คนรุ่นใหม่ หัวใจสีเขียว

2490 views

เมื่อเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยนโยบายด้านเศรษฐกิจสีเขียว (Pro-green) คณะเศรษฐศาสตร์ โดยการสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) ได้จัดงานเสวนาเรื่อง "คนรุ่นใหม่ หัวใจสีเขียว"

(คุณอรุษ นวราช คุณวรุษ วารัญญานนท์ ผศ.ดร.วิจิรบุษบา มารมย์ และ .ชล บุนนาค)

การเสวนาครั้งนี้ได้รับเกียรติจากคุณอรุษ นวราช กรรมการผู้จัดการสวนสามพราน และผู้ก่อตั้งโครงการ 'สามพรานโมเดล' คุณวรุษ วารัญญานนท์ ผู้ช่วยผู้จัดการโครงการ 'Chula Zero Waste' และที่ปรึกษาเพื่อภาคีอุตสาหกรรม PETROMET และ ผศ.ดร.วิจิตรบุษบา มารมย์ หัวหน้าหน่วยวิจัย 'อนาคตและนโยบายเมือง' (Urban Futures and Policy Research Unit) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเสวนา โดยมี อ.ชล บุนนาค อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินการเสวนา

ผู้แทน Green ในภาคเกษตรและชุมชน

(คุณอรุษ นวราช กรรมการผู้จัดการสวนสามพราน และผู้ก่อตั้งโครงการ 'สามพรานโมเดล')

คุณอรุษ นวราช ได้เล่าถึงสามพรานโมเดล โมเดลธุรกิจที่ยั่งยืนบนพื้นฐานความเป็นธรรมตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้การขับเคลื่อนของมูลนิธิสังคมสุขใจ ซึ่งเป็นธุรกิจเกื้อกูลสังคมโดยติดต่อให้เกษตรกรในพื้นที่ส่งข้าว ผัก ผลไม้ จุดขายทางธุรกิจโดยตรง โครงการสามพรานโมเดลช่วยหาช่องทางการตลาดใหม่ๆ ให้เกษตรกร เป็นตัวกลางเชื่อมระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภคผ่านห่วงโซ่คุณค่าเกษตรอินทรีย์บนพื้นฐานของธุรกิจที่เป็นธรรม โดยเล็งเห็นว่า จากเดิมเกษตรกรส่วนใหญ่ขายผลผลิตผ่านพ่อค้าคนกลางซึ่งเป็นผู้กำหนดราคาผลผลิต ขณะที่เกษตรกรไม่สามารถควบคุมต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นจากราคาสารเคมีการเกษตรได้ ทำให้เกษตรมีปัญหาหนี้สินและสุขภาพเพิ่มมากขึ้น อีกทั้ง สิ่งแวดล้อมยังเสื่อมโทรมลง

นอกจากนี้ คุณอรุษยังเห็นว่า ปัญหาทางสังคมและความเหลื่อมล้ำยังเกิดจากการที่เกษตรกรซึ่งเป็นผู้ผลิตอาหารขาดองค์ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินงานระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค รวมถึงความต้องการทางด้านอาหารของผู้บริโภค ในส่วนนี้ ภาครัฐจำเป็นต้องสนับสนุนทางนโยบายส่งเสริมอาหารอินทรีย์เพื่อเป็นตัวเชื่อมประสานระหว่างเกษตรกรกับผู้ผลิตโภค ให้สนับสนุนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนต่อไป

คุณอรุษยังเห็นว่า ความท้าทายในการส่งเสริมคนรุ่นใหม่ในการสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนคือ การสร้างหรือส่งเสริมการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากการปฏิบัติ และแบ่งปันหรือเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในสังคม รวมถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

ผู้แทน Green ในภาคสถาบันศึกษา

(คุณวรุษ วารัญญานนท์ ผู้ช่วยผู้จัดการโครงการ 'Chula Zero Waste' และที่ปรึกษาเพื่อภาคีอุตสาหกรรม PETROMET)

คุณวรุณ วารัญญานนท์ ได้แลกเปลี่ยนเกี่ยวกับโครงการ Chula Zero Waste ว่า เป็นโครงการ 5 ปี ได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการยั่งยืนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยใช้หลักการ 3Rs (Reduce, Reuse, Recycle) การจัดตั้งโครงการฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อ

1) เพื่อพัฒนาระบบการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้เป็นต้นแบบการจัดการขยะในพื้นที่เมือง

2) เพื่อพัฒนาและบูรณาการความรู้เรื่องการลด คัดแยก และการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอนและกิจกรรมภาคปฏิบัติทุกระดับตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงมหาวิทยาลัย

3) เพื่อสร้างค่านิยม Zero Waste และความตระหนักของบุคลากรในจุฬาฯ (คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ นิสิต) ให้เห็นความสำคัญของการลดและคัดแยกขยะที่ต้นทาง และเป็นตัวอย่างให้กับชุมชนและสังคม

