การเตรียมความพร้อมแบบองค์รวมสำหรับสังคมสูงอายุของประเทศไทย

7399 views

หากอวัยวะส่วนใหญ่ของร่างกายมนุษย์คนหนึ่งมีอายุการใช้งานมาก แม้ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนอวัยวะบางส่วนให้ "ใหม่" ขึ้น แต่โดยรวมแล้ว มนุษย์คนนั้นก็ถือว่าเป็นบุคคลที่สูงอายุ หากมองว่าสังคมของเราเปรียบเหมือนร่างกายมนุษย์ ประชากรอาจเปรียบเสมือนอวัยวะของร่างกาย หากประชากรส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ สังคมของเราก็ถือว่าเป็นสังคมที่สูงอายุด้วย ดังนั้น เราจำเป็นต้องปรับทัศนะว่าสังคมของเราได้กลายเป็น"สังคมสูงอายุ" (ageing society) ไม่ใช่เป็น "สังคมของผู้สูงอายุ"(society of the aged) เพราะการปรับมุมมองให้เป็นเช่นนี้ จะย้ำเตือนว่าประชากรทุกวัยในสังคมมีส่วนร่วม และมีส่วนได้ส่วนเสียจากผลกระทบจากปรากฎการณ์นี้เองและจากนโยบายต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นนับจากนี้ไปด้วยกันทั้งหมด สำหรับทุกๆ คนในสังคม โจทย์หลักของการเตรียมความพร้อมสำหรับสังคมสูงอายุคงหลีกเลี่ยงไม่พ้นเรื่องคุณภาพชีวิตที่ดี การบริหารจัดการผลกระทบทางสังคมเศรษฐกิจ รวมถึงการจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นเงิน งบประมาณ ทรัพยากรมนุษย์ และทรัพยากรวัตถุ เช่น โครงสร้างพื้นฐาน เครื่องมือ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น

สภาวะสังคมสูงอายุของไทยขณะนี้เป็นอย่างไร?

ข้อมูลสำนักงานคณะกรรการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติบ่งชี้ว่า ประชากรวัย 60 ปีขึ้นไป มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยในปี พ.ศ. 2573 จำนวน 1 ใน 4 ของประชากรทั้งประเทศจะเป็นผู้สูงอายุ สาเหตุหลักของปรากฏการณ์ดังกล่าว สืบเนื่องจากอัตราการกำเนิดที่ลดน้อยลงจนต่ำกว่าระดับทดแทน และประชากรยังมีแนวโน้มที่จะมีอายุยืนมากขึ้น แม้ว่าข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า จำนวนคนจนในประเทศไทยลดน้อยลงเรื่อยมา แต่หากพิจารณาในมิติของกลุ่มอายุจะพบว่า ในจำนวนประชากรผู้สูงอายุจะมีโอกาสและสัดส่วนคนจนมากที่สุดมากกว่ากลุ่มอายุกลุ่มอื่นซึ่งเป็นอีกมุมที่สะท้อนถึงสวัสดิการหลังการเกษียณที่ยังไม่เพียงพอกับรายจ่ายที่เป็นจริง

ในอดีต รายได้หลักส่วนใหญ่ของผู้สูงอายุมาจากบุตรและการทำงาน ส่วนเล็กน้อยจะมาจากเงินบำเหน็จบำนาญ และเบี้ยยังชีพ แต่ในช่วงปีหลังๆ เนื่องจากอัตราศักยภาพเกื้อนหนุน (potential elderly support ratio) ซึ่งหมายถึงจำนวนประชากรวัยทำงานอายุ 15-59 ปี ต่อจำนวนประชากรสูงอายุ ได้ลดลงจาก 5 คนทำงาน ต่อผู้สูงอายุ 1 คน ในปี พ.ศ. 2553 เหลืออัตรา 4 ต่อ 1 ในปี พ.ศ. 2558 และจากการคาดการณ์ประชากรของประเทศไทยโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ว่าในปี พ.ศ. 2583 อัตราศักยภาพการเกื้อหนุนจะลดลงเหลือเพียง 1 ต่อ 1 ดังนั้นแหล่งรายได้จากบุตรที่เคยพึ่งพิงมาในอดีตมีแนวโน้มที่จะลดบทบาทลงโดยปริยาย ขณะที่บทบาทของเบี้ยยังชีพเริ่มมีสัดส่วนที่สูงขึ้น แต่เป็นที่ทราบกันดีว่า หากไม่มีการปรับโครงสร้างในระดับนโยบายเพื่อให้เกิดสภาวะทางการเงินการคลังที่สอดคล้อง มาตรการเกื้อหนุนเหล่านี้ย่อมเผชิญกับข้อจำกัดทางด้านงบประมาณในอนาคต

นอกจากเรื่องความเพียงพอด้านการเงินของผู้สูงอายุแล้ว ยังมีประเด็นสืบเนื่องที่เป็นโจทย์สำคัญไม่น้อยกว่ากันในการนี้ จะขอยกประเด็นที่น่าเป็นห่วงบางประเด็นหลักๆ

ประเด็นแรก การเพิ่มขึ้นของรายจ่ายด้านสุขภาพทั้งในส่วนของบุคคล เอกชน และภาครัฐ องค์การอนามัยโลกรายงานว่า ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพต่อประชากรหนึ่งคนเพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่าในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา สำหรับประเทศไทย สัดส่วนค่าใช้จ่ายที่แบกรับโดยภาครัฐอยู่ที่ประมาณร้อยละ 86 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลก (ประมาณร้อยละ 66)

ประเด็นที่สอง ความชุกของโรคเรื้อรัง อาทิ โรคความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวาน ที่เพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งจากวิถีการใช้ชีวิตของคนปัจจุบัน จากการสำรวจผู้สูงอายุของสำนักงานสถิติพบว่า น้อยกว่าหนึ่งในสามของผู้สูงอายุออกกำลังกายเป็นประจำ และสัดส่วนนี้ลดลงมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา โรคเรื้อรังส่งผลต่อคุณภาพชีวิตและอายุเฉลี่ยที่มีสุขภาพดี (healthy life expectancy) จำกัดกิจกรรมต่างๆ และทำให้ผู้สูงอายุเผชิญกับค่าใช้จ่ายที่สูง

ประเด็นที่สาม ปัญหาการเข้าถึงการบริการด้านสาธารณสุข เนื่องจากเกินครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้สูงอายุในประเทศไทยอยู่ในเขตชนบท เข้าถึงการบริการทางสุขภาพลำบาก และมีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ทำให้ต้องเลื่อนหรือยกเลิกการพบแพทย์บ่อยครั้ง

ประเด็นที่สี่ สภาพแวดล้อมในการดำรงชีวิตเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ โดยในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา มีจำนวนผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังเพิ่มขึ้น ในขณะที่ผู้สูงอายุที่อยู่กับบุตรลดน้อยลง เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ประชากรวัยทำงานเดินทางเข้าอาศัยในเมือง

จากปรากฏการณ์ที่ได้กล่าวมา ทำให้ประเทศไทยเผชิญกับความตึงเครียดด้านงบประมาณภาครัฐ (fiscal pressure) ทั้งในรูปของการใช้จ่ายด้านสวัสดิการต่างๆ ในผู้สูงอายุ (old-age expenditure) ที่เพิ่มสูงขึ้นพร้อมกับจำนวนผู้สูงอายุที่มากขึ้น และในรูปของรายได้ทางภาษี (tax revenue) ที่มีแนวโน้มจะลดน้อยลง เนื่องจากรายได้ที่ต้องเสียภาษี (taxable incomes) และการอุปโภคบริโภคที่ต้องเสียภาษี (taxable consumption) ในระบบเศรษฐกิจโดยรวมที่ลดลงเนื่องจากอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวลงเมื่อจำนวนประชากรวัยทำงานลดน้อยลงที่ผ่านมา

