เศรษฐกิจโลกได้พัฒนามาจากสังคมล่าสัตว์ มาเป็นสังคมเลี้ยงสัตว์ สังคมการค้า และกำลังเข้าสู่สังคมดิจิทัล ยิ่งรูปแบบเศรษฐกิจขยายมากขึ้น และซับซ้อนมากขึ้น เราก็ยิ่งต้องการเครื่องตัวกลางที่ทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนได้เร็วมากยิ่งขึ้น เปรียบเสมือนรถยนต์ที่ต้องการน้ำมันเครื่องที่ทำให้เครื่องยนต์หมุนได้เร็วและแรงขึ้น โลกได้พัฒนาสื่อกลางการแลกเปลี่ยนมาจากการใช้เปลือกหอย โลหะมีค่า ธนบัตร จนถึงการใช้สินเชื่อผ่านบัตรเครดิต เมื่อเศรษฐกิจเริ่มเข้าสู่สังคมดิจิทัล โลกก็มองสื่อกลางการแลกเปลี่ยนที่จะทำให้เศรษฐกิจลื่นไหลมากขึ้น เทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ที่เรียกว่า Blockchainอย่างที่เราได้เคยคุยกันไปในฉบับก่อนหน้านี้แล้ว1 ก็ได้ให้กำเนิด cryptocurrency หรือ "เปลือกหอยดิจิทัล" เพื่อเป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยน เช่น Bitcoin จนมาถึง Libra ถึงแม้ว่า Libra จะแท้งก่อนคลอดไปแล้ว แต่ก็น่าสนใจที่จะมาคุยกันว่า Bitcoin กับ Libra ต่างกันอย่างไร2

การยันยันข้อมูล
ความเที่ยงตรงของข้อมูลนับได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญที่สุดของระบบเศรษฐกิจดิจิทัลเลยก็ว่าได้ ระบบดิจิทัลทำให้การจัดเก็บ เรียกใช้งาน และการโอนข้อมูล สามารถทำได้ง่าย รวดเร็ว และต้นทุนถูกมาก ด้วยความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีนี้ได้สร้างระบบสารสนเทศที่เรียกว่า Blockchain ที่คิดแหวกแนวจากระบบการเก็บข้อมูลแบบเดิมๆ แต่เดิมเคยนำข้อมูลมารวมกันที่เดียวและรวมสรรพกำลังในการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลไว้ที่เดียวกัน (Centralized) เปลี่ยนไปใช้วิธีกระจายข้อมูลไปไว้ในคอมพิวเตอร์หลายๆ เครื่องในระบบเครือข่าย (Decentralized) จากลักษณะการกระจายข้อมูลดังกล่าว ถ้าจะทำการแก้ไขปนเปื้อนข้อมูลก็จะต้องปรับปรุงข้อมูลในคอมพิวเตอร์จำนวนมากในระบบเครือข่ายพร้อมๆ กัน ด้วยเหตุนี้จึงเชื่อได้ว่าข้อมูลในระบบ Blockchain น่าเชื่อถือมากกว่าเป็นต้นฉบับแท้ ๆ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนี้ที่ชัดเจนมากที่สุดก็คือการสร้าง "เปลือกหอยสมัยใหม่" หรือ cryptocurrency ที่จะทำให้ธนาคารซึ่งปัจจุบันเราอาศัยเขาในการทำธุรกรรมต่าง ๆ จะต้องหนาวเลยทีเดียว เพราะหากใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราก็สามารถทำธุรกรรมกันเองได้โดยไม่ต้องกลัวอีกฝ่ายจะมาอ้างทีหลังว่าเรายังไม่ได้จ่ายเงินหรือยังไม่ได้รับเงิน

หัวใจสำคัญของ cryptocurrency ก็คือเทคโนโลยีนี้ที่จะไม่ต้องพึ่งคนกลางในการยืนยันข้อมูลนี่แหล่ะครับ จะรอดหรือตายไปก็ตรงนี้เช่นกัน หัวใจของมันคือวิธีการจะบันทึกข้อมูลใหม่เพิ่มลงไปซึ่งเรียกว่า Validation ซึ่งมีหลายวิธีมาก เดี๋ยวเรามาลองเปรียบเทียบ Bitcoin กับ Libra ว่าเหมือนหรือต่างกันอย่างไร

Bitcoin ใช้วิธีสุดโต่งคือใครก็ได้สามารถทำหน้าที่ตรวจเช็คและบันทึกข้อมูลได้ ถ้าหากมีผู้ยืนยันมากพอ ระบบก็จะบันทึกข้อมูลเพิ่มเข้าไป และผู้ยืนยันก็จะได้รางวัลหากสามารถยืนยันข้อมูลได้ หรือที่เรียกว่าขุดเหมือง bitcoin ข้อดีมากๆ ของระบบนี้คือค่อนข้างสบายใจว่าไม่มีใครเป็นขาใหญ่ในการยืนยันข้อมูล เรียกได้ว่ายกเลิกการรวมศูนย์ทั้งการเก็บข้อมูลและการยืนยันข้อมูล แต่ข้อเสียมากๆ ก็คือช้ามากและกินทรัพยากรมาก

ในขณะที่ Libra ไม่ได้เปิดให้ใครๆ ก็ได้มาทำการยืนยันข้อมูล แต่เลือกใช้การแต่งตั้งตัวแทนที่น่าเชื่อถือ ในที่นี้ก็คือ partner ที่จะมาร่วมลงทุนนั่นเอง แม้ระบบ blockchain จะทำกระจายข้อมูลไปในระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ แต่ Libra ยังคงอำนาจในการยืนยันข้อมูลให้ทำได้เฉพาะตัวแทนของตนเท่านั้น ข้อดีของวิธีนี้คือสามารถทำการยืนยันข้อมูลได้เร็วขึ้นมาก ถ้าหากเป็นตัวแทนที่น่าเชื่อถือเราก็คงไม่สงสัยหรือเราก็สามารถตรวจสอบได้ แต่มันก็กลับเป็นข้อเสียเหมือนกันเพราะในเมื่อตัวแทนไม่กี่คนเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงการเปลี่ยนแปลงชุดข้อมูลได้ เป็นไปได้ว่าเขาจะทำการเปลี่ยนแปลง นัยหนึ่งก็คือสูญเสียความเก่งของ bitcoin ที่เป็นยกเลิกการร่วมศูนย์ทั้งการเก็บข้อมูลและการยืนยันข้อมูล

การกำหนดราคาของเหรียญ
Cryptocurrency ด้วยตัวของมันเองไม่ได้มีมูลค่าอะไรเลยไม่เหมือนเปลือกหอย โลหะเงิน หรือ โลหะทองที่เราเคยใช้เป็นเงินมาก่อน การถือ Cryptocurrency เช่น Bitcoin หรือ Libra ก็ตามเป็นเหมือนเรามีกรรมสิทธิ์ "เปลือกหอยดิจิทัล" บนคอมพิวเตอร์เท่านั้น มันจะมีค่าหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราให้ราคามันหรือไม่ และจะกำหนดค่ามันด้วยวิธีอะไร

สำหรับ Bitcoin ถือหลักว่าจะเป็นสมบัติสาธารณะ ไม่ยอมให้ใครคือองค์กรใดองค์กรหนึ่งเป็นเจ้าของมัน ดังนั้นมูลค่าของ Bitcoin จึงขึ้นกับว่าใครอยากให้ราคาเท่าไหร่ก็ได้แล้วแต่จะตกลงกัน คล้ายๆ การประมูลรายวัน รายนาทีเลยก็ว่าได้ ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้ราคา Bitcoin ผันผวนมาก ผู้ถือสามารถกลายเป็นเศรษฐีหรือสูญเสียมูลค่าไปเลยเพียงแค่ข้ามคืนเลยก็ได้ ปัญหาเรื่องความไม่มีเสถียรภาพของราคาก็เป็นสาเหตุที่คนยังกลัวๆ อยู่มาก แต่ในทางตรงข้ามก็เป็นที่ดึงดูดสำหรับคนที่ชอบความผันผวนเพราะสามารถหากำไรได้ง่าย