ทางโครงการฯ ได้ริเริ่มโครงการ Zero waste cup เพื่อเลิกใช้แก้วพลาสติก โดยดำเนินการทั้งการเปลี่ยนแก้วที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติภายใน 4-6 เดือน และเรียกเก็บเงินจากการใช้แก้วใบละ 2 บาท เพื่อรณรงค์ให้บุคลากรนำแก้วมาเอง โครงการ Zero waste cup นี้ช่วยลดขยะพลาสติกในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้จำนวนมาก นอกจากนี้ ยังได้ริเริ่มโครงการเก็บเงินค่าถุงพลาสติก ซึ่งพบว่าปริมาณการใช้ถุงพลาดสติกก็ลดลง ถือว่าเป็นมาตรการที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ ทางโครงการยังได้ส่งเสริมให้นำเศษอาหารมาผลิตเป็นปุ๋ยเพื่อใช้ภายในมหาวิทยาลัยอีกด้วย

คุณวรุษยังมองว่า ความท้าทายในการส่งเสริมคนรุ่นใหม่ในการสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนคือ การสื่อสารและการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร เนื่องจากภายในมหาวิทยาลัยมีช่องว่างของอายุของทั้งคณาจารย์ พนักงาน รวมถึงนิสิต แต่ละคนมีช่องทางการรับข่าวสารหรือการเข้าถึงข้อมูลที่ต่างกัน ทำให้เป็นเรื่องยากที่จะสื่อสารให้ทุกคนได้รับรู้ข้อมูลเท่าๆ กัน รวมถึงการสื่อสารเพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมก็เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เช่นกัน ด้วยเหตุนี้ โครงการจึงมุ้งเน้นการสื่อสาร เพื่อประชาสัมพันธ์ข่าวสารให้ครอบคลุมทุกช่องทางการสื่อสาร

ผู้แทน Green ในภาคเมือง

(ผศ.ดร.วิจิตรบุษบา มารมย์ หัวหน้าหน่วยวิจัย 'อนาคตและนโยบายเมือง' (Urban Futures and Policy Research Unit) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)

ผศ.ดร. วิจิตรบุษบา มารมย์ ได้เล่าถึงจุดเริ่มต้นการขับเคลื่อนโครงการ Urban future โดยพยายามมองเมืองในอนาคตว่าจะเป็นอย่างไร และจะจัดการอย่างไร เพื่อผลักดันให้เกิดสมดุลระหว่างสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม โครงการ Urban future ได้ดำเนินการทั้ง 2 ด้าน คือ 1) ด้านนักวิชาการศึกษาเพื่อทำการออกมาตรการ ข้อเสนอแนะ กฎหมาย นโยบาย เนื่องจากภายในประเทศมีนโยบายมากแต่ขาดการดำเนินงาน และ 2) ด้านบุคคลที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาเมือง (Urban actor) ซึ่งไม่ได้มีเพียงรัฐบาล แต่ยังมีภาคเอกชน และชุมชนเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องที่สำคัญในการพัฒนาเมือง

Urban future ให้ความสำคัญในเรื่องการพัฒนาเมืองแบบมองรอบด้านหรือ Global change โดย ศึกษาว่าเมืองในอนาคตจะตอบโจทย์ผู้คนได้อย่างไร การศึกษาและการทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงวิธีการบริโภคและวิถีการใช้ชีวิตของของประชากรในเมือง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเมืองที่ดีในอนาคต

ผศ.ดร. วิจิตรบุษบา เห็นว่า ข้อมูลของประเทศไทยอาจยังมีไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ และยังขาดแหล่งรวบรวมข้อมูลที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ นอกจากนี้ การมีส่วนร่วมของชุมชนในการอัพเดทข้อมูล เป็นอีกความท้าทายหนึ่งที่หน่วยงานภาครัฐจะต้องเข้ามามีบทบาทและสนับสนุนการเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ อีกด้วย ปัญหาเมืองในปัจจุบันก็ยังขาดช่องทางที่ชุมชนจะสามารถสื่อสารหรือสะท้อนปัญหากับภาครัฐ จึงเป็นสาเหตุให้ขาดการแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ

ท่านผู้อ่านที่สนใจ

สามพรานโมเดล ติดตามได้ที่ www.sampranmodel.com

โครงการ Chula Zero Waste ติดตามได้ที่ www.chulazerowaste.chula.ac.th

โครงการ Urban Future ติดตามได้ที่ www.urbanfuturestu.com

และติดตามกิจกรรมศูนย์ศูนย์วิจัยนโยบายด้านเศรษฐกิจสีเขียว (Pro-green) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ที่ https://progreencenter.org/

พิมพ์นารา รอดกุล
ผู้จัดการศูนย์วิจัยนโยบายเศรษฐกิจสีเขียว คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรมศาสตร์