กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้นิยามคำว่า "เขตการค้าเสรี" (Free Trade Area) หรือที่เรียกกันอย่างติดปากกันว่า FTA หมายถึง การรวมกลุ่มเศรษฐกิจระหว่างประเทศต่างๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรสินค้านำเข้าระหว่างประเทศสมาชิก แต่ประเทศสมาชิกยังเรียกเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้านำเข้าจากประเทศนอกกลุ่มแตกต่างกัน การทำ FTA ในปัจจุบันยังรวมถึงการเปิดเสรีการค้าบริการและการลงทุน ความเป็นมาหรือแนวคิดของนโยบายการค้าเสรี คือ ประเทศต่างๆ เลือกผลิตสินค้าที่ตนเองถนัดและมีต้นทุนการผลิตต่ำที่สุด หรืออาจกล่าวได้ว่าประเทศต่างๆ จะผลิตสินค้าที่คิดว่าตนมี ความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ (Comparative Advantage) มากที่สุด แล้วนำสินค้าที่ผลิตได้เหล่านี้ไปแลกเปลี่ยนกับสินค้าที่ประเทศตนไม่ถนัดหรือเสียเปรียบ โดยแลกเปลี่ยนสินค้ากับประเทศอื่นที่ผลิตสินค้าแล้วได้เปรียบ ดังนั้นประเทศต่างๆ ที่ค้าขายแลกเปลี่ยนกัน ต่างฝ่ายต่างสมประโยชน์ (Win-Win Situation) ซึ่งพ้องกับทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ที่เห็นว่า การค้าเสรีก่อให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ผู้ผลิตสามารถเลือกใช้วัตถุดิบและปัจจัยการผลิตจากแหล่งต่างๆ ที่มีต้นทุนต่ำสุด เพื่อให้ได้ผลผลิตสู่ตลาดในราคาถูกได้ เป็นประโยชน์กับผู้บริโภค อย่างไรก็ดี ในโลกที่เป็นจริงทุกประเทศล้วนกีดกันการค้าระหว่างประเทศไม่มากก็น้อยเพื่อคุ้มครองผู้ผลิตภายในประเทศของตน ทำให้สินค้าและบริการมีราคาสูงกว่าในระบบการค้าเสรี

ในปัจจุบัน ประเทศไทยทำความตกลงเขตเสรีการค้ากับหลายประเทศ ในปีที่ผ่านมา รัฐบาล
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะเจรจาเข้าเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership : CPTPP) หรือไม่ แม้ว่าจะมีเสียงคัดค้านจากนักวิชาการและภาคอุตสาหกรรมต่างๆ บทความนี้ ผู้เขียนจะนำเสนอมุมมองการเข้าเป็นสมาชิกความตกลง CPTPP ของ รศ.ดร.อาชนัน เกาะไพบูลย์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ปูมหลังความตกลง CPTPP

อาจารย์อาชนัน เริ่มจากการอธิบายปูมหลังความตกลงไว้ว่า "CPTPP เกิดขึ้นจากการที่ประเทศสมาชิก CPTPP ทั้ง 11 ประเทศและประเทศสหรัฐอเมริกาต้องการสร้างเขตการค้าเสรีที่เรียกว่า Trans-Pacific Partnership ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับเขตการค้าเสรีในศตวรรษที่ 21 ภายหลังจากประธานาธิบดีโดโนลด์ ทรัมป์ เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี สหรัฐอเมริกาได้ถอนตัวจากความตกลงดังกล่าว ทำให้ความตกลง TPP ถูกยกเลิกไปโดยปริยาย ประเทศสมาชิกที่เหลืออีก 11 ประเทศจึงเห็นพ้องต้องกันว่านำข้อตกลงที่เจรจาไปแล้วมาสานต่อสร้างความตกลงเขตการค้าเสรีใหม่ที่เรียกว่า ความตกลง Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnershipหรือ CPTPP"

ผลกระทบการเข้าเป็นสมาชิก CPTPP ต่อประเทศไทย

ส่วนประเด็นข้อกังวลการเข้าเป็นสมาชิก CPTPP ของประเทศไทยนั้น อาจารย์อาชนันมองผลกระทบการเข้าเป็นสมาชิก CPTPP ต่อประเทศไทยว่า "ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่ได้เข้าร่วมความตกลง CPTPP ยังอยู่ในขั้นตอนการตัดสินใจทางการเมืองว่าจะเป็นสมาชิกความตกลงหรือไม่ โดยสมาชิก 9 ประเทศจาก 11 ประเทศนั้น ประเทศไทยมีการทำความตกลงเขตการค้าเสรีหรือ FTA ด้วยอยู่แล้ว ดังนั้นนัยสำคัญของ CPTPP ต่อประเทศไทย คือ ประเทศไทยต้องเปิดเสรีทางการค้าให้สินค้าที่นำเข้าจากประเทศคู่ค้าเร็วขึ้น คำถามคือประเทศไทยมีความพร้อมมากเพียงใด"

อีกความกังวลหนึ่งคือ ในช่วงที่ผ่านมาประเทศเวียดนามถือเป็นประเทศดาวรุ่งในด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจ หลายคนมักมองว่าประเทศเวียดนามเป็นคู่แข่งการค้าที่สำคัญของไทย อีกทั้งประเทศเวียดนามได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลง CPTPP ไปแล้ว สิ่งที่หลายคนกังวล คือ ประเทศไทยจะ "ตกขบวน" หากไม่เป็นสมาชิกความตกลง CPTPP หรือไม่ อาจารย์อาชนัน เห็นว่า "ประเทศเวียดนามค่อนข้างประสบความสำเร็จในด้านการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยประเทศไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาประสบปัญหาหลายด้านทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจค่อนข้างชะลอตัว ทำให้ศักยภาพด้านการแข่งขันของประเทศเวียดนามใกล้เคียงกับประเทศไทยมากขึ้น แต่การที่ประเทศเวียดนามเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลง CPTPP ก่อนประเทศไทยนั้นผลกระทบที่ส่งผลต่อศักยภาพการแข่งขันทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศเกิดขึ้นไม่มาก"

Remanufacturing goods กับความตกลง CPTPP

ประเด็นต่อมาที่ได้รับความสนใจเกี่ยวกับความตกลง CPTPP นั่นคือ สินค้าประเภท Remanufactured หรือ Remanufacturing goods อาจารย์อาชนันได้อธิบายคำจำกัดความและชี้ให้เห็นถึงบทบาทของสินค้าชนิดนี้ไว้ดังนี้ "คำจำกัดความของสินค้าประเภท Remanufactured มีหลากหลาย โดยการ Remanufacturing คือการนำสินค้ามาเปลี่ยนเพียงชิ้นส่วนที่เสียหายแล้วนำสินค้ากลับเข้าสู่ตลาดอีกครั้ง เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว สินค้าชนิดนี้อยู่ในบริบทการรักษาสิ่งแวดล้อมคล้ายกับการ Recycle สินค้าต้องได้รับการรับรองว่าหลังจากการเปลี่ยนชิ้นส่วนที่เสียหายแล้วนั้น สินค้าสามารถใช้งานได้ดังเดิม ทำให้ลดการเกิดขยะและยังสร้างมูลค่าให้กับบริษัทมากขึ้น แต่ในการเจรจาความตกลง CPTPP คำจำกัดความของ Remanufacturing goods นั้นค่อนข้างเปิดกว้าง ทำให้เกิดความไม่ชัดเจนและส่งผลให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับการมีอยู่ของสินค้าชนิดนี้"

Remanufacturing goods กับเศรษฐกิจไทย

สำหรับบทบาทของสินค้าประเภท Remanufactured ในเศรษฐกิจไทย อาจารย์อาชนัน อธิบายว่า "สินค้าชนิดนี้เป็นสินค้าที่มีลักษณะเฉพาะ กระบวนการ Remanufacturing ใช้ได้กับสินค้าบางชนิดเท่านั้น ทำให้สินค้าประเภทนี้ค่อนข้างกระจัดกระจายอยู่รอบตัวเราและเก็บข้อมูลได้ยาก แต่การไม่ยอมรับการมีอยู่ของสินค้าชนิดนี้เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากอาจเกิดอันตรายทางศีลธรรมทางธุรกิจ กล่าวคือ ผู้ผลิตอาจไม่แจ้งให้ผู้บริโภคทราบว่าสินค้าชิ้นนี้เป็นสินค้า Remanufacturing แล้วสวมรอยเป็นสินค้าใหม่"

บทบาทภาครัฐในการคุ้มครองผู้บริโภคกรณีสินค้า Remanufacturing goods

เนื่องจากสินค้าชนิดนี้ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคโดยตรง บทบาทภาครัฐเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคในเรื่องสินค้าประเภท Remanufactured อย่างไรนั้น อาจารย์อาชนันมองบทบาทภาครัฐต่อสินค้าชนิดนี้ว่า "บทบาทของภาครัฐในเรื่องนี้ยังไม่มีความชัดเจน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง" นอกจากนั้นยังมีคำแนะนำว่า "ควรจัดตั้งองค์กรเพื่อจัดการดูแลหรือรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับสินค้าชนิดนี้"

การปรับตัวของภาครัฐและภาคเอกชนกับความตกลง CPTPP

จากที่กล่าวไว้ว่าการเข้าร่วมเป็นสมาชิกCPTPP สร้างความกังวลให้กับผู้ผลิตภายในประเทศ อาจารย์อาชนันได้ให้คำแนะนำสำหรับผู้ผลิตไว้ว่า "ผู้ผลิตตระหนักรู้ว่าการเข้าเป็นสมาชิกความตกลงนึ้ คือ การเปิดตลาดเราให้กับต่างประเทศ เพราะฉะนั้นผู้ผลิตรับรู้ว่าจะต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น ทำให้ผู้ผลิตเริ่มมีการปรับตัว" แต่สิ่งที่อาจารย์อาชนัน กังวลนั่นคือ ภาครัฐ "หน่วยงานของภาครัฐควรปรับตัวด้วยการชี้แจงกับผู้ผลิตว่าการเข้าเป็นสมาชิก CPTPP คือการเปิดตลาดประเทศไทยให้กับประเทศคู่ค้าเข้ามาแข่งขัน ไม่ใช่เพียงการที่ประเทศไทยเปิดตลาดในต่างประเทศเท่านั้น ควรพูดความจริงว่าการเปิดตลาดใหม่กับประเทศคู่ค้านั้นไม่เพิ่มขึ้นแล้ว เนื่องจากเรามีการทำ FTA กับประเทศต่างๆก่อนหน้านี้" อีกทั้งยังกล่าวเสริมว่า "จากการที่ได้สัมภาษณ์ภาคเอกชน ภาคเอกชนต้องการให้รัฐบาลชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเพื่อให้ภาคธุรกิจตั้งรับกับการแข่งขันอย่างเหมาะสม อีกทั้งภาคเอกชนยังต้องการให้ภาครัฐเข้ามาพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจในการทำงานร่วมกันในสถานการณ์ดังกล่าว"

ความท้าทายการเจรจาจัดทำความตกลง FTA ในอนาคต

คำถามสุดท้ายเกี่ยวกับ "ความท้าทายในอนาคตของประเทศไทย" อาจารย์อาชนัน เห็นว่า "ความท้าทายที่สำคัญคือการที่ภาครัฐต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยเฉพาะผลประโยชน์ที่ได้จากการทำ FTA จากการศึกษาพบว่าประเทศสมาชิกมักใช้ FTA ที่ตนเองสะดวก การลงนามในความตกลงเพิ่มไม่ได้หมายถึงการเปิดตลาดเพิ่มขึ้นเสมอไป เราควรนำความคาดหวังในประโยชน์ที่ได้จาก FTA มาตั้งโจทย์เพื่อตอบคำถามว่าเราจะใช้ประโยชน์จาก FTA อย่างไร โดยภาครัฐต้องปรับทัศนคติและรับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วนเพื่อประโยชน์ของประเทศต่อไป" ก่อนทิ้งท้ายการสัมภาษณ์ว่า "ภาครัฐต้องปรับตัว อย่างประเด็น CPTPP มีประเด็นข้อโต้แย้งหลายประเด็น ผมว่าเรามานั่งคุยกันโดยเอาผลประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้ง มันจะดีกว่า"

ชวัลหทัย วิมลพัฒนธรรม
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์