ทุกๆ เดือน สำนักงานสถิติแห่งชาติจะรายงานผล 'สำรวจภาวะการทำงานของประชากร' ตัวเลขที่สื่อมวลชนมักให้ความสนใจก็คือ อัตราการว่างงาน (unemployment rate) ผู้เขียนสังเกตเห็นว่า ในช่วงปีที่ผ่านมา สำนักข่าวต่างๆ มักมีการพาดหัวด้วยคำในลักษณะชวนกังวล ไม่ว่าจะเป็น 'ยุคบัณฑิตตกงาน' '.ตรี ตกงานอื้อ' 'ตัวเลขคนตกงานพุ่งสูงมาก'([1],[2],[3]) ผู้เขียนจึงใช้โอกาสนี้รวบรวมการตีความจากอัตราการว่างงานของไทยมาไว้ในบทความนี้ เนื่องจากผู้เขียนเห็นว่ามีการใช้ตัวเลขดังกล่าวในการตีความคลาดเคลื่อนไปในหลายโอกาส

1. อัตราการว่างงานคืออะไร
อัตราการว่างงาน หมายถึง สัดส่วนของจำนวนผู้ว่างงานต่อกำลังแรงงานทั้งหมด คูณด้วย 100 (มีหน่วยเป็นร้อยละ) เมื่อความหมายเป็นเช่นนี้แล้ว จึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจความหมายของคำสองคำที่สำคัญ ได้แก่ กำลังแรงงาน และผู้ว่างงาน

แบบสำรวจภาวะแรงงาน (Labor Force Survey: LFS) ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้นิยาม กำลังแรงงาน หมายถึง จำนวนผู้ที่มีอายุอยู่ในวัยแรงงาน (15 ปีขึ้นไป) ที่มีความพร้อมและต้องการทำงาน ในขณะที่ ผู้ว่างงาน หมายถึง ผู้ที่มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

  1. ไม่ได้ทำงานและไม่มีงานประจำ แต่ได้หางาน สมัครงาน หรือรอการบรรจุในช่วง 7 วันก่อนการสำรวจ หรือ
  2. ไม่ได้ทำงานและไม่มีงานประจำ แต่ได้หางาน สมัครงาน หรือรอการบรรจุในช่วง 8-30 วันก่อนการสัมภาษณ์ และพร้อมที่จะทำงานในสัปดาห์แห่งการสำรวจ หรือ
  3. ไม่ได้ทำงานและไม่มีงานประจำ และไม่ได้หางานทำในช่วง 30 วันก่อนการสัมภาษณ์ แต่พร้อมที่จะทำงานในสัปดาห์แห่งการสำรวจ จากความหมายข้างต้นจึงไม่น่าแปลกใจนักว่า ตัวเลขผู้ว่างงานมักจะต่ำกว่าความเข้าใจทั่วไปของเรา เนื่องจากผู้ว่างงานไม่นับรวมกลุ่มคนที่เต็มใจจะไม่ทำงานอย่าง เช่น ผู้ทำงานบ้าน นักศึกษา พระภิกษุสงฆ์ คนชราที่ไม่ต้องการทำงาน อัตราการว่างงานคำนวณขึ้นมาโดยนับรวมเฉพาะคนที่พร้อมทำงานเท่านั้น

2. อัตราการว่างงานของไทยเป็นอย่างไร
หากย้อนดูสถิติตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 จากภาพที่ 1 จำนวนผู้ว่างงานอยู่ที่ราว 3-4 แสนคน และอัตราการว่างงานอยู่ราวๆ ร้อยละ 0.8-1 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 ในขณะที่ภาพที่ 2 แสดงให้เห็นว่าสัดส่วนของผู้ว่างงานเป็นผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีมากที่สุดในช่วงเวลาดังกล่าว

เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในโลก ประเทศไทยถือว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการว่างงานต่ำที่สุดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 ถึงปัจจุบัน ข้อมูลของธนาคารโลกแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีอัตราการว่างงานต่ำที่สุดเป็นอันดับที่ 3 หรือ 4 เสมอมา ใน พ.ศ. 2561 ค่าเฉลี่ยอัตราการว่างงานของทุกประเทศอยู่ที่ประมาณร้อยละ 5 ประเทศในทวีปเอเชียตะวันออกและมหาสมุทรแปซิฟิกอยู่ที่ประมาณร้อยละ 4 เช่นเดียวกับทวีปอเมริกาเหนือ ในขณะที่กลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปมีอัตราการว่างงานสูงประมาณร้อยละ 7




ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย

3. อัตราการว่างงานบอกอะไร และไม่ได้บอกอะไร
อัตราการว่างงานควรนำมาใช้อย่างตรงไปตรงมาที่สุดตามความหมาย มันคือสัดส่วนของผู้ว่างงานต่อกำลังแรงงานทั้งหมด หากจะนำมาเปรียบเทียบภายในประเทศระหว่างช่วงเวลา ผู้เขียนคิดว่าอัตราการว่างงานระหว่างอดีตกับปัจจุบันอาจสะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงบางอย่างได้ ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ ตำแหน่งงานมักลดจำนวนลง เนื่องจากบริษัทต้องปลดคนออกอันเป็นผลจากการขาดทุน อัตราการว่างงานย่อมมีสูงเพราะคนที่ถูกปลดออกส่วนใหญ่จะยังคงอยู่ในกำลังแรงงาน ภายใต้สถานการณ์แบบนี้ ถ้าอัตราการว่างงานต่ำลงย่อมเป็นเรื่องดี

ในอดีตเคยมีการใช้อัตราการว่างงานเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องชี้สภาวะเศรษฐกิจของประชาชนโดยทั่วไป (how the average citizen is doing economically) นักเศรษฐศาสตร์ที่ชื่อว่า Arthur Okun เสนอว่าอัตราเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานสะท้อนสภาพดังกล่าวได้ เมื่อผนวกทั้งสองเข้าด้วยกันจึงเรียกว่า ดัชนีความทุกข์ยาก (Misery index) ยิ่งผลรวมมีค่าน้อยหมายถึงความทุกข์ยากที่น้อยกว่า

ในปัจจุบัน ดัชนีความทุกข์ยากไม่ได้รับการยอมรับในแวดวงวิชาการเท่าไรนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนำดัชนีดังกล่าวมาเปรียบเทียบระหว่างประเทศอย่างที่สำนักข่าว Bloomberg จัดทำขึ้นทุกปี ประเทศไทยมีดัชนีความทุกข์ยากน้อยมากจนติดอยู่ในอันดับต้นๆ หรืออันดับหนึ่งอยู่บ่อยครั้ง เนื่องจากอัตราการว่างงานต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ฝ่ายรัฐบาลก็อ้างสิทธิความดีความชอบนั้นไปว่า 'ความทุกข์ยาก' น้อยนั้นเป็นผลงานของรัฐบาล[4] ซึ่งเป็นการตีความที่ผิดจากความเป็นจริงไปมาก และเป็นตัวอย่างข้อจำกัดของการตีความจากอัตราการว่างงานที่ควรนำมาตีแผ่

จากการศึกษาและบทความที่อธิบายว่าเหตุใดอัตราการว่างงานของไทยจึงต่ำมาก[5],[6],[7],[8] พอสรุปได้ว่า อัตราการว่างงานถูกกำหนดโดยปัจจัยเชิงโครงสร้าง ดังนั้นโครงสร้างที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศจึงเป็นข้อจำกัดสำคัญในการเปรียบเทียบ ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจนอกระบบ (informal economy) ขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นแหล่งดูดซับกำลังแรงงานได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเกษตร ผู้ว่างงานสามารถหยิบจับงานเล็กๆ น้อยๆ ก็ถือว่าเป็นผู้มีงานทำได้ การมีงานทำจึงอาจไม่ได้สะท้อนทางเลือกและอาชีพที่มั่นคง นอกจากนี้ ผู้ว่างงานยังไม่รวมคนถึงที่ล้มเลิกความตั้งใจในการหางานไปแล้ว (discouraged worker) และอาจไม่ได้สะท้อนปัญหา labor mismatch (การทำงานไม่ตรงกับความถนัดหรือระดับการศึกษา) ที่ซ่อนอยู่

ช่วงเวลาราว 5 ปีที่ผ่านมา ข่าวคราวเรื่องสังคมผู้สูงอายุของประเทศไทยก็เริ่มหนาหูขึ้น การนำเสนอว่าอัตราการว่างงานที่ต่ำนี้ไม่ใช่เรื่องดีเสมอไป รวมถึงการอธิบายอัตราการว่างงานที่ต่ำว่ามีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากอัตราเด็กเกิดใหม่ต่ำลง (fertility rate) ในขณะที่คนวัยทำงานเองก็เริ่มเกษียณอายุกันมากขึ้น[8].[9] จริงอยู่ที่โครงสร้างประชากรของไทยเริ่มขยับเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเรื่อยๆ ตามสาเหตุดังกล่าว แต่เหตุเหล่านั้นไม่ได้เป็นปัจจัยที่ทำให้อัตราการว่างงานต่ำลงแต่อย่างใด ภาพที่ 3 แสดงให้เห็นชัดเจนว่ากำลังแรงงานในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นสวนทางกับจำนวนผู้ว่างงานที่ลดลง



ที่มา: ผู้เขียนคำนวณจากข้อมูลสำรวจภาวะการทำงานของประชากร

เรื่องสุดท้ายคือข้อความพาดหัวข่าวทำนองว่า เวลานี้เป็น 'ยุคบัณฑิตตกงาน' [1],[2],[3] ภาพที่ 2 ก็สะท้อนให้เห็นว่า ถ้าย้อนไปดูข้อมูลในอดีต สัดส่วนของผู้ว่างงานที่จบการศึกษาในระดับอุดมศึกษาคิดเป็นสัดส่วนที่มากที่สุดเสมอ มีความเป็นไปได้ว่าบัณฑิตเหล่านี้สามารถรองานได้หรือมีทางเลือกมากกว่ากลุ่มคนที่ออกจากระบบการศึกษาไปแล้วเพื่อไปทำงาน นอกจากนั้น แล้วมีการ 'ตกงานอื้อ' หรือไม่ ข้อมูลในภาพที่ 3 ก็แสดงให้เห็นว่า ในอดีตจำนวนผู้ว่างงานมากกว่าปัจจุบันเสียอีก ผู้เขียนเห็นว่าการใช้ข้อความดังกล่าวอาจสร้างความเข้าใจผิดหรือตื่นตระหนกมากเกินไป

กระนั้นเองผู้เขียนตระหนักว่า ประการแรก การสรุปจากภาพที่ 2 นั้นควรใช้ข้อมูลที่ย้อนไปไกลกว่านี้ (ผู้เขียนรวบรวมมาได้เท่านี้เนื่องจากความคงเส้นคงวาของการรวบรวมข้อมูล) เพื่อให้มั่นใจว่าเกิดปัญหาการผลิตบัณฑิตล้นเกิน (oversupply) หรือไม่ ประการที่สอง ภาพที่ 2 ยังแสดงถึงแนวโน้มที่มากขึ้นจริงของสัดส่วนกลุ่มผู้จบระดับอุดมศึกษา และประการสุดท้าย ภาพที่ 1 และ 3 ก็เริ่มชี้ให้เห็นแนวโน้มผู้ว่างงานและอัตราการว่างงานที่สูงขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 ดังนั้น แม้ว่าจะไม่ควรตระหนกกับข้อความพาดหัวมากเกินไป แต่ก็ควรต้องเฝ้าระวังแนวโน้มที่ปรากฏขึ้น

4. ข้อเสนอแนะ (ในทัศนะของผู้เขียน)
ตัวชี้วัดทั้งหลายโดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวชี้วัดที่จัดทำมาจากข้อมูลมหาศาลมักเป็นดาบสองคม ข้อดีคือความง่ายและความรวดเร็ว ยิ่งกับผู้เชี่ยวชาญที่คุ้นเคยก็จะสามารถรับและเข้าใจสารจากตัวชี้วัดได้ทันที ในทางกลับกัน ก็เปิดช่องให้เกิดการตีความจนเกินขอบเขตความสามารถของตัวชี้วัด ดังนั้นอย่างน้อยที่สุด การทำความเข้าใจให้ถี่ถ้วนและการใช้ตัวชี้วัดอื่นๆ ประกอบกันอย่างตรงไปตรงมา ย่อมจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาวิเคราะห์สถานการณ์ทางเศรษฐกิจมากกว่า ดังคำกล่าวนี้

"การวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาทั้งหมดนี้ ไม่ได้ แปลว่าเราไม่ควรใช้ตัวเลขในวิชาเศรษฐศาสตร์ หากปราศจากตัวเลขสำคัญ (เช่น ระดับผลผลิต อัตราการเติบโต อัตราการว่างงาน และตัวชี้วัดความเหลื่อมล้ำ) เราย่อมไม่สามารถเข้าใจโลกเศรษฐกิจในชีวิตจริงได้ เพียงแต่เราต้องใช้ตัวเลขเหล่านี้โดยรู้เท่าทันว่า ตัวเลขแต่ละตัวบอกอะไร (หรือไม่ได้บอกอะไร) แก่เราบ้าง"

ฮาจุน ชาง จากหนังสือเรื่อง เศรษฐศาสตร์ [ฉบับทางเลือก]

เอกสารอ้างอิง

[1] "ยุคบัณฑิตตกงาน-ยากจน" ไทยรัฐ (30 สิงหาคม 2560).

[2] "เผย คนว่างงาน ก.ย.62 ตัวเลขฟ้อง ตกงานพุ่ง ป.ตรีอื้อ เกือบ 2 แสนคน!" ข่าวสด (10 ตลาคม 2562).

[3] "น่าตกใจ!!ตัวเลขคนไทยว่างงานพุ่งสูงขึ้นกว่าปีก่อนมาก". คม ชัด ลึก (30 สิงหาคม 2562)

[4] "บิ๊กตู่"ปลื้ม ประเทศไทย ทุกข์ยากน้อยที่สุดในโลก เหนือสวิส-ญี่ปุ่น" ประชาชาติธุรกิจ (20 เมษายน 2562)

[5] ธิรดา ชัยเดชอัครกุล และ ปุญญวิชญ์ เศรษฐ์สมบูรณ์. "นัยที่แฝงเบื้องหลังอัตราการว่างงานที่ต่ำ" (9 กุมภาพันธ์ 2562)

[6] "จริงหรือที่ไทยมีความทุกข์ยากน้อยที่สุดในโลก" บีบีซี ไทย (23 เมษายน 2562).

[7] "Thailand has one of the world's lowest unemployment rates" (6 December 2017).

[8] Fernquest, J. "Why Thailand's unemployment rate is ridiculously low" (4 February 2505).

[9] "สถิติบอกว่า … อัตราการว่างงานต่ำ ใช่ว่าจะดีเสมอไป" Mr.Messenger (9 ตุลาคม 2562).

วีระวัฒน์ ภัทรศักดิ์กำจร
อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์