ถ้าพวกเราจำกันได้ ในช่วงต้นปี 2561 จนถึงต้นปี 2562 พวกเราจะได้ยินตัวแทนจากรัฐบาลกล่าวถึงโครงการชื่อแปลกๆ ที่พอได้ยินแล้วชวนให้สงสัยว่าคือโครงการอะไรกันแน่โครงการหนึ่งอยู่เป็นประจำ โครงการนั้นก็คือ "โครงการไทยนิยม ยั่งยืน" แม้แต่วิธีการเขียนชื่อโครงการให้มีคำว่า "ไทยนิยม" กับ "ยั่งยืน" อยู่ด้วยกันแล้วมีการเว้นวรรคด้วยนี่ก็แปลกพอสมควรแล้วว่าไหมครับ? และที่แปลกยิ่งกว่าก็คือเวลาอ่านออกเสียงนี่สิที่ผู้อ่านต้องเว้นจังหวะระหว่าง "ไทยนิยม" กับ "ยั่งยืน" สักพักนึงเพื่อแสดงให้ผู้ฟังทราบว่ามีการเว้นวรรคเวลาเขียนชื่อโครงการ

"โครงการไทยนิยม ยั่งยืน" ถือกำเนิดขึ้นจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2561 อันนำไปสู่การประชุมมอบนโยบายให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งจากกระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2561 โครงการระบุว่ามีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อน 10 ด้าน เพื่อพัฒนาประเทศไทยไปสู่ความยั่งยืน คือ
(1) สัญญาประชาคมผูกไทยใจเป็นหนึ่ง
(2) คนไทยไม่ทิ้งกัน
(3) ชุมชนอยู่ดีมีสุข
(4) วิถีไทยวิถีพอเพียง
(5) รู้สิทธิ รู้หน้าที่ รู้กฎหมาย
(6) รู้กลไกการบริหารราชการ
(7) รู้จักประชาธิปไตยไทยนิยม
(8) รู้เท่าทันเทคโนโลยี
(9) ร่วมแก้ไขปัญหายาเสพติด และ
(10) งานตามภารกิจของส่วนราชการ/หน่วยงาน (Function)
โดยกลไกการขับเคลื่อนและติดตามงานแบ่งเป็น 4 ระดับ คือ
(1) ระดับชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ
(2) ระดับจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานกรรมการ
(3) ระดับอำเภอ ซึ่งมีนายอำเภอเป็นประธานกรรมการ และ
(4) ระดับตำบล ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐ ปราชญ์ชาวบ้าน จิตอาสา รวมตัวกันเป็นทีมย่อยมีจำนวนทั้งสิ้นกว่าเจ็ดพันทีม เป้าหมายคือ หมู่บ้าน/ชุมชนกว่าแปดหมื่อนแห่ง ภายใต้วงเงินงบประมาณมากกว่าหนึ่งแสนล้านบาท

ตามโครงการนี้ ทีมงานระดับตำบลจะลงพื้นที่ตามหมู่บ้าน/ชุมชนเป้าหมาย ไปเยี่ยมเยียนครัวเรือนหรือบุคคลเพื่อศึกษาปัญหาระดับพื้นฐานที่สุด จากนั้นก็สร้างข้อตกลงร่วมกัน โดยหน่วยงานราชการอาจจะจัดอบรมเพิ่มพูนความรู้ให้แก่ชาวบ้าน หรือหมู่บ้านอาจจะเสนอโครงการที่อาจจะสร้างทักษะหรือเป็นผลดีต่อการประกอบอาชีพในระยะยาวของคนในชุมชน และเมื่อโครงการเหล่านั้นถูกนำไปปฏิบัติ ทีมย่อยก็ต้องจัดให้มีการประเมินผลของโครงการ นอกจากนี้ยังต้องมีการถอดบทเรียนของการปฏิบัติงานเพื่อการปรับปรุงหรือการเป็นแบบอย่างที่ควรสำหรับการขยายผล

