งบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น

39455 views

งบประมาณรายจ่ายงบกลาง เป็นส่วนหนึ่งของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ที่จัดสรรให้หน่วยรับงบประมาณ เพิ่มเติมจากงบประมาณของหน่วยรับงบประมาณ การตั้งงบประมาณรายจ่ายกลางมีสาเหตุส่วนหนึ่งจากการมีเหตุผลและความจำเป็นที่ไม่อาจจัดสรรหรือไม่สมควรจัดสรรงบประมาณรายจ่ายให้หน่วยรับงบประมาณได้โดยตรง

หลักการหนึ่งของการตั้งงบประมาณรายจ่ายคือ หลักความเฉพาะเจาะจง ของการจัดสรรงบประมาณรายจ่าย การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายจะต้องมีความเฉพาะเจาะจง คือ (1) ต้องทราบได้ว่าได้การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายให้แก่หน่วยรับงบประมาณใด และ (2) ต้องทราบได้ว่ามีการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายเพื่อใช้กับเรื่องใด (สุปรียา แก้วละเอียด, 2561, หน้า 224-226) อย่างไรก็ตาม การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายบางประเภทไม่สามารถจัดสรรตามหลักความเฉพาะเจาะจงได้ งบประมาณรายจ่ายเหล่านี้จึงจัดสรรไว้ในงบประมาณรายจ่ายงบกลาง

ในการจัดสรรงบประมาณที่ผ่านมา (2545-2563) งบประมาณรายจ่ายงบกลางมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 15 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี อย่างไรก็ตาม การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายงบกลางเพิ่มขึ้นตามลำดับ คือ จากประมาณ 200,000 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2545 เป็นมากกว่า 500,000 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2563 (ดูภาพประกอบที่ 1)

ภาพประกอบที่ 1

งบประมาณรายจ่ายงบกลาง งบประมาณรายจ่ายประจำปี และสัดส่วนงบประมาณรายจ่ายงบกลางต่องบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2545-2563

หมายเหตุ: * รวมงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ** รวมการโอนงบประมาณรายจ่าย *** รวมงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมและการโอนงบประมาณรายจ่าย *** ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี ปีงบประมาณ 2563

ในการจัดงบประมาณรายจ่าย อาจจำแนกงบประมาณรายจ่ายงบกลาง ได้เป็น 4 ประเภท คือ

  1. งบประมาณรายจ่ายงบกลางที่ตั้งรายการประจำไว้ทุกปีงบประมาณ ได้แก่ เงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ และบำบาญ ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ เงินช่วยเหลือข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ เงินเลื่อนเงินเดือนและเงินปรับวุฒิข้าราชการ เงินสำรอง เงินสมทบ และเงินชดเชยของข้าราชการ เงินสมทบของลูกจ้างประจำ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเสด็จพระราชดำเนินและต้อนรับประมุขต่างประเทศ ค่าใช้จ่ายตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และเงินชดเชยค่างานสิ่งก่อสร้าง
  2. งบประมาณรายจ่ายงบกลางที่ตั้งรายการไว้บางปี เพื่อรองรับกับเหตุการณ์พิเศษที่คาดหมายได้ล่วงหน้าอย่างชัดเจนก่อนการตั้งงบประมาณรายจ่าย เช่น ค่าใช้จ่ายในการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปค 2003 ในปีงบประมาณ 2546 และค่าใช้จ่ายในการเยียวยา ฟื้นฟู และป้องกันความเสียหายจากอุทกภัยอย่างบูรณาการ ในปีงบประมาณ 2555
  3. งบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการอื่นๆ เช่น ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาศักยภาพของหมู่บ้านและชุมชม (เอส เอ็ม แอล) ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในปีงบประมาณ 2552 ค่าใช้จ่ายเสริมสร้างความเข้มแข็งและก้าวหน้าของประเทศตามแนวทางปฏิรูป ในปีงบประมาณ 2559 และค่าใช้จ่ายส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจภายในประเทศ ในปีงบประมาณ 2560 โดยส่วนใหญ่แล้ว งบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการอื่นๆ นี้ มักเป็นรายการค่าใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐบาล
  4. งบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น (จะได้อธิบายเพิ่มเติมต่อไป)

ในการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายงบกลางที่ผ่านมา (2545-2563) (ดูภาพประกอบที่ 2) งบประมาณรายจ่ายงบกลางส่วนใหญ่ (ร้อยละ 40-80 ของงบประมาณรายจ่ายงบกลาง) เป็นรายการรายจ่ายที่ตั้งไว้ทุกปี อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตประการหนึ่งเกี่ยวกับการตั้งงบประมาณรายจ่ายงบกลางคือ ในช่วงแรก (2545-2549) งบประมาณรายจ่ายงบกลางประมาณเกือบกึ่งหนึ่งของงบประมาณรายจ่ายงบกลางเป็นงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการอื่นๆ โดยมากเป็นรายการรายจ่ายโครงการตามนโยบายของรัฐบาล ส่วนงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นนั้น มีสัดส่วนในงบประมาณรายจ่ายงบกลางไม่เกินกว่าร้อยละ 10 ในช่วงแรก แต่กลับมีสัดส่วนในงบประมาณรายจ่ายงบกลางเพิ่มสูงขึ้นเป็นประมาณร้อยละ 20 ในภายหลัง

ภาพประกอบที่ 2

งบประมาณรายจ่ายงบกลาง ปีงบประมาณ 2545-2563

หน่วย: ล้านบาท
หน่วย: ร้อยละ



หมายเหตุ: * รวมงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ** รวมการโอนงบประมาณรายจ่าย *** รวมงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมและการโอนงบประมาณรายจ่าย *** ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี ปีงบประมาณ 2563

แม้ว่างบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เมื่อเทียบกับงบประมาณรายจ่ายรวมแล้วจะมีสัดส่วนไม่มากนัก คือ ไม่เกินร้อยละ 5 แต่เมื่อพิจารณาถึงจำนวนงบประมาณในงบประมาณรายจ่ายงบกลาง กลับพบว่า มีรายการเงินสำรองเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเพิ่มขึ้นอย่างมาก จากเพียงประมาณ 10,000 ล้านบาทในช่วงก่อนปีงบประมาณ 2547 เป็นหลัก 100,000 ล้านบาทตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559 เป็นต้นมา จำเพาะในปีงบประมาณ 2563 นี้ มีการตั้งงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นสูงถึง 99,000 ล้านบาท (ดูภาพประกอบที่ 2)

จากที่ได้กล่าวแล้วว่า การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายจะต้องมีความเฉพาะเจาะจงคือ (1) ต้องทราบได้ว่าได้การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายให้แก่หน่วยรับงบประมาณใด และ (2) ต้องทราบได้ว่ามีการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายเพื่อใช้กับเรื่องใด ขณะที่งบประมาณรายจ่ายงบกลาง 3 ประเภทแรก เป็นงบประมาณรายจ่ายที่มีเหตุผลและความจำเป็นที่ไม่อาจจัดสรร 'หรือ' ไม่สมควรจัดสรรงบประมาณรายจ่ายให้หน่วยรับงบประมาณได้โดยตรง ทำให้ไม่ทราบได้ว่าได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายให้แก่หน่วยรับงบประมาณใด แต่งบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นนี้ มีลักษณะทั้งไม่ทราบได้ว่าจัดสรรงบประมาณรายจ่ายให้แก่หน่วยงานรับงบประมาณใด 'และ' ไม่ทราบว่าเงินงบประมาณนี้จะนำไปใช้จ่ายกับเรื่องใด อำนาจการอนุมัติงบประมาณงบประมาณรายจายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน จึงเป็นเรื่องฝ่ายบริหาร เพื่อความคล่องตัวของการบริหารงบประมาณและรองรับกับความไม่แน่นอนในอนาคต รัฐสภาอนุมัติเพียงกรอบวงเงินเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการอนุมัติงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินจะเป็นอำนาจฝ่ายบริหาร แต่ก็มีกฎระเบียบกำกับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ร.บ.วินัยทางการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 กำหนดให้ตั้งงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ได้เฉพาะเพื่อวัตถุประสงค์ในการป้องกันหรือแก้ไขสถานการณ์อันกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ความมั่นคงของรัฐ การเยียวยาหรือบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะร้ายแรง และภารกิจที่เป็นความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐ อีกทั้ง ระบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2562 ได้ขยายความเพิ่มเติมว่า "การขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ให้กระทำได้ในกรณีที่เป็นรายจ่าย ดังนี้

  1. เป็นรายจ่ายเพื่อการป้องกันหรือแก้ไขสถานการณ์อันมีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือความมั่นคงของรัฐ
  2. เป็นรายจ่ายที่จำเป็นต้องจ่ายเพื่อการเยียวยาหรือบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะร้ายแรง
  3. เป็นรายจ่ายที่ได้รับจัดสรรงบประมาณไว้แล้วแต่มีจำนวนไม่เพียงพอและมีความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐต้องใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพันงบประมาณโดยเร็ว
  4. เป็นรายจ่ายที่ไม่ได้รับจัดสรรงบประมาณ แต่มีภารกิจจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการและต้องใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพันงบประมาณโดยเร็ว"

นอกจากนี้ ยังมีประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เรื่อง กำหนดสัดส่วนต่างๆ เพื่อเป็นกรอบวินัยทางการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 กำหนดสัดส่วนงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 2 แต่ไม่เกินร้อยละ 3.5 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี

จากกฎระเบียบกำกับการตั้งงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น มีข้อสังเกตดังนี้

1. หากการกำหนดงบประมาณงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเป็นงบประมาณในส่วนที่ยกเว้นหลักการจำเพาะเจาะจงการตั้งงบประมาณรายจ่ายแล้ว เหตุใดการขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จึงครอบคลุมกรณีรายจ่ายที่ได้รับจัดสรรงบประมาณไว้แล้วแต่มีจำนวนไม่เพียงพอและมีความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐต้องใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพันงบประมาณโดยเร็ว รายจ่ายที่ได้รับจัดสรรงบประมาณไว้แล้วแต่มีจำนวนไม่เพียงพอและมีความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐต้องใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพันงบประมาณโดยเร็วเป็นกรณีที่รัฐสภาทราบก่อนแล้วว่าเป็นงบประมาณของหน่วยงานใด และทราบด้วยว่าเป็นงบประมาณเพื่อใช้จ่ายเรื่องใด ไม่ใช่การยกเว้นหลักการการตั้งงบประมาณรายจ่ายต้องมีลักษณะเฉพาะเจาะจง เป็นแต่เพียงงบประมาณรายจ่ายไม่เพียงพอเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ หากงบประมาณรายจ่ายไม่เพียงพอแล้ว รัฐบาลควรเลือกใช้วิธีการจัดสรรงบประมาณรายได้เพิ่มเติมตามวิธีการปกติต่างๆ ดังนี้

  1. อาศัยอำนาจตาม มาตรา 7 (1) แห่ง พ.ร.บ.เงินคงคลัง พ.ศ. 2491 และที่แก้ไขเพิ่มเติม สั่งจ่ายเงินจากบัญชีเงินคงคลังบัญชีที่ 2 หรือคลังจังหวัดหรือคลังอำเภอ ก่อนที่มีกฎหมายอนุญาตให้จ่ายได้
  2. อาศัยอำนาจตามมาตรา 45 แห่ง พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 จ่ายเงินจาก "เงินทุนสำรองจ่าย" ในกรณีที่มีความจำเป็นและเร่งด่วนเพื่อประโยชน์แก่ราชการแผ่นดิน และงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ไม่เพียงพอ

การอาศัยอำนาจตาม มาตรา 7 (1) แห่ง พ.ร.บ.เงินคงคลัง พ.ศ. 2491 ก็ดี หรือการอาศัยอำนาจตามมาตรา 45 แห่ง พ.ร.บ.วิธีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ดังกล่าวก็ดี มีความโปร่งใสมากกว่าการเพิ่มงบประมาณรายจ่ายโดยขอจัดสรรงบประมาณจากงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น กล่าวคือ ระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2562 กำหนดให้หน่วยรับงบประมาณจัดทำรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องที่เสนอขอรับจัดสรรงบประมาณ และจัดทำสรุปผลการปฏิบัติงานและผลการใช้จ่าย แจ้งสำนักงบประมาณทราบ เพื่อสำนักงบประมาณรายงานผลต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป แต่มิได้กำหนดให้คณะรัฐมนตรีรายงานการใช้จ่ายงบประมาณงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นต่อรัฐสภา หรือประกาศในราชกิจจานุเบกษา ขณะที่การจ่ายเงินตามมาตรา 7 (1) แห่ง พ.ร.บ.เงินคงคลัง พ.ศ. 2491 นั้นกำหนดให้ตั้งรายจ่ายเพื่อชดใช้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ หรือในกฎหมายว่าด้วยโอนงบประมาณรายจ่าย หรือในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณปีต่อไป และการจ่ายเงินทุนสำรองจ่าย ตามมาตรา 45 พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 นั้น ยังกำหนดให้รัฐมนตรีประกาศรายงานทุนสำรองจ่ายในราชกิจจานุเบกษาด้วย

2. ไม่ควรตั้งงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น มากจนเกินไป เนื่องจากงบประมาณรายจ่ายงบกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในรายการเงินสำรองกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เป็นข้อยกเว้นหลักการตั้งงบประมาณรายจ่ายอย่างเฉพาะเจาะจง หากรัฐบาลมีความจำเป็นต้องตั้งงบประมาณรายการใหม่เพิ่มเติมจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่รัฐสภาอนุมัติแล้ว รัฐบาลควรเลือกใช้วิธีการเพิ่มงบประมาณตามปกติ เช่น

  1. อาศัยอำนาจตามมาตรา 36 ของ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 ที่ให้อำนาจผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ โดยอนุมัตินายกรัฐมนตรี โอนงบประมาณรายจ่ายงบกลางรายการใดรายการหนึ่งไปเพิ่มรายการอื่นๆ ในงบกลางด้วยกันได้
  2. อาศัยอำนาจตามมาตรา 6 ของ พ.ร.บ. เงินคงคลัง พ.ศ. 2491 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ใช้ มติให้จ่ายเงินไปก่อน โดยการเสนอ พ.ร.บ. อนุญาตให้รัฐบาลจ่ายเงินไปพลางก่อน ต่อรัฐสภา (ชาญชัย แสวงศักดิ์, 2562, หน้า 107-110)
  3. เสนอ พ.ร.บ.งบประมาณเพิ่มเติม และ พ.ร.บ.โอนเงินในงบประมาณ ต่อรัฐสภา

การเพิ่มงบประมาณตามวิธีงบประมาณปกติเป็นวิธีการที่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยที่ว่า การใช้จ่ายต้องได้รับอนุมัติจากรัฐสภา

นอกจากนี้ หากพิจารณาการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองเพื่อกรณีฉุกเฉินและจำเป็น ที่ผ่านมาจะพบว่า โดยส่วนใหญ่ มีสัดส่วนการเบิกจ่ายงบประมาณงบกลาง รายการเงินสำรองเพื่อกรณีฉุกเฉินและจำเป็น ต่ำมาก ในปีงบประมาณ 2560 มีสัดส่วนการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองเพื่อกรณีฉุกเฉินและจำเป็นเพียงร้อยละ 12 เท่านั้น (ดูภาพประกอบ 3) ด้วยเหตุนี้ หากตั้งงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นมากเกินไป ย่อมเสียโอกาสในการตั้งงบประมาณรายจ่ายให้แก่หน่วยรับงบประมาณอื่น ที่มีรายการค่าใช้จ่ายที่ชัดเจนแน่นอนอยู่แล้ว

ภาพประกอบ 3

งบประมาณและการเบิกจ่าย งบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือเร่งด่วน

หน่วย: ล้านบาท
หน่วย: ร้อยละ

หมายเหตุ: * รวมงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม *** รวมงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมและการโอนงบประมาณรายจ่าย
ที่มา: "การวิเคราะห์รายจ่ายงบกลาง" รายงานการวิเคราะห์ของสำนักงบประมาณของรัฐสภา ฉบับที่ 5/2560

เชิงอรรถ

1มาตรา 15 พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561
2มาตรา 22 พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561
3มาตรา 20 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561
4ข้อ 5 ระบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2562
5ประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เรื่อง กำหนดสัดส่วนต่างๆ เพื่อเป็นกรอบวินัยทางการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561
6ข้อ 7 ระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2562
7ข้อ 13 ระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2562
8มาตรา 7 พ.ร.บ.เงินคงคลัง พ.ศ. 2491 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
9มาตรา 49 พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561

เอกสารประกอบ

"การวิเคราะห์รายจ่ายงบกลาง" รายงานการวิเคราะห์ของสำนักงบประมาณของรัฐสภา ฉบับที่ 5/2560

ชาญชัย แสวงศักดิ์ (2562) กฎหมายเกี่ยวกับวินัยการเงินการคลังของรัฐ วิธีการงบประมาณและการตรวจเงินแผ่นดิน วิญญูชน : กรุงเทพ

สุปรียา แก้วละเอียด (2561) กฎหมายงบประมาณของประเทศไทย โครงการตำราและเอกสารประกอบการสอน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สิทธิกร นิพภยะ
อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์