น้ำมัน: จุดชนวนระเบิดเวลาของสหภาพโซเวียต

30 มิถุนายน 2562
16573 views

การล่มสลายของสภาพโซเวียตในปี ค.ศ.1991 ถือเป็นปรากฏการณ์ช็อกโลกที่ต้องจารึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ เมื่อสหภาพโซเวียตที่ยืนตระหง่านคานอำนาจกับโลกเสรีมายาวนานกว่า 70 ปี ได้พังครืนลงภายในไม่กี่เดือน น้ำมันดิบเป็นผู้เล่นสำคัญทั้งในฐานะ "ทางออก" และ "ปัญหา" ของเศรษฐกิจ
โซเวียต และน้ำมันดิบนี้เอง คือชนวนที่จุดระเบิดของการล่มสลายของสหภาพโซเวียต

ในบทความนี้ ผู้เขียนจะขอย้อนเวลาไปในทศวรรษ1970 เพื่อเกริ่นถึงเหตุการณ์ก่อนที่จะเกิดวิกฤตการณ์น้ำมันของโซเวียต เพื่อให้ทุกคนเข้าใจสภาพการณ์ที่เป็นอยู่ ณ ขณะนั้นเสียก่อน

ตลอดทศวรรษ1970 เป็นช่วงที่โลกประสบกับปัญหาราคาน้ำมันอย่างต่อเนื่องถึงสองครั้ง คือ ครั้งแรก เมื่อปี ค.ศ.1973 และครั้งที่สอง เมื่อปี ค.ศ.1979 วิกฤตน้ำมัน หรือ Oil Shock ทั้งสองครั้งนั้น มีที่มาที่ไป ดังนี้

สงครามยม-คิปปูร์ ปี ..1973

สงครามยม-คิปปูร์ (Yom Kippur) เป็นความขัดแย้งระหว่างรัฐอาหรับซึ่งนำโดยอียิปต์และซีเรียกับอิสราเอล กองกำลังของรัฐอาหรับได้โจมตีอิสราเอลอย่างที่ไม่ทันได้ตั้งตัว กองกำลังของรัฐอาหรับมีความได้เปรียบมากในช่วงแรก สามารถข้ามแนวหยุดยิงและรุกล้ำเข้าไปในคาบสมุทรซีไนและที่ราบสูงโกลันได้ แต่สุดท้ายก็ถูกอิสราเอลตีโต้กลับมาจนกองทัพซีเรียต้องถอยร่นไปหลังแนวหยุดยิง ในสงครามครั้งนี้ ทั้งฝ่ายอเมริกาที่สนับสนุนอิสราเอล และโซเวียตซึ่งอยู่ข้างรัฐอาหรับต่างก็สนับสนุนพันธมิตรของตนทั้งด้านทรัพยากร เสบียง และยุทโธปกรณ์อย่างเต็มที่ จนความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนี้แทบจะกลายเป็นการประจัญหน้ากันระหว่างสองมหาอำนาจในยุคนั้นเลยทีเดียว

เพื่อเป็นการตอบโต้สหรัฐฯ ที่เป็นผู้สนับสนุนสำคัญของอิสราเอล กลุ่มประเทศอาหรับผู้ส่งออกน้ำมัน (Organization of Arab Petroleum Exporting Countries : OAPEC) จึงมีมติคว่ำบาตร ยุติการซื้อขายน้ำมันดิบกับสหรัฐอเมริกาและชาติอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น แคนาดา ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ และ สหราชอาณาจักร รวมทั้งลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบลง เป็นผลให้ราคาน้ำมันสูงขึ้นถึง 4 เท่า จาก 3 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เป็น 12 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 70 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลเมื่อเทียบกับค่าเงินปัจจุบัน มติคว่ำบาตรดังกล่าวยังมีวัตถุประสงค์เพื่อกดดันให้สหรัฐอเมริกาดำเนินนโยบายอย่าง 'เกรงใจ' ชาติอาหรับบ้าง ทว่าการตอบโต้ของชาติอาหรับด้วยการใช้น้ำมันดิบเป็นอาวุธในครั้งนี้ก็ไม่ได้ทำให้สหรัฐฯ และชาติอื่นๆ ที่ตกเป็นเป้าโจมตีเปลี่ยนใจแต่อย่างใด

วิกฤตน้ำมันดังกล่าว ส่งผลให้สหรัฐอเมริกาประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำมันครั้งใหญ่ ปั้มน้ำมัน1 ใน 5 แห่งทั่วประเทศไม่มีน้ำมันบริการลูกค้า ผู้ขับขี่รถยนต์ที่เลขทะเบียนลงท้ายด้วยเลขคู่ต้องเติมน้ำมันในวันเลขคู่เท่านั้น ส่วนที่เหลือเติมน้ำมันได้ในวันเลขคี่ ขณะที่เศรษฐกิจของสหภาพโซเวียต
กลับโตวันโตคืนด้วยแผนปฏิรูปเศรษฐกิจของโคซีกิน (Kosygin) ดาวเทียมดวงแรกที่ถูกสร้างโดยน้ำมือมนุษย์ถูกส่งไปยังอวกาศ เทคโนโลยีทางการทหารกำลังพุ่งทะยานแซงหน้าสหรัฐฯ สหภาพโซเวียต ณ เวลานั้น จึงถือเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวสำหรับโลกเสรี

ปฏิวัติอิหร่าน ..1979

การปฏิวัติโค่นล้มราชวงศ์ปาห์ลาวี (Pahlavi) ของอิหร่านโดยอะยาตุลลอฮ์ โคมัยนี (Ayatollah Khomeini) ทำให้การผลิตน้ำมันดิบของอิหร่านหยุดชะงักและลดปริมาณการผลิตต่อวันลงอย่างน่าใจหายจากเดิมที่เคยผลิตได้ถึง 5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลงมาเหลือเพียง3 ล้าน และหนึ่งล้านกว่าๆ บาร์เรลต่อวันภายในสองปี สิ่งที่เกิดขึ้นคือปริมาณน้ำมันในตลาดโลกหายไปถึงร้อยละ 4 ด้วยกความวิตกกังวลว่าวิกฤตการณ์น้ำมันที่จะเกิดขึ้นซ้ำรอยกับปี ค.ศ.1973 ราคาน้ำมันจึงเพิ่มสูงขึ้นอย่างเป็นประวัติการณ์ จาก 70 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เป็น 120-130 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เมื่อเทียบกับค่าเงินปัจจุบัน

เหตุการณ์ทั้งสองที่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1970 นั้นถือเป็นช่วงเวลาสำคัญในการ 'ขุดทอง' ของสหภาพโซเวียต เพราะขณะนั้นโซเวียตเองก็อยู่ในช่วงขาขึ้นของจุดผลิตน้ำมันได้สูงสุด (Peak Oil) คือ 4.27 ล้านบาร์เรลต่อวัน และยังสามารถส่งออกน้ำมันไปขายในราคาสูงได้อีกต่างหาก ทว่าโชคสองชั้นนี้เอง เป็นบ่วงลวงให้โซเวียตชะล่าใจ กล้าทุ่มทรัพยากรจำนวนมากให้งบประมาณกองทัพ ทั้งสงครามอัฟกานิสถาน และ Space Race จะเห็นได้จากงบประมาณด้านการทหารมีสูงถึงร้อยละ17 ของ GNP โดยที่ไม่รู้ตัวเลยว่า'คำสาปทรัพยากร' (Resource Curse) และภาวะชะงักงัน (Stagnation) ของระบบเศรษฐกิจแบบวางแผนจากส่วนกลางกำลังรออยู่ข้างหน้า ซึ่งทำให้โซเวียตติดกับวิกฤตน้ำมัน 'ของจริง' ในทศวรรษต่อมา ซึ่งก็คือภาวะน้ำมันล้นตลาด (Oil Glut) ในกลางทศวรรษ 1980 ที่เกิดพร้อมเหตุการณ์ สหภาพโซเวียตผลิตน้ำมันผ่านจุดผลิตน้ำมันสูงสุด (Peak Oil)

ภาวะน้ำมันท่วมตลาด (Oil Glut) ค่อยๆ เกิดขึ้นหลังจากสมาชิกกลุ่ม OPEC 'โกง' โควตาการผลิตน้ำมัน โดยผลิตน้ำมันออกมาทีละเล็กน้อยอย่างประคับประคองราคาน้ำมันให้สูงเท่าเดิม หลังจากที่ได้ลดปริมาณการผลิตลงถึง 4 เท่า แต่สุดท้ายอัตราการผลิตน้ำมันของกลุ่ม OPEC ก็ถูกโซเวียตและประเทศอื่นนอก OPEC แซง อีกทั้งการใช้พลังงานอื่นทดแทนน้ำมัน เช่นแก๊สโซฮอล์ ก็ทำให้อุปสงค์น้ำมันลดลง ราคาน้ำมันจึงไม่มีท่าทีจะกระเตื้องขึ้นแต่อย่างใด ในฐานะพี่ใหญ่ของ OPEC ซาอุดีอาระเบียเห็นว่าการ "กั๊ก" การผลิตน้ำมันไว้เพื่อปกป้องราคาน้ำมันเช่นนี้ทำให้ส่วนแบ่งทางการตลาดของตนมีสัดส่วนน้อยลง รายได้จากน้ำมันก็ยิ่งน้อยลงเพราะอุปสงค์น้ำมันดิบไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก ด้วยเหตุนี้ ซาอุดีอาระเบียจึงเปลี่ยนนโยบายเป็นการผลิตน้ำมันเป็นการผลิตแบบเต็มกำลัง ส่งผลให้น้ำมันล้นตลาด เกิดอุปทานน้ำมันส่วนเกิน และราคาน้ำมันดิ่งลงเหวในที่สุด

การที่ประเทศกลุ่ม OPEC โกงโควตาน้ำมัน และประสบปัญหาจนจำเป็นต้องผลิตน้ำมันออกมาเต็มอัตราการผลิตนั้น ทำให้เกิดวิฤตน้ำมันล้นตลาด (Oil Glut) ราคาน้ำมันได้ดิ่งวูบจาก 63 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เหลือเพียง20 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และก็เป็นโชคร้ายสำหรับโซเวียต ที่วิกฤต Oil Glut นี้ เกิดขึ้นพร้อมกับการถดถอยของอัตราการผลิตน้ำมันของโซเวียตพอดี อัตราการผลิตน้ำมันน้ำมันดิบของโซเวียตเริ่มลดต่ำลงตั้งแต่ปี ค.ศ.1987 เป็นต้นไป จากที่เคยผลิตได้ 620 ล้านตันต่อปีในปีค.ศ.1989 ก็ลดต่ำลงเรื่อยๆ จนเพียง 480 ล้านตันต่อปีในตอนที่สหภาพโซเวียตล่มสลายในปี ค.ศ.1991 สหภาพโซเวียตขาดทุนจากการขายน้ำมันไปเป็นเม็ดเงินจำนวนมหาศาล สูญเสียรายได้ไปกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปีในปี ค.ศ.1987-1991

เศรษฐกิจโซเวียตพึ่งพาน้ำมัน ยามที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกสูง เศรษฐกิจก็จะปรับตัวดีขึ้นแต่ยามที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกตกต่ำ เศรษฐกิจก็จะถดถอย ในวิกฤตการณ์น้ำมันล้นตลาด(Oil Glut)ปี ค.ศ.1980 ราคาน้ำมันโลกดิ่งลงอย่างฉับพลันเหลือเพียง 20 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เศรษฐกิจโซเวียตอยู่ในสถานะจนตรอก ค่าเงินลดต่ำลงอย่างหนัก จากเดิม 1 รูเบิลเท่ากับ 0.7-0.9 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงต้นยุค 1980 เหลือเพียง 1 รูเบิลเท่ากับ 0.55-0.6 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงปลายยุค 1980 และต้นยุค 1990จนต้องไปกู้ยืมเงินจากประเทศตะวันตกกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์เพื่อประคองเศรษฐกิจ

