การศึกษาที่เหมาะกับชุมชน : กรณีศึกษาหมู่บ้านเลอตอ จังหวัดตาก

7739 views

การศึกษาที่ดีพร้อมควรมีหน้าตาเป็นเช่นไร? คำถามนี้เป็นจุดเริ่มต้นสู่แรงบันดาลใจต่อการเขียนบทความนี้ เราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าการศึกษาถือเป็นรากฐานของการพัฒนาเด็กและเยาวชน กล่าวคือ ถ้าการศึกษาดีจะทำให้พลเมืองในอนาคตเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ แต่ถ้าการศึกษายังคงเป็นปัญหาใหญ่ภายในประเทศก็จะยังผลในทิศทางตรงกันข้ามต่อพลเมืองในอนาคตเช่นกัน ที่ผ่านมา ตั้งแต่นักเรียนไปจนถึงนักวิชาการก็พยายามตอบคำถามข้างต้น แต่ทั้งนี้การเสาะหาข้อมูลเพื่อตอบคำถามแรกก็มักพ่วงมาด้วยคำถามมากมายหลากหลาย จนท้ายที่สุดปลายทางต่อคำถามแรกคล้ายว่าจะไกลออกไปเรื่อยๆ

ในปัจจุบัน กระทรวงศึกษาธิการเป็นกระทรวงที่ใช้งบประมาณต่อปีมากที่สุด จากข้อมูลงบประมาณรายจ่ายด้านการศึกษา ปี 2551-2559 พบว่าประเทศไทยใช้งบประมาณด้านการศึกษาปี 2559 มากถึง 8.78 แสนล้านบาท คิดเป็น 6.1% ของ GDP สูงกว่าประเทศกลุ่มองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ที่ลงทุนเพียง 5.2% ของ GDP อีกทั้งงบประมาณด้านการศึกษาไทยยังคิดเป็น 1 ใน 4 ของงบประมาณแผ่นดิน ถือว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก และกลุ่ม OECD1 จากงบประมาณรายจ่ายด้านการศึกษาดังกล่าว สามารถกล่าวได้ว่างบประมาณและคุณภาพการศึกษาภายในประเทศมีทิศทางที่ตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง

ถึงแม้จะมีการใช้งบประมาณที่สูง แต่ปัญหาที่พบยังคงวนเวียนกับเรื่องความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสและรายได้ อาทิ คนที่มีฐานะสามารถส่งลูกเรียนได้ในระดับที่สูง ในขณะเดียวกันครอบครัวที่มีรายได้น้อยบางส่วนต้องส่งลูกออกกลางคัน คุณภาพการศึกษาที่แตกต่างกันอย่างมากทั้งในเมืองและชนบท รวมถึงงบประมาณส่วนใหญ่ที่จัดสรรให้แก่เด็กยังอยู่ในแนวระนาบ กล่าวคือ เด็กส่วนใหญ่จะได้รับเงินอุดหนุนอย่างเท่าเทียมกันทุกคน โดยไม่ได้ให้ความสนใจกับฐานะพื้นฐานทางบ้านของเด็กๆ นอกจากนี้ความเหลื่อมล้ำไม่ได้ถูกจำกัดแค่เวลาใดเวลาหนึ่ง แต่มันสามารถขยายตัวเองออกไปจนกลายเป็น "ความเหลื่อมล้ำข้ามรุ่น" จากการวิจัยล่าสุดของธนาคารโลกที่ได้วิเคราะห์ถึงการเลื่อนไหลของฐานะระหว่างคนต่างรุ่นในสังคมไทย (Intergenerational Mobility) พบว่า

"คนไทย (อายุ 28-38 ปี) ที่เกิดในครอบครัวที่มีฐานะอยู่ในครึ่งล่างของสังคมไทย (ธนาคารโลกใช้คำว่า Bottom Half) มีโอกาสที่จะตกอยู่ในครึ่งล่างของสังคมไทยต่อไป (เมื่อเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่) ถึง 64.15% หรือประมาณ 2 ใน 3 โดยในจำนวนนี้มีโอกาสถึง 35.28% ที่จะตกอยู่ในกลุ่มครัวเรือนที่ยากจนที่สุดในสังคมไทย (1 ใน 4 หรือ 25%)

ในทางตรงกันข้าม เด็กไทยที่เกิดมาในครอบครัวที่มีรายได้ดีที่สุด 1 ใน 4 หรือ 25% แรก ก็มีโอกาสที่จะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีรายได้มากที่สุด 25% แรกเหมือนเดิม ถึง 47.68% หรือเกือบครึ่งหนึ่ง และมีโอกาสที่จะร่วงลงไปอยู่ในครึ่งล่างของสังคมไทยเพียงแค่ 19.95% (หรือ 1 ใน 5 เท่านั้น)ธนาคารโลกเรียกตัวเลข 47.68% นี้ว่า Intergenerational Privilege หรือดัชนีความมีอภิสิทธิ์ที่ส่งผ่านข้ามรุ่น (จากคนรุ่นพ่อสู่คนรุ่นลูก)"2

ทั้งหมดล้วนมีจุดเริ่มต้นมาจากปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา เพราะการศึกษาจะเป็นตัวกำหนดในเรื่องอาชีพ ผลตอบแทน โอกาสในการหารายได้ และปัจจัยอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไม่ได้จำกัดแค่ด้านโอกาสและรายได้แต่เพียงเท่านั้น แต่ความเหลื่อมล้ำยังกระจายตัวไปในภาคส่วนอื่นๆ ทั้งในระดับโรงเรียน หลักสูตร และสามารถขยายตัวสู่ห้องเรียนได้เช่นกัน แต่ประเด็นอื่นๆ จะอยู่นอกเหนือขอบเขตการศึกษาของบทความนี้

จากปัญหาและข้อจำกัดต่างๆ นำเราไปสู่คำถามที่ว่า การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำควรทำเช่นไร? การจัดให้เด็กทั่วประเทศมีโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียมกันกล่าวคือ ให้เด็กทุกคนเรียนหลักสูตรที่เหมือนและเป็นมาตรฐานเดียวกัน รวมทั้งให้โรงเรียนทุกแห่งวัดผลด้วยข้อสอบชุดเดียวกันจะสามารถแก้ไขปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำได้หรือไม่?

ก่อนที่จะตอบคำถามดังกล่าว เราควรมาทำความเข้าใจความแตกต่างหลากหลายของตัวเด็ก ผ่านตัวอย่างสถานศึกษาในจังหวัดตราด สถานศึกษาในจังหวัดตราด มีโรงเรียนที่ชื่อว่าโรงเรียนตราษตระการคุณ และโรงเรียนเขาสมิงวิทยาคม โรงเรียนทั้งสองแห่งอยู่จังหวัดเดียวกัน แต่มีวัตถุประสงค์ในการสร้างเด็กแตกต่างกัน กล่าวคือโรงเรียนแห่งแรกมีจุดมุ่งหมายสร้างเด็กเพื่อศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา แต่โรงเรียนแห่งที่สองเด็กที่จบไปส่วนใหญ่ 95% ล้วนมีเป้าประสงค์เพื่อทำงานในชุมชน ดังนั้นระบบการศึกษาที่ดีควรบูรณาการให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่โดยคำนึงถึงความหลากหลายและเป้าหมายของตัวเด็ก มากไปกว่านั้นระบบการศึกษาควรบ่มเพาะลักษณะการเรียนรู้ที่ยั่งยืนให้แก่เด็ก กล่าวคือ เป็นการเรียนรู้ที่นอกเหนือจากการเรียนรู้ในห้องเรียน แต่ขยายตัวสู่ชีวิตประจำวัน

ดังนั้นการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาให้มีประสิทธิภาพควรคำนึงถึงความหลากหลายในตัวเด็กที่สัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเกิดความหลากหลายควบคู่ไปด้วย เพราะฉะนั้นการศึกษาที่พยายามจับเด็กมาใส่แม่พิมพ์เหมือนๆ กัน และวัดระดับเด็กด้วยวิธีที่เหมือนกัน ย่อมไม่สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ อีกทั้งยังละเลยความแตกต่างของตัวเด็ก ทั้งหมดนี้สามารถสรุปได้ว่าระบบการศึกษาควรมีหลักสูตรและมาตรฐานที่หลากหลายในการประเมินประสิทธิภาพของเด็ก

หมู่บ้านเลอตอ

เนื่องจากข้อจำกัดของบทความ ทำให้ไม่สามารถตอบคำถามว่าการศึกษาที่ดีควรมีหน้าตาเป็นเช่นไรให้ครอบคลุมทุกๆบริบทได้ ในที่นี้จึงเลือกเจาะจงไปที่การคำตอบถามว่า การศึกษาในลักษณะใดที่เหมาะสมกับชุมชนมากที่สุด? โดยใช้หมู่บ้านเลอตอเป็นกรณีศึกษา

เนื่องด้วยผู้เขียนมีโอกาสได้ไปใช้ชีวิตในหมู่บ้านเลอตอเป็นระยะเวลาหนึ่งเดือน (ตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนยน จนถึง 12 กรกฎาคม 2562 ) ภายใต้รายวิชาชนบทไทยศึกษา ซึ่งเป็นรายวิชาของคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


(รายวิชาชนบทไทยศึกษา คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)

ทั้งนี้เพื่อที่จะตอบคำถามว่า การศึกษาในลักษณะใดที่เหมาะสมกับชุมชนมากที่สุด? จะทำการวิเคราะห์จากมุมมองและประสบการณ์ตลอดหนึ่งเดือนที่ได้มีโอกาสใช้ชีวิตแบบชาวเลอตอ ที่ได้จากการสอนและพูดคุยกับนักเรียน รวมทั้งการสัมภาษณ์คุณครูและชาวบ้านบางส่วน โดยเก็บข้อมูลจากกลุ่มนักเรียนผ่านวิธีการสอนและเชื่อมโยงคำถาม (ที่สอดคล้องกับเนื้อเรื่องที่ศึกษา) ให้เด็กๆ เขียนตอบลงกระดาษเป็นหลัก อนึ่งข้อมูลต่างๆ ที่ได้ใช้วิเคราะห์โดยแบบจำลองได้จากกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นนักเรียนชั้น ป.5 และ ม.3 เป็นหลัก เพราะเป็นกลุ่มที่มีจุดเปลี่ยนที่สำคัญ และยังผลให้แบบจำลองสามารถสะท้อนความหลากหลายของเด็กในแต่ละช่วงวัยได้อีกด้วย


(หมู่บ้านเลอตอ ตำบลแม่ตื่น อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก)

ก่อนอื่นเราควรมาทำความรู้จักหมู่บ้านเลอตอจากข้อมูลพื้นฐานกันก่อน หมู่บ้านเลอตอ ตั้งอยู่ที่ ตำบลแม่ตื่น อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 419 คน ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพชาวนา ชาวสวน และรับจ้าง นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมผลิตผ้าทอ ไม้กวาด เก็บของป่า ประชากรมีรายได้เฉลี่ยที่ 17,000 บาทต่อปี

เนื่องจากการศึกษาในปัจจุบัน (รวมถึงหมู่บ้านเลอตอ)ได้รับผลกระทบจากยุคอุตสาหกรรม ส่งผลให้โรงเรียนแยกออกจากชีวิตประจำวันและมุ่งเน้นแต่สร้างประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งยังพ่วงมาด้วยการแข่งขันระหว่างเด็ก ที่เน้นการทำผลคะแนนสอบ เน้นการพัฒนาเด็กให้เก่งการศึกษาแบบนี้มีชื่อเรียกว่า การศึกษาที่เน้นการแข่งขันและสร้างแรงงาน

ถ้าเรามองกลับมาพิจารณาตัวเด็กภายในหมู่บ้านเลอตอจริงๆ จากการสัมภาษณ์ครูภายในโรงเรียนพบว่า เด็กที่นี่ส่วนใหญ่ไม่ชอบการวัดผลด้วยคะแนนสอบ ไม่ชอบที่จะแข่งขันกับเพื่อนๆ เพราะทั้งหมดล้วนขัดต่อวิถีชีวิตภายในหมู่บ้านวิถีชีวิตที่ดำเนินไปด้วยความเรียบง่าย เน้นการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่พึ่งพาอาศัยกัน และไม่ค่อยพบการแข่งขันภายในหมู่บ้าน ผลจากการศึกษาที่เน้นการแข่งขันและสร้างแรงงานจึงทำให้เด็กส่วนใหญ่ไม่สนใจเรียน ท้ายที่สุดแล้วเด็กจึงมีพื้นฐานวิชาการค่อนข้างอ่อน3 ภายใต้บริบทแบบนี้ ระบบการศึกษาจากส่วนกลางจะสามารถเข้าใจความเป็นชุมชนได้จริงหรือไม่? แล้วการศึกษาแบบไหนถึงจะสามารถพัฒนาศักยภาพในตัวเด็กได้จริงๆ?

อาชีพในฝัน

ก่อนที่เราจะตอบปัญหาข้างต้น เราควรเริ่มมาทำความรู้จักเด็กที่หมู่บ้านเลอตอกันก่อน สิ่งหนึ่งที่เป็นอัตลักษณ์และผูกโยงความเป็นเด็กก็คือความฝัน เช่นเดียวกับเด็กที่นี่ก็มีความฝันไม่ได้แตกต่างจากเด็กในพื้นที่อื่นๆเลย แต่ความฝันส่วนใหญ่มักเกี่ยวโยงกับสภาพแวดล้อมและความคุ้นเคย ความฝันเหล่านั้นเด็กๆ ถ่ายทอดออกมาผ่านอาชีพในฝัน อาชีพในฝันของเด็กที่นี่ส่วนใหญ่คือ ทหารพราน พยาบาล คุณครู นักร้อง เป็นต้น

การเดินทางไปสู่อาชีพในความฝันนั้น ย่อมมีระดับความทุ่มเทแตกต่างกัน บางอาชีพต้องศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา (ครู พยาบาล) แต่บางอาชีพก็มีหน่วยงานเฉพาะรับผิดชอบโดยไม่จำเป็นต้องศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา (ทหารพราน ครู ตชด.) ดังนั้นความตั้งใจ ความอดทน และความพยายามย่อมแตกต่างกันไปในแต่ละเส้นทางอาชีพ

ดังที่ผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นว่าการออกแบบการศึกษาที่ดี ควรคำนึงถึงตัวเด็กในแต่ละพื้นที่ควบคู่ไปด้วย แต่ในโลกของความเป็นจริงล้วนมีปัจจัยต่างๆ มากมายเข้ามาข้องแวะ ทำให้เรามองข้ามประเด็นและปัจจัยที่สำคัญต่างๆ ไป ดังนั้นวิธีการศึกษาที่ผู้เขียนใช้จะกระทำผ่านการวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลต่อโอกาสในการศึกษาต่อและการกลับมาประกอบอาชีพภายในชุมชน ทั้งนี้จะกำหนดให้ปัจจัยบางตัวคงที่ (อาทิเช่น ความสามารถในการเรียนรู้ของเด็ก ความสามารถในการแข่งขันเพื่อให้ได้ศึกษาต่อตามที่หวัง เป็นต้น กล่าวอย่างง่ายคือ จะไม่นำปัจจัยที่ข้องเกี่ยวกับความสามารถของเด็กมาพิจารณา) เพื่อขับเน้นให้เห็นถึงพลวัตรของปัจจัยแปรผันบางตัวที่สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อผลลัพธ์

การวิเคราะห์แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก ปัจจัยใดบ้างที่ส่งผลต่อโอกาสการศึกษาของเด็ก ปัจจัยต่างๆ ประกอบไปด้วยฐานะทางบ้านของเด็ก (แบบจำลองที่ 1) จำนวนบุตรและความต้องการให้เด็กกลับมาช่วยครอบครัว (แบบจำลองที่ 2) และการปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมของเด็ก(แบบจำลองที่ 3) และส่วนที่สอง ถ้าการศึกษาต่อไม่เป็นอุปสรรค (เด็กสามารถไปศึกษาต่อได้ตามที่ตัวเองต้องการ) แต่จะทำการวิเคราะห์ต่อว่า ปัจจัยใดบ้างที่ส่งผลต่อการกลับมาประกอบอาชีพภายในชุมชนของเด็ก ปัจจัยต่างๆ ประกอบไปด้วย การไม่สามารถกลับมาที่หมู่บ้านและเจอครอบครัวได้อีกเลย (แบบจำลองที่ 4) และการไม่สามารถกลับมาที่หมู่บ้านได้ แต่สามารถพาครอบครัวไปอยู่ด้วยได้ (แบบจำลองที่ 5)


(กิจกรรมการสอน วิชาชนบทไทยศึกษา คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาธรรมศาสตร์)

ปัจจัยใดบ้างที่ส่งผลต่อโอกาสการศึกษาของเด็ก

ก่อนอื่นอยากให้เข้าใจอุปนิสัยเบื้องต้นก่อน ถ้ากำหนดให้ปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดคงที่ กล่าวคือ เด็กๆ สามารถเดินหน้าสู่ความฝันได้ โดยไม่ต้องคำนึงถึงเรื่องต่างๆ หรือผลที่ตามมา เด็กๆสามารถกำหนดให้เป็นไปตามต้องการได้ ภายใต้สภาพการณ์เช่นนี้ คงไม่มีเด็กคนไหนเลยที่ไม่ต้องการทำตามความฝัน

แต่ถ้าเราเพิ่มตัวแปรบางอย่างที่สอดคล้องกับความเป็นจริงอย่างฐานะทางบ้านของเด็กเข้ามา(แบบจำลองที่ 1) ประกอบกับข้อมูลที่สัมภาษณ์คุณครูจะพบว่า ฐานะทางบ้านเป็นอุปสรรคสำคัญเช่นกัน แต่อุปสรรคจะเห็นผลชัดก็ต่อเมื่อเด็กๆ มีโอกาสศึกษาต่อในอุดมศึกษาแต่เพียงเท่านั้น เพราะต่อให้มีทุนการศึกษารองรับ แต่ครอบครัวยังต้องแบกรับค่าใช้จ่ายอีกหลายส่วนไว้เองเพราะทุนการศึกษาไม่ครอบคลุมรายจ่ายทั้งหมด

นอกจากฐานะทางบ้านที่ไม่เอื้ออำนวยแล้ว ปัจจัยดังกล่าวต้องดำเนินควบคู่กับปัจจัยด้านครอบครัวเพราะยังมีการทับซ้อนระหว่างสองปัจจัยอยู่ (แบบจำลองที่ 2) ซึ่งสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้เด็กไม่สามารถเรียนต่อภาคอุดมศึกษาได้ประกอบไปด้วย 2 สาเหตุ คือ สาเหตุแรก ครอบครัวมีลูกหลายคนจึงไม่สามารถส่งเสียลูกให้เรียนต่อในระดับอุดมศึกษาได้ และสาเหตุที่สอง ครอบครัวอยากให้ลูกมาช่วยทำงาน เป็นที่ชัดเจนว่าสาเหตุที่สองมีความซ้อนทับระหว่างปัจจัยด้านฐานะและครอบครัวอย่างแยกไม่ออก ด้วยข้อจำกัดของข้อมูลที่ได้ จึงทำให้ต้องเปลี่ยนปัจจัยด้านครอบครัวเป็นปัจจัยแปรผันเพื่อให้ผลของแบบจำลองชัดเจนมากขึ้น ทั้งนี้ก็ยังมีข้อมูลอีกเช่นกันว่าสมัยก่อนที่หมู่บ้านมักมีแนวคิดว่าการมีบุตรคือการลงทุน เพราะเป็นการเพิ่มแรงงานในภาคครัวเรือน มีโอกาสมากแค่ไหนที่ต้นเหตุของสาเหตุที่สองมาจากความเชื่อเรื่องการมีบุตรคือการลงทุน? ถ้าเป็นอดีตแนวคิดข้างต้นคงไม่ส่งผลอะไร แต่ในปัจจุบันแนวคิดดังกล่าวกลับเป็นการปิดกั้นเด็กสู่โอกาสที่จะต่อยอดไปสู่ความฝัน เราจะสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างไร? และการเพิ่มรัฐสวัสดิการเพื่อทำให้รายได้ที่แท้จริงของแต่ละครอบครัวเพิ่มขึ้น จะสามารถเยียวยาหรือแก้ไขสองสาเหตุข้างต้นได้หรือไม่ เพื่อให้ในท้ายที่สุดแล้ว เด็กจะมีย่างก้าวเข้าสู่ความฝันและกลับมาพัฒนาชุมชนต่อไปได้

ในประการต่อมา ถ้าวิเคราะห์ผ่านปัจจัยด้านการปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมใหม่ๆ ของเด็ก (แบบจำลองที่ 3) ยังผลให้ในช่วงอุดมศึกษา มีเด็กบางส่วนที่ต้องออกจากการศึกษากลางคันเพราะไม่สามารถปรับตัวต่อสถานที่ใหม่ๆ ได้ ตามที่คุณครูกล่าวไว้ว่า

"เด็กส่วนใหญ่จะอยู่ติดบ้านไม่ค่อยได้อยู่ในเมือง ต่อให้ลงไปเรียนแม่ระมาดก็อยู่โรงเรียนประจำใช้ชีวิตอยู่กับหอซะส่วนใหญ่ ไม่ค่อยได้ใช้ชีวิตข้างนอก เลยทำให้เด็กปรับตัวกับสภาพแวดล้อมใหม่ๆได้ยาก"

คำถามที่ตามมาคือ การแก้ไขปัญหาด้านการปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมใหม่ๆ สามารถทำได้ผ่านระบบการศึกษาหรือไม่? เป็นไปได้มากแค่ไหนถ้าเราสามารถสร้างบรรยากาศในห้องเรียนเพื่อให้เด็กกล้าแสดงออกและเปิดโลกให้แก่เด็กมากยิ่งขึ้น? เพราะการสร้างบรรยากาศภายในห้องเรียนนั้นสำคัญ สิ่งที่สำคัญคือ ครูต้องเข้าใจธรรมชาติของเด็กและต้องทำให้เกิดกระบวนการต่างๆ เพื่อให้เด็กเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่4

ปัจจัยใดบ้างที่ส่งผลต่อการกลับมาประกอบอาชีพภายในชุมชนของเด็ก

จากผลปัจจัยทั้งหมดที่กล่าวมา (แบบจำลองที่ 1-3) เป็นการสะท้อนผลของปัจจัยที่กระทบต่อโอกาสในการศึกษาต่อของเด็กเพียงเท่านั้น (ส่วนแรก) แต่ถ้าลองมองถึงการกลับมาของเด็กเพื่อเป็นกำลังหลักในการพัฒนาชุมชน (ส่วนที่สอง) โดยกำหนดให้เด็กๆ สามารถไขว่คว้าโอกาสในส่วนแรกได้สำเร็จ ว่าจะส่งผลต่อการกลับมาประกอบอาชีพภายในชุมชนเพื่อพัฒนาชุมชนมากน้อยแค่ไหน

ปัจจัยที่จำเป็นคือหลังจากทำตามความฝันได้แล้วจะไม่สามารถกลับมาเจอครอบครัวและคนที่หมู่บ้านอีกเลย จะยังอยากไขว่คว้าความฝันอยู่หรือไม่? (แบบจำลองที่ 4) จากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นเด็กนักเรียนชั้น ม.3 ทั้งหมด 24 คน ทำให้ทราบว่ามีเด็กแค่ 12.5% เท่านั้นที่เลือกทำตามความฝัน ในขณะเดียวกันเด็กอีก 87.5% เลือกที่จะไม่เดินตามความฝันถ้าต้องแลกมาด้วยการจากบ้านเกิดและไม่ได้พบครอบครัวอีก

ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดการซ้อนทับระหว่างปัจจัยด้านครอบครัวกับถิ่นกำเนิด จึงปรับแบบจำลองโดยเปลี่ยนปัจจัยที่จำเป็น โดยให้เด็กๆ สามารถเดินหน้าเข้าสู่ความฝันได้ และไม่สามารถกลับมายังบ้านเกิดได้เหมือนเดิม แต่สามารถพาครอบครัวไปอยู่กับเด็กๆ ได้ (แบบจำลองที่ 5) ผลที่ได้รับกลับตรงกันข้าม กล่าวคือ มีเด็กเพียงแค่ 29.2%เท่านั้นที่ยอมละทิ้งความฝันและกลับมาใช้ชีวิตที่บ้านเกิด ดังนั้นจึงมีเด็กถึง 70.8% ที่ยอมละทิ้งบ้านเกิดเพื่อเดินตามความฝัน เพราะฉะนั้นสามารถกล่าวได้ว่าความผูกพันต่อตัวบุคคลของเด็กมีมากกว่าการผูกพันต่อชาติพันธุ์หรือบ้านเกิด แต่ถ้าเราพิจารณาบริบทของความเป็นจริง ถึงแม้จะมีเด็กบางส่วนที่ไปทำงานบนพื้นที่ราบ แต่ก็แทบไม่มีคนในครอบครัวเดียวกันที่ย้ายถิ่นฐานตามไปเลย

ข้อสังเกตเพิ่มเติม

จากประสบการณ์ที่ได้มีโอกาสไปสอนและพูดคุยกับเด็กทำให้ทราบว่าเด็กส่วนใหญ่ตระหนักถึงปัญหาภายในหมู่บ้านดี แต่กลับไม่แสดงออกว่าตัวเด็กๆ เองสามารถเป็นส่วนหนึ่งเพื่อแก้ปัญหาเหล่านั้นได้ โดยเด็กที่นี้ยังคงหวังพึ่งบุคคลภายนอก (โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี) เป็นหลัก ประกอบกับแบบจำลองข้างต้น (แบบจำลองที่ 4 และ 5) จะพบว่าอาชีพในฝันของเด็กๆ มิใช่เพียงการเดินตามความฝันเท่านั้น แต่ยังเป็นการกลับมาเพื่อทำอาชีพเหล่านั้นภายในหมู่บ้าน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาหมู่บ้านต่อไปอีกด้วย

เพราะฉะนั้นระบบการศึกษาภายในพื้นที่ควรมุ่งปรับเปลี่ยนมุมมองต่อปัญหาของเด็กๆ ว่าทุกคนก็สามารถมีส่วนร่วมในการการแก้ไขปัญหาได้ ไม่ต้องรอหน่วยงานรัฐเข้ามาแก้ไขเพียงอย่างเดียว และควรเพิ่มหลักสูตรการศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชน เพื่อเป็นตัวเชื่อมโยงเด็กเข้าสู่ปัญหาในชุมชน พร้อมทั้งควรทำให้เด็กตระหนักว่าพวกเขาคือกำลังสำคัญที่สามารถแก้ไขปัญหาและพัฒนาจุดบกพร่องในชุมชนต่อไปได้

นอกจากนี้ผู้เขียนมองว่ารูปแบบการศึกษาที่เหมาะแก่ชุมชนและทำให้เด็กปรับตัวได้ง่ายขึ้น ทั้งยังส่งเสริมด้านการเรียนรู้ของเด็กนั้นคือ การศึกษาที่เน้นการพัฒนาความเป็นมนุษย์อย่างรอบด้าน เอาเด็กเป็นตัวตั้ง (Child-Centered Education) รู้จักตัวเอง บ่มเพาะศักยภาพของเด็ก เพื่อให้เขาได้พัฒนาตัวเองและสังคม5 รูปแบบการสอนดังกล่าวต้องเน้นบทบาทของผู้สอน ผู้สอนจะปรับบทบาทจากการบรรยายเป็นหลักเป็นการเป็นผู้อำนวยความสะดวก โดยจะต้องเตรียมสภาพห้องเรียนและวิธีการสอนที่เอื้อต่อแนวคิดนี้ แต่ในปัจจุบันผู้สอนมีคุณภาพและความพร้อมมากแค่ไหนกับรูปแบบการศึกษาดังกล่าว? เพราะก่อนที่จะปรับตัวไปสู่จุดนั้นได้เราควรเริ่มที่การพัฒนาศักยภาพผู้สอนก่อน

ข้อมูลบางส่วนที่ได้จากชาวบ้านทำให้ทราบว่า ในปัจจุบัน การเข้ามาของวัฒนธรรมในเมืองทำให้เด็กในพื้นที่ไม่ให้ความสนใจวัฒนธรรมเดิมๆ ภายในพื้นที่ เพราะฉะนั้นการศึกษาควรเพิ่มบทบาทชุมชนให้เข้าไปมีส่วนร่วมกับการพัฒนาและปฏิรูปการศึกษาในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้เด็กไม่ลืมตัวตนและรากเหง้าของตัวเอง

ท้ายที่สุดนี้ยังมีปัญหาการศึกษาในเชิงมหภาคอีกมากมาย อาทิ การจัดอบรมครูมากเกินไปจนไปกระทบต่อเวลาที่ใช้สอน ผู้มีอำนาจในหน่วยงานราชการไม่ฟังเสียงของผู้ปฏิบัติงาน ข้อสอบจากส่วนกลางที่เน้นความเข้าใจของเด็กในเมืองเป็นหลัก จำนวนครูที่น้อยจนเกินไป เป็นต้น ที่ต้องปฏิวัติผ่านโครงสร้างขนาดใหญ่ ซึ่งการนำเสนอประเด็นดังกล่าวจะเกินเลยไปจากเป้าประสงค์ของบทความนี้ เพราะฉะนั้นจึงอยากส่งท้ายที่คำถามว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะให้แต่ละชุมชนได้เป็นส่วนหนึ่งในการออกแบบนโยบายการศึกษาที่เหมาะสมภายใต้บริบทของชุมชนนั้นๆ? แต่คำถามข้างต้นก็นำเราไปสู่คำถามที่ข้องเกี่ยวกันอย่างเด่นชัดว่า เราต้องใช้เวลาอีกนานแค่ไหนถึงจะพร้อมสู่นโยบายการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง?

1 "รายจ่ายการศึกษาไทยสูง 9 แสนล. แต่จัดสรรไม่ดีทำเหลื่อมล้ำ 3 เท่า" โพสต์ทูเดย์ (12 ตุลาคม 2561)

2 เดชรัต สุขกำเนิด(2561) "ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และความเหลื่อมล้ำข้ามรุ่นในสังคมไทย" โพสต์ทูเลย์. (19 สิงหาคม 2561) [สืบค้น 7สิงหาคม2562]

3 ยกตัวอย่างกรณีที่ผู้เขียนได้มีโอกาสไปสอนเด็ก ม.3 ในรายวิชาคณิตศาสตร์เพิ่มเติม เนื่องจากพื้นฐานเด็กส่วนใหญ่ค่อนข้างอ่อน ส่งผลให้ไม่สามารถสอนตามหลักสูตรได้ หลายๆ ครั้งต้องกลับไปสอนพื้นฐานและส่วนใหญ่แล้ว เป็นบทเรียนของชั้นประถมศึกษา

4 ธัญวัฒน์ อิพภูดม (2560). "การศึกษาไทยโอบกอดเด็กเก่งแต่ทอดทิ้งคนที่เหลือ: คุยกับครูจุ๊ย กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ". The MATTER (13 มิถุนายน 2560)

5 วันดี สันติวุฒิเมธี(2561) "ถกเรื่องความเหลื่อมล้ำในรั้วโรงเรียน กับอรรถพล อนันตวรสกุล" The 101 Percent(24 ตุลาคม 2562) [สืบค้น 7สิงหาคม2562]

ขจรพงศ์ ประศาสตรานุวัตร
นักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ ชอบการค้นคว้า จึงรักการอ่าน และต้องการแบ่งปันประสบการณ์ จึงรักทั้งการพูดและการเขียน