หนังสือชุดความรู้เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy Booklet)

5007 views

ศูนย์วิจัยนโยบายด้านเศรษฐกิจสีเขียว (ศูนย์ PRO-Green) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ได้จัดทำหนังสือชุดความรู้เศรษฐกิจสีเขียว จำนวน 5 เล่ม คือ
(1) เส้นทางเศรษฐกิจสีเขียว
(2) ตัวชี้วัดเศรษฐกิจสีเขียว
(3) การค้าระหว่างประเทศกับสิ่งแวดล้อม กรณีศึกษาความตกลงว่าด้วยสินค้าและบริการสิ่งแวดล้อม
(4) ภาคเกษตรไทย บนเส้นทางของเศรษฐกิจสีเขียวและการพัฒนาที่ยั่งยืน และ
(5) เทคโนโลยีสีเขียวเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวในประเทศไทย

หนังสือเล่มแรก "เส้นทางเศรษฐกิจสีเขียว" ของ รศ.ดร.โสภารัตน์ จารุสมบัติ คุณนิตยา โพธิ์นอก และ อ.ดร.จารุพล เรืองสุวรรณ แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนังสือเล่มนี้มีเนื้อหา 3 ส่วน คือ แนวคิดเศรษฐกิจสีเขียว กรณีศึกษาตัวอย่างที่ดีของนโยบายเศรษฐกิจสีเขียวในต่างประเทศ และนโยบายเศรษฐกิจสีเขียวของไทย

ในเนื้อหาส่วนแรก หนังสือเล่มนี้ได้นำเสนอความเป็นมาของแนวคิดเศรษฐกิจสีเขียว (green economy) ความหมายของแนวคิดเศรษฐกิจสีเขียว รวมถึงความหมายของแนวคิดที่เกี่ยวข้องเช่น การเติบโตสีเขียว (green growth) และการพัฒนาอย่างยั่งยืน (sustainable development) ตลอดจนความสำคัญของแนวคิดเศรษฐกิจสีเขียวในด้านต่างๆ รวมถึงเป้าหมายและการวัดความสำเร็จของเศรษฐกิจสีเขียว

เนื้อหาส่วนต่อมา หนังสือเส้นทางเศรษฐกิจสีเขียวนี้ ได้ศึกษาเปรียบเทียบนโยบายเศรษฐกิจสีเขียวของเยอรมนี ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ทั้งระดับนโยบาย กฎหมาย และมาตรการต่างๆ ของแนวคิดเศรษฐกิจสีเขียว ตลอดจนวิเคราะห์ปัจจัยความสำเร็จของนโยบายเศรษฐกิจสีเขียว และการออกมาตรการตามนโยบายไปสู่ภาคปฏิบัติ

ในส่วนสุดท้ายของเล่ม หนังสือเล่มนี้ได้กลับมาสำรวจนโยบาย กฎหมาย และมาตรการตามนโยบายเศรษฐกิจสีเขียวของไทย พร้อมทั้งเปรียบเทียบนโยบายและมาตรการของไทยกับต่างประเทศ พร้อมทั้งนำเสนอช่องว่างทางโยบาย และช่องทางการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ตลอดจนข้อเสนอแนะเพื่อส่งเสริมนโยบายเศรษฐกิจสีเขียวในประเทศไทย

หนังสือเล่มต่อมาคือ "ตัวชี้วัดเศรษฐกิจสีเขียว" โดย ผศ.ดร.อนิณ อรุณเรืองสวัสดิ์ แห่งคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนังสือเล่มนี้มีเนื้อหา 3 ส่วนคือ ส่วนแรกนำเสนอความเป็นมาและความหมายของเศรษฐกิจสีเขียว (green economy) และการเติบโตสีเขียว (green growth) ตลอดจนความสำคัญและจำเป็นของดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจสีเขียว

ส่วนที่สอง ได้ทบทวนและวิเคราะห์ดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจสีเขียวและการเติบโตสีเขียวทั้งระดับประเทศและดับพื้นที่จากองค์กรต่างประเทศจำนวน 9 หน่วยงาน อันประกอบด้วย
(1) ดัชนีของบริษัท Dual Citizens
(2) โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environmental Programme : UNEP)
(3) องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Co-operation and Development : OECD)
(4) The Green Growth Knowledge Platform (GGKP)
(5) ธนาคารโลก (world bank)
(6) องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมแห่งยุโรป (European Environment Agency : EEA)
(7) Carbon Disclosure Project
(8) Economist Intelligence Unit (EIU) และ
(9) การศึกษาของ Orenis Brilhante และ Jannes Klass

นอกจากนี้ ยังได้ทบทวนและวิเคราะห์ดัชนีที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจสีเขียวของประเทศไทยอีก 3 หน่วยคือ คือ
(1) ดัชนีวัดเมืองสิ่งแวดล้อม ของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
(2) ดัชนีวัดการพัฒนาระดับจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ
(3) ดัชนีวัดเมืองอุตสาหกรรมนิเวศ ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศ

เนื้อหาส่วนสุดท้าย หนังสือเล่มนี้ได้ทดลองนำเสนอดัชนีชี้วัดการพัฒนาในระดับประเทศ ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจสีเขียวของประเทศไทย ในด้านต่างๆ เช่น ตัวชี้วัดด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ตัวชี้วัดด้านผลิตภาพและความเข้มข้นของการใช้ทรัพยากร ตัวชี้วัดคุณภาพชีวิตของประชาชนจากสภาวะแวดล้อม ตัวชี้วัดด้านความเสี่ยงและโอกาส และตัวชี้วัดด้านการใช้เครื่องมือเชิงนโยบาย พร้อมทั้งได้นำเสนอดัชนีชี้วัดระดับเมือง/จังหวัด และตัวอย่างการคำนวณตัวชี้วัดเศรษฐกิจสีเขียวของไทยโดยสังเขป

หนังสือเล่มที่สาม "การค้าระหว่างประเทศกับสิ่งแวดล้อม กรณีศึกษาความตกลงว่าด้วยสินค้าและบริการสิ่งแวดล้อม" โดย ผศ.สิทธิกร นิพภยะ แห่งคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร หนังสือเล่มนี้มีเนื้อหา 3 ส่วน เนื้อหาส่วนแรกนำเสนอสาเหตุปัญหาสิ่งแวดล้อมในมุมเศรษฐศาสตร์ ความสัมพันธระหว่างการเปิดเสรีการค้าระหว่างประเทศกับปัญหาสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเหตุผลความจำเป็นของการทำความตกลงระหว่างประเทศ

ส่วนที่สอง นำเสนอภาพรวมบทบัญญัติด้านสิ่งแวดล้อมในความตกลงเปิดเสรีการค้าระหว่างประเทศทั้งความตกลงเปิดเสรีการค้าระดับพหุภาคีภายใต้องค์การการค้าโลก และความตกลงเปิดเสรีการค้าระดับภูมิภาค เช่น ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก

ส่วนที่สาม นำเสนอความเป็นมาและเนื้อหาการเจรจาเปิดเสรีการค้าสินค้าด้านสิ่งแวดล้อม และการเปิดเสรีการค้าบริการด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งระดับพหุภาคีภายใต้องค์การการค้าโลก และระดับภูมิภาคทั้งส่วนของความร่วมมือด้านเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก และความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ตลอดจนวิเคราะห์ถึงผลกระทบของความตกลงเปิดเสรีการค้าสินค้าและบริการด้านสิ่งแวดล้อมว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือไม่เพียงใด

หนังสือเล่มที่สี่ เรื่อง "ภาคเกษตรไทย บนเส้นทางของเศรษฐกิจสีเขียวและการพัฒนาที่ยั่งยืน" โดยอาจารย์นนท์ นุชหมอน แห่งคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนังสือเล่มนี้มีเนื้อหา 3 ส่วน คือ ส่วนแรก นำเสนอและเชื่อมโยงแนวคิดเศรษฐกิจสีเขียวและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) กับภาคเกษตรกรรม

เนื้อหาส่วนที่สอง นำเสนอการสังเคราะห์รูปแบบการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเศรษฐกิจสีเขียวในภาคเกษตรกรรมของไทย ทั้งมิติด้านเศรษฐกิจ (การส่งเสริมการเติบโตและเพิ่มผลิตภาพภาคเกษตรกรรม) มิติทางสังคม (การลดความเหลื่อมล้ำและการเพิ่มศักยภาพเกษตรรายย่อย) และมิติด้านสิ่งแวดล้อม (การส่งเสริมรูปแบบการเกษตรทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการลดความเสี่ยงด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม)

เนื้อหาส่วนสุดท้าย นำเสนอระบบเกษตรกรรมทางเลือกที่นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งระบบการผลิตทางเลือก และระบบการตลาดการเกษตรและอาหารทางเลือก พร้อมทั้งยกตัวอย่างมาตรการที่ประเทศต่างๆ ใช้ส่งเสริมระบบเกษตรกรรมทางเลือกที่นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ตลอดจนนำเสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อขับเคลื่อนภาคเกษตรกรรมของไทยให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน

หนังสือเล่มสุดท้าย "เทคโนโลยีสีเขียวเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวในประเทศไทย" โดย ผศ.ดร.ชโลทร แก่นสันติสุขมงคล แห่งคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนังสือเล่มนี้นำเสนอช่องว่างทางนโยบายด้านเทคโนโลยีเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมในประเทศไทย พร้อมทั้งได้เชื่อมโยงมุมมองของทฤษฎีการพัฒนาเทคโนโลยี กับสภาพการณ์ ความสำคัญ และความเร่งด่วนของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อที่จะวิเคราะห์ประเมินสถานภาพ ทางเลือก และข้อเสนอแนะเชิงมาตรการเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีสีเขียว ให้บรรลุเป้าหมายของการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน

ผู้อ่านที่สนใจหนังสือทั้ง 5 เล่มดังกล่าว สามารถดาวโหลดได้ที่เว็บไซต์ หนังสือชุดความรู้เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy Booklet) ศูนย์วิจัยนโยบายด้านเศรษฐกิจสีเขียว (www.progreencenter.org) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

พิมพ์นารา รอดกุล
ผู้จัดการศูนย์วิจัยนโยบายเศรษฐกิจสีเขียว คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรมศาสตร์