คำถามง่ายๆ ที่เราต้องคิดคือ หลังเกษียณเราจะใช้จ่ายกันเดือนละเท่าไร วันละเท่าไร เตรียมค่าใช้จ่ายสำหรับการเจ็บป่วยดูแลสุขภาพ ภาษีสังคม และการเกื้อกูลเพื่อนมนุษย์มากน้อยแค่ไหน ถ้าเราคิดแบบง่ายๆ ว่า เราตัวคนเดียวไม่มีภาระอะไร ใช้จ่ายเดือนละ 20,000-30,000 บาท ก็เพียงพอแล้ว สิ่งที่ต้องคำนึงคือ กระแสเงินอย่างนี้จะมาจากไหน บำนาญ? ผลตอบแทนจากการลงทุน? เงินฝาก? ฯลฯ นั่นหมายถึง เราต้องทำอะไรสักอย่างก่อนเกษียณ
สถานะของการเป็นข้าราชการทำให้มีบำนาญ หลังเกษียณก็มีกระแสเงินสดเข้ามา แต่หากไม่ใช่ข้าราชการ หลังเกษียณอาจมีเงินก้อนเล็กน้อย ลองเอาตัวเลข 20,000-30,000 บาทหารดูว่า เงินก้อนนั้นจะทำให้เราอยู่ได้สักกี่ปี ทั้งนี้ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า ชีวิตเราไม่มีปัญหาสุขภาพหรือ เรื่องร้ายๆที่จะกระทบกระแสเงินสดของเรา
ใครมีมือถือ Scan QR Code ด้านบนได้ ในเพจของ Finnomena สตาร์อัพฟินเทคด้านการลงทุนของไทย มีตัวช่วยที่ทำให้เห็นว่า หากเราไม่มีกระแสเงินสดหลังเกษียณแล้ว ในช่วงก่อนเกษียณเราต้องมีเงินเท่าไรเพื่อจะนำไปลงทุน ฝากธนาคาร หรือซื้อประกันแบบสะสมทรัพย์ แน่นอนครับว่า อายุน้อยๆ เช่น 25 ปี 30 ปี ก็เก็บสะสมต่อเดือนไม่มากนัก เพื่อให้มีกระแสเงินสดเท่าที่ต้องการหลังเกษียณ แต่หากอายุมากๆ เช่น 45 ปีขึ้นไป ก็ต้องเก็บต่อเดือนมากหน่อย
อ่านถึงตรงนี้ คนที่กำลังใจไม่มั่นคงหรือถนัดใช้จ่ายปัจจุบันก็อาจจะบอกว่า ในอนาคตก็ฝากไว้กับรัฐ หรืออนาคตใหม่ก็แล้วกัน ผมคงต้องบอกว่า การเก็บเงินนั้นสำคัญที่แนวคิด สมมติว่าเราอยากเก็บเงินให้ได้ 1 ล้านบาท โดยเก็บเงินเดือนละ 1,000 บาท เราต้องใช้เวลาทั้งสิ้นราว 80 ปีในภาวะดอกเบี้ยน้อยๆ เช่นนี้ครับ การเก็บเดือนละ 2,000 บาทต่อเดือนทำให้เป้าหมายนั้นลดลงเหลือราว 40 ปี ในทางตรงกันข้าม หากเราเอาเงินเดือนละ 1,000 บาทไปลงทุนและมีผลตอบแทนราวร้อยละ 9 ต่อปี อาจทำให้เราใช้เวลาเพียง 20 กว่าปีเท่านั้น และหากเราเก็บเดือนละ 2,000 บาทต่อเดือนทำให้เป้าหมายนั้นลดลงเหลือราว 10 กว่าปีครับ
ผมกำลังจะบอกว่า อย่าหมิ่นเงินน้อยที่เราค่อยๆ เก็บครับ.. มันจะงอกเงยหากเราลงทุนอย่างเหมาะสมครับ
ลองคิดดูครับ บางท่านเป็นสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ที่มีการส่งทุนเรือนหุ้นทุกเดือน หากผลตอบแทนที่เป็นอัตราเงินปันผลอยู่ที่ร้อยละ 5 และท่านมีเงินต้นสัก 3 ล้านบาท ปีหนึ่งท่านจะได้เงินปันผลราว 150,000 บาทต่อปี หรือเดือนละหมื่นกว่าบาท แต่หากอัตราเงินปันผลร้อยละ 8 ท่านจะได้เงินปันผลราว 240,000 บาทหรือเดือนละสองหมื่นบาททั้งนี้ยังไม่รวมเงินต้นที่ท่านเก็บในรูปทุนเรือนหุ้น
การวางแผนการเงินนั้นทุกคนควรมีแผนการเงินของตนเอง อย่าลอกใคร เพราะลักษณะการใช้จ่าย พฤติกรรมการใช้ชีวิตของแต่ละคน และการให้ความสำคัญของแต่ละคนไม่เหมือนกัน
บางคนอาจจะใช้วิธีแบ่งเงินเป็น 3 กอง คือ ลงทุน ใช้จ่าย ฉุกเฉิน เป็นต้น บางคนให้ความสำคัญกับการศึกษาบุตร ทำให้พฤติกรรมการเงินจะแตกต่างจากคนอื่น บางคนสนใจเรื่องการติดตามแฟชั่น ก็ทำให้พฤติกรรมการใช้เงินมีความแตกต่างกันออกไป แต่ทั้งนี้การเก็บเงินต่อเดือนก็เป็นเรื่องที่ควรทำอย่างต่อเนื่อง และฝึกจนเป็นนิสัย
หลักการสำคัญคือ เงินออมควรเป็นสิ่งที่ถูกจัดความสำคัญก่อนการใช้จ่าย หมายถึง ออมก่อนใช้ มากกว่า เหลือจึงออม
ในทางเศรษฐศาสตร์ แม้ว่าจะมีความพยายามเผยแพร่แนวคิดออมก่อนการใช้จ่าย แต่พบว่าไม่ประสบความสำเร็จ นักเศรษฐศาสตร์เชิงพฤติกรรมจึงค้นหาวิธีให้ประชาชนออมเงิน โดยใช้แนวคิด Nudge หรือวิธีการอย่างแนบเนียนที่จะทำให้ประชาชนออมเงิน Richard Thaler และ Cass Sunstein นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ได้เขียนเรื่องข้างต้นไว้ในหนังสือชื่อ Nudge : Improving Decisions about Health, Wealth, and Happiness ว่า การออมของประชาชนจะเพิ่มขึ้นหากมีการหักจากค่าจ้างหรือเงินเดือน หรือพูดง่ายๆ คือบังคับออมเงินโดยอัตโนมัติ เว้นเสียจากจะระบุว่าไม่ต้องการ หลักการนี้เป็นหลักการที่สหกรณ์ออมทรัพย์ใช้ส่งเสริมการออมของสมาชิกในรูปของการหักเงินเข้าทุนเรือนหุ้นนั่นเอง
ผู้บริหารหน่วยงานควรส่งเสริมการออมของพนักงานโดยการบังคับออมโดยอัตโนมัติ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของการจูงใจผ่านกองทุนประกันสังคม สหกรณ์ออมทรัพย์ กองทุนการออม เว้นแต่พนักงานนั้นจะระบุว่าไม่ยินยอม ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมการวางแผนการเงินหลังเกษียณของพนักงาน
เคล็ดลับความสำเร็จของการมีเงินใช้หลังเกษียณคือ เริ่มออมเร็ว ลงทุนเป็น มีวินัย และไม่ประมาทครับ