ทุนทางสังคม (Social capital) ความไว้เนื้อเชื่อใจ (Trust) สะท้อนประสิทธิภาพขององค์กรอย่างไร

30 ตุลาคม 2562
15579 views

ในทางเศรษฐศาสตร์เรามักจะพูดถึงคำว่า "ทุน" กันบ่อย ๆ ในบทเรียนหนังสือเศรษฐศาสตร์เบื้องต้น หรือแม้กระทั่งในข่าวประจำวัน ท่านผู้อ่านพอจะทราบไหมว่าคำว่า "ทุน" ที่ว่านั้นในปัจจุบันเราให้คำนิยามกันไปไกลถึงไหนแล้ว ในบทความนี้ ผมขออนุญาตอัพเดทให้พวกเรากัน นิยามคำว่า "ทุน" ล่าสุดที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดมาจากบทความของศาสตราจารย์ Robert Putnam นักรัฐศาสตร์การเมืองชื่อดังจากมหาวิทยาลัยHarvard ที่กล่าวไว้ว่า

"…physical capital refers to physical objects and human capital refers to properties of individuals, social capital refers to connections among individuals – social networks – and the norms of reciprocity and trustworthiness thatarise from them."

คัดมาจาก Bowling alone: America's declining social capital ปี 2016

ผมสรุปสั้นๆ ทุนแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ประเภทแรกคือ ทุนทางกายภาพ (Physical capital) เป็นทุนที่จับต้องได้ เป็นสิ่งของ ประเภทที่สองคือ ทุนมนุษย์ (Human capital) ซึ่งเป็นทุนที่ได้มาจากลักษณะเฉพาะของแต่ละบุคคล อาทิ การศึกษา ประสบการณ์ และทักษะ เป็นต้น และสุดท้าย ทุนทางสังคม (Social capital) สิ่งนี้คือทุนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับพฤติกรรมและการเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายกันระหว่างมนุษย์ด้วยกัน ถ้าท่านสังเกต จะพบว่าศาสตราจารย์ Robert Putnam ได้เน้นคำว่า ความไว้เนื้อเชื่อใจ (Trust) ไว้ในนิยามด้วย ในบทความนี้ ผมจะขออนุญาตเล่าถึงความสัมพันธ์ของความไว้เนื้อเชื่อใจกับผลลัพธ์ทางเศรษฐศาสตร์ให้ฟังกันคร่าวๆ ครับ

ความไว้เนื้อเชื่อใจ (Trust) กำลังเป็นหัวข้อที่เริ่มได้รับความสนใจของนักเศรษฐศาสตร์มากขึ้นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เพราะความไว้เนื้อเชื่อใจเป็นองค์ประกอบหนึ่งหรือแม้กระทั่งถูกจัดให้เป็นตัวแทนของทุนทางสังคมเลยทีเดียว หากไม่มีความไว้เนื้อเชื่อใจกันแล้ว มนุษย์ก็คงจะไม่สามารถมีปฏิสัมพันธ์หรือทำงานร่วมกันได้ และเราคงไม่ต้องพูดถึงผลดีของทักษะที่ส่งเสริมกันของแรงงาน (Skill complementarity effects) ในทางเศรษฐศาสตร์กันให้เสียเวลา เพราะอาจจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้จริง หากคนที่ร่วมงานกันไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกัน นักเศรษฐศาสตร์มักใช้ผลดีของทักษะที่ส่งเสริมกันของแรงงาน(Skill complementarity effects) เป็นกลไกหลักที่สำคัญอธิบายปรากฏการณ์การเพิ่มขึ้นของประสิทธิภาพของแรงงานในแง่ของค่าจ้าง รวมไปถึงประสิทธิภาพขององค์กรทั้งในด้านการงานและการผลิต ผมมองว่าการให้เหตุผลเช่นนี้อาจจะเริ่มใช้ไม่ค่อยได้แล้วในสังคมปัจจุบันที่มีเครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่างแรงงานกับนายจ้างที่กว้างและสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้นทั้งในที่ทำงานและนอกที่ทำงาน

สำหรับความสำคัญของทุนทางสังคมที่มีต่อผลลัพธ์ทางเศรษฐศาสตร์ ตัวอย่างแรกคืองานศึกษาเชิงประจักษ์ของ Sarah Brown และคณะวิจัย เรื่อง Employee Trust and Workplace Performance ใน Journal of Economic Behavior & Organization ตีพิมพ์ในปี 2015 งานการศึกษานี้ศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างลูกจ้างกับนายจ้างที่มีต่อประสิทธิภาพขององค์กร โดยใช้ข้อมูลของบริษัทในสหราชอาณาจักรในปี 2004 และปี 2011 การศึกษานี้พบว่ายิ่งลูกจ้างและนายจ้างมีความไว้เนื้อเชื่อใจกันมากเท่าไหร่ ประสิทธิภาพขององค์กรนั้นจะยิ่งมีมากขึ้นมากเท่านั้น ทั้งในแง่ของการเงิน ผลผลิตแรงงาน และคุณภาพของสินค้าและบริการที่ออกไปสู่ตลาด ไม่ว่าจะเป็นช่วงก่อนหรือหลังวิกฤตการณ์ทางการเงิน (Financial crisis) กลไกที่สำคัญคือ ความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างลูกจ้างกับนายจ้างที่เพิ่มมากขึ้นสามารถนั้นนำไปสู่ปรากฏการณ์ 2 ทาง คือ การที่นายจ้างสามารถโน้มน้าวให้ลูกจ้างอยากพัฒนาทักษะตัวเองให้มากขึ้น หรือเพิ่มการมีส่วนร่วมของลูกจ้างในกิจกรรมต่างๆ ที่ส่งผลดีกับประสิทธิภาพขององค์กร และทางฝั่งลูกจ้างเองก็อยากที่จะลงมือลงแรง (Effort) ให้กับองค์กรมากยิ่งขึ้น การศึกษาของSarahBrown และคณะวิจัย ยังพบอีกว่าการปรับลดค่าจ้างล่วงเวลาและการลดการอบรมทักษะของแรงงานในองค์กรนั้นส่งผลทำให้ความไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างลูกจ้างกับนายจ้างในองค์กรลดลงอย่างมาก

อีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือ งานวิจัยเชิงประจักษ์ของ Karl Lins และคณะวิจัย เรื่อง Social Capital, Trust, and Firm Performance: The Value of Corporate Social Responsibility during the Financial Crisis ใน Journal of Finance ตีพิมพ์เมื่อปี 2017 การศึกษานี้ศึกษาข้อมูลของบริษัทต่างๆ ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกาช่วงปี 2006 – 2009 ซึ่งคร่อมช่วงวิกฤตการณ์ทางการเงิน (Financial crisis) เช่นกัน การศึกษาพบว่าองค์กรที่มีการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างองค์กรกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดทั้งในและนอกองค์กร (Stakeholders and Investors) ไว้มากนั้นนำไปสู่กำไร ผลตอบแทน และยอดขายของลูกจ้างที่มากขึ้น เมื่อเทียบกับองค์กรที่ไม่ได้ลงทุนสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจใดๆ กับลูกจ้างหรือสังคมเลย ผลลัพธ์ของทุนทางสังคมนั้นจะส่งผลดีมากที่สุดในช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์หรือช่วงที่ความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างผู้เล่นในระบบเศรษฐกิจมีน้อยที่สุด การศึกษาของ Linsและคณะวิจัย แนะนำว่า สามารถสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจที่ว่าได้จากการลงทุนใน CSR (Corporate social responsibility) ขององค์กร ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจนั้นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและนักลงทุน (Stakeholders and Investors) มักกังวลและไม่ค่อยเชื่อมั่นกับตัวเลขทางการเงินมากนัก ทำให้หันไปสนใจและมองหาปัจจัยที่จะทำให้องค์กรนั้นๆ มีความน่าเชื่อใจพอที่จะทำสัญญาด้วย โดยอาจจะหันไปมองความน่าเชื่อถือขององค์กรผ่านจากทุนทางสังคมที่องค์กรสะสมไว้ ซึ่งเป็นมูลค่าที่ไม่สามารถวัดได้ทางบัญชี ดังนั้นปัญหาการทำสัญญา (contracts) ระหว่างองค์กรกับผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างและคู่ค้า ที่ต่างฝ่ายต่างมีแนวโน้มที่จะผิดสัญญากันในช่วงที่ความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันมีน้อย จะมีแนวโน้มลดลง ตลอดจนยังช่วยลดขั้นตอนที่เป็นทางการลง ส่งผลให้องค์กรที่มีทุนทางสังคมสูงนี้มีโอกาสลดต้นทุนได้เร็วและสามารถกลับมาเติบโตและทำกำไรได้ดีแม้ว่าจะอยู่ในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังถดถอยก็ตาม

เนื่องจากงานศึกษาในด้านนี้กำลังได้รับความนิยม ผมคงไม่สามารถสรุปมาให้ได้ทั้งหมด แต่หวังว่าบทความชิ้นนี้จะช่วยเปิดมุมมองผู้อ่านให้กว้างและใหม่ขึ้น เห็นความสำคัญของการลงทุนกับทุนทางสังคมในแง่ของการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันในสังคมให้มากขึ้น และคิดว่าจะมีประโยชน์ไม่มากก็น้อยสำหรับผู้ที่ได้แวะเวียนผ่านมา...ผ่านตา ไว้พบกันใหม่ในตอนหน้าครับ


อ้างอิง

Brown, S., Gray, D., McHardy, J., & Taylor, K. (2015). Employee trust and workplace performance. Journal of Economic Behavior and Organization, 116, 361–378. https://doi.org/10.1016/j.jebo.2015.05.001

Lins, K. V., Servaes, H., & Tamayo, A. (2017). Social Capital, Trust, and Firm Performance: The Value of Corporate Social Responsibility during the Financial Crisis. Journal of Finance, 72 (4), 1785–1824. https://doi.org/10.1111/jofi.12505

Putnam, R. D. (2016). Bowling alone: America's declining social capital. In Culture and Politics: A Reader (pp. 223–234). Palgrave Macmillan. https://doi.org/10.1007/978-1-349-62397-6

ถิรภาพ ฟักทอง
อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความสนใจด้านเศรษฐศาสตร์แรงงานเชิงปริมาณวิเคราะห์ การออกแบบและประเมินนโยบายเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตคน