เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 10 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดการเสวนาชุด Thammasat Economic Focus (TEF) ครั้งที่ 17 ภายใต้หัวข้อ "ไตรมาสสุดท้ายเศรษฐกิจไทย เราจะไปกันทางไหน" ณ ห้องประชุม LA107 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
งานเสวนานี้ได้รับเกียรติจาก คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี คุณโชนรังสี เฉลิมชัยกิจ นายกสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และอาจารย์ อิสร์กุล อุณหเกตุ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมเป็นวิทยากร โดยมี ดร. เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ
อาจารย์ อิสร์กุล อุณหเกตุ : ทิศทางเศรษฐกิจไทยในระยาวน่าเป็นห่วงกว่า
(อ.ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว (ซ้าย) อาจารย์อิสร์กุล อุณหเกตุ (ขวา))
อาจารย์ อิสร์กุล เริ่มต้นการเสวนาโดยการแสดงให้เห็นถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย ผ่านตัวเลขดัชนีทางเศรษฐกิจมหภาคต่าง ๆ ตั้งแต่การลดตัวเลขคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยโดยธนาคารแห่งประเทศไทยที่จาก 3.3% เมื่อกลางปีที่ผ่านมาเป็น 2.8% ในไตรมาสนี้ ระดับหนี้สาธารณะที่ 41.3% ของ GDP ซึ่งสะท้อนถึงข้อจำกัดในนโยบายทางการคลังที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ รวมทั้งการแข็งค่าของเงินบาทซึ่งส่งผลเสียต่อสถานการณ์การส่งออกของประเทศ
แม้ว่าประเทศไทยจะได้มีการเลือกตั้งแล้ว แต่ในแง่สถาบันทางการเมืองยังคงน่าเป็นห่วง ทั้งในแง่ของการสร้างมาตรฐานใหม่ที่ไม่ดีของสถาบันทางการเมือง เช่น การจัดการเลือกตั้งของสถาบันที่เกี่ยวข้อง การรักษาสัญญาของพรรคการเมือง การนิยามศัพท์ใหม่ ๆ ทางกฎหมาย รวมทั้งหน้าตาของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ทำให้เกิดรัฐบาลแบบผสม นอกจากนี้ การที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้มาจากพรรคที่ได้รับเสียงข้างมากในสภาก็นับว่าเป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ทางการเมืองที่น่าสนใจ
ความท้าทายต่าง ๆ ของเศรษฐกิจไทยในอนาคตไม่ใช่แค่การกำหนดทิศทางของตนเองให้แน่ชัดเพียงอย่างเดียว หากแต่เป็นการประคับประคองไม่ให้ล้มลงจากการแข่งขันในเวทีโลก จากรายงานโดย World Economic Forum ความสามารถในการแข่งขันของไทยลดลงจากลำดับที่ 38 จากปีที่แล้วเป็นลำดับที่ 40 ในปีนี้ ในสัดส่วนของคะแนนที่ลดลงต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ประกอบไปด้วย ปัญหาโครงสร้างพื้นฐานที่มีจำนวนน้อย ปัญหาเรื่องของทักษะแรงงานที่ขาดทักษะ โดยเฉพาะทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical thinking)
อาจารย์ อิสร์กุล ตั้งข้อสังเกตถึงทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในระยะยาว โดยชี้ว่า ประเทศไทยนั้นไม่ใช่ว่าจะไม่มีแนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจเลย แต่คำถามที่ใหญ่กว่านั้นก็คือว่า ทิศทางเหล่านั้นแท้จริงแล้วเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั่วไปจริงหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น โครงการพัฒนาระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี (Eastern Economic Corridor: EEC) คำถามก็คือว่าประชาชนทั่วไปได้ประโยชน์มากน้อยแค่ไหนจากการลงทุนของรัฐบาลในโครงการนี้ ขณะที่ประเด็นที่น่ากังวลใจคือ ปัญหาเรื่องของการเติบโตอย่างทั่วถึง (Inclusive Growth) ปัญหาสิ่งแวดล้อม ตลอดจนปัญหาการกระจายรายได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงปัญหาการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งจะยิ่งส่งผลเสียต่อปัญหาความเหลื่อมล้ำ พร้อมทั้งเสนอว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นสำหรับการเดินหน้าพัฒนาประเทศ
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ : รัฐบาลกับความเชื่อใหม่ที่จำเป็น
คุณอภิสิทธิ์เริ่มต้นการเสวนาด้วยการยกตัวอย่างข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับทิศทางการเติบโตจาก แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินโดยธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2562 ที่ผ่านมาซึ่งแสดงให้เห็นถึงการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ เช่น การหดตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การส่งออกที่ลดลง พร้อมทั้งตั้งคำถามถึงสถานการณ์ของเศรษฐกิจในประเทศที่อาจไม่สามารถสะท้อนผ่านทางตัวเลขมหภาคได้เช่น รายได้ประชาชาติต่อหัวที่เติบโตอาจไม่ได้หมายถึงรายได้ที่เพิ่มขึ้นในทุกครัวเรือน
คุณอภิสิทธิ์เสนอว่า การเลือกตั้งที่ผ่านมาควรจะเป็นข่าวดี เพราะน่าจะนำมาซึ่งการสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ ทั้งการคืนความสัมพันธ์กับประเทศคู่ค้าให้กลับไปอยู่ในระดับปกติ การสร้างความเชื่อมั่นสำหรับการลงทุนจากต่างประเทศ และกลไกที่ทำให้ความต้องการหรือปัญหาของประชาชนได้รับการตอบสนองที่รวดเร็วมากยิ่งขึ้น เช่น เมื่อเกิดภัยพิบัติ แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นดูจะไม่เป็นเช่นนั้น
นอกจากนี้ทิศทางเศรษฐกิจการเมืองในระดับโลกที่เปลี่ยนไปยังนับว่าเป็นตัวถ่วงสำคัญของบรรยากาศเศรษฐกิจภายในประเทศ เนื่องจากประเทศไทยนั้นต้องอาศัยการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลกเป็นอย่างมาก ดังนั้นในสถานการณ์เศรษฐกิจการเมืองใหม่ ๆ เช่น แนวคิดชาตินิยมที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลต่อความผันผวนของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะสงครามการค้านั้น ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยตามไปด้วย
นอกจากนี้ คุณอภิสิทธิ์ ยังเสนอแนะแนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจไทย โดยแบ่งออกเป็นสองแนวทางคือ แนวทางพัฒนาการค้าระหว่างประเทศ คือ การแสดงจุดยืนและความต้องการของประเทศให้ชัดเจนในเวทีเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันยังคงมีปัญหาเนื่องจากขาดการบูรณาการระหว่างภาคส่วนต่างๆของรัฐ แนวทางต่อมาคือการพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศ ได้แก่ การปรับโครงสร้างแต่ละภาคการผลิต การลดความเหลื่อมล้ำ และการแก้ไขปัญหาการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม
อย่างไรก็ดีแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจเหล่านี้นั้นเป็นความท้าทายของการปฏิรูปโครงสร้างบทบาทของรัฐซึ่งจะสามารถเกิดขึ้นจริงก็ต่อเมื่อรัฐบาลยอมปรับเปลี่ยนความเชื่อและลดบทบาทของตนในภาคส่วนที่ควรจะปล่อยให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการ และต้องเชื่อและสนับสนุนให้เกิดการกระจายอำนาจ
โชนรังสี เฉลิมชัยกิจ : มุมมองเศรษฐกิจไทยในสายตา SME
คุณโชนรังสี สะท้อนมุมมองเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยผ่านสายตาของผู้ประกอบการรายย่อย โดยชี้ให้เห็นว่าสถานการณ์ของผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs) ในปัจจุบันไม่ค่อยสู้ดีนัก ทั้งยอดขายที่ลดลง ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งระเบียบที่เกี่ยวข้องกับทางการต่าง ๆ ที่มักจะยุ่งยากและขาดความชัดเจน
คุณโชนรังสีเห็นว่าเป็นเรื่องดีที่การพัฒนา SMEs ไทยนั้นถูกบรรจุไว้เป็นวาระแห่งชาติ อย่างไรก็ตามทิศทางการพัฒนาและการดำเนินการของรัฐบาลนั้นยังคงมีหลายส่วนที่ต้องได้รับการแก้ไข เช่น การให้ข้อมูลข่าวสาร การใช้งบประมาณในการจัดอบรมต่าง ๆ หรือการสร้างตลาด e-commerce หรือนวัตกรรมที่ไม่ได้รับการสนับสนุนต่อให้ใช้ได้จริง เช่นเดียวกันกับนโยบายเศรษฐกิจบางนโยบายที่ส่งผลดีต่อ SMEs เช่น สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากของรัฐบาลปัจจุบัน
ในช่วงท้ายนั้น คุณโชนรังสี ชี้ให้เห็นถึงปัจจัยเสี่ยงของSMEs ซึ่งประกอบไปด้วย การเข้ามาแข่งขันของทุนต่างชาติ การชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค ค่าเงินบาทที่แข็งตัว การขาดแคลนแรงงานทักษะต่าง ๆ ขาดนวัตกรรมและการพัฒนานวัตกรรม การท่องเที่ยวที่ลดลง และภัยพิบัติทางธรรมชาติ พร้อมเสนอว่ารัฐบาลควรให้การสนับสนุนและการช่วยประคองธุรกิจโดยรัฐบาล สร้างความต่อเนื่องของโครงการต่าง ๆ เพิ่มการมีส่วนร่วมของ SMEs ในเวทีต่าง ๆ ของภาครัฐ ตลอดจนสร้าง SMEs Ecosystem หรือบรรยากาศที่ช่วยเอื้อให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปได้โดยง่าย เช่น การแก้ไขความยุ่งยากในกฎหมายที่เกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจ