เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา ทางคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดการเสวนาขึ้นในหัวข้อ "การออกแบบนโยบายเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมของคน มองทะลุนโยบายเชิงเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม" โดยได้รับเกียรติจาก ศ.ดร. ณัฐวุฒิ เผ่าทวี ผู้เชี่ยวชาญทางด้านพฤติกรรมศาสตร์จาก Warwick Business School สหราชอาณจักร มาเป็นผู้บรรยาย
การเสวนาในครั้งนี้กล่าวถึง จิตวิทยาเกี่ยวกับพฤติกรรมที่มักจะถูกละเลยในชีวิตประจำวัน แต่แท้จริงแล้วสามารถนำหลักการเหล่านั้นมาประยุกต์ใช้กับนโยบายสาธารณะที่สามารถทำให้คนส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือได้ด้วยต้นทุนเพียงเล็กน้อย อาจารย์ณัฐวุฒิ เริ่มต้นจากการตั้งคำถามผู้เข้าร่วมเสวนาเกี่ยวกับวิธีการเลือกใช้คำพูดในสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นบ่อยในชีวิตประจำวัน
ในช่วงต้นของการเสวนา อาจารย์ณัฐวุฒิได้หยิบยกประเด็น "นโยบายสาธารณะมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหนในการเปลี่ยนพฤติกรรมของคน" มาพูดคุย โดยได้ยกตัวอย่างนโยบายที่กำลังดำเนินอยู่และเห็นได้ชัดในปัจจุบัน จากผลการสำรวจจากการตอบแบบสอบถามของผู้เข้าร่วมเสวนาจำนวน 58 คน พบว่า คนส่วนใหญ่มีความเห็นเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะของไทยว่ายังมีประสิทธิภาพในการเปลี่ยนพฤติกรรมของคนค่อนข้างต่ำ
อาจารย์ณัฐวุฒิได้ขยายความออกไปอีกว่า แท้จริงแล้วมีข้อเท็จจริงอยู่ 3 ประการเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายสาธารณะ
ประการแรกกล่าวถึง การแถลงนโยบายว่า บรรดาพรรคการเมืองมักจะนำเสนอเฉพาะส่วนที่อัดฉีดให้แก่ประชาชน แต่น้อยคนมากที่จะนำเสนอให้เห็นถึงผลที่เกิดขึ้นจากการดำเนินนโยบายดังกล่าว
ความจริงประการต่อมากล่าวถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการดำเนินนโยบายสาธารณะว่า สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้เพียงแค่คนบางกลุ่มเท่านั้น ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีความตั้งใจที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่มีข้อจำกัดบางประการที่ทำให้ไม่สามารถกระทำได้ก่อนหน้านี้ เช่น เด็กที่ต้องการจะศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นแต่มีฐานะที่ยากจน เป็นต้น
ประการสุดท้ายกล่าวถึง ความเชื่อที่ว่ามนุษย์เราทุกคนเป็นมนุษย์เศรษฐศาสตร์ แต่อาจารย์ณัฐวุฒิได้ให้ความเห็นว่า ถ้าหากความเชื่อนี้เป็นความจริง มนุษย์เราจะไม่เคยเสียใจหรือเสียดายกับสิ่งที่พลาดไปเลย ดังนั้นข้อสันนิษฐานที่ว่า มนุษย์ทุกคนมีเหตุมีผลจึงค่อนข้างล้าหลัง เพราะในความเป็นจริงแล้ว สมองของคนเรามีอยู่ด้วยกัน 2 ระบบ โดยระบบแรกเต็มไปด้วยความรู้สึกที่สามารถแสดงออกมาได้อย่างรวดเร็วผ่านความคิดและการกระทำ ส่วนระบบที่ 2 เป็นระบบที่เชื่องช้าและค่อนข้างเป็นเหตุเป็นผล เนื่องจากต้องไตร่ตรองก่อน ซึ่งระบบนี้จะทำงานก็ต่อเมื่อได้รับคำสั่งจากระบบแรก
หลังจากนั้น อาจารย์ณัฐวุฒิได้เปลี่ยนแนวคำถามไป โดยให้ผู้เข้าร่วมเสวนาเลือกสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตนเองในประเด็นต่างๆ ตามสถานการณ์ที่กำหนดให้จำนวน 3 ข้อ และจากผลการตอบแบบสอบถามของผู้เข้าร่วมเสวนาทั้งหมด ทำให้ได้ข้อสรุปว่า พฤติกรรมบางอย่างของมนุษย์ก็ไม่เป็นไปตามที่ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์อธิบายไว้ ซึ่งคล้อยตามกับข้อเท็จจริงที่ว่ามนุษย์เราแทบไม่ได้ใช้ระบบที่ 2 สำหรับการตัดสินใจในชีวิตประจำวันตามที่อาจารย์ณัฐวุฒิได้กล่าวไปแล้วข้างต้น
ระหว่างการเสวนา อาจารย์ณัฐวุฒิได้กล่าวถึง "Freedom of Choices" ซึ่งเกี่ยวข้องกับการดำเนินนโยบายสาธารณะของรัฐบาลโดยตรง เพราะจุดมุ่งหมายของรัฐบาลคือ ความสุขของประชาชน รัฐบาลจึงจำเป็นต้องหาจุดดุลยภาพระหว่างการดำเนินนโยบายของตนกับความพึงพอใจของประชาชน โดยการนำแนวคิด Libertarian Paternalism ซึ่งคือการเปรียบเปรยเหมือนการที่พ่อแม่พยายามทำให้ลูกรู้สึกว่าได้เลือกเอง การตัวเลือกนั้นอยู่ในกรอบที่พ่อแม่วางไว้นั่นคือ ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าเป็นคนตัดสินใจกระทำสิ่งที่รัฐบาลต้องการจะให้เกิดขึ้นตามนโยบายที่ได้วางไว้ด้วยตนเอง ซึ่งอาจารย์ณัฐวุฒิได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ในปัจจุบัน เรามักจะคำนึงถึงแต่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและละเลยขนาดของผลที่ได้รับจากการเปลี่ยนแปลงนั้น ทำให้การเสวนาในวันนี้จึงมีจุดมุ่งหมายที่ต้องการจะเปลี่ยนแนวคิดให้หันกลับมาสนใจผลที่เกิดขึ้นมากกว่าการเปลี่ยนแปลงจากการดำเนินนโยบาย โดยมีหลักการสำคัญอยู่ทั้งสิ้น 4 ประการเรียกว่า The EAST Principle โดย
E มาจาก Easy ซึ่งตีความได้ว่า ถ้าหากต้องการให้ใครทำอะไร ต้องทำให้ง่ายขึ้น
A มาจาก Attract คือการดึงความน่าสนใจของสิ่งนั้นออกมาให้เด่นชัดมากยิ่งขึ้น
S มาจาก Social คือถ้าหากต้องการให้ใครทำอะไร ต้องทำให้เขารู้สึกว่าใครๆ ก็สามารถทำสิ่งนั้นได้ และสุดท้าย
T มาจาก Timely คือการอธิบายในเวลาที่คิดว่าเชื่อฟังมากที่สุด
ก่อนจบการเสวนา อาจารย์ณัฐวุฒิได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกันเกี่ยวกับการนำหลักการดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ในสภาพสังคมไทยปัจจุบัน โดยอ้างอิงจากนโยบายสาธารณะที่เคยดำเนินไปแล้วในรัฐบาลชุดก่อนๆ และลักษณะนิสัยของคนไทย ฯลฯ
อาจารย์ณัฐวุฒิได้ทิ้งท้ายไว้ว่า มีความคาดหวังว่าในอนาคตทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจะนำประเด็นต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการเสวนาวันนี้ไปปรับแผนนโยบายให้เป็นประโยชน์กับประชาชนมากขึ้น ประเทศเรายังมีโอกาสอีกมาก แต่ทุกอย่างล้วนต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์และเป็นรูปธรรมเพราะ "เปลี่ยนคนนั้นเปลี่ยนยาก แต่...เปลี่ยน...ได้"