดร.อมรเทพ จาวะลา "เศรษกิจไทยเหมือนแฝดสยาม"

แม้จะมีสงครามทางการค้า ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวโดยเป็นผลจากการชะลอตัวของประเทศขนาดใหญ่เองและผลกระทบจากการส่งออกของประเทศเศรษฐกิจดาวรุ่งที่หดตัว แต่เศรษฐกิจโลกยังไม่ถึงกับเกิดวิกฤต ประเด็นเรื่องสงครามการค้าโลก สงครามเทคโนโลยี น่าจะยังไม่จบง่ายๆ ในความเป็นจริงสงครามการค้ามีมานานแล้ว เพียงแต่ทรัมป์เป็นผู้หยิบประเด็นนี้มาเล่นมากขึ้น เพื่อสกัดกั้นไม่ให้จีนเป็นมหาอำนาจ และสหรัฐฯ อาจใช้มาตรการลักษณะนี้ไปใช้กับประเทศอื่นได้ในอนาคต อย่างไรก็ตาม การค้าโลกน่าจะไม่ทรุดไปมากกว่านี้ เพราะหลายประเทศน่าจะปรับตัวได้

ดร. อมรเทพให้ความเห็นต่อนโยบายการเงิน การคลังของต่างประเทศว่า การทำ Q.E. (Quantitative Easing) ในสหรัฐฯน่าจะยังไม่จำเป็น เพราะเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยังไม่มีความเสี่ยง สำหรับกลุ่มอาเซียนและประเทศเกิดใหม่อื่น ๆ ยังมีช่องว่างสำหรับเครื่องมือทางการเงินและการคลังที่สามารถใช้สำหรับกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตได้อยู่

ในส่วนของเศรษฐกิจไทย ดร. อมรเทพ เสริมว่า จากผลผลิตและราคาพืชผลอยู่ในระดับต่ำและการหดตัวภาคการผลิตส่งผลกระทบในการบริโภคภายในประเทศหดตัวทุกระดับรายได้ ดร. อมรเทพเปรียบเศรษฐกิจไทยว่าเหมือน แฝดสยาม เพราะทุกภาคเศรษฐกิจต้องพึ่งพากัน และ ดร.อมรเทพ คาดการณ์ว่า ปีหน้าการท่องเที่ยวจะเป็นตัวกระตุ้นหลักที่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศเดินหน้าได้ เห็นได้จากนักท่องเที่ยวเริ่มมีการกระจายตัวไปกลุ่มที่มีกำลังซื้อมากขึ้น นอกจากนี้ มาตรการของภาครัฐก็น่าจะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ แต่มาตรการที่เกี่ยวข้องกับการแจกเงินต้องใช้เท่าที่จำเป็นเพื่อไม่ให้ประชาชนเสพติดการแจกเงินมากเกินไป หรือต้องใช้มาตรการทางการคลังอื่น ๆ ควบคู่กันไปด้วย

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย "เศรษฐกิจโลกโตช้า เศรษฐกิจไทยยังมีปัญหาต้องแก้"

ในภาพรวมเศรษฐกิจโลกของปีหน้า ดร. พิพัฒน์ มองว่า อัตราการเติบโตของประเทศขนาดใหญ่ ได้แก่ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป จะมีอัตราการเติบโตที่ประมาณร้อยละ 1 เท่านั้น การมีสงครามการค้าน่าจะทำให้ประเทศกลุ่มดังกล่าวเติบโตช้าไปอีก ไปจนถึงจีนเองในปีหน้าก็น่าจะโตช้าลง โดยคาดการณ์ว่าจะเติบโตเพียงร้อยละ 6 แต่ในภาพรวม เศรษฐกิจโลกไม่ได้อยู่ในช่วงหดตัว

สำหรับการลดดอกเบี้ยของ Fed ครั้งล่าสุด ดร.พิพัฒน์ มองว่า น่าจะเพียงพอแล้วสำหรับการอุ้มเศรษฐกิจ เพราะตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เริ่มมีการปรับตัวดีขึ้น เห็นได้จาก อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 3.6 ซึ่งต่ำสุดนับตั้งแต่ปี ค.ศ.1969 ในส่วนของนโยบายการคลังของสหรัฐฯ มีการใช้นโยบายแบบขาดดุลอย่างเต็มที่และต่อเนื่องจึงยังไม่น่าจะมีมาตราการทางคลังอื่นๆ แต่สำหรับบางประเทศเช่น เยอรมนีที่ใช้นโยบายแบบ conservative มาโดยตลอด น่าจะมีมาตรการทางการคลังออกมาเพิ่มเติม หากเศรษฐกิจไม่โตตามเป้า เช่นเดียวกับจีนที่น่าจะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา หากรัฐบาลมองว่าเศรษฐกิจของประเทศไม่เติบโตเท่าที่ควรทั้งนี้ ดร.พิพัฒน์ คาดว่า ในภาพรวมอัตราดอกเบี้ยของประเทศขนาดใหญ่น่าจะยังอยู่ในระดับต่ำต่อไปและไม่มีการปรับตัวลดลงอีก

นอกจากนี้ ดร.พิพัฒน์ เสริมว่า ในปีที่ผ่านมา พระเอกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยคือ การบริโภคภายในประเทศ โดยเฉพาะการซื้อรถยนต์หรือสินค้าคงที่แต่ในปีนี้การบริโภคในประเทศกลับไม่เติบโตสูงเช่นปีที่ผ่านมาและดร.พิพัฒน์ มองว่า เศรษฐกิจไทยยังมีปัญหาที่ต้องรีบแก้ไขอันได้แก่ การมี saving investment gap ที่อยู่ในระดับสูงหรือมีการลงทุนที่อยู่ในระดับต่ำเกินไป ทำให้เศรษฐกิจไทยไม่เติบโตอย่างเต็มศักยภาพ รวมถึงความสามารถทางการแข่งขันของไทยเองที่ต้องหาตัวเองให้เจอว่าเรามีจุดเด่นหรือจุดแข็งอะไร ไปจนถึงการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ควรเลือกใช้มาตรการทางการคลังที่มีประสิทธิผลอย่างแท้จริง

ปริญญา มิ่งสกุล
เรียนเศรษฐศาสตร์เพราะมีความฝันอยากเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศ