สถานการณ์ประชากรผู้สูงอายุในประเทศไทย
การพยากรณ์จำนวนประชากรจำแนกตามอายุพบว่า ในปี 2573 และ 2583 สัดส่วนของประชากรสูงอายุจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 26.6 และ 32.1 ตามลำดับ โดยมีปัจจัยที่ส่งผลคืออัตราการเกิดที่อยู่ในระดับต่ำและอายุที่คาดโดยเฉลี่ยมีแนวโน้มที่สูงขึ้น นอกจากนี้ เมื่อวัดด้วยดัชนีการสูงวัย (Index of Aging)1 พบว่า จะมีค่าเกิน 100 ในปี 2561 ทั้งนี้ประเทศไทยเข้าสู่ "สังคมสูงอายุ" (aged society) ตั้งแต่ปี 2548 จากประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมด และประมาณปี 2564 ประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ (complete aged society) เมื่อประชากรสูงอายุสูงถึงร้อยละ 20 และจะเป็นสังคมสูงอายุระดับสุดยอด (super aged society) เมื่อประชากรสูงอายุเพิ่มสูงถึงร้อยละ 30 ของประชากรทั้งหมด ในช่วงประมาณปี 2578
ทั้งนี้ผลของการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุนี้ยังทำให้โครงสร้างของการพึ่งพิงที่วัดโดยอัตราการพึ่งพิงรวมมีการเปลี่ยนแปลงไป การพึ่งพิงในส่วนของผู้สูงอายุจะเริ่มมีมากขึ้นตั้งแต่ปี 2554 และแนวโน้มของอัตราการพึ่งพิงวัยเด็กมีแนวโน้มที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง การประมาณการโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพบว่า ในภาพรวมของประเทศ อัตราส่วนรวมทั้งสองอยู่ในระดับที่ประมาณร้อยละ 63 โดยมีอัตราส่วนการพึ่งพิงวัยเด็กร้อยละ 22 และอัตราการพึ่งพึงวัยสูงอายุร้อยละ 41 อัตราส่วนที่สูงนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการกำหนดนโยบายด้านสังคมและเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต (สภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติ, 2556)
จากสถานการณ์ข้างต้น การสร้างโอกาสในการทำงานของแรงงานสูงวัยจึงเป็นประเด็นที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการบริหารจัดการสถานการณ์ของสังคมผู้สูงอายุในอนาคต ในการส่งเสริมการจ้างงานของแรงงานสูงวัยต้องมีการกำหนดประเด็นเกี่ยวกับระยะเวลาการทำงานและอายุเกษียณรวมถึงรูปแบบและข้อเกี่ยวข้องทางกฎหมาย เฉลิมพล แจ่มจันทร์ (2551) ได้ศึกษาข้อพิจารณามโนทัศน์ใหม่ของนิยามผู้สูงอายุและอายุเกษียณในประเทศไทย ดังได้สรุปอายุเกษียณและอายุที่เริ่มรับบำนาญ หรืออายุเกิดสิทธิกรณีชราภาพในภาคการจ้างงานของไทย ไว้ในตารางที่ 1 พบว่า การจ้างงานในภาคเอกชนไม่ได้มีการกำหนดเกี่ยวกับอายุเกษียณที่เป็นทางการไว้โดยกฎหมาย มีเพียงการกำหนดเกณฑ์อายุที่เกิดสิทธิของสิทธิประโยชน์ประกันสังคมกรณีชราภาพ ไว้ที่อายุ 55 ปีบริบูรณ์ไว้เท่านั้น
รูปแบบการจ้างงานแรงงานสูงอายุ
จากถอดบทเรียนสถานประกอบการที่มีการจ้างแรงงานสูงวัย (ศุภชัย ศรีสุชาติ และ แก้วขวัญ ตั้งติพงศ์กูล ,2559) พบว่า การจ้างงานแรงงานสูงอายุมีรูปแบบสำคัญ คือ การจ้างงานกลับมาใหม่ หรือการขยายอายุการเกษียณ และการจ้างแบบยืดหยุ่นมีความเป็นอิสระ ทั้งสองรูปแบบมีความแตกต่างกันในทางปฏิบัติคือ
จากรูปแบบของการทำงานทั้ง 4 รูปแบบ สามารถพิจารณาถึงค่าตอบแทนและผลประโยชน์ต่างๆ ที่แรงงานพึงได้รับที่แตกต่างกัน เนื่องจากสถานภาพที่เกี่ยวข้องกับประกันสังคมจะมีความแตกต่างกัน หากสมมติให้เวลาที่เกิดการจ้างงานใหม่ หรือการขยายอายุการทำงานอยู่ที่ 55 ปี และแรงงานมีการทำงานครบที่จะได้รับบำนาญ (ในทางปฏิบัติหากแรงงานงานมีการจ่ายสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมน้อยกว่า 180 เดือนแรงงานจะได้รับบำเหน็จ) รูปแบบของค่าตอบแทนแสดงได้ในตารางที่ 2
แม้ว่าแนวทางการเสริมสร้างการจ้างแรงงานสูงวัยจะมีข้อสรุปประการสำคัญจากการศึกษาที่ผ่านมาคือ ควรมีการดำเนินการตามความสมัครใจระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง แต่การดำเนินการเช่นนั้นย่อมทำให้การขับเคลื่อนในภาพรวมทำด้วยความยากลำบากมากขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการในบางอุตสาหกรรมสามารถหาแรงงานทดแทนได้ถูกกว่าการใช้แรงงานสูงวัย ตลอดจนการสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เหมาะสมรวมถึงการบริหารจัดการบุคคลมีต้นทุนที่สูงกว่า ดังนั้น หากรัฐบาลเห็นความสำคัญของการจ้างงานแรงงานสูงวัย รัฐอาจจำเป็นต้องมีการใช้มาตรการตามช่วงระยะเวลา โดยแบ่งเป็นช่วงแรกคือระยะสั้น และระยะที่สองคือระยะปานกลางถึงระยะยาว
เพื่อให้การออกแบบรูปแบบข้อตกลงระหว่างนายจ้างและลูกจ้างมีความเป็นไปได้และมีหลากหลายรูปแบบ รวมถึงการสร้างความยืดหยุ่นให้กับการจ้างงานโดยที่ตัวเงินที่ลูกจ้างจะได้รับเมื่อเทียบเคียงกับการทำงานในระบบอย่างเดิมมีความไม่แตกต่างกันมากแล้ว จำเป็นต้องทบทวนการปรับระบบการจ่ายประกันสังคมระหว่างคนสองกลุ่มเพื่อให้ระดับรายได้ของลูกจ้างไม่แตกต่างกันมากเมื่อเทียบกับการจ้างงานปกติ และเมื่อเทียบจากรูปแบบของการจ้างงานที่อาจมีความแตกต่างกัน นอกจากนี้ รูปแบบของการจ้างงานแรงงานสูงวัยอาจต้องระบุให้ชัดเจนในสัญญาการจ้างงานตั้งแต่เริ่มแรกเพื่อให้ทั้งลูกจ้างและนายจ้างรับทราบบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบในกระบวนการจ้างงานแรงงานสูงวัย
หมายเหตุ ศุภชัย ศรีสุชาติ ผู้เขียนร่วม
เอกสารอ้างอิง
เฉลิมพล แจ่มจันทร์. (2551). ข้อพิจารณามโนทัศน์ใหม่ของ "นิยามผู้สูงอายุ" และ "อายุเกษียณ" ในประเทศไทย วารสารประชากร, ปีที่ 4 ฉบับที่ 1.
สภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติและกระทรวงแรงงาน. (2556). ข้อเสนอการขยายโอกาสในการทำงานของแรงงานสูงอายุ.
ศุภชัย ศรีสุชาติ และ แก้วขวัญ ตั้งติพงศ์กูล (2559). โครงการวิจัยถอดบทเรียนสถานประกอบการที่มีการจ้างแรงงานสูงวัย. มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย.
1ระดับการสูงอายุของประชากร สามารถวัดด้วย "ดัชนีการสูงวัย" (Index of Ageing) โดยเป็นอัตราส่วนระหว่างประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ต่อประชากรอายุต่ำกว่า 15 ปี คูณด้วย 100 ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีผู้สูงอายุกี่คนต่อเด็ก 100 คน