จีนเป็นประเทศผู้บริโภคข้าวมากอันดับ 1 ของโลก และจีนมีการนำเข้าข้าวมากอันดับ 1 ของโลก จากข้อมูลในปี 2560[1] จีนบริโภคข้าวกว่า 142.7 ล้านตัน แต่จีนผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการจึงต้องนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ ข้าวหอมมะลิไทยเป็นสินค้าเกษตรที่ค่อนข้างเป็นที่นิยมสำหรับผู้บริโภคจีนชนชั้นกลางที่มีรายได้ดี โดยชาวจีนเรียกข้าวหอมมะลิไทยว่า "Tai Guo Xiang Mi ไท่กั่วเซียงหมี่"
แล้วทำไมการส่งออกข้าวหอมมะลิไทยไปจีนไม่ง่ายอย่างที่คิด
เนื่องจากข้าวหอมมะลิเป็นสินค้าที่ทางการจีนมีการกำหนดกฎระเบียบเฉพาะในการนำเข้าและไม่ได้เปิดให้มีการนำเข้าอย่างเสรีเหมือนสินค้าทั่วไป ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการส่งออกข้าวไทยไปจีน จะต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจเงื่อนไขในการนำเข้าข้าวของจีนอย่างถูกต้อง
รัฐบาลจีนได้มีการกำหนดโควตาภาษี (Tariff Rate Quota : TRQs) ในการนำเข้าข้าว โดยคณะกรรมการเพื่อการปฏิรูปและพัฒนาชาติ (National Development Reform Commission : NDRC) เป็นผู้ดูแลในการจัดสรรโควตา และได้แบ่งโควตาร้อยละ 50 จัดสรรให้แก่รัฐวิสาหกิจด้านการค้าของจีน คือ กลุ่ม China National Cereals, Oils and Foodstuffs Import and Export Corporation : COFCO ซึ่งเป็นตัวกลางในการติดต่อกับบริษัทต่างประเทศ และจัดสรรโควตาที่เหลืออีกร้อยละ 50 ให้แก่เอกชนที่มีคุณสมบัติตามที่คณะกรรมการ NDRC กำหนด
ในการนำเข้าข้าวของจีนภายใต้ระบบโควตาภาษี ยังได้แบ่งเป็นภาษีในโควตาอัตราร้อยละ 1 และอัตราภาษีนำเข้านอกโควตาที่สูงถึงร้อยละ 65 ทั้งนี้ ในปี 2561 คณะกรรมการพิกัดศุลกากรนำเข้าส่งออกของจีนได้มีการปรับลดภาษีนอกโควตาสำหรับสินค้าปลายข้าวลงเหลือร้อยละ 10
ด้วยการนำระบบโควตานำเข้าข้าวจากต่างประเทศมาใช้ของทางการจีน ในปี 2560 จีนประกาศโควตาการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศในปริมาณ 5.32 ล้านตัน และได้แบ่งโควตาการนำเข้าข้าวออกเป็นข้าวเมล็ดยาวและเมล็ดสั้นอย่างละครึ่ง หรือมีโควตานำเข้าอย่างละประมาณ 2.6 ล้านตัน (ในส่วนนี้ข้าวหอมมะลิจากไทยจัดเป็นประเภทข้าวเมล็ดยาว)
ในส่วนของโควตาดังกล่าว ยังได้แบ่งเป็นส่วนที่ให้เอกชนจีนสามารถนำเข้าข้าวอย่างเสรีได้ประมาณ 1 ล้านตัน ในจำนวนนี้ มีสัดส่วนของข้าวไทยที่ส่งออกไปจีนภายใต้โควตาอยู่ประมาณร้อยละ 20 ซึ่งสะท้อนโอกาสที่จะมีการขยายการส่งออกข้าวหอมมะลิไทยไปเติมเต็มส่วนที่มีโควตานำเข้าเหลืออยู่ นอกจากนี้ ข้าวหอมมะลิที่มีคุณภาพจากไทยเป็นที่ยอมรับในตลาดจีน และมีรสชาติอร่อยกว่าข้าวที่ปลูกในจีนเองที่มีเมล็ดค่อนข้างแข็งและคุณภาพต่ำ