Libra แก้ปัญหาเรื่องมูลค่าของเหรียญตัวเองอีกทางหนึ่ง กล่าวคือในเมื่อไม่ทราบจะกำหนดราคากันอย่างไร กลุ่มพันธมิตรของLibra จึงประกาศกับผู้ถือว่าราคาของ Libra จะอ้างอิงกับเงินจริงเลย เพื่อให้ราคาคงที่ขึ้นไปอีก แทนที่จะอ้างอิงกับดอลลาร์เพียงอย่างเดียว เขาจะเอาเงินสกุลสำคัญอื่นๆ เข้ามาด้วยโดยอาศัยการถ่วงน้ำหนักที่เหมาะสม และสร้างความมั่นใจกับผู้ถือเหรียญโดยประกาศว่าผู้ถือสามารถนำมาแลกคืนเป็นเงินจริงได้ตามค่าเงินที่กำหนดในวันนั้นๆ ได้เสมอ วิธีนี้ทำให้ราคาของ Libra มีความคงตัวได้จริงๆ ซึ่งเป็นวิธีเดียวกับที่เราใช้กันในระบบธนบัตรปัจจุบัน ที่ตัวธนบัตรเองมีค่าน้อยกว่ามูลค่าทางกฎหมาย เพียงแต่ธนาคารกลางสัญญาว่าธนบัตรนั้นจะมีมูลค่าตามหน้าธนบัตร

สรุปความฉลาดของ Libra ก็คือแก้ปัญหาเรื่องการยืนยันข้อมูลที่อาจจะใช้เวลานาน และแก้ปัญหาเรื่องความคงตัวของมูลค่าของเหรียญ Libra เองได้ ด้วยวิธีการแก้ปัญหาดังกล่าว ทำให้เป็นสิ่งที่น่าสนใจมากว่า Libra จะเป็นความหวังที่จะกลายเป็นสกุลเงินสากลไร้พรมแดนในยุคใหม่นี้ได้จริงๆ

และเรื่องยุ่งๆ ก็เกิดขึ้นเมื่อ Facebook เป็นผู้ประกาศการเกิดของ Libra
ดูจะเป็น Deal และ Innovation ทางธุรกิจแห่งศตวรรษเลยก็ว่าได้. ลองนึกถึงจำนวนผู้ใช้ Facebook ทั้งโลก ที่ต้องการซื้อของ online โอนเงินระหว่างกัน Facebook มีลูกค้าอยู่ในมือพร้อม และลูกค้าเหล่านี้ก็ใช้ PayPal หรือบัตรเครดิตอื่นในการชำระเงินอยู่แล้ว ก็ไม่น่าแปลกใจที่เจ้าของค่ายบัตรเครดิตกับ Facebook ย่อมจะยินดีร่วมกันในโครงการนี้

เรื่องยุ่งๆ เกิดขึ้นเพราะอะไร? ก็เพราะถ้าเราอยู่ในโลกของ Bitcoin จะไม่มีใครมารู้ตัวตนเรา(ยกเว้นเราพลาดไปแสดงตัวตน) อย่างน้อยก็อีกสักพัก คนอื่นจะทราบเพียงว่าเกิดธุรกรรมขึ้น แล้วไปเดากันเองว่าใคร เหมือนกับที่เราเห็นมีการซื้อขายหุ้นแต่เราไม่ทราบว่าใคร ผู้ถือ Bitcoin ก็ชอบคุณสมบัติข้อนี้ของ Bitcoin แต่สิ่งที่ทางการไม่ชอบเกี่ยวกับ Bitcoin. ก็ตรงนี้เองคือ จับมือใครดมไม่ได้เลย จะควบคุมดูแลอะไรก็ไม่ได้เลย

เมื่อ Libra เกิดขึ้นในทางเทคนิคพันธมิตรของ Libra จะทราบได้หมดว่าใครทำอะไรกับใคร ในกรณี Facebook เมื่อได้ประกาศตัวเป็นคนนอกและจะไม่เข้าไปยุ่งกับข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ ที่น่าสนใจคือเทคโนโลยีเกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาความน่าเชื่อถือของคนกลาง แต่เรากลับจะไม่เชื่อคนกลางอย่าง Facebook ว่าจะแอบหาประโยชน์จากมัน ดูเหมือนว่าคำว่า "อิสรภาพไม่ได้มาฟรีๆ" ก็สามารถนำมาใช้ได้กับ Bitcoin กับ Libra ได้อีกเหมือนกัน

ใครจะได้ผลกระทบหากได้ใช้ Libra จริงๆ
คำตอบก็คือกลุ่มธนาคารนั่นเอง สาเหตุที่เราต้องมีธนาคารนอกเหนือจากเป็นที่เก็บเงินของเราแล้ว ธนาคารทำหน้าเป็นตัวกลางของผู้กู้และผู้ให้กู้ในการชำระราคาสินค้าโดยที่คู่ค้าไม่จำเป็นต้องรู้จักกัน ธนาคารจะทำหน้าที่รับประกันอีกฝ่ายหนึ่งให้โดยคิดค่าธรรมเนียมเป็นค่าตอบแทน เช่น เราต้องเสียค่าธรรมเนียมในการโอนเงินข้ามประเทศ. เราต้องเสียค่าค้ำประกัน เราต้องเสียอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มีให้เห็นแล้วในกรณีของ Alibaba ในประเทศจีน เช่นAliPay ในการชำระเงินหรือการกู้เงินก็ตาม หากเทคโนโลยีทำหน้าที่ค้ำประกันให้เราได้โดยมีราคาที่ถูกกว่า เราจะไปใช้ธนาคารทำไม

หากลองสังเกตดูความกังวลเกี่ยวกับ Libra กลับไม่ได้มาจากธนาคารพาณิชย์ แต่กลับเป็นธนาคารกลางและหน่วยงานกำกับมากกว่าใช่ไหมครับ เพราะอะไร? ประเด็นสำคัญจริงๆ ก็คือ Libra ไม่ใช่ธนาคารกลางที่ทำหน้าที่ออกเงิน และไม่ใช่ธนาคารที่ถูกรัฐบาลควบคุม แม้ว่ารัฐบาลจะควบคุม คำถามคือเป็นรัฐบาลของประเทศไหน

เริ่มจากวิธีการคิดราคาเหรียญ Libra ที่ผูกกับตะกร้าเงิน เมื่อผมได้ยินครั้งแรกก็ทำให้นึกถึงตอนที่ก่อตั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และกำหนดค่าเงินต่างๆ เทียบกับเงินดอลลาร์ และสร้างสิ่งที่คล้ายสกุลเงินขึ้นมาที่เรียกว่า "สิทธิการถอนเงิน" หรือ Special Drawing Rights (SDRs) ที่ผูกมูลค่ากับตะกร้าเงินที่สำคัญๆ ของโลก Libra จะก็ทำในลักษณะนี้เหมือนกัน ดังนั้นวิธีกำหนดมูลค่า Libra แบบนี้จึงน่าจะทำให้มูลค่ามีความมั่นคง แต่ความแตกต่างที่สำคัญคือ SDRs ออกโดยข้อตกลงของรัฐบาลหลายๆ ประเทศ และใช้ในระดับประเทศไม่ใช่เอกชน จะเห็นได้ว่า เพียงแค่การประกาศใช้โดยรัฐหรือเอกชนก็สร้างความแตกต่างได้ เพราะเอกชนมีแนวโน้มจะหาวิธีหากำไรจากเงินที่ตัวเองมีแบบที่ธนาคารทำ

แม้ว่า Libra จะประกาศบทบาทของตนเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการชำระเงิน และอาจจะให้กู้ด้วย ซึ่งลักษณะดังกล่าวก็คือธนาคารนั่นเอง เหตุผลที่ Libra จะต้องถูกกำกับดูแลก็เหมือนกับที่ธนาคารจะต้องถูกกำกับดูแล มีคร่าวๆ ดังนี้

  1. ถ้าหากมีคนจำนวนมากนำเงินมาแลกเป็น Libra ถามว่า พันธมิตร Libra จะยอมรับรายได้เพียงแค่การเป็นคนยืนยันข้อมูลหรือไม่ พันธมิตรจะจัดการเงินของผู้ใช้ที่อยู่ในมือมากมายมหาศาลอย่างไร ถ้าหากยอมผู้ใช้สามารถแลกคืนได้ทุกเมื่อ วิธีการหนึ่งคือพันธมิตรก็ต้องถือเงินไว้ทั้งหมดซึ่งเป็นต้นทุนมหาศาลของพันธมิตร สุดท้ายเขาก็จะไม่สามารถถือไว้ได้หมด เรื่องแบบนี้ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วในประวัติศาสตร์ สหรัฐอเมริกาเคยสัญญาว่าใครที่ถือดอลลาร์ไว้ สามารถมาแลกเป็นทองได้ทุกเมื่อที่ต้องการ เมื่อเศรษฐกิจโลกโตขึ้นจนเกินมือที่จะรับได้ ประเทศต่างๆ จะมาขอแลกเป็นทอง สหรัฐอเมริกาเองก็บอกว่าไม่มี แต่นั่นเกิดขึ้นในระดับรัฐบาล หากสิ่งนี้เกิดในระดับบริษัทที่กระทบคนจำนวนมากย่อมเป็นเรื่อโกลาหลอย่างแน่นอน
  2. สำหรับธนาคาร เงินฝากคือแหล่งที่มาของเงินก็จริง แต่ก็เป็นต้นทุนด้วย ดังนั้นเขาจะไม่ถือเงินฝากไว้มาก แต่จะพยายามปล่อยกู้ให้มาก ฉันใดก็ฉันนั้น หากพันธมิตร Libra มีผู้ใช้จำนวนมากเอาเงินมาแลกเป็นเหรียญ Libra ก็ไม่ต้องห่วงเลยที่พันธมิตรเหล่านี้จะต้องพยายามใช้เงินก้อนนี้แน่นอน คำถามคือใครจะกำกับดูแลสำหรับธนาคารพาณิชย์ ธนาคารกลางของแต่ละประเทศจะเป็นผู้กำกับดูแล และมียังมีข้อตกลงระหว่างประเทศ โดยธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (Bank for International Settlements) ที่ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ จะมาร่วมกันออกกฎเกณฑ์ เพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบธนาคาร เช่น ใน 2-3 ปีที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประกาศรายชื่อธนาคารที่มีความเสี่ยงสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ ซึ่งก็คือธนาคารขนาดใหญ่ในขณะนั้น คนยังตกใจว่าธนาคารเหล่านี้มีความเสี่ยงสูงหรืออย่างไร
  3. เพราะผู้ประกาศให้บริการLibra ไม่ใช่รัฐบาล ทำไมเรื่องนี้จึงสำคัญ สำหรับผู้ใช้ทั่วไป หากเราต้องการใช้เงิน Libra เราต้องเอาเงินไปแลก และหากเราขายของเราก็จะได้ Libra ถ้าจะเปรียบเทียบก็เช่นหากเราไปเที่ยวสหรัฐอเมริกา ต้องเอาเงินบาทไปแลกดอลลาร์เพื่อซื้อของ และเราก็จะได้ดอลลาร์หากเราขายของ เราก็ได้รับเงินดอลลาร์ หากถามว่าคนซื้อของเราเขาเอาเงินดอลลาร์มาจากไหน จริงๆ แล้ว ก็มาจากธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกาที่ผลิตดอลลาร์ออกมา เมื่อเป็นรัฐบาล เราก็จะมีความน่าเชื่อถือว่าการพิมพ์ดอลลาร์ย่อมจะด้วยเหตุผลอันสมควร แต่หากเป็นเอกชน เช่น พันธมิตร Libra เขาก็อาจจะใช้ Libra เพื่อประโยชน์ของตัวเองขึ้นมา ทั้งที่มีบทบาทเหมือนธนาคารกลาง

สรุปแล้ว Libra ได้ทำให้เราเห็นแล้วว่า Cryptocurrency มีศักยภาพมากแค่ไหน มันสามารถลดคนกลางไปได้มาก ทำให้เศรษฐกิจมีประสิทธิภาพขึ้น ทุกอย่างมีต้นทุนของมัน อิสรภาพที่ได้มาจากLibra จะทำให้ผู้ใช้อย่างคนทั่วไปมีต้นทุนการเงินที่ถูกลงมาก มีอิสระมากขึ้น และผู้ให้บริการ Libra (คนกลางคนใหม่) จะได้ผลตอบแทนมหาศาล ในขณะเดียวกัน เมื่ออิสรภาพมากขึ้น การกำกับดูแลก็ยากขึ้นเสมือนต้องกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์โลกและธนาคารกลางโลกไปพร้อมๆ กัน ทั้งที่ไม่รู้ว่ารัฐบาลประเทศใดจะมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลนั้น

1ธีรวุฒิ ศรีพินิจ (2561) "เศรษฐกิจดิจิทัล" เศรษฐสาร ปีที่ 32 ฉบับที่ 5 (พฤษภาคม 2561)

2ในบทความนี้ใช้ความหมาย Cryptocurrency ตามเทคโนโลยีสารสนเทศที่เป็นการประยุกต์เทคโนโลยี Blockchain กับสื่อกลางทางการเงิน

ธีรวุฒิ ศรีพินิจ
อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์