การวางนโยบายเศรษฐกิจที่ผิดพลาด

สหภาพโซเวียตใช้นโยบายเศรษฐกิจเป็นนโยบายแบบวางแผนจากส่วนกลาง กล่าวคือ รัฐบาลเป็นผู้วางแผน ดำเนินการ และผูกขาดกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศทั้งหมด โดยที่เอกชนไม่มีสิทธิ์ออกเสียงหรือมีส่วนร่วมกับกิจกรรมขนาดใหญ่ทางเศรษฐกิจ ระบบเศรษฐกิจของประเทศมีลักษณะรวมเข้าสู่ศูนย์กลางมากเกินไป และมีลำดับชั้นสั่งการ (Hierarchy) สูงมาก การผูกขาดโดยรัฐทำให้นวัตกรรมทางการค้าของโซเวียตพัฒนาไปได้ช้ามาก โซเวียตจึงไม่มีศักยภาพพอที่จะผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค หรือแม้กระทั่งส่งออกสินค้าแข่งขันกับต่างประเทศได้เลยเพราะคุณภาพสินค้าแย่เต็มทน สิ่งเดียวที่โซเวียตพอจะแข่งขันกับประเทศอื่นได้ก็มีเพียงการส่งออกสินค้าจำพวกวัสดุดิบการผลิต (Raw Materials) เช่น น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ เหล็ก ถ่านหิน ทองคำ เท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ โซเวียตจึงไม่สามารถขยายฐานธุรกิจไปยังต่างประเทศได้ ความสามารถกระจายความเสี่ยงในธุรกิจของสหภาพโซเวียตจึงเท่ากับศูนย์ และที่ย่ำแย่ไปกว่านั้นคือ ระบบเศรษฐกิจแบบวางแผนจากส่วนกลางนี้ทำให้อุปสงค์-อุปทานของสินค้าต่างๆ ไม่เป็นไปตามความเป็นจริง เนื่องจากการควบคุมการผลิตโดยกลไกอื่นที่ไม่ใช่กลไกตลาด และการตรึงราคาสินค้า

ปัญหาสำคัญของเศรษฐกิจสหภาพโซเวียตในช่วงปลายทศวรรษ 1970 ถึงปลายทศวรรษ 1980 คือการที่ภาวะเศรษฐกิจอยู่ในสภาพถดถอยอันเนื่องมาจากการที่รัฐบาลวางนโยบายเศรษฐกิจผิดพลาดหลายประการ ดังนี้:

  1. รัฐบาลโซเวียตตัดสินใจลงทุนกับอุตสาหกรรมทางการทหารและอุตสาหกรรมหนักอย่างไม่สมดุลกับงบประมาณที่มีอยู่ รัฐบาลลงทุนกับสิ่งเหล่านี้มากเกินไปจนละเลยการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมเบา ดังจะเห็นได้จากงบประมาณทางด้านการป้องกันประเทศมีสูงถึงร้อยละ 15-17 ของ GNP ในช่วงกลางทศวรรษ 1980 และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อีกร้อยละ 4-7 ในปีต่อๆ มา รวมถึงสัดส่วนของอุตสาหกรรมหนัก (รวมถึงอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ) ที่มากถึง 3 ใน 4 ของ GDP เป็นเหตุให้ สัดส่วนความต้องการซื้อสินค้าของภาคครัวเรือน (Consumption Rate) ของชาวโซเวียตมีเพียง 1 ใน 3 ของประเทศสหรัฐอเมริกา ภาวะขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภคกลายเป็นเรื่องปกติในสหภาพโซเวียต
  2. การจัดสรรงบประมาณอุดหนุนโรงงานเก่าๆ ที่ใกล้จะปิดตัวลง โดยไม่รู้ตัวเลยว่าการที่หลายโรงงานใกล้เจ๊ง ก็เพราะระบบเศรษฐกิจที่เดินตามรอยสตาลิน (Stalin) มาตลอด คือ การเน้นการควบคุมการผลิตจากส่วนกลางและการมีลำดับชั้นสั่งการอย่างเคร่งครัด การควบคุมทุกอย่าง ทุกอุตสาหกรรม ทุกเขตการปกครอง ทุกความคิดริเริ่มใหม่ๆ รวมถึงเกณฑ์แรงงานในทุกเขต เป็นอำนาจการจัดการโดยตรงจากส่วนกลาง
  3. เทคโนโลยีที่ล้าหลัง สหภาพโซเวียตเน้นการเร่งผลิตในภาคอุตสาหกรรมหนักให้ได้แซงหน้าชาติตะวันตก โดยไม่สนใจที่จะพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีการผลิต โดยเฉพาะการผลิตในอุตสาหกรรมเบา เนื่องจากขาดแรงจูงใจในการพัฒนาด้านคุณภาพ แต่เน้นปริมาณเป็นสำคัญ สหภาพโซเวียตได้วิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมอุตสาหกรรมหนัก เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ เชื้อเพลิง และอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศเป็นหลัก แต่กระนั้นก็ยังห่างชั้นกับเทคโนโลยีของโลกตะวันตกอยู่มากโข นอกจากนี้ การวิจัยยังมิได้เกิดจากความคิดริเริ่มของวิสาหกิจเอกชน "แต่เกิดจากการสั่งการโดยตรงจากรัฐบาลล้วนๆ"
  4. การขาดการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ แรงงานในโรงงาน หัวหน้าวิศวกร ไปจนถึงข้ารัฐการตั้งแต่ระดับบนลงล่างใช้ชีวิตแบบเช้าชามเย็นชาม สหภาพโซเวียตได้ละเลยในส่วนนี้จนทำให้เป็นเหตุปัจจัยหนึ่งส่งผลต่อความเสื่อมถอยของเศรษฐกิจในสมัยเบรจเนฟ (Brezhnev)

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ก่อปัญหาเรื้อรังให้กับการงบประมาณของสหภาพโซเวียตอย่างเงียบๆ จนเริ่มแสดง 'อาการ' เมื่อผลผลิตของอุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศลดปริมาณลงจนถึงขั้นติดลบ การตัดสินใจที่ผิดพลาดคือการนำงบส่วนใหญ่ไปจุนเจือโรงงานที่ใกล้เจ๊งที่อัตราการผลิตต่ำเตี้ยเรี่ยดิน ทำให้ผลผลิตโดยรวมออกมาน้อย ทั้งๆ ที่ใช้เงินทุนมากกว่าเดิม รวมถึงเทคโนโลยีที่ล้าหลังดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น โดยเฉพาะน้ำมันดิบที่อัตราการผลิตลดลงอย่างน่าใจหาย ซึ่งเป็นผลพวงของการบริหารเศรษฐกิจจากส่วนกลางที่ไร้ประสิทธิภาพ บวกกับ 'คำสาปทรัพยากร'

ถ้าหากสภาพอากาศอันทรหดของโซเวียตที่ทำให้การเกษตรเอาแน่เอานอนไม่ได้คือคำสาปจากพระเจ้า น้ำมันดิบก็เป็นสิ่งที่พระเจ้ามอบให้เป็นของขวัญชดเชยกับคำสาปร้ายนั้น ทองคำดำของโซเวียตครอบครองส่วนแบ่งเกือบร้อยละ10ในตลาดโลก การที่โซเวียตสามารถพึ่งการส่งออกน้ำมันเพื่อสร้างรายได้ให้กับประเทศอย่างเป็นกอบเป็นกำทำให้โซเวียตไม่ได้คิดแผนสำรองไว้ในกรณีที่ทรัพยากรที่มีอยู่หมดไป หรือเร่งพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตในด้านอื่นที่นอกเหนือจากอุตสาหกรรมหนัก เมื่อน้ำมันในฝั่งตะวันตกเริ่มผลิตได้น้อยลง รัฐบาลจึงหันไปบุกเบิกการผลิตน้ำมันดิบในไซบีเรียด้วยทุนมหาศาล แต่ผลผลิตที่ได้กลับมานั้นกลับไม่คุ้มทุน อีกทั้งยังต้องเจอขาลงของจุด Peak Oil พร้อมกับวิกฤตราคาน้ำมันดิ่งลง ก็เปรียบเสมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด ส่งผลให้เศรษฐกิจโซเวียตทรุดตัวหนักกว่าเดิม

แม้ว่าสาเหตุหลักของการล่มสลายของเศรษฐกิจสภาพโซเวียตมาจากนโยบายเศรษฐกิจจากส่วนกลางที่วางแผนผิดพลาดหลายอย่าง ทั้งการทุ่มงบไปกับอุตสาหกรรมหนักและอุตสาหกรรมป้องกันประเทศมากเกินไปจนไม่สมดุลกับงบที่มีอยู่ เทคโนโลยีที่ล้าหลัง และการขาดการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ แต่วิกฤตการณ์น้ำมันดิบเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้ความย่ำแย่ของสถานการณ์ ณ ขณะนั้น เลวร้ายลง สหภาพโซเวียตแขวนเศรษฐกิจทั้งประเทศไว้กับน้ำมันดิบ ราคาน้ำมันดิบที่ลดลงหลังวิกฤตการณ์น้ำมันครั้งที่สอง เป็นชนวนเหตุให้เศรษฐกิจสหภาพโซเวียตต้องทรุดตัวลง จนนำไปสู่การล่มสลายในที่สุด


อ้างอิง

Allen, Robert C. (2001). "The rise and decline of the Soviet economy", Canadian Journal of Economics. Vol.34, No.4,p.859-881. <http://content.csbs.utah.edu/~mli/Economics%207004/Allen-103.pdf>

Ermolaev, Sergei (2017). "The Formation and evolution of the Soviet Union's Oil and Gas Dependence", Working Paper, Carnegie Endowment for International Peace <https://carnegieendowment.org/2017/03/29/formation-and-evolution-of-soviet-union-s-oil-and-gas-dependence-pub-68443>

"1970s Energy crisis" (30 เมษายน 2561). <https://en.wikipedia.org/wiki/1970s_energy_crisis>

"1980s Oil Glut" (30 เมษายน 2561). <https://en.wikipedia.org/wiki/1980s_oil_glut>

"Cheap Oil" (24 มิถุนายน 2544). <http://content.time.com/time/magazine/article/0,9171,143673,00.html>

"Former Soviet Union oil production and GDP decline: Granger causality and the multi-cycle Hubbert curve" (2551). <http://www.academia.edu/download/45862477/Former_Soviet_Union_oil_production_and_G20160522-8491-1bowk6z.pdf>

"How Oil Exporters Reach Financial Collapse" (5 เมษายน 2556). <https://ourfiniteworld.com/2013/04/05/how-oil-exporters-reach-financial-collapse/>

"Oil Tops Inflation-Adjusted Record Set in 1980> (4 มีนาคม 2551). สืบค้นจาก<https://www.nytimes.com/2008/03/04/business/worldbusiness/04oil.html>

"Peak oil" (30 เมษายน 2561). <https://en.wikipedia.org/wiki/Peak_oil>

"Soviet Energy Data Resource Handbook" (พฤษภาคม 2533)<https://www.cia.gov/.../readingroom/docs/DOC_0000292332.pdf>.

"Soviet energy data resource handbook" <https://www.cia.gov/library/readingroom/docs/DOC_0000292332.pdf>

"Soviet oil production drop may be major lasting global supply woe"(9 กันยายน 2533). <https://www.ogj.com/articles/print/volume-88/issue-36/in-this-issue/exploration/soviet-oil-production-drop-may-be-major-lasting-global-supply-woe.html>

"The Soviet Collapse: Grain and Oil by YegorGaidar" (เมษายน 2550)<http://www.aei.org/wp-content/uploads/2011/10/20070419_Gaidar.pdf>..

"Two More Scary Indicators of the Peak Oil Problem" (4 มิถุนายน 2555). <https://www.energyvanguard.com/blog/53720/Two-More-Scary-Indicators-of-the-Peak-Oil-Problem>

"What Really Killed Soviet Union? Oil Shock?" (13 มีนาคม 2556). <https://thetyee.ca/News/2013/03/13/Soviet-Union-Oil/>

อัณณา จันดี
นักศึกษาโครงการรัสเซียศึกษา ชั้นปีที่ 1 เวลาว่างชอบศึกษาเกี่ยวกับประเทศรัสเซียและสหภาพโซเวียต ในมิติต่างๆ ทั้งด้านการเมือง ประวัติศาสตร์ และเศรษฐกิจ จึงอยากแบ่งปันเรื่องราวให้คนอื่นๆ ได้อ่านกัน ;)