อย่างไรก็ดี ด้วยระบบโควตาภาษีและเงื่อนไขที่เข้มงวดของจีน สิ่งสำคัญในการส่งออกข้าวจากไทยไปจีน คือ การหาคู่ค้าในจีนที่มีใบอนุญาตโควตาการนำเข้าข้าว เนื่องจากฝ่ายไทยไม่สามารถดำเนินการเองได้ สำหรับตัวอย่างรายชื่อบริษัทจีนที่มีโควตาการนำเข้าข้าว[2] เช่น
เงื่อนไขอื่นๆ ในการส่งออกข้าวไปจีน รัฐบาลจีนได้กำหนดให้สินค้าในหมวดธัญพืช เช่น ข้าวที่จะส่งออกไปจีนจะต้องปฏิบัติตามมาตรการตรวจสอบและกักกันโรคสำหรับสินค้าธัญพืชนำเข้าและส่งออก (Administrative Measures of inspection and Quarantine for Entry and Exit Grain) ซึ่งการนำมาตรการด้านสุขอนามัยมาใช้ของทางการจีน ทำให้สินค้าข้าวที่จะส่งออกไปจีนจะต้องผ่านการตรวจตามข้อกำหนดของจีน
ในกรณีการส่งออกข้าวจากไทยไปจีนได้มีข้อตกลงเรียกว่า "พิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งออกข้าวจากไทยไปจีน" ซึ่งทำขึ้นระหว่างหน่วยงานควบคุมคุณภาพตรวจสอบและกักกันโรคแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (General Administration of Quality Supervision, Inspection and Quarantine of the People's Republic of China : AQSIQ) ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านมาตรฐานที่สำคัญเทียบเท่ากระทรวงของจีนที่มีหน้าที่หลักในการตรวจสอบ/กักกัน/ให้การรับร้องกับสินค้าที่จะนำเข้า/ส่งออกของจีน และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แห่งประเทศไทย โดยเป็นพิธีสารฯ ไทย-จีนว่าด้วยเรื่องข้าวไทยที่ส่งออกไปประเทศจีนที่จะต้องสอดคล้องกับ "ข้อกำหนดการตรวจสอบด้านสุขอนามัยและกักกันโรคสินค้าข้าว ที่นำเข้าจากประเทศไทย"
ปัญหาและอุปสรรค
ในด้านกฎระเบียบ จีนมีพยายามที่จะควบคุมการนำเข้าข้าวตั้งแต่ประเทศต้นทางจนถึงปลายทาง โดยจีนกำหนดให้ต้นทางของข้าวที่ส่งออกมายังจีนต้องมาจากผู้ผลิตแปรรูปส่งออกข้าวที่ขึ้นทะเบียนไว้กับหน่วยงาน AQSIQ เท่านั้น และต้องผ่านการตรวจจาก Surveyor ที่กำหนดเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานข้าวจีนด้วย
ในส่วนของการที่จะได้ขึ้นทะเบียนจาก AQSIQ พบว่า มีขั้นตอนที่ซับซ้อนและยุ่งยาก เนื่องจาก AQSIQ จะทำการตรวจสอบเอกสารและลงพื้นที่ตรวจสอบสถานที่ผลิต/แปรูปเก็บ/รักษาข้าว ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่จีนกำหนด จึงจะผ่านเกณฑ์ที่จะได้รับการขึ้นทะเบียน
นอกเหนือจากเงื่อนไขในด้านกฎระเบียบที่เข้มงวดของทางการจีนแล้ว ในแง่การแข่งขันของข้าวไทยในตลาดจีน พบว่า ข้าวจากเวียดนามในจีนเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น และกระทบส่วนแบ่งการตลาดของข้าวไทยในจีนเริ่มลดลง เนื่องจากข้าวจากเวียดนามมีราคาถูกกว่า เริ่มเข้ามาทำตลาดในจีน
นอกจากนี้ ข้าวไทยยังประสบกับปัญหาการถูกปลอมปนจนกระทบชื่อเสียงของข้าวไทย เนื่องจากมีการปลอมปนข้าวไทยกับข้าวขาวชนิดอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเข้าข้าวบรรจุกระสอบมาผสมและใส่บรรจุภัณฑ์ใหม่ในจีน และอ้างชื่อข้าวไทย จนทำให้เกิดความเสียหายขึ้น
โอกาสและแนวทางแก้ปัญหา
ในการส่งเสริมให้ข้าวหอมมะลิไทยได้ขยายตลาดในจีน นอกจากจะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของทางการจีนอย่างเคร่งครัดแล้ว จำเป็นต้องทำการตลาดส่งเสริมภาพลักษณ์ของข้าวหอมมะลิไทย และเพิ่มช่องทางในการจัดจำหน่ายและพัฒนาตราสินค้าของข้าวหอมมะลิไทยที่มีคุณภาพ สำหรับช่องทางในการกระจายสินค้าในตลาดจีน แบ่งเป็น 3 ช่องทางหลัก ได้แก่
สำหรับกรณีตัวอย่างของธุรกิจเอกชนไทยที่ประสบความสำเร็จในการทำตลาดข้าวหอมมะลิไทยในจีน ด้วยการสร้างตราสินค้าคุณภาพและมีช่องทางผ่านร้านสะดวกซื้อ ซึ่งเป็นที่นิยมของคนจีนรุ่นใหม่ ได้แก่ บริษัท ล็อกซเล่ย์ อินเตอร์เทรด (กวางโจว) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน)[3] ได้เข้าไปประกอบกิจการในจีนเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าไทย และสามารถพัฒนาตราสินค้าของข้าวหอมมะลิจากประเทศไทยเพื่อไปขายในประเทศจีน ภายใต้ชื่อแบรนด์ "จินลี่เหลียน หรือโกลเด้นโลตัส" และเน้นกระจายช่องทางการขายในตลาดจีนผ่านร้านค้าที่อยู่ในสถานีบริการน้ำมันซิโนเปก ชื่อ Easy Joy ซึ่งในปัจจุบัน มีร้าน Easy Joy เปิดบริการในสถานีบริการน้ำมันซิโนเปก มากกว่า 27,000 สาขาทั่วประเทศจีน[4]
โดยสรุป แม้ว่าข้าวหอมมะลิไทยจะเป็นที่นิยมในตลาดจีนและมีศักยภาพในการขยายการส่งออกไปจีนภายใต้ระบบโควตาภาษีที่กำหนดโดยทางการจีน อย่างไรก็ดี ด้วยความซับซ้อนของตลาดจีนและมีการแข่งขันอย่างรุนแรง จึงจำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อมอย่างจริงจังและศึกษากฎระเบียบให้ถ่องแท้ ก่อนจะตัดสินใจส่งออกข้าวหอมมะลิไทยไปรุกตลาดจีน อีกทั้งยังต้องมีพันธมิตรหรือคู่ค้าในจีนที่เชื่อถือได้และมีกลยุทธ์การตลาดที่ทันสมัยในการเจาะกลุ่มผู้บริโภคจีน เช่น การค้าผ่านระบบออนไลน์จีน ที่สำคัญ ต้องมีความตื่นตัวคอยติดตามวิเคราะห์ข้อมูลและการตรวจสอบกฎระเบียบต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
[1]https://www.worldatlas.com/articles/top-10-rice-consuming-counties.html
[2]https://ditp.go.th/ditp_pdf.php?filename=contents_attach/75952/75952.pdf&title=75952
[3]https://www.prachachat.net/economy/news-259108
[4]https://www.bloomberg.com/news/articles/2019-01-14/sinopec-is-said-to-win-cabinet-approval-for-ipo-of-retail-unit