ถึงจุดนี้ ผู้อ่านคงมีคำถามทำนองว่า "โครงการไทยนิยม ยั่งยืน" นั้นแตกต่างจากวิธีการดำเนินโครงการทั่วไปอย่างไร? วิธีการตั้งแต่การลงพื้นที่เพื่อศึกษาปัญหาจนกระทั่งถึงการถอดบทเรียนน่าจะเป็นแนวทางปกติในการดำเนินโครงการสาธารณะใดๆ ไม่เพียงแค่วิธีการดำเนินโครงการเท่านั้นที่ดูไม่ได้มีอะไรแปลกใหม่ ผู้เขียนพบว่าโครงการย่อยส่วนใหญ่ที่ดำเนินการภายใต้ชื่อ "โครงการไทยนิยม ยั่งยืน" ก็ไม่ได้สามารถเรียกได้ว่าเป็นโครงการที่ถือกำเนิดขึ้นใหม่แต่อย่างใด ยกตัวอย่างเช่น "โครงการเมนูอาชีพ" ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ซึ่งเป็นการรวบรวมอาชีพที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความพร้อมในการจัดอบรมให้แก่ผู้ที่สนใจและพร้อมที่จะให้การสนับสนุนในระดับชุมชนนั้นเป็นโครงการใหม่ที่เกิดขึ้นต้นปี 2561 และถูกกล่าวถึงในฐานะส่วนหนึ่งของ "โครงการไทยนิยม ยั่งยืน" แต่ความพยายามในพัฒนาอาชีพให้แก่ประชาชนนั้นไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นใหม่เป็นแน่ การอบรมเชิงปฏิบัติการเกษตรทฤษฎีใหม่ซึ่งเป็นรายการหนึ่งในเมนูอาชีพนั้นเกิดขึ้นมานานแล้ว อันที่จริงกรณีโครงการที่เกิดขึ้นใหม่ควบคู่กับ "โครงการไทยนิยม ยั่งยืน" อย่าง "โครงการเมนูอาชีพ" นั้นมีเพียงส่วนน้อย ส่วนใหญ่แล้วกระทรวงต่างๆ มักจะบรรจุโครงการที่ตนดำเนินการอยู่นานแล้วเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ "โครงการไทยนิยม ยั่งยืน" โดยแบบแผนมาตรฐานก็คือจะบรรยายว่าโครงการที่มีอยู่แล้วนั้นสอดคล้องกับด้านใดด้านหนึ่งของเป้าหมาย 10 ด้านของ "โครงการไทยนิยม ยั่งยืน" เช่น กระทรวงศึกษาธิการอธิบายว่า "โครงการสำนึกรักบ้านเกิด" เป็นส่วนหนึ่งของโครงการไทยนิยม ยั่งยืน เพราะว่าสอดคล้องกับเป้าหมายข้อ (1) สัญญาประชาคมผูกไทยใจเป็นหนึ่ง หรือในกรณีของกระทรวงมหาดไทยก็จัด "โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อเศรษฐกิจฐานราก" ให้สอดคล้องกับเป้าหมายข้อ (3) ชุมชนอยู่ดีมีสุข เป็นต้น

ผู้เขียนจงใจเอ่ยถึง "โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อเศรษฐกิจฐานราก" เนื่องจากเห็นว่าโครงการนี้มีความสำคัญ ในช่วงต้นปี 2561 ที่ "โครงการไทยนิยม ยั่งยืน" ถูกเอ่ยถึงบ่อยครั้งตามหน้าหนังสือพิมพ์นั้น หน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนโครงการ (ให้เป็นข่าว) ก็คือกระทรวงมหาดไทยโดยผ่านการดำเนิน "โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อเศรษฐกิจฐานราก" นี่แหล่ะ อำนาจสำคัญในมือของทีมงานลงพื้นซึ่งได้รับมาจาก "โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อเศรษฐกิจฐานราก" หลังจากได้ศึกษาจนทราบความต้องการของหมู่บ้าน/ชุมชนใดๆ แล้ว ทีมงานสามารถให้งบประมาณแก่หมู่บ้าน/ชุมชนแห่งนั้นได้มากที่สุดถึงแห่งละ 200,000 บาท เพื่อทำโครงการที่ชาวบ้านและทีมงานเห็นสมควรเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวบ้าน โดยในเอกสารอธิบาย "โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อเศรษฐกิจฐานราก" ของกระทรวงมหาดไทยได้ยกตัวอย่างโครงการที่น่าสนับสนุน เช่น การซ่อมแซมศาลากลางหมู่บ้าน การซ่อมแซมทางเท้า หรือการซ่อมแซมป้ายจราจร เป็นต้น

หากมองแบบโลกสวยตามวัตถุประสงค์แล้ว "โครงการไทยนิยม ยั่งยืน" คือการทุ่มทรัพยากรทั้งในรูปงบประมาณและกำลังคนเข้าไปเรียนรู้ความเป็นอยู่ของประชาชนเพื่อสรรค์สร้างสิ่งที่หมู่บ้าน/ชุมชนต้องการจริงๆ อันจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน แต่หากมองแบบโลกมืดสักหน่อย "โครงการไทยนิยม ยั่งยืน" ก็ควรถูกตั้งคำถามเหมือนโครงการสาธารณะทั้งหลาย เช่น โครงการเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพหรือไม่? ผลที่คาดว่าจะได้รับนั้นยั่งยืนตามวัตุประสงค์หรือไม่? หรือแม้แต่โครงการเป็นการซื้อเสียงเชิงนโยบายหรือไม่? เมื่อพิจารณาถึงช่วงเวลาในการโครงการ การประเมินผลโครงการ และเหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น ผู้เขียนต้องกล่าวว่าการมองแบบโลกมืดออกจะมีมูลอยู่ไม่น้อย

