"การเขียนประวัติศาสตร์ที่พบเห็นกันอยู่เสมอนั้นก็เพื่อสนับสนุนรัฐชาติ" เป็นประโยคเปิดในคำนำหนังสือ ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัยอย่างไรก็ตาม หนังสือเล่มนี้ต่างจาก 'ประวัติศาสตร์ที่เราพบเห็นกันอยู่เสมอ'เพราะผู้เขียนชวนเราอ่านประวัติศาสตร์ผ่านวิวัฒนาการของพลังทางสังคม โดย
"...ไม่ได้มองรัฐชาติเป็นหนึ่งเดียวตลอด หรือไม่เปลี่ยนแปลงเลย ในทางตรงกันข้าม ผู้สร้างรัฐชาติมีตัวตนและปะทะประสานกับพลังทางสังคมต่างๆ โดยตลอด" (หน้า 17)
ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้คือ ดร. คริส เบเคอร์ และศาสตราจารย์ ดร. ผาสุก พงษ์ไพจิตร ทั้งคู่มีผลงานทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจการเมืองไทยร่วมกันหลายชิ้น รวมถึง Thailand's Boom and Bust (1998) Thaksin: The business of politics in Thailand (2004) Thai Capitalism after the 1997 Crisis(2008) และ เศรษฐกิจการเมืองไทยสมัยกรุงเทพฯ(2546) ซึ่งได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเยี่ยมจากสภาวิจัยแห่งชาติ
หนังสือ ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัยเล่มนี้ปรับปรุงมาจากหนังสือเรื่อง A History of Thailand (2014) ฉบับแก้ไขปรับปรุงครั้งที่ 3 โดยประกอบด้วยเนื้อหาทั้งสิ้น 10บท เริ่มต้นบทแรกจากประวัติศาสตร์ในยุคก่อนกรุงเทพฯ ไล่เรียงตามลำดับเวลาจนกระทั่งปลายปี 2556 ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
การเล่าประวัติศาสตร์ให้สนุกและน่าอ่านนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่หนังสือเล่มนี้สามารถชวนให้ผู้อ่านติดตามได้โดยการเน้นให้รัฐชาติเป็นแกนเรื่อง โดยในเนื้อหาบทแรกๆ นั้น ผู้เขียนดำเนินเรื่องโดยอธิบายที่มาของความเป็นชาติในเมืองไทย ฉายภาพการเปลี่ยนผ่านจากยุคสังคมก่อนสมัยใหม่ไปสู่การสร้างชาติและรัฐชาติ ซึ่ง
"เกิดขึ้นเป็นคู่ขนานกับการเพิ่มขึ้นของพระราชอำนาจและอุดมการณ์ของระบบกษัตริย์ใหม่ ชาติจึงไม่ใช่การรวมตัวของประชาชนที่หลากหลายประเภท แต่เป็นความหนึ่งเดียวอันศักดิ์สิทธิ์ โดยมีสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ยอดเป็นสัญลักษณ์ คือชาติสมบูรณาญาสิทธิราชย์" (หน้า134)
ในเนื้อหาบทต่อๆ มา ดร. คริส เบเคอร์ และศาสตราจารย์ ดร. ผาสุก พงษ์ไพจิตร อธิบายวิวัฒนาการของพลังทางสังคมที่มีบทบาทในการเกิด การเติบโต และการทำงานของชาติและรัฐชาติไทยเช่น การยกเลิกระบบเกณฑ์แรงงานและระบบทาส และการถือกำเนิดขึ้นของชนชั้นกลางสามัญชน ซึ่ง
"พลังสังคมเมืองกลุ่มใหม่ๆ เหล่านี้ ท้าทายแนวคิดของรัฐสมบูรณาญาสิทธิ์ว่าด้วยเรื่องชาติและรัฐชาติ" (หน้า 166)
อันเป็นปัจจัยซึ่งนำไปสู่การปฏิวัติ2475 หรือการก่อตัวขึ้นของเศรษฐกิจทุนนิยมในเขตเมืองนับตั้งแต่ช่วงทศวรรษ2510ผลพวงของโลกาภิวัตน์ และพัฒนาการสู่สังคมมวลชนซึ่ง
"สร้างกระจกเงาบานใหญ่สะท้อนให้สังคมได้มองเห็นตัวเองร่วมกัน เป็นความหลากหลายทางชนชาติที่ประกอบเป็นสังคมไทย อีกทั้งความซับซ้อนของประวัติศาสตร์ที่สั่งสมมา ความหลากหลายของวิถีปฏิบัติด้านศาสนา และช่องว่างเกิดจากความต่างทางสังคม ภาพที่เห็นทำให้จินตภาพที่ว่า "รัฐชาติเป็นหนึ่งเดียว" นั้นแตกกระจาย" (หน้า 347)
บทท้ายๆ ของหนังสือเล่มนี้พาเรากลับไปทบทวนผลของพลังทางสังคมที่มีต่อการเมืองนับตั้งแต่ปี 2519 เป็นต้นมา ทั้งประเด็นอุดมการณ์และเอกลักษณ์ของชาติ สถาบันสูงสุด วิกฤตการเมือง และวิกฤตเศรษฐกิจ สังคมที่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้นนี้ทำให้
"วาทกรรมเก่าว่าด้วยเชื้อชาติ ชาติ ประวัติศาสตร์ บุคลิกประจำชาติ และวัฒนธรรมชาติ แตกกระจายเพราะความหลากหลายที่เป็นความจริง" (หน้า 408)
ก่อนจะจบลงด้วยปัจฉิมบทที่พูดถึง'วิสัยทัศน์ว่าด้วยเป้าประสงค์แห่งรัฐ' ไว้อย่างแหลมคมยิ่ง
หนังสือ ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัยเล่มนี้มิได้เป็นเพียงหนังสือที่อัดแน่นไปด้วยข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์เท่านั้น หากแต่ยังนำเสนอวิธีการอ่านประวัติศาสตร์ผ่าน'รัฐชาติ' ได้อย่างลุ่มลึก หนังสือเล่มนี้จึงมีคุณูปการอย่างสูงต่อการทำความเข้าใจความขัดแย้งทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองซึ่งดำรงอยู่ในปัจจุบัน และถือเป็น 'a must read' สำหรับนักอ่านที่สนใจประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัยทุกคน.
หนังสือ: ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย ฉบับปรับปรุงเป็นภาษาไทยจาก A History of Thailand (2014)
ผู้แต่ง: คริส เบเคอร์ และ ผาสุก พงษ์ไพจิตร
สำนักพิมพ์: มติชน
ปีที่พิมพ์: 2557