ในปัจจุบันคำว่า ประเทศไทย 4.0 หรือไทยแลนด์ 4.0 กลายเป็นคำพูดติดปากที่ผู้คนกล่าวถึงพอๆ กับการใช้ตัวเลข 4.0 ตามหลังคำต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เกษตร 4.0 ข้าราชการ 4.0 อุตสาหกรรม 4.0 ลาบเป็ด 4.0 [1] และคำอื่นๆ อีกมากมาย จนอาจจะเรียกได้ว่าเป็นปรากฏการณ์แบบอะไรๆ ก็ 4.0 ตัวจักรสำคัญของการเกิดขึ้นของปรากฏการณ์นี้ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน คือรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นี่เอง ในบทความนี้ ผู้เขียนจะพาผู้อ่านไปเห็นที่มาของประเทศไทย 4.0 และทำความเข้าใจว่าประเทศไทย 4.0 และตัวเลข 4.0 ปฏิบัติหน้าที่ของพวกมันอย่างไรในสังคมไทย

เป็นที่ทราบกันดีว่า มันสมองการขับเคลื่อนทีมเศรษฐกิจรัฐบาล คสช. คือ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ สมาชิกคนสำคัญคนหนึ่งของทีมเศรษฐกิจนี้คือลูกศิษย์ของ ดร.สมคิด ที่มีชื่อว่า ดร.สุวิทย์
เมษินทรีย์ ซึ่งเป็นผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ให้กำเนิดคำว่า 'ประเทศไทย 4.0' ครั้งหนึ่งเขาเคยให้สัมภาษณ์ในช่วงกลางปี 2560 ว่า "หลายคนก็เข้าใจว่าไทยแลนด์ 4.0 ไปลอก 4.0 มาจากชาวบ้านนะครับจริงๆ แล้วก็ต้องเรียนว่าคำว่าไทยแลนด์ 4.0 เกิดขึ้นตั้งแต่สองปีกว่าที่แล้วนะครับ ตอนที่ผมยังอยู่ สปช. ซึ่งตอนนั้นผมเป็นประธานกรรมาธิการกำหนดอนาคตประเทศไทยก็พูดถึงเรื่องไทยแลนด์ 4.0 เพียงแต่ว่าตอนนั้นเรามีแค่คำ แต่ว่าตัวแนวคิดแล้วออกมาเป็น action agenda หรือเป็นสิ่งที่จะขับเคลื่อนนั้นยังไม่มี" [2]

จากคำสัมภาษณ์นี้ ผู้เขียนสามารถสรุปได้ว่าคำว่า 'ประเทศไทย 4.0' ปรากฏขึ้นขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปี 2558 แต่ยังไม่มีการเผยแพร่ออกมาให้ประชาชนรับรู้ จากการสังเกตของผู้เขียนคำว่าประเทศไทย 4.0 ไม่เคยปรากฏขึ้นในสื่อต่างๆ จนกระทั่ง สุวิทย์กล่าวถึงบนหน้าเฟสบุ๊ค (Facebook Page) ของตนในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 นับได้ว่าเป็นครั้งแรกที่มีการใช้คำว่า 'ประเทศไทย 4.0' เท่าที่ผู้เขียนได้ค้นคว้ามา เขาอธิบายว่า

"คำว่าประเทศไทย 4.0 นั้น เราหมายถึงอะไรครับ? หมายถึงว่าเราจะทำให้เกิดการขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมยังไง เหมือนที่เราเรียกว่า Innovation-driven Economy ณ วันนี้เราพูดถึง start-ups มากมายนะครับไม่ว่าจะเป็น Fintech ไม่ว่าจะเป็น Architech ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ Edutech หรือว่า Internet of Things นี่คือ… ธุรกิจยุคใหม่ ที่จะไปตอบโจทย์การขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม องค์ความรู้… Creativity"

ดร.สุวิทย์ มีวิธีการอธิบายประเทศไทย 4.0 ที่น่าสนใจ ซึ่งต่อมากลายเป็นแนวทางมาตรฐานในการอธิบายประเทศไทย 4.0 เขาจะเริ่มจากการเรียกประเทศไทยในยุคที่การผลิตส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรมแบบดั้งเดิมว่าประเทศไทย 1.0 จากนั้นเขาจะบอกว่าประเทศไทยมีการพัฒนาเข้าสู่ยุคที่อุตสาหกรรมเบานำประเทศซึ่งเรียกว่าประเทศไทย 2.0 จากนั้นก็เข้าสู่ยุคปัจจุบันที่อุตสาหกรรมที่ใช้เครื่องจักรค่อนข้างซับซ้อนเป็นหัวหอกนำเศรษฐกิจไทยซึ่งเขาเรียกว่าประเทศไทย 3.0 ส่วนประเทศไทย 4.0 คือเศรษฐกิจในอนาคตที่นำโดยนวัตกรรมดังที่ผู้เขียนได้กล่าวถึงไปแล้วข้างต้น

ในช่วงปลายเดือนเมษายน 2559 บุคคลอื่นๆ ในรัฐบาล นำโดยพลเอกประยุทธ์ ได้เริ่มกล่าวถึงประเทศไทย 4.0 เช่น ในปาฐกถาพิเศษ "วิสัยทัศน์และพลังสร้างชาติด้วย Start-up Thailand" ในงาน Start-up Thailand 2016 พลเอกประยุทธ์กล่าวว่า

"ทำยังไงเราจะ… ทำให้เกิดธุรกิจสร้างสรรค์… ใช้ความคิดน่ะเป็นหลักในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ขึ้นมา มันจะได้มีการแข่งขันที่มันไปสู่โลกแห่งอนาคต อย่างไทยแลนด์ตอนนี้ก็กำลังเป็นไทยแลนด์ 4.0 ใช่ไหม? เพราะงั้นเราต้องขับเคลื่อนอันนี้ไปสู่ตรงนั้นให้ได้" [3]

ในงานเดียวกัน สมคิดก็อธิบายประเทศไทย 4.0 ไปในแนวทางที่แทบจะเหมือนกับวิธีอธิบายของ ดร.สุวิทย์ คือ

"หลายวันมานี้ พวกเราคงได้ยินท่านนายกฯ พูดบ่อยๆ ถึงเรื่องประเทศไทย 4.0 จริงๆ แล้วก็เป็นการเปรียบเปรยถึงวิวัฒนการการพัฒนาประเทศของเมืองไทย จากขั้นหนึ่งไปอีกขั้นหนึ่งไปอีกขั้นหนึ่ง" [4]

หลังจากนั้นเป็นต้นมา ประเทศไทย 4.0 ก็กระจายไปทั่วจนกลายเป็นคำติดปากของคนไทยในปัจจุบัน

แนวทางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเข้าสู่ประเทศไทย 4.0 ที่ ดร.สุวิทย์ และตัวแทนจากรัฐบาลคนอื่นๆ มักจะกล่าวถึงประกอบไปด้วยประเด็นหลักๆ ดังต่อไปนี้

  1. ประเทศไทย 4.0 จะต้องดำเนินการตามแนวทางประชารัฐ คือ หน่วยงานราชการจะต้องร่วมมือกับธุรกิจเอกชนอย่างแน่นแฟ้นเพื่อให้หน่วยงานราชการสามารถดำเนินมาตรการที่ตอบสนองความต้องการของธุรกิจเอกชน ขณะเดียวกันหน่วยงานราชการก็เรียนรู้จากธุรกิจเอกชนเช่นกัน ขณะเดียวกันธุรกิจเอกชนก็ต้องร่วมมือกันมากขึ้น
  2. ธุรกิจเอกชนพึงตระหนักว่าโลกในอนาคตอันใกล้นี้เป็นโลกแห่งการแข่งขัน ธุรกิจเอกชนจำเป็นต้องปรับตัวตลอดเวลาเพื่อความอยู่รอด
  3. รัฐบาลจะสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 ประการ อันประกอบไปด้วย การต่อยอดอุตสาหกรรมที่มีอยู่เดิมหรือที่รู้จักกันในชื่อ First S-Curve ซึ่งหมายถึง อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อุตสาหกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร และการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ New S-Curve Industries ซึ่งหมายถึง หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร
  4. รัฐบาลจะพัฒนาพื้นที่ต่างๆ นำโดยพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) [5] ให้กลายเป็นพื้นที่แห่งการผลิตด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย
  5. เศรษฐกิจจะต้องแข่งแกร่งจากภายใน การพัฒนาเทคโนโลยีจะต้องเกิดจากภายในประเทศไทยและเพื่อผลประโยชน์ของคนในประเทศเป็นหลัก วลีหนึ่งที่สอดคล้องกับประเด็นของประเทศไทย 4.0 ข้อนี้ที่ตัวแทนของรัฐบาลมักกล่าวถึงคือ "ระเบิดจากข้างใน"
  6. ต้องเชื่อมต่อกับโลกภายนอก "connect to the world" ในการสนับสนุนการถ่ายโอนเทคโนโลยีจากต่างชาติและการค้ากับนานาประเทศโดยเฉพาะในประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศที่มีรายได้น้อยแต่กำลังพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว
  7. สอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ผู้เขียนเดาว่า ผู้อ่านกำลังรู้สึกว่าประเด็นทั้ง 7 ข้อนี้ มีความขัดแย้งกันเองอย่างชัดเจน เช่น ข้อ 1 กับข้อ 2 ธุรกิจควรร่วมมือกัน แต่ตระหนักว่ากำลังแข่งขันกันสูงขึ้น? ข้อ 5 กับข้อ 6 เทคโนโลยีต้องมาจากภายในโดยรับเทคโนโลยีจากภายนอก? ข้อ 6 กับทุกข้อ เศรษฐกิจไทยต้องพอเพียงโดยตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นตัวชี้วัดสำคัญ?

สิ่งที่ผู้เขียนในฐานะผู้ที่จับตามองการใช้ประเทศไทย 4.0 และตัวเลข 4.0 ของตัวแทนจากรัฐบาลมานานสังเกตเห็นคือ ประเทศไทย 4.0 ไม่ใช่นโยบาย บ่อยครั้งที่การประชุมคณะรัฐมนตรีกล่าวถึงประเทศไทย 4.0 แต่ประเทศไทย 4.0 ไม่เคยถูกบันทึกเป็นทางการว่าเป็นนโยบาย ทว่าเป็นคำที่ตัวแทนจากรัฐบาลจงใจใช้เพื่อสร้างท้องเรื่อง (narrative) ว่าด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและความมั่งคั่งทางวัตถุที่ทุกคนไม่จำเป็นต้องเข้าใจแน่ชัดว่าความหมายว่าอย่างไร และไม่จำเป็นต้องเข้าใจว่ารัฐบาลมีแนวทางในการดำเนินการอย่างไร ยิ่งเวลาผ่านไป ประเทศไทย 4.0 และตัวเลข 4.0 แพร่หลายมากขึ้น พวกเราอยู่ในสังคมที่อะไรๆ ก็ 4.0 ไม่ใช่ในความหมายที่ว่าอะไรๆ ก็ก้าวหน้าพัฒนาไม่หยุดยั้ง แต่เป็นความหมายที่ว่าอะไรๆ ที่ดูแปลกใหม่กว่าสิ่งที่มีอยู่ เราสามารถเอา 4.0 มาใส่ตามหลังได้

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนไม่ได้หมายความว่า การแพร่หลายแบบไร้ทิศทางของประเทศไทย 4.0 เป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์ ครั้งหนึ่งพลเอกประยุทธ์พูดว่า

"ถ้าท่านมีโทรศัพท์แต่ยังใช้งานเพียงเพื่อการสื่อสารพื้นฐาน ท่านยังคงเป็นคนไทย 1.0 ถ้าท่านใช้มือถือในการส่งอีเมลส่งไฟล์เอกสารหรือใช้ประโยชน์ในการทำงานและกิจวัตรประจำวัน ท่านน่าจะยกระดับตนเองเป็นคนไทย 2.0 ได้ไม่ยาก แต่ถ้าหากท่านสามารถใช้สมาร์ทโฟนได้ราวกับคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในการแสวงหาข้อมูลใหม่ๆ พัฒนาตนเอง ติดต่อกับคนทั่วโลกได้ ท่านจะได้ชื่อว่าเป็นคนไทย 3.0 ยิ่งกว่านั้น หากท่านสามารถสร้างรายได้ สร้างอาชีพ สร้างเครือข่าย สร้างนวัตตกรรมใหม่ๆ ไปสู่การผลิตด้วยความรู้เหล่านั้น แล้วท่านจะรู้สึกว่าทำงานน้อยลงแต่ได้ผลผลิตมากขึ้นเมื่อเทียบกับที่ผ่านมา แบบนี้ท่านได้ชื่อว่าเป็นคนไทย 4.0" [6]

ผู้เขียนเห็นว่าสิ่งที่พลเอกประยุทธ์ทำผ่านข้อความนี้คือ "พูด" (โดยที่ไม่ได้ทำอย่างอื่นเลย) ให้ประชาชนปรับตัวกลายเป็น "คนไทย 4.0" การที่ประชาชนไม่ว่าจะอยู่ในสถานะลูกจ้างหรือผู้ประกอบการได้ยินคำว่าประเทศไทย 4.0 และรับรู้ว่ามันหมายถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและความมั่งคั่งทางวัตถุ นั้นอาจจะเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นให้พวกเขาพัฒนาเพื่อให้อยู่รอดกับโลกในยุค 4.0


[1] นายกรัฐมนตรีเคยเรียกลาบเป็ดที่ตนทำในงานอิสานเอ็กซ์โปว่าลาบเป็ด 4.0
[2] สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ถูกตั้งขึ้นในเดือนตุลาคม 2557 และถูกยุบในเดือนกันยายน 2558 โดย ดร. สุวิทย์ เป็นสมาชิก สปช. ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งและลาออกเพื่อรับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในเดือนสิงหาคม 2558
[3] https://www.youtube.com/watch?v=xjNCsYhyu2s
[4] https://www.youtube.com/watch?v=JrvWIPrp3ho
[5] EEC ตั้งอยู่ในอาณาเขต 3 จังหวัดในภาคตะวันออก ได้แก่ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และระยอง
[6] https://www.youtube.com/watch?v=m0FCgCYsZB

นภนต์ ภุมมา
อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์