ในทุกวันนี้ (พฤศจิกายน 2562) "โครงการไทยนิยม ยั่งยืน" ไม่ปรากฏอยู่ในหน้าหนังสือพิมพ์แล้ว สาเหตุก็เพราะโครงการได้ปิดตัวไปแล้วตั้งต้นปี 2562 จากข้อเท็จจริงนี้ คำถามที่ตามมาก็คือ โครงการที่มีคำว่า "ยั่งยืน" เป็นส่วนหนึ่งของชื่อโครงการและมีวัตถุประสงค์เพื่อความยั่งยืนจะสามารถสร้างความยั่งยืนได้อย่างไรหากมีระยะเวลาในการดำเนินการเพียงประมาณหนึ่งปี? ยิ่งไปกว่านั้น หากเราพิจารณาถึงผลของการการดำเนินโครงการอันทำให้เกิดกิจกรรมจำพวกการซ่อมแซมศาลากลางหมู่บ้าน การซ่อมแซมทางเท้า หรือการซ่อมแซมป้ายจราจร เราก็คงจะสงสัยไปพร้อมกันว่ากิจกรรมเหล่านี้จะสามารถสร้างความยั่งยืนให้กับหมู่บ้าน/ชุมชนได้อย่างไร?

เมื่อพิจารณาจากช่วงเวลาในการดำเนินโครงการประกอบกับกิจกรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ผู้เขียนอดคิดไม่ได้ว่ารัฐบาลอาจจะมีเป้าหมายอื่นในการลงพื้นที่ตามที่ระบุไว้ในเป้าหมายของโครงการ ผู้เขียนกำลังนึกถึงการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนมีนาคม 2562 ซึ่งสามารถกล่าวได้ว่ารัฐบาลเข้าร่วมแข่งขันด้วยในนามของพรรคพลังประชารัฐ เป็นที่วิจารณ์กันทั่วไปว่าการลงพื้นที่กว่าแปดหมื่นหมู่บ้าน/ชุมชนทั่วประเทศพร้อมกับเงิน 200,000 บาท ที่พร้อมเสนอให้กับแต่ละหมู่บ้าน/ชุมชนนั้น ไม่เพียงเปิดโอกาสให้ประชาชนได้รับรู้ถึงผลงานและพลังเงินจากรัฐบาลเท่านั้น แต่การลงพื้นที่ก็ยังเป็นโอกาสสำคัญที่ทำให้รัฐบาลสามารถรวบรวมข้อมูลในระดับครัวเรือนของประชาชนเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้งในนามของพรรคพลังประชารัฐ ไม่เพียงเท่านี้ ในการประเมิน "โครงการไทยนิยม ยั่งยืน" ซึ่งรัฐบาลได้ว่าจ้างสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งจัดทำนั้นได้ใช้เวลาศึกษาการดำเนินโครงการเพียง 120 วันตั้งแต่ปลายกันยายน 2561 ถึงปลายเดือนมกราคม 2562 สิ่งที่แปลกประหลาดก็คือหากความยั่งยืนควรจะมีบทบาทในการเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการอยู่บ้างและความยั่งยืนไม่น่าจะสามารถประเมินได้ทันทีเมื่อโครงการสิ้นสุด การประเมินโครงการก็ควรที่จะขยายระยะเวลาศึกษาผลของโครงการออกไปอีก มิหนำซ้ำกระทรวงมหาดไทยในฐานะผู้ว่าจ้างการประเมินนี้ได้ตั้งโต๊ะแถลงได้ผลการประเมินโครงการว่า "ประสบผลสำเร็จมาก" เป็นระยะเวลาเพียง 4 วันก่อนการเลือกตั้งทั่วไป

ความกังวลประการหนึ่งของผู้เขียนในการเขียนบทความนี้ก็คือเกรงว่าผู้อ่านจะไม่รู้จักหรือจำ "โครงการไทยนิยม ยั่งยืน" ไม่ได้แล้ว แต่ถ้าคิดในอีกมุมหนึ่งการที่ผู้อ่านส่วนใหญ่จำ "โครงการไทยนิยม ยั่งยืน" ไม่ได้นั้น ก็อาจจะหมายความถึงมุมหนึ่งของการล้มเหลวของโครงการในการนำพาความยั่งยืนให้เกิดขึ้นแม้แต่ในความทรงจำของประชาชนอย่างพวกเรา และหากบทความนี้จะมีส่วนช่วยให้โครงการนี้มีความยั่งยืนในพื้นที่ความทรงจำของพวกเราคืนกลับมาบ้าง ผู้เขียนคิดว่าสิ่งที่ควรจะยั่งยืนก็คือ "โครงการไทยนิยม ยั่งยืน" เป็นเพียงเครื่องมือหาเสียงให้กับรัฐบาลและไม่น่าจะมีพลังเพียงพอในการสร้างความยั่งยืนจริงๆ ให้กับสังคมไทย

นภนต์ ภุมมา
อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์