ประเทศไทยได้มีการจัดทำแผนผู้สูงอายุแห่งชาติฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2525-2544) และฉบับที่ 2 (ปี พ.ศ. 2544-2564) ที่ค่อนข้างจะครอบคลุมในทุกมิติ โดยหลักการ แผนฯ ฉบับที่ 2 มีแนวคิดพื้นฐาน ประกอบด้วย

  1. การสร้างหลักประกันในวัยสูงอายุเป็นกระบวนการสร้างความมั่นคงให้แก่สังคม
  2. ผู้สูงอายุมีคุณค่าและศักยภาพ สมควรได้รับการส่งเสริมสนับสนุนให้มีส่วนร่วมอันเป็นประโยชน์ต่อสังคม
  3. ผู้สูงอายุมีศักดิ์ศรีและสมควรดำรงชีวิตอยู่ในชุมชนของตนได้อย่างมีคุณภาพที่สมเหตุสมผล และสมวัย และ
  4. ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ไม่ใช่บุคคลด้อยโอกาสหรือเป็นภาระต่อสังคมและถึงแม้ผู้สูงอายุจำนวนหนึ่งจะประสบความทุกข์ยาก และต้องการการเกื้อกูลจากสังคมและรัฐ แต่ก็เป็นเพียงบางช่วงเวลาของวัยสูงอายุเท่านั้น (คณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานผู้สูงอายุแห่งชาติ, 2545)

อย่างไรก็ตาม คำถามร่วมสมัยในทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมคือ จะเอาเงินมาจากไหน ด้วยวิธีการอย่างไร (ใครจ่าย? รัฐจะได้เงินมาอย่างไร?) และจะบริหารจัดการและกระจายสวัสดิการอย่างไร (ให้ใคร? ให้อย่างไร? ให้เท่าไร?)

แนวนโยบายสังคมสูงอายุระยะสั้นและระยะกลางจำเป็นต้องเข้าใจบริบทของสังคมไทยและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล

สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุติดสังคม (social-bound elders) ในหลายประเทศ เช่น กลุ่ม OECD มีการเชื่อมโยงนโยบายเกี่ยวกับผู้สูงอายุกับนโยบายด้านการจ้างงานที่มีเป้าหมายหลักเพื่อผลักดันให้เกิดการมีส่วนร่วมในตลาดแรงงานเพิ่มมากขึ้นในผู้สูงอายุ โดยส่งเสริมโอกาสการจ้างงานและเพิ่มความยืดหยุ่นในการจ้างงาน เช่นเดียวกันกับกระแสนโยบายในประเทศไทยช่วงทศวรรษที่ผ่าน ซึ่งมีความพยายามส่งเสริมให้ผู้สูงอายุทำงาน ทั้งนี้ ประสิทธิผลของความพยายามดังกล่าว จะเพิ่มมากขึ้นหากเรามีความเข้าใจบริบทของสังคมไทยและสภาวะการทำงานของผู้สูงอายุที่เป็นอยู่ จากรายงานการสำรวจประชากรสูงอายุในประเทศไทย สาเหตุหลักที่ผู้สูงอายุไม่ทำงานคือ "ชราภาพ" สังเกตได้ว่า ส่วนหนึ่งของสาเหตุที่ผู้สูงอายุไม่ทำงานอาจเกิดจากค่านิยมในสังคมไทยที่เมื่อชราภาพแล้วต้องหยุดทำงาน บุตรหลานต้องเลี้ยงดู ประกอบกับโครงสร้างการทำงานที่เป็นอยู่ในปัจจุบันไม่สนับสนุนการจ้างงานในผู้สูงอายุอย่างแพร่หลาย ซึ่งหากพิจารณาทางด้านกายภาพในผู้สูงอายุแล้ว เกินร้อยละ 76 ของผู้สูงอายุประเมินว่าสุขภาพตนเองยังอยู่ในเกณฑ์ระดับปานกลางถึงดีมาก โดยเฉลี่ย ผู้สูงอายุส่วนใหญ่สามารถมองเห็นชัดเจนและสามารถได้ยินชัดเจน หากพิจารณาศักยภาพแรงงานผู้สูงอายุไทย อายุระหว่าง 60-79 ปีที่ยังสามารถทำงานได้สุทธิ (net potential elderly workforce) ซึ่งไม่นับรวมผู้พิการ (disability) และผู้ที่อยู่ในการดูแลระยะยาว (long-term care) แรงงานกลุ่มนี้ถือว่ามีศักยภาพที่จะเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและบรรเทาสภาวะตึงเครียดทางการเงินการคลังในอนาคต คาดการณ์ว่าจะมีประมาณ 15 ล้านคนในปี 2583 (เอื้อมพร, 2558)

หากลงลึกไปในรายละเอียดของผู้สูงอายุที่ทำงานจำนวนประมาณ 2.5 ล้านคน สถานภาพการทำงานส่วนใหญ่ คือประกอบธุรกิจส่วนตัวโดยไม่มีลูกจ้าง รองลงมาคือ ช่วยธุรกิจครัวเรือนโดยไม่ได้รับค่าจ้าง โครงสร้างสถานภาพเช่นนี้สะท้อนว่า ผู้สูงอายุที่ประสงค์จะทำงานต่อหลังอายุ 60 ปี มีทางเลือกที่จะทำงานในองค์กรค่อนข้างน้อย จึงมีความจำเป็นต้องประกอบธุรกิจส่วนตัว ซึ่งสอดคล้องกับกรณีการทำงานส่วนตัวเพราะ "ความจำเป็น" ("necessity" self-employed) ในประเทศตะวันตกบางประเทศ เนื่องจากไม่สามารถทำงานในองค์กรต่อไปได้ แม้ว่าประสงค์จะทำงานแต่ไม่มีพื้นที่ในองค์กรให้ทำ (Block and Koellinger, 2009) นอกจากนี้ การนำเงินทุนที่สะสมจากช่วงวัยทำงานไปลงทุนโดยอาจจะขาดความเชี่ยวชาญ ทำให้ผู้สูงอายุต้องเผชิญกับความเสี่ยงทางการเงินที่สูงในวัยราภาพ ทั้งนี้ วีระชาติ กิเลนทอง และกิตติพงษ์ เรือนทิพย์ (2558) เคยตั้งข้อสังเกตจากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน (Socio-Economic Survey: SES) ปี พ.ศ. 2548- 2555 ว่า ผู้ที่เริ่มทำธุรกิจเมื่ออายุมากกว่า 50 ปี มีโอกาสที่จะเลิกทำธุรกิจภายใน 6 ปี สูงถึงร้อยละ 78 และกลุ่มดังกล่าว เมื่อเลิกทำธุรกิจ ส่วนใหญ่เลือกที่จะออกจากกำลังแรงงานด้วยเช่นกัน ดังนั้น หากเกิดโครงสร้างเชิงนโยบายที่เปิดช่องทางให้ผู้สูงอายุที่อยู่ในตลาดแรงงานอยู่แล้วเหล่านี้มีทางเลือกทำงานในองค์กร แทนที่จะออกไปเสี่ยงลงทุนเอง ก็สามารถสร้างความยั่งยืนทางการเงินแก่กลุ่มแรงงานสูงอายุเหล่านี้ได้มากขึ้น ทั้งนี้ สภาวะการทำงานต้องเหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุด้วย จึงจะเป็นแรงจูงใจให้ผู้สูงอายุเลือกทำงานต่อไป

เมื่อพิจารณาเรื่อง "คุณภาพชีวิต" ในการทำงาน หรือสภาพการทำงานของผู้สูงอายุไทยที่เป็นอยู่พบว่า ค่าเฉลี่ยจำนวนชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์ของผู้สูงอายุที่ยังทำงานอยู่ ทำงานโดยเฉลี่ย 38-42 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือหากทำงานวันละ 8 ชั่วโมง หมายความว่า ต้องทำงานสัปดาห์ละ 5 วัน หากเทียบกับชั่วโมงการทำงานของผู้สูงอายุในต่างประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร แม้ว่าจำนวนชั่วโมงทำงานจริงต่อสัปดาห์ของผู้สูงอายุในสหราชอาณาจักร จะอยู่ระหว่าง 17–33 ชั่วโมง ซึ่งน้อยกว่ากรณีประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญ แม้กระนั้นก็ตาม จากการสำรวจความพึงปรารถนาของแรงงานสูงวัยในสหราชอาณาจักร ปรากฏว่า ผู้สูงอายุยังมีความประสงค์จะลดจำนวนชั่วโมงการทำงานให้อยู่ที่ระหว่าง 7-21 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งหากทำงานวันละ 7-8 ชั่วโมง ก็เท่ากับการทำงานประมาณ2-3 วันต่อสัปดาห์ เพื่อสามารถใช้ชีวิตอย่างมีความยืดหยุ่นในวัยชราภาพได้ และในขณะเดียวกัน ยังมีพื้นที่การทำงานในองค์กรเพื่อออกไปพบปะกับสังคม มีสุขภาพกายและใจที่ดีขึ้น สอดคล้องกับผลการวิจัยจำนวนมากทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ

ดังนั้นการมีนโยบายที่เป็นรูปธรรมสนับสนุนให้ผู้ประกอบการจ้างงานผู้สูงอายุ และอำนวยสภาพแวดล้อมการทำงานที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุสามารถสร้างทางเลือกการทำงานเพื่อนำไปสู่ชีวิตหลังวัยเกษียณอันพึงปรารถนา ควบคู่ไปกับการเงินการคลังที่เกื้อหนุนให้สภาวะอันพึงปรารถนานั้นมีความยั่งยืนอาทิ การใช้เครื่องมือแรงจูงใจทางภาษีสำหรับนายจ้าง และ กฎหมายแรงงาน (เอื้อมพร,2558) การที่กระทรวงการคลังได้ดำเนินนโยบายการลดหย่อนภาษีสำหรับนายจ้างที่จ้างงานผู้สูงอายุมาเป็นหนึ่งในมาตรการรองรับสังคมผู้สูงอายุ (ข่าวกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 148/2559 9 พ.ย. 2559) ถือเป็นการสนับสนุนเชิงโครสร้างโดยภาครัฐที่เป็นรูปธรรม นอกจากนี้แล้ว การสนับสนุนให้นายจ้างพัฒนาองค์ความรู้และส่งเสริมการดูแลสุขภาพแรงงานตั้งแต่วัยทำงาน ก็จะยิ่งชะลออัตราการเสื่อมประสิทธิภาพของแรงงานผู้สูงอายุและเป็นผลดีต่อระบบสังคมเศรษฐกิจในภาพรวม (เอื้อมพร,2562)

สำหรับการดูแลผู้สูงอายุกลุ่มติดบ้าน (house-bound elders) และผู้สูงอายุกลุ่มติดเตียง (bed-bound elders) ในปัจจุบัน เราควรหันมาใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลให้มากขึ้น เช่น ระบบการจัดการข้อมูลสุขภาพแห่งชาติ จัดเก็บข้อมูลประวัติการรักษาผู้ป่วยแบบ real-time และแบ่งปันข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อการวิเคราะห์และจัดทำนโยบายที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น การใช้เทคโนโลยี เช่น smart home, home sensors, appliances และหุ่นยนต์ (care robots) การใช้เครื่องมือดิจิทัลลสนับสนุนการมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจและสังคม เช่น online communities, lifestyle apps หรือ cognitive games สามารถมีบทบาทกับสังคมสูงอายุมากยิ่งขึ้น และยังเปิดโอกาสให้เกิดธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ สำหรับสังคมสูงอายุ นอกจากนี้ ควรมีการจัดเตรียมภาคการศึกษาและงบประมาณสนับสนุนใน know-how ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้สูงอายุติดเตียง และโครงสร้างแรงจูงใจ (incentive structure) ที่เหมาะสมแก่บุคลากรที่เกี่ยวข้องเรื่องนี้จะสามารถเชื่อมโยงกับตลาดแรงงานไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสร้างทักษะแรงงานและการสร้างรายได้เองและยังรวมถึงสามารถเป็นทางเลือกการทำงานสำหรับผู้สูงอายุกลุ่มติดสังคมที่สามารถทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุกลุ่มติดเตียงอีกด้วย

แนวนโยบายในระยะยาว: แก้ไขวัฏจักร "เกิดแบบจน/ขาดโอกาส-โตแบบจน/ขาดโอกาส- แก่แบบจน"!

สังคมไทยได้ก้าวเข้าสู่ความเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว จากปัญหาที่ฝังรากอยู่ดั้งเดิมในเรื่องโครงสร้างรายได้ โอกาส และการกระจาย ทำให้ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ในประเทศยังขาดความเพียงพอสำหรับการใช้จ่ายเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีในวัยชราภาพ หากพิจารณาในองค์รวม สะท้อนถึงวัฏจักรที่เริ่มจากโอกาสการเข้าถึงที่ต่างกันไม่ใช่เฉพาะเพียงในวัยชราแต่เริ่มตั้งแต่ เกิดแบบจน/ขาดโอกาส- โตแบบจน/ขาดโอกาส และในที่สุดก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องแก่แบบจน ส่งผลให้ต้องประสบกับสภาวะขาดแคลนตั้งแต่ก่อนเกิด วัยเด็ก วัยทำงาน ซึ่งในขณะทำงานก็ต้องเลี้ยงดูทั้งพ่อแม่และลูก ไม่มีโอกาสเก็บออมอย่างเพียงพอสำหรับกรณีฉุกเฉินหรือวัยชราทำให้ยากจนสืบเนื่องเรื้อรังต่อไปในวัยชรา สภาพการณ์นี้จึงเป็นอีกมุมหนึ่งที่สะท้อนถึงความจำเป็นสำหรับนโยบายในระยะยาวที่ต้องพิจารณาโครงสร้างสวัสดิการทั้งหมดสำหรับประชาชนทุกช่วงอายุ ซึ่งครอบคลุมสวัสดิการพื้นฐานตั้งแต่ในครรภ์-เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย การส่งเสริมความรู้ทางการเงิน การส่งเสริมความรู้ด้านสุขภาพ รวมถึงการปรับสมดุลระบบภาษีและสวัสดิการให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยเพื่อให้เกิดความยั่งยืน กล่าวได้ว่า แนวนโยบายสำหรับสังคมสูงอายุไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องเฉพาะคนแก่แบบที่คนส่วนใหญ่เข้าใจเลย

เอกสารอ้างอิง

คณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานผู้สูงอายุแห่งชาติ (2545). แผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ.

2545-2564) กรุงเทพฯ: สำนักนายกรัฐมนตรี.

วีรชาติ กิเลนทอง และกิตติพงษ์ เรือนทิพย์ (2558). Comments on "Intertwining inequality and labor

market under the New Normal" by Arayavechkit, T., S. Manprasert and J. Pinthong,

บทวิจารณ์เสนอในงานสัมมนาประจำปี 2558 ธนาคารแห่งประเทศไทย.

เอื้อมพร พิชัยสนิธ (2558).สังคมผู้สูงอายุที่พึงปรารถนากับการคลังที่สอดคล้อง: บทวิเคราะห์กรณีประเทศ

ไทย. งานสัมมนาวิชาการประจำปี 2558" คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 29 ตุลาคม 2558 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย.

เอื้อมพร พิชัยสนิธ (2562).นโยบายการคลังเพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพและคุณภาพชีวิตของแรงงานผู้สูงอายุ

รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์. สถาบันเสริมศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 31 มีนาคม 2562.

Block, J. and P. Koellinger (2009). "I can't get no satisfaction- Necessity entrepreneurship and procedural utility," Kyklos, Issue 62, No. 2, pp. 191-209.

เอื้อมพร พิชัยสนิธ
ศาสตราจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์