เกร็ดความรู้ในครั้งนี้เป็นความรู้ต่อเนื่องมาจากเรื่อง ค่าจ้างขั้นต่ำ1 คำยอดนิยมที่สามารถพบได้ในข่าวหนังสือพิมพ์หรือจากรายการข่าวจากสื่อในโทรทัศน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงก่อนการเลือกตั้งเพราะเป็นเครื่องมือในการหาเสียงที่ได้รับความนิยมจากพรรคการเมืองมาทุกยุคทุกสมัย ในบทความฉบับนี้ ไม่ได้กล่าวถึงที่มาหรือความหมายของค่าจ้างขั้นต่ำ รวมไปถึงความเป็นมาของค่าจ้างขั้นต่ำในประเทศไทย (ผู้อ่านสามารถทบทวนความรู้ได้จากเศรษฐสารฉบับที่ได้กล่าวไว้ในข้างต้น) ทว่าจะมุ่งเน้นอธิบายประเด็นเรื่องผลกระทบของค่าจ้างขั้นต่ำต่อแรงงานในระบบเศรษฐกิจผ่านเศรษฐกิจรูปแบบพิซซ่า
ระบบเศรษฐกิจพิซซ่าคืออะไร
หากเราลองจินตนาการให้ผลผลิตที่ประเทศหนึ่งสามารถผลิตได้ (Gross Domestic Product) เป็นพิซซ่า 1 ถาดที่ถูกปรุงหรือผลิตโดย 3 ผู้เกี่ยวข้องหลักคือ ผู้ช่วยเชฟ เชฟ และเจ้าของร้าน เมื่อพิซซ่าปรุงเสร็จจึงถูกแบ่งออกเป็น 3 ชิ้น เพื่อเป็นผลตอบแทนแก่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการผลิตทุกคน โดยพิซซ่าชิ้นที่หนึ่ง หมายถึงส่วนแบ่งพิซซ่าของผู้ช่วยเชฟ (ผลตอบแทนของแรงงานกลุ่มที่ใช้ทักษะต่ำ) พิซซ่าชิ้นที่สองหมายถึงส่วนแบ่งพิซซ่าของเชฟ (ผลตอบแทนของแรงงานกลุ่มที่ใช้ทักษะสูง) และชิ้นสุดท้ายส่วนแบ่งพิซซ่าของเจ้าของร้านพิซซ่า (ผลตอบแทนของเจ้าของธุรกิจ) โดยคนตัดพิซซ่าแบ่งคือเจ้าของร้านนั่นเอง2
ถ้าหากพิซซ่าทุกชิ้นมีขนาดเท่ากัน ผู้ที่ไม่ได้เป็นคนตัดแบ่งพิซซ่าก็คงไม่มีปัญหาอะไร ทว่าปัญหาคือพิซซ่าแต่ละชิ้นมีขนาดไม่เท่ากัน โดยชิ้นที่ใหญ่ที่สุดมักจะเป็นของเจ้าของร้าน รองลงมาคือเชฟ และชิ้นที่เล็กที่สุดเป็นของผู้ช่วยเชฟ ซึ่งไม่ได้เป็นเรื่องแปลกอะไร เพราะเจ้าของร้านเป็นผู้ที่ลงทุนลงแรงและแบกรับความเสี่ยงมากที่สุด แต่ถ้าหากขนาดความแตกต่างที่เกิดขึ้นคือแป้ง 1 คำสำหรับผู้ช่วยเชฟ กับพิซซ่าชิ้นโตที่เต็มไปด้วยเครื่องทั้งหมดที่มีในถาดพิซซ่า ในกรณีนี้เราก็คงสงสารผู้ช่วยเชฟไม่ใช่น้อยเลยใช่ไหมครับ ดังนั้นรัฐบาลจึงขอเข้ามามีบทบาทในการกำหนดขนาดชิ้นพิซซ่าที่เหมาะสมให้ผู้ช่วยเชฟ เพราะรู้ว่าผู้ช่วยเชฟไม่สามารถต่อรองพิซซ่าขนาดที่เหมาะสมจากเจ้าของร้านพิซซ่าได้
เมื่อภาครัฐแทรกแซงเพื่อเพิ่มขนาดชิ้นพิซซ่าให้ผู้ช่วยเชฟ แน่นอนว่าย่อมมีพิซซ่าชิ้นอื่นที่ขนาดเล็กลงจากการนำไปแบ่งให้ผู้ช่วยเชฟ ถ้าหากเป็นชิ้นของเจ้าของร้าน เขาจะต้องไม่พอใจเป็นแน่ และอาจทำการเลิกจ้างผู้ช่วยเชฟเพราะว่าตนรู้สึกไม่เป็นธรรมหรือขาดทุนจากการทำกิจการ ความเชื่อนี้เองคือความรู้พื้นฐานในตำราเศรษฐศาสตร์แรงงานที่ระบุว่าการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำจะทำให้การจ้างงานในระบบเศรษฐกิจลดลง หรือนั่นคือทำให้ขาดผู้ช่วยเชฟในการปรุงพิซซ่าและส่งผลให้เจ้าของร้านพิซซ่าผลิตพิซซ่าได้ในขนาดที่เล็กลงในท้ายที่สุด (เศรษฐกิจหดตัวจากการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ)
อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ. 2537 มีการโต้แย้งความเชื่อเรื่องผลกระทบของค่าจ้างขั้นต่ำต่อการจ้างงานเกิดขึ้น งานศึกษาของ Allan Krueger และ David Card พบว่า การเพิ่มขึ้นของค่าจ้างขั้นต่ำส่งผลให้เกิดการจ้างงานที่มากขึ้น ผลการศึกษานี้นับเป็นกระบวนทัศน์ใหม่ (New Paradigm) ในองค์ความรู้ของเศรษฐศาสตร์แรงงานในยุคสมัยนั้น โดยพวกเขาให้เหตุผลว่าผู้ช่วยเชฟคือแรงงานกลุ่มที่ได้ส่วนแบ่งพิซซ่าน้อยที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับเชฟและเจ้าของร้าน รายได้ส่วนใหญ่ที่ผู้ช่วยเชฟหาได้จะถูกนำไปใช้เพื่อการบริโภคมากกว่านำไปเก็บออม เมื่อผู้ช่วยเชฟมีรายได้ที่มากขึ้นจากการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำของรัฐบาล เขาจะนำเงินส่วนเพิ่มนี้ไปซื้อสินค้าอื่น เช่น การซื้อชานมไข่มุกที่เมื่อก่อนเขาไม่สามารถซื้อได้ รายจ่ายใหม่ของผู้ช่วยเชฟนี้จะกลายเป็นรายได้ใหม่ของเจ้าของธุรกิจชานมไข่มุก นั่นคือเจ้าของธุรกิจชานมไข่มุกมีรายได้ส่วนเพิ่มมากขึ้นและสามารถนำรายได้ส่วนเพิ่มนี้มาซื้อพิซซ่าเพิ่มจากเจ้าของร้านพิซซ่าได้ เมื่อเจ้าของร้านพิซซ่าทราบว่ามีความต้องการซื้อพิซซ่าเพิ่มมากขึ้น ระดับปริมาณการผลิตพิซซ่าเดิม (ขนาดถาดเดิม) คงไม่พอต่อการขายเป็นแน่ จึงทำการจ้างเชฟและผู้ช่วยเชฟเพิ่มเพื่อผลิตพิซซ่าให้ได้ขนาดถาดที่ใหญ่ขึ้น ดังนั้นระดับการจ้างงานของผู้ช่วยเชฟจึงไม่ลดลงทว่ากลับเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำไป
แต่ใครจะรับประกันได้ว่าผู้ช่วยเชฟจะนำรายได้ส่วนเพิ่มนี้ไปใช้ซื้อชานมไข่มุก หรือเจ้าของร้านชานมไข่มุกจะมาซื้อพิซซ่าเพิ่มจากเจ้าของร้านพิซซ่า คำตอบคือไม่มีใครรับประกันได้ ทว่านักเศรษฐศาสตร์มีเครื่องมือที่สามารถให้คำตอบทางอ้อมได้เราเรียกสิ่งนั้นว่าความยืดหยุ่น3 ในกรณีนี้ เราวัดผลกระทบของการเพิ่มค่าจ้างต่อความต้องการจ้างงาน (Elasticity of Labor Demand) ถ้าหากค่าความยืดหยุ่นเป็นลบ หมายความว่าการเพิ่มค่าจ้างทำให้ความต้องการจ้างงานลดลง (ตรงกับความรู้ในตำราเศรษฐศาสตร์) ในทางกลับกัน ถ้าหากค่าความยืดหยุ่นเป็นบวก ย่อมหมายถึงการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นจากการขึ้นค่าจ้าง (เป็นไปตามคำอธิบายในงานศึกษาของ Allan Krueger และ David Card) ในอดีตที่ผ่านมา มีงานศึกษาจำนวนมากที่ทำการประมาณค่าความยืดหยุ่นนี้ ซึ่งถูกรวบรวมไว้ในงานศึกษาของ Belman และWolfson ในปีพ.ศ. 2557 (ภาพที่ 1) ค่ามัธยฐาน (Median) ของความยืดหยุ่นจาก 23 งานศึกษากว่าทศวรรษที่ผ่านมาคือ -0.05 นั่นคือเราไม่พบว่าการเพิ่มค่าจ้างส่งผลให้การจ้างงานลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเห็นได้จากงานศึกษาบางชิ้นที่พบว่าการจ้างงานจะลดลงเมื่อมีการเพิ่มค่าจ้าง (กราฟแท่งที่อยู่ทางซ้ายของเส้นสีแดงในภาพที่ 1) และบางงานศึกษาก็พบว่าการจ้างงานจะเพิ่มขึ้นเมื่อมีการเพิ่มค่าจ้าง (กราฟแท่งที่อยู่ทางขวาของเส้นสีแดงในภาพที่ 1) หลักฐานเชิงประจักษ์ที่ผ่านมาไม่สามารถระบุทิศทางผลกระทบที่ชัดเจนได้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโครงสร้างตลาดแรงงานในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน ในบางประเทศ ผู้ช่วยเชฟก็นำรายได้ส่วนเพิ่มไปซื้อชานมไข่มุกและเจ้าของร้านชานมไข่มุกก็ซื้อพิซซ่าเพิ่มจากเจ้าของร้านพิซซ่า (ส่งผลให้มีการจ้างผู้ช่วยเชฟเพิ่มขึ้นจากการเพิ่มค่าจ้างผู้ช่วยเชฟ) แต่ก็มีหลายประเทศที่ผู้ช่วยเชฟและเจ้าของร้านชานมไข่มุกไม่นำรายได้ส่วนเพิ่มไปบริโภคต่อ ทว่านำไปเก็บออม (เจ้าของร้านพิซซ่าไม่ผลิตพิซซ่าเพิ่ม และมีการเลิกจ้างผู้ช่วยเชฟ)
เมื่อโครงสร้างตลาดแรงงานในแต่ละประเทศเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดทิศทางผลกระทบของการเพิ่มค่าจ้างต่อความต้องการจ้างงาน ผู้อ่านคงสงสัยไหมว่า แล้วความต้องการจ้างงานในประเทศไทยตอบสนองต่อค่าจ้างอย่างไร งานศึกษาที่ผ่านมายังคงมีทิศทางที่ไม่ชัดเจน (เช่น Falter, 2549; Lathapipat, 2555; Srisuchart, 2556; Hunthong, 2557) ทว่าโดยรวมแล้ว ผลการศึกษามีความสอดคล้องกับงานศึกษาของBelmand และWolfson นั่นคือการเพิ่มค่าจ้างไม่ส่งผลให้การจ้างงานลดลงอย่างมีนัยสำคัญ4
อ่านมาถึงตรงนี้หลายๆ คนคงคิดว่าค่าจ้างขั้นต่ำมีผลกระทบต่อผู้ช่วยช่วยเชฟและเจ้าของร้านพิซซ่าแค่ 2 คนเท่านั้น ส่วนเชฟนั้นไม่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำของรัฐบาล5 นั่นคือค่าจ้างแรงงานกลุ่มที่ใช้ทักษะสูง (กลุ่มที่ได้รับค่าจ้างสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำอยู่แล้ว) ไม่ได้รับผลกระทบจากนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ อย่างไรก็ตาม Allan Krueger และ David Card ไม่คิดอย่างนั้น พวกเขาบอกว่าปกติแล้วเชฟจะเปรียบเทียบขนาดของชิ้นพิซซ่าตนเองและขนาดชิ้นของผู้ช่วยเชฟอยู่เสมอ โดยจะพยายามรักษาขนาดความแตกต่างนี้ไว้ ดังนั้นถ้าหากผู้ช่วยเชฟได้พิซซ่าชิ้นใหญ่ขึ้น เชฟเองจะเรียกร้องให้เจ้าของร้านแบ่งพิซซ่าให้ตนเองมากขึ้นเช่นกัน ไม่อย่างนั้นเชฟก็จะทำงานน้อยลงหรือผันตัวไปเป็นผู้ช่วยเชฟเพราะรู้สึกว่าทำงานสบายกว่า นำไปสู่ปัญหาเชฟขาดแคลนและทำให้กระบวนการผลิตพิซซ่ามีปัญหาและผลิตได้ปริมาณน้อยลงในที่สุด (เศรษฐกิจหดตัวจากการที่เชฟผันตัวไปเป็นผู้ช่วยเชฟ) ในโลกความเป็นจริง เมื่อมีการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ไม่เพียงแรงงานกลุ่มที่ใช้ทักษะต่ำจะได้ประโยชน์ ทว่าแรงงานกลุ่มที่ใช้ทักษะสูงจะได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้นเช่นกัน (รักษาระดับค่าจ้างเปรียบเทียบให้เท่าเดิม) เพื่อชดเชยความแตกต่างของทักษะแรงงาน6
เราจะเห็นได้ว่าการกำหนดขนาดชิ้นพิซซ่าที่เหมาะสมของผู้ช่วยเชฟจากภาครัฐไม่เพียงส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในขนาดของพิซซ่าทุกชิ้น แต่ยังส่งผลต่อการตัดสินใจปริมาณการผลิตพิซซ่าของเจ้าของร้านพิซซ่าด้วย ดังนั้นการวิเคราะห์ผลกระทบของค่าจ้างขั้นต่ำต่อระบบเศรษฐกิจจึงไม่มีคำตอบที่ตายตัวว่าจะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นหรือแย่ลง7
เพราะโครงสร้างตลาดแรงงานมีความแตกต่างกันในแต่ละประเทศและมีการเปลี่ยนแปลงตามเวลาอีกต่างหาก นี่เป็นความท้าทายสำคัญของรัฐบาลที่จะต้องประเมินสภาพตลาดแรงงานให้ครบทุกมิติ เพื่อให้ผลกระทบของการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นไปตามแผนนโยบาย สุดท้ายนี้ ผู้เขียนหวังว่าเกร็ดความรู้นี้จะช่วยเปิดมุมมองเรื่องผลกระทบของนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำต่อระบบเศรษฐกิจให้กับผู้อ่านได้ อย่างน้อยที่สุดคือ เข้าใจว่านโยบายนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบเฉพาะแรงงานที่รับค่าจ้างต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ ทว่าส่งผลต่อแรงงานทุกระดับทักษะตลอดจนผู้ประกอบการในระบบเศรษฐกิจเช่นกัน
เอกสารอ้างอิง
Belman, Dale, and Paul J. Wolfson (2014). The New Minimum Wage Research. Employment Research. 21(2): 4-5.
Card D. and Alan B. Krueger (2016). Myth and Measurement: The New Economics of the Minimum Wage Twentieth-Anniversary Edition. Economics Books, Princeton University Press, edition 2, number 10738, December.
Falter, J. M. (2005). Minimum wages and the labour market: the case of Thailand.
Hunthong, P. (2014). "How the Three Hundred Baht Daily Minimum Wage Policy Affects Wage Inequality and Employment in Thailand". Thesis, Faculty of Economics, Thammasat University.
Lathapipat, D. (2012). "The effects of the Minimum Wage on Employment, HoursWorked, and Wage Inequality in Thailand". Thailand Development Research Institute.
ธีรวุฒิศรีพินิจ (2562) "ความยืดหยุ่น", เศรษฐสาร ปีที่ 33 ฉบับที่1 (มกราคม 2562)
วีระวัฒน์ ภัทรศักดิ์กำจร (2561) "ค่าจ้างขั้นต่ำ", เศรษฐสาร ปีที่ 32 ฉบับที่ 1 (มกราคมพ.ศ. 2561)
ศุภชัยศรีสุชาติ (2556) "โครงการประเมินนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำกรณีศึกษาค่าจ้างข้นต่ำ 300 บาท", การประชุมสัมมนาประจําปี 2556 (Symposium) คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
1วีระวัฒน์ ภัทรศักดิ์กำจร "ค่าจ้างขั้นต่ำ" เศรษฐสาร ปีที่ 32 ฉบับที่ 1 (มกราคม 2561)
2ผู้เขียนได้รับแรงบันดาลใจในแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพิซซ่าจากหนังสือ "Myth and Measurement: The New Economics of the Minimum Wage" โดยหนึ่งในผู้แต่งร่วมคือ David Card นักเศรษฐศาสตร์ด้านแรงงานชั้นนำของโลก ผู้ที่เคยได้รับรางวัล John Bates Clark Prize ซึ่งเป็นหนึ่งในรางวัลที่ดีที่สุดของนักเศรษฐศาสตร์รองมาจากรางวัล Nobel Prize
3ผู้อ่านสามารถศึกษาความรู้เพิ่มเติมได้จาก ธีรวุฒิ ศรีพนิจ (2562) "ความยืดหยุ่น" เศรษฐสาร ปีที่ 33 ฉบับที่ 1 (มกราคม 2562)
4ในงานศึกษาของ Lathapipat ในปี พ.ศ. 2555 พบว่า เมื่อมีการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทำให้การจ้างงานลดลง ทว่าเป็นเวลาเพียงไม่นานและระดับการจ้างงานจะกลับสู่สภาวะเดิมในเวลาต่อมา
5เหตุการณ์ที่เจ้าของร้านไม่ยอมลดส่วนแบ่งพิซซ่าชิ้นของตนเอง แต่ไปลดส่วนแบ่งในพิซซ่าชิ้นของเชฟเกิดขึ้นได้ยากเพราะเชฟคงไม่ยอมให้เจ้าของร้านลดผลตอบแทนของตนเองแล้วไปเพิ่มให้ผู้ช่วยเชฟแทน อำนาจต่อรองของเชฟย่อมมากกว่าผู้ช่วยเชฟเนื่องจากเชฟมีส่วนร่วมในการผลิตพิซซ่ามากกว่า
6หนึ่งในข้อค้นพบสำคัญในหนังสือ "Myth and Measurement: The New Economics of the Minimum Wage"
7ในความเป็นจริงผลกระทบของค่าจ้างขั้นต่ำต่อระบบเศรษฐกิจนั้นมีหลากหลายมิติ เช่นการจ้างงาน ความเหลื่อมล้ำของค่าจ้าง ค่าจ้างของแรงงานกลุ่มที่ใช้ทักษะสูง ระดับราคาสินค้า การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิต ปริมาณแรงงานในระบบและแรงงานนอกระบบ เป